เมื่อ “เพลงเล่นคำ” กำลังฮอต เส้นแบ่งความเหมาะสมอยู่ที่ตรงไหน?
ทุกวันนี้เพลงไทยที่ฮอตฮิตระดับล้านไปจนถึงร้อยล้านวิวมีอยู่นับไม่ถ้วน และที่สำคัญต่างก็กระจัดกระจายไปอยู่ในหลากหลายแนวเพลงทั้งป็อป, ร็อค หรือแม้แต่ลูกทุ่ง
แต่ในช่วง 2-3 ปีให้หลัง ดูเหมือนว่าเพลงที่ใช้ชื่อแบบสองแง่สามง่าม ทะลึ่งตึงตัง รวมถึงเนื้อร้องที่ออกเสียงพ้องกับคำหยาบบางคำในภาษาไทย กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“ควายอ้ายใหญ่”, “ควายอ้ายใหญ่บ่”, “สิฮิน้องบ่”, “หอยหนีบควายอ้าย”, “น้องตื่นควาย”, “Yes แน่นอน” รายชื่อเพลงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มียอดวิวที่ดีในเว็บไซต์ยูทูปทั้งสิ้น
“สิฮิน้องบ่” จาก กุ้ง-สุภาพร สายรักษ์ กับยอดวิวกว่า 78 ล้านวิวภายในเวลาเกือบ 2 ปี, “น้องตื่นควาย” ผลงานลูกทุ่งจังหวะสนุกจาก มดแดง จิราพร ใช้เวลา 2 ปีกว่ากับยอดวิวที่พุ่งสูงกว่า 23 ล้านวิว, “ควายอ้ายใหญ่บ่” อีกหนึ่งเพลงลูกทุ่งโจ๊ะๆ โดย เมย่า ส.วาไรตี้ ก็ทำยอดวิวไปเกินกว่า 3 ล้านภายในเวลาปีกว่า, ศิลปินลูกทุ่งชื่อแปลก เซ็กซ์ ตลาดแตก ก็พาเพลง “หอยหนีบควายอ้าย” ทะลุล้านวิวภายในเวลา 5 เดือนเศษ รวมถึงล่าสุด “Big Buffalo (ควายอ้ายใหญ่)” เพลงลูกทุ่งกลิ่นอายร็อคจาก ลิขิต เรืองโหน่ง ที่เพิ่งปล่อยมิวสิควิดีโอออกมาไม่ถึง 1 เดือน แต่ก็มียอดวิวในยูทูปไปกว่า 3 แสนวิวแล้ว
หากดูผิวเผินเพียงชื่อเพลง หลายคนคงคิดว่า ไม่เห็นมีอะไรน่าตกใจ ศิลปินก็คงกล่าวถึง กระบือ หรือ ควาย เพื่อนคู่ใจเกษตรกรไทยมานานนม เป็นประโยคคำถามธรรมดาๆ ที่ถามว่า “ควายของพี่ตัวใหญ่ไหม?” หรือเป็นประโยคบอกเล่าว่า “ควายของพี่ตัวใหญ่นะ” หรือ “มีหอยมาหนีบควายของพี่” อะไรทำนองนั้น หรือแม้กระทั่งเพลง “สิฮิน้องบ่” ที่แปลตรงๆ ได้ว่า “จะรังเกียจน้องไหม”
แต่เมื่อลองคลิกฟังดูเท่านั้นแหละ...
ด้วยการออกเสียงในสำเนียงภาคอีสาน จึงทำให้คำว่า ควาย ไปพ้องเสียงกับคำที่ไม่สุภาพซึ่งหมายถึง อวัยวะเพศชาย ไปเสียอย่างนั้น และเมื่อฟังบริบทอื่นๆ ที่พูดถึงขนาดใหญ่เล็ก ก็อดไม่ได้ที่จะจินตนาการไปถึงไหนต่อไหน ส่วนคำว่า ฮิ ก็ดันไปพ้องเสียงกับคำหยาบที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเบื้องล่างของเพศหญิงไปเสียนี่
คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ในเมื่อเสียงที่เปล่งออกมาในตัวเพลงมันส่อไปทางหยาบคายเช่นนั้น มันเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ แล้วประเด็นนี้ไม่ผิดกฎหมายหรืออย่างไร?
ทั้งนี้ในทางกฎหมาย การออกเสียงตามสำเนียงพื้นถิ่น ซึ่งอาจไปพ้องเสียงกับคำไม่สุภาพบางคำ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่หากนำคำเหล่านั้นไปด่าทอผู้อื่นต่อหน้า ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 “ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า” ซึ่งหมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย ในกรณีที่ไปด่าผู้อื่นต่อหน้า โดยคำที่เข้าข่ายก็เช่น อีด*ก, อีต*แหล, ไอ้ร*ยำ เป็นต้น โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากเจ้าของบทเพลงหรือตัวศิลปินใช้คำดังกล่าวหรือแม้กระทั่งคำอื่นๆ ที่เผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อมุ่งหวังให้เกิดความแตกแยกในสังคม ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ ซึ่งก็ต้องมีการพิจารณาไปตามบริบทในแต่ละสถานการณ์
แต่หากจะพูดถึง “เรื่องความเหมาะสม” ก็อาจจะเป็นไปตามทรรศนะของแต่ละบุคคลว่าคิดเห็นอย่างไร บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องสนุกๆ อย่าไปคิดมาก ก็แค่เป็นอีกหนึ่งสำเนียงที่ประชากรทางภาคอีสานเขาพูดกันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่สำหรับบางคนอาจมองว่า ตัวศิลปินหรือนักแต่งเพลงเองก็ตามก็มีทางเลือกในเรื่องวิธีการร้องว่า “ควาย” เหมือนภาษากลางทั่วไป ที่จะไม่ทำให้คนฟังเข้าใจผิด หรือคิดไปในเชิงว่าเป็นคำหยาบคายก็ได้เช่นกัน
อันที่จริง การเล่นคำ ก็มีในแวดวงการประพันธ์กาพย์กลอนหรือเพลงก็มีมาช้านานแล้ว โดยเป็นการสรรหาคำมาใช้ในคำประพันธ์ โดยอาจมีการพลิกแพลงให้เกิดความหมายที่พิเศษไปจากที่ใช้กันอยู่ ซึ่งก็จะมีทั้งคำพ้อง การเล่นคำซ้ำ และการเล่นคำเชิงถาม ซึ่งก็สามารถพบเห็นได้ตามบทร้อยกรอง บทกวี หรือแม้แต่เพลงพื้นบ้านต่างๆ ก็ตาม
เราคงไม่อาจทราบได้ว่า เจตนาในการแต่งเพลง รวมถึงดีไซน์การร้องของแต่ละศิลปินนั้นมุ่งหวังอะไร
ยอดไลค์? ยอดวิว? กระแส?
หรืออาจจะเพียงอยากมอบความสนุกให้กับคนฟังจากธรรมชาติของภาษาไทยที่ดิ้นได้ ฟังแล้วรู้สึก เฮ้ย! จะเป็นอย่างที่เราคิดหรือเปล่านะ
ซึ่งก็คงจะเป็นคำถามที่เจ้าของผลงานรู้คำตอบอยู่เต็มอกอยู่แล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะมี “ความเหมาะสม” ในตัวของมันเองเสมอไป
Story by: Chanon B.