รวมซาวด์แทร็คที่เรารักจากหนังของ Wong Kar-Wai
หากจะกล่าวถึงผู้กำกับแปลกๆ ลายเซ็นจัดๆ ผู้กำกับชั้นครู หรือ a-must-watch แน่นอนว่าหน่ึงในนั้นก็ต้องมีงานของ หว่องการ์ไว (Wong Kar-Wai) ผู้กำกับฮ่องกงผู้เข้าใจหัวอกของคนเหงาราวกับว่าเอาเรื่องของเราไปสร้างเป็นหนัง จนชื่อ "หว่อง" ได้กลายเป็นไอคอนของความเปลี่ยวดาย และกลายเป็นศัพท์สแลงที่หมายความว่า ‘เหงาๆ ซึมๆ‘ แบบที่เห็นในชื่อเพจ กระทำความหว่อง นั่นแหละ
สำหรับคนที่ยังไม่เคยดูหนังหว่อง เราก็ขอเท้าความสั้นๆ ว่า เขาเป็นผู้กำกับที่ชอบทำหนังเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ หรือรักที่ไม่สมหวังเสียเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งแบบที่น่ารักชวนจิกหมอน แบบมึนๆ ปนโรแมนติก ไปจนถึงประเภทที่ร้องไห้จนทิชชู่หมดกล่องแล้วน้ำตาก็ยังไม่หยุด แม้ว่าเขาจะใช้นักแสดงหน้าซ้ำๆ มาโลดแล่นในโลกเหงาของเขา แต่ทุกคนก็สามารถถ่ายทอดความเป็นตัวละครนั้นๆ ได้เฉียบขาด รวมถึงสร้างปมในความสัมพันธ์ และแสดงออกมาได้อย่างสมจริงจนเราทึ่งอยู่บ่อยๆ (หลิวเต๋อหัว, เลสลี่ จาง, เหลียงเฉาเหว่ย, จางม่านอวี้, หวังเฟย, ทาเคชิ คาเนชิโร่ ต่างก็แจ้งเกิดและฮอตมากๆ ในหนังของหว่อง)
นอกเหนือไปจากเนื้อหาของหนัง ตัวละครที่เรียลสุดๆ (และก็มีประเภทที่เซอร์เรียลสุดๆ ด้วย) แล้ว ก็ยังมีเพลงที่อยู่ในฉากต่างๆ ของหนังเนี่ยแหละที่โดดเด่นไม่แพ้พระเอกนางเอกของเรื่องเลย เราจึงขอหยิบเพลงเด็ดจากทุกเรื่องของหว่องการ์ไวมาให้ได้ลองฟังกัน เผื่อว่าจะนึกถึงฉากนั้นแล้วเผลอยิ้มทั้งน้ำตาออกมาโดยไม่รู้ตัว
As Tears Go By (1988) – "Take My Breath Away"
หนังเรื่องแรกของหว่องการ์ไวที่เล่าแบบทื่อๆ ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน ตามสไตล์หนังนักเลงยุคเก่าๆ เรื่องของ อาหวอ นักเลงหางแถวกับ อาง้อ ลูกพี่ลูกน้อง ที่เดินทางมาพักอยู่กับเขาเพื่อรักษาโรคประจำตัวของเธอ เผอิญว่าตอนนั้นอาหวอถูกบอกเลิกจากแฟนเพราะดูเป็นนักเลงไม่มีอนาคต ต่อมาก็เลยถูกอกถูกใจกับอาง้อ ทำให้เขาเองก็อยากเลิกเป็นนักเลง แต่ลูกกระจ๊อกของเขาดันไปก่อเรื่องเข้าเลยต้องไปตามเอาคืนให้ แล้วก็มีเรื่องความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่ดูคาราคาซังไม่รู้จะเอาอย่างไร อันที่จริงหนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจจากเรื่อง Mean Streets ของ Martin Scorsese ที่เล่าเรื่องแก๊งมาเฟียในอิตาลีก็เลยจะได้กลิ่นอายหนังนักเลงคล้ายๆ กัน
สำหรับเพลงของเรื่องนี้ที่ติดตราตรึงใจใครหลายคนน่าจะเป็น "Take My Breath Away" ในฉากจบ ผลงานฮิตตลอดกาลของวง Berlin ที่ หลินอี้เหลียน หรือ Sandy Lam เอามาร้องใหม่เป็นภาษากวางตุ้ง เข้ากับภาพและมู้ดของหนังฮ่องกงยุค 80s ปลายๆ นี้ อันที่จริง หนังของหว่องมักจะมีเพลงประกอบเป็นเพลงดังฝั่งอังกฤษหรืออเมริกาที่เอามาร้องใหม่เป็นจีนกวางตุ้งอยู่หลายเพลงเหมือนกัน แล้วก็จะมีฉากเต้นรำที่เป็นที่จดจำแทบทุกเรื่อง
Chungking Express – "California Dreamin’" และ "Dreams"
นี่ก็น่าจะเป็นหนังเฮียหว่องเรื่องโปรดของใครหลายคน นอกจากความเหงาในระดับที่พอดี ไม่เศร้าจนเกินไป และได้ความบันเทิง เรื่องราวของนายตำรวจหนุ่มสองคน กับสองสาวหลุดโลกที่มีความเป็น fictional characters สุดๆ โดยคู่แรกนายตำรวจหมายเลข 622 ถูกแฟนสาวบอกเลิกในวัน April Fool’s Day เขาตัดสินใจซื้อสับปะรดกระป๋องซึ่งเป็นของโปรดของแฟนสาวที่ชื่อ "เมย์" ที่จะหมดอายุวันที่ 1 "พฤษภาคม" ซึ่งตรงกับวันเกิดของเขา มาเก็บไว้ทุกวันจนกว่าเธอจะกลับมา และเริ่มออกวิ่งเพราะเชื่อว่า “เวลาผมอกหัก ผมจะวิ่งให้น้ำไหลออกจากตัว เพื่อจะไม่ต้องมีน้ำไหลออกจากตา” จนวันหนึ่งเขาก็ได้พบกับสาวลึกลับผมทองคนหนึ่งที่ดูเหมือนกำลังตามล่าใครสักคนอยู่ แล้วเขาก็ตกหลุมรักเธอ ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องของตำรวจหมายเลข 623 ที่มักจะไปซื้อของกินให้แฟนสาวที่เป็นแอร์โฮสเตสกินจากร้านประจำร้านหนึ่ง โดยวันนั้น อาเฟย สาวน้อยท่าทางแปลกๆ มายืนหน้าร้านแทนเจ้าของร้านเดิมก็ตกหลุมรักเขาเข้าอย่างจัง และหาทางใกล้ชิดกับเขาให้ได้
เป็นอีกหน้าหนึ่งของความเหงาที่อาศัยการตีความแบบน่ารักอบอุ่นหัวใจ ที่สำคัญเรื่องนี้ทำให้สัญลักษณ์ของสับปะรดกระป๋องเป็นตัวแทนของความรักที่อย่างไรก็มีวันหมดอายุ ไปจนถึง Chungking Mansion อาคารในเรื่องก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่แฟนหนังไปตามรอยกันถึงที่ (เราก็ไปมาแล้ว สภาพคืออาคารโทรมๆ ที่ชั้นล่างเต็มไปด้วยร้านอาหารอินเดีย และมีร้านแลกเงินที่ดูไม่ค่อยถูกกฎหมายอยู่เต็มไปหมด) แล้วยังมีอีกหลายๆ ประเด็นในหนังที่ดูแล้วก็ต้องอมยิ้มไม่หุบ แนะนำให้หามาดูเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยากลองหนังหว่องแต่ยังไม่อยากระทมจิตใจมากมาย
ส่วนเพลงที่ต้องพูดถึงในเรื่องนี้เห็นจะไม่พ้น "California Dreamin’" งานคลาสสิกจาก The Mamas & the Papas ที่อาเฟยชอบเปิดฟังตอนเฝ้าร้าน และตอนหลังเราก็จะเข้าใจว่าทำไมเธอถึงชอบเพลงนี้นัก
และเพลง "Dreams" ที่เป็นซีนตอนที่อาเฟยเข้าไปทำความสะอาดห้องให้ 623 ร้องโดย Faye Wong หรือ หวังเฟย ผู้รับบทอาเฟยเนี่ยแหละ ผลงานดั้งเดิมของ The Cranberries
Days of Being Wild – "Always In My Heart"
ปฐมบทของ trilogy ที่จะใช้ตัวละครชุดเดียวกันอย่างน้อยหนึ่งคนในแต่ละเรื่องต่อจากนี้และมีความเชื่อมโยงกันอยู่เนืองๆ โดยตอนนี้จะเป็นการเล่าเรื่อง ยกไจ๋ เพลย์บอยผู้ใช้ชีวิตเยี่ยงนกไร้ขา คือเขาจะไม่หยุดอยู่ในผู้หญิงคนไหน เพราะเป็นการเอาคืนจากการที่เขาเคยโดนผู้เป็นแม่ทอดทิ้งไป เรื่องนี้มี quote เด็ดๆ ให้จำและนำไปใช้ต่อได้เพียบ ทั้งยังจะมีตัวละครปริศนาที่โผล่มาแบบงงๆ ทำให้เราต้องไปตามดูต่อในอีกสองเรื่องที่เหลือแล้วจะเข้าใจการปรากฏตัวของพวกเขาเหล่านี้มากขึ้น และจะพบว่าคอนเซ็ปต์ของไตรภาคสุดเหงานี้แข็งแรงมาก
"โลกนี้มีนกอยู่ชนิดหนึ่งไม่มีขา มันได้แต่บินและบิน เหนื่อยก็นอนในสายลม ในชีวิตจะลงดินเพียงครั้งเดียว นั่นคือวันตายของมัน" นี่คือคำที่ ยกไจ๋ ใช้อธิบายชีวิตของตัวเองอยู่เสมอ
และเพลงที่เป็น earworm เราสุดๆ ก็เห็นจะไม่พ้นเพลงเปิดในเรื่อง หรือก็คือ "Always In My Heart" งานของสองพี่น้องบราซิลเลียน Los Indios Tabajaras ที่ปรากฏอยู่ในตอนต้นของเรื่องนี่เอง แถมฉากเต้นที่น่าจดจำในหนัง คือตอนที่ยกไจ๋เต้นมัมโบ้ในเพลง "Maria Elena" ของ Xavier Cugat
In the Mood For Love – "Yumeji’s Theme"
อีกหนังคนเหงาที่เป็นตอนต่อใน trilogy ช้ำรักที่ทำให้ใครหลายคนรู้จักกับหว่องการ์ไว เรื่องราวของสองคู่สามีภรรยาที่ย้ายมาอยู่ห้องข้างๆ กัน ภรรยาของ โจวหมู่หวัน ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับกะดึก ส่วนสามีของ ซูวไหล่เจิน (นางเอกจากเรื่องที่แล้ว) ก็ไปทำธุรกิจต่างประเทศบ่อยๆ ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาให้คู่รักของตัวเอง คุณโจวและคุณนายเฉินเลยมีโอกาสได้พบกันบ่อยครั้ง จนทั้งคู่เริ่มสงสัยว่าคู่รักของตนจะนอกใจและไปมีความสัมพันธ์กันเอง ขณะเดียวกับที่พวกเขาก็เริ่มมีความรู้สึกให้กัน แต่ก็มีศีลธรรมค้ำคอ คิดว่าจะไม่ทำตามอย่างคู่ของตนแน่นอน
ก่อนอื่นต้องบอกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีความโดดเด่นแค่เนื้อเรื่องที่ตอกซ้ำย้ำความผิดหวังเพียงเท่านั้น แต่องค์ประกอบหลายๆ อย่างทั้งเสื้อผ้า หน้าผม ที่ผู้ชายใส่สูท ผู้หญิงใส่กี่เพ้า ใช้ชีวิตในบรรยากาศของเมืองฮ่องกงยุค 60s สุดคลาสสิกเป็นอะไรที่ตราตรึงใจเราถึงขนาดเอามาเป็นธีมปก Fungjaizine เล่ม Yokee Playboy กันเลยทีเดียว แล้วหลายๆ สถานที่ในเรื่องนี้ก็ทำให้นักท่องเที่ยวไปตามรอย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารที่พระเอกนางเอกไปนั่งกินด้วยกัน ไหนจะเป็นตรอกที่นางเอกเดินถือปิ่นโตใส่เกี๊ยวขึ้นบันได อันนั้นหลายคนอาจไม่รู้ว่าเขามาถ่ายทำกันแถวๆ สถานีดับเพลิงบางรักกรุงเทพฯ นี่เอง ซึ่งอีกสิ่งที่น่าจดจำคือการดึงภาพสโลว์โมชันให้ดูกระตุกๆ ที่ไม่ว่าหนังเรื่องไหนเอากิมมิกตรงนี้ไปใช้ก็จะเดาได้เลยว่าเป็นการบูชาครูวิธีการกำกับภาพของ "Christopher Doyle" ตากล้องคู่ใจของหว่องอย่างแน่นอน และเพลงที่หลอนหูอยู่ทุกคราก็เห็นจะไม่พ้น "Yumeji’s Theme" ที่มักจะโผล่มาในซีนภาพช้าๆ จนกลายเป็นอีกสัญลักษณ์ของหนังเรื่องนี้ไปแล้ว
และอีกฉากที่เราชอบมากๆ ก็คือการที่ทั้งคู่เต้นรำกันนั่นเอง ซึ่งเวอร์ชั่นเต็มๆ กลับถูกตัดออกไปอย่างน่าเสียดาย
ส่วนเรื่องสุดท้ายในไตรภาคชุดนี้คือเรื่อง 2046 ซึ่งเป็นเรื่องที่ออกแนวแฟนตาซีที่สุดในสามเรื่อง เพราะมีการเล่าถึงโลกอนาคตในนิยายของตัวเอกตัวเดียวจากเรื่องที่แล้ว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 2046 ที่ตัวเอกในนิยายต้องไปตามหาความทรงจำที่หายไป ซึ่งตัวเลข 2046 นี้อาจเป็นเลขเดียวกับหมายเลขห้องที่ตัวเอกสองคนจากเรื่อง In the Mood for Love ใช้เขียนเรื่องสั้นกำลังภายในด้วยกัน แต่ในเรื่องนี้เขากำลังเขียนนิยายไซไฟอยู่ เท่ากับว่าเป็นการ mixed up เรื่องตั้งแต่ภาคแรกมาผนวกเข้าไว้ด้วยกันกับตัวละครเซ็ตเดิม ที่รับผลจากการยึดติดกับความทรงจำและถูกมันทำร้ายตนเอง ไปจนถึงคนรอบข้างอย่างร้ายกาจ
Fallen Angels – "Only You"
สำหรับเรานี่น่าจะเป็นหนังเหงาที่ดาร์กที่สุดของหว่องการ์ไว ด้วยการฉายภาพความสัมพันธ์ของคนที่สังคมทั่วไปไม่ยอมรับสามคน เพราะซ่อนตัวอยู่ในเงามืดและทำงานที่ผิดกฎหมายในเมืองฮ่องกงที่วุ่นวาย เริ่มเรื่องคือนักฆ่าหนุ่มกับผู้จ้างวานฆ่าสาว เธอมีความรู้สึกที่ดีให้เขาแต่เขาไม่รับรักเธอ กลับไปถูกใจสาวผมบลอนด์อีกคน เธอที่คอยเฝ้าดูอยู่ห่างๆ ก็ได้แอบดูแลห้องของเขา พร่ำเพ้อจินตนาการไปต่างๆ นานา และสุดท้ายก็ต้องเก็บงำความผิดหวังไว้กับตัวเอง กับอีกคู่คือหนุ่มใบ้ที่ชอบงัดบ้านชาวบ้าน เผอิญเจอสาวติสท์ที่เพิ่งอกหักมาและหลงรักเธอ ความสัมพันธ์ที่เหมือนจะดีของพวกเขาวันหนึ่งก็ต้องมาจบลงแบบงงๆ คนที่เคยรักกันกลายเป็นคนไม่รู้จักกันไปเสียดื้อๆ แต่แล้วใครจะไปรู้ วันหนึ่ง คนที่เดินชนไหล่กันไปมาในเมืองนั้น คุ้นหน้ากันแต่ไม่เคยได้ทัก อาจจะมีจังหวะให้พวกเขาเวียนกลับมาพบกันและได้ทำความรู้จักกันอีกครั้ง
เรื่องนี้เราจะเห็นการถ่ายภาพโคลสอัพแฮนด์เฮลด์ที่ดูมึนๆ คล้ายกับสิ่งที่อยู่ในหัวของตัวละครหลักแต่ละตัวที่เอาแต่พูดกับตัวเองและพยายามหาทางออกให้กับความกลัดกลุ้มใจนี้ กับอีกสิ่งที่ชัดมากคือโลเคชั่นต่างๆ หรืออาชีพของตัวละครในโลกของหว่องมักจะซ้อนทับกันอยู่เนืองๆ อย่างตำรวจ นักเลง หรือแอร์โฮสเทส ไปจนถึงร้านข้าวข้างทางก็เป็นอะไรที่เราจะได้เห็นอยู่บ่อยๆ
เพลงที่อยากจะนำเสนอในเรื่องนี้ต้องบอกว่ามีหลายเพลงมาก เพราะเป็นเพลงทริปฮอปยุค 90s เท่ๆ ทั้งนั้น ลองไปหาอัลบั้มซาวด์แทร็คฟังดูได้ แต่ที่ต้องหยิบมาเลยคือเพลงในฉากจบของ The Flying Pickets ชื่อ "Only You" ที่ทำให้หนังพลิกความหนาวเหน็บตลอดเรื่องกลายเป็นความอบอุ่นหัวใจขึ้นมาทันที
แถมอีกเพลง เพลงหมายเลข 1818 ที่เขามอบให้ผู้ว่าจ้างสาว นั่นคือเพลง "Forget Him" ของ Teresa Teng หรือ เติ้งลี่จวิน นั่นเอง ฉากนี้สะเทือนใจมาก แต่เพลงก็เพราะมากเช่นกัน (น้องๆ อายุไม่ถึงอย่าเพิ่งดูนะจ๊ะ)
Happy Together – "Happy Together"
คราวนี้เขาลองเล่าเรื่องความสัมพันธ์ชาย–ชาย ที่แสนเปราะบาง กับการที่คนหนึ่งเป็นที่สุดของความหุนหันพลันแล่น จะมาก็มา จะไปก็ไป แต่สุดท้ายอีกคนก็ยอมอยู่ดีเพราะความเหงาและความผูกพันมันยังคงเป็นกับดักให้เขาไปไหนไม่ได้สักทีเรื่องราวของ เยี่ยฟา กับ หวังเป่า คู่รักที่อยากไปอาร์เจนติน่าเพื่อชมน้ำตกอิกวาซูด้วยกัน แต่ระหว่างทางเกิดมีปากเสียงขึ้นมาทำให้ต้องแยกย้ายกันไป และความ on and off นี้เองก็ถูกทำให้กลายเป็นปมที่เราติดตามไปตลอดเรื่องว่าสองคนนี้จะเอายังไงกันแน่
หลายๆ เพลงที่ถูกใช้ประกอบในนี้ก็เป็นเพลงละติน เพื่อให้ซึมซับบรรยากาศของเมืองอาร์เจนติน่าจะได้อินกับเรื่องราวของผู้คนและสถานที่ในหนังเรื่องนี้ และมีงานร็อกๆ ของ Frank Zappa มาโผล่ในหลายๆ ฉากกับความรุนแรงในอารมณ์พลุ่งพล่านสมกับหน้าหนัง แต่เพลงที่น่าจะคุ้นหูใครหลายคนที่สุดก็เห็นจะเป็นเพลง "Happy Together" ตามชื่อหนังที่ปรากฏในฉากสุดท้ายของเรื่อง ซึ่งเวอร์ชันนี้เป็นการแสดงสดของ Danny Chung ที่เวอร์ชันดั้งเดิมเป็นของ The Turtles แต่ก็มีเวอร์ชันที่ Frank Zappa นำไปร้องด้วยเช่นกัน ซึ่งเพลงนี้น่าจะบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครและเป็นบทสรุปในเหตุผลที่เขาเลือกกระทำสิ่งต่างๆ ลงไปได้ดีที่สุดแล้ว
My Blueberry Nights – "The Greatest"
ขอปิดท้ายกันไปด้วยหนังฮอลลีวู้ดเรื่องเดียวของหว่อง ที่ได้นักแสดงต่างชาติมาเล่นในหนังของเขา โดยเรื่องราวก็เล่าถึงความสัมพันธ์ของคนหลายคู่ กับตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่ทำให้ความสัมพันธ์เหล่านั้นสุขสม เจ็บปวด หรือยากที่จะลืม
ตอนที่เราดูเรื่องนี้ครั้งแรก (และครั้งเดียว) เมื่อนานมาแล้วนั้น ส่วนตัวเราไม่ค่อยจะอินกับเรื่องนี้สักเท่าไหร่ น่าจะเป็นเพราะช่วงวัยที่ดู กับบริบทที่พอเป็นนักแสดงฝรั่งมาเล่นหนังเนิบๆ สไตล์หว่องแล้วมันดูไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่ พอเราไปถามอาของเรา อาบอกว่าเสียน้ำตาให้แทบจะทุกฉาก แต่จำได้เลยว่าในเรื่องนี้มันมี quote หนึ่งที่โดนมากๆ ตามนี้
"It’s like these pies and cakes. At the end of every night, the cheesecake and the apple pie are always completely gone. The peach cobbler and the chocolate mousse cake are nearly finished… but there’s always a whole blueberry pie left untouched."
มันก็เหมือนพวกพายกับเค้กนั่นแหละ ก่อนร้านปิดนะ ชีสเค้กกับพายแอปเปิ้ลจะขายหมดก่อนเพื่อน ส่วนพีชค็อบเบลอร์กับเค้กมูสช็อกโกแลตก็ขายเกือบหมด มีก็แต่พายพลูเบอร์รี่ที่ไม่มีใครซื้อไปเลย
"So what’s wrong with the blueberry pie?"
ทำไมล่ะ พายบลูเบอร์รี่มันไม่อร่อยเหรอ?
"There’s nothing wrong with the blueberry pie. Just… people make other choices. You can’t blame the blueberry pie, just… no one wants it."
พายบลูเบอร์รี่มันไม่ผิดอะไรหรอก ก็แค่… คนอื่นไปเลือกกินอย่างอื่น เราจะไปโทษว่ามันไม่อร่อยไม่ได้ แค่คนอื่นเขาไม่ได้ชอบกิน… ก็แค่นั้น
เจ็บสุดๆ… สงสัยต้องกลับมาดูอีกรอบคงจะเก็ตมากขึ้น ในเรื่องนี้มีเพลงแจ๊สต่างๆ มากมายที่ฟังแล้วระรื่นหู และยังมีเพลงของ Norah Jones นักร้องสาวที่เป็นนางเอกของเรื่อง เข้ากับบรรยากาศบาร์เปลี่ยวตอนกลางคืนสุดๆ และสำหรับเราก็ขอยกให้เพลงนี้
ยังมีหนังอีกหลายเรื่องของหว่องการ์ไวที่เราไม่ได้พูดถึง หรือไม่ได้หยิบยกเพลงมาให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็น Ashes of Time, The Grand Master ซึ่งจะออกไปทางเจ้ายุทธภพ กำลังภายใน และหนังสั้นโฆษณาโทรทัศน์ Philips Aurea เรื่องThere’s Only One Sun ก็ลองไปตามดูกันทีหลังก็ได้ อาจจะถูกใจกว่าเพลงที่เรานำเสนอในบทความนี้ตามแต่รสนิยมของแต่ละคนล่ะนะ ยังไงก็อย่าลืมมาแบ่งปันกันด้วยล่ะ
ขอบคุณภาพจาก : Pinterest, Film Affinity, papermag.com