ไม่ซื้อซีดี VS ซื้อซีดีแล้วทิ้ง : เทรนด์ไหนสะเทือนใจกว่ากัน
... คุณจำได้ไหมว่าครั้งล่าสุดที่คุณซื้อซีดีอัลบั้มของศิลปินสักคน คือเมื่อไร?
ถ้าคุณตอบว่า เพิ่งกดพรีออเดอร์ไปเร็วๆ นี้ ก็ขอแสดงความยินดีด้วย คุณกำลังช่วยให้อุตสาหกรรมดนตรียังคงดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง รวมไปถึงศิลปินเองก็คงจะรู้สึกดีที่เมื่อพบกับแฟนๆ แล้วพวกเขายังได้มีโอกาสแจกลายเซ็นลงบนปกอัลบั้มจริงๆ กันอยู่
... แต่ คนที่ไม่ได้ซื้อซีดีมานานไม่ต้องหัวเสียไป คุณอาจกำลังสนับสนุนวงการเพลงโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงผ่าน YouTube ที่ยอดวิวสามารถเปลี่ยนเป็นรายได้ให้กับค่ายเพลงบางค่ายได้ การฟังเพลงผ่านบริการสตรีมมิ่งที่ถูกนับยอดการฟังรวมกันทั่วโลก จนทำให้ผลงานเพลง หรืออัลบั้มเหล่านั้นไต่อันดับขึ้นชาร์ตเพลงใหญ่ๆ ได้สำเร็จ การซื้อเพลงเป็นไฟล์ดิจิตอลผ่าน iTunes หรืออาจจะเป็นการจ่ายเงินเพื่อซื้อบัตรคอนเสิร์ต และสินค้าออฟฟิเชียลต่างๆ การกระทำเหล่านี้สามารถช่วยให้ค่ายเพลง และศิลปินที่คุณรักยังคงมีงานทำกันต่อไปอย่างมั่นคงได้เช่นกัน (อันที่จริงแล้ว ว่ากันว่าหลายศิลปิน มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการทัวร์คอนเสิร์ต มากกว่ายอดขายซีดีเสียอีก)
ถึงกระนั้น คนที่ยังซื้อซีดี ไวนิล และสินค้าออฟฟิเชียลต่างๆ รวมถึงแฟนเพลงที่ฟังเพลงอยู่ที่บ้าน ไม่ออกมาซื้อบัตรคอนเสิร์ต หรือแฟนมิตติ้งต่างๆ ก็อาจจะค่อนแคะได้ว่า การฟังเพลงผ่านระบบออนไลน์ ไม่ใช่วิธีการสนับสนุนศิลปินที่ดีนัก เพราะตัวศิลปินเองอาจจะแทบไม่ได้รับรายได้จากบริการเหล่านั้น ยิ่งศิลปินสายอินดี้ที่ไม่ได้รับงานโฆษณาเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า หรือเข้าวงการบันเทิงอื่นใด น่าจะยิ่งอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายคนต้องหยุดความฝันของตัวเองลงกลางคัน แล้วกลับไปใช้ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดา หรือเปลี่ยนสายอาชีพเพื่อหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หลังจากเส้นทางสายดนตรีไม่สามารถมอบเงินให้พวกเขาเลี้ยงดูตัวเอง และครอบครัวได้อย่างที่คาดหวังเอาไว้
GettyImages
การเปลี่ยนแปลงของยอดขายซีดีทั้งในสหรัฐอเมริกา และอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกทำให้เราตื่นเต้นกันได้อยู่เรื่อยๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราอาจจะพอเดากันได้ว่ายอดขายซีดีตกต่ำจนร้านซีดีใหญ่เล็กล้มหายตายจากเราไปหลายร้านอย่างน่าใจหาย ทั้ง Tower Records, HMV รวมไปถึงร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของอเมริกาอย่าง Best Buy ที่ตัดสินใจหยุดการจำหน่ายซีดีภายในวันที่ 1 ก.ค. 2018 นี้เพราะรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนร้านชื่อดังอย่าง Target ก็เตรียมออกกฎกับค่ายเพลงว่าจะจ่ายเงินค่าซีดีให้กับค่ายเพลงเมื่อซีดีในร้านขายออกเท่านั้น ซีดีที่ขายไม่ได้จะต้องถูกส่งกลับไปที่ค่ายเพลงภายใน 60 วัน ดังนั้นภาระความรับผิดชอบต่อยอดขายซีดีจึงตกไปอยู่ที่ค่ายเพลงโดยตรง เหตุทั้งหมดมาจากยอดขายซีดีในสหรัฐอเมริกาลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จนในปี 2016 ยอดขายซีดีลดลงเทียบเท่ายอดขายในปี 1987 หรือเมื่อ 30 ปีก่อน และลดลง 90% เมื่อเทียบกับปี 2000 ที่เป็นช่วงที่มียอดขายซีดีสูงที่สุด
ในขณะที่ประเทศยิ่งใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ รวมถึงบ้านเรากำลังประสบปัญหายอดขายซีดีอยู่ในช่วงตกต่ำขั้นสุด ยังมีประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงเป็นประเทศเดียวที่เรายังพบเห็นร้านขายซีดีอย่าง Tower Records รวมถึงร้านขายซีดี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มือสองอย่าง Book-Off เปิดขายกันอยู่ทั่วเมือง (และกิจการยังคงไปได้สวย) สาเหตุที่หลายๆ คนอาจจะเดากันได้ คือการที่แฟนเพลงชาวญี่ปุ่นยังคงมีค่านิยมในการเป็นเจ้าของซีดีที่จับต้องได้มากกว่าการฟังผ่านดิจิตอลเพียงอย่างเดียว การจำกัดสิทธิ์ในการเข้าถึงเพลงอย่างชัดเจน เช่น การที่ค่ายเพลงไม่อนุญาตให้มีมิวสิควิดีโออยู่ใน YouTube หรือแม้กระทั่งการติดตามข่าวสารของศิลปินญี่ปุ่นที่ทำได้ยากกว่าศิลปินคนอื่นๆ ที่บล็อกการเข้าถึงจาก IP Address นอกประเทศญี่ปุ่น การจำกัดการใช้รูปศิลปินในการโพสต์ภาพข่าวในอินเตอร์เน็ต และอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นการตลาดสุดโหดจากทางค่ายเพลงที่ทำให้ศิลปินของเขาเข้าถึงได้ยาก และวิธีที่จะทำให้แฟนเพลงเข้าถึงศิลปินได้ คือการซื้อซีดี สินค้าออฟฟิเชียลต่างๆ และการไปร่วมงานที่ค่ายเพลงจัดโดยเฉพาะ
ล่าสุดที่แฟนเพลงคนไทยกำลังตื่นเต้น คือการมาถึงของวง BNK48 วงน้องสาวจากไอดอลญี่ปุ่น AKB48 ที่มีโมเดลทางธุรกิจใกล้เคียงกัน คือการซื้อซีดีเพื่อรับสิทธิ์ในการร่วมงานจับมือ หรือโหวตสมาชิกที่ชอบเพื่อให้ศิลปินเหล่านั้นได้มีผลงานกับวงพี่สาว AKB48 ที่แฟนๆ เรียกกันว่า World Senbatsu General Election จนทำให้แฟนเพลงจัดโปรเจ็คต์บริจาคเงินมากมายเพื่อซื้อซีดีซิงเกิล “Teacher Teacher” ผลงานซิงเกิลที่ 52 ของวง AKB48 มาโหวตมากมาย จนทำสถิติยอดขายระดับดับเบิลแพลตตินั่ม หรือมากกว่า 2.5 ล้านแผ่นตั้งแต่ 1 วันก่อนวันจำหน่ายจริงในร้านซีดี แต่เมื่อซีดีถูกใช้โหวตเรียบร้อยแล้ว จึงพบกับปัญหาการพบซีดีถูกทิ้งเป็นพันๆ แผ่น ในมุมของแฟนเพลงที่ชื่นชอนการซื้อซีดีเพื่อฟังเพลง และเก็บสะสมอย่างแท้จริง จึงมองว่าการตลาดแบบนี้เป็นการทำลายวงการดนตรีมากกว่าการสนับสนุนผลงานดีๆ จากศิลปินเอง
Stage48.net
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสดิจิตอล สตรีมมิ่ง และอินเตอร์เน็ตต่างๆ ที่ทำให้เราฟังเพลงได้โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของซีดี ก็ไม่ได้เป็นการทำลายอุตสาหกรรมเพลงอย่างที่คิด โดยเฉพาะธุรกิจซีดี เพราะเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ชาวอเมริกันใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อซีดี และไวนิลสูงกว่าดิจิตอลดาวน์โหลดเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีนับจากปี 2011 โดยคิดเป็นรายได้จากซีดี และไวนิลที่สูงขึ้น 17% จากปีก่อน ส่วนรายได้จากดิจิตอลดาวน์โหลดสูงขึ้นจากปีก่อนราว 15% (65% ยังคงเป็นสตรีมมิ่ง) รวมไปถึงยอดขายแผ่นไวนิลจากวัน Record Day ที่มีทีท่าว่าจะไปได้สวยขึ้นเรื่อยๆ ใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ที่ทำให้หลายคนเชื่อว่า ธุรกิจซีดี และไวนิลยังไม่ตายง่ายๆ เหตุผลยังไม่เป็นที่แน่ชัด อาจจะมาจากความพยายามในการสร้างสรรค์ซีดีที่เป็นมากกว่าซีดีธรรมดา กระแสของการสะสมผลงานเก่าๆ สุดคลาสสิกอย่างการกลับมาของไวนิล ซีดี และเทป รวมไปถึงการตลาดต่างๆ ที่ทำให้แฟนๆ ได้รับผลประโยชน์มากขึ้นจากการซื้อซีดี เช่น กรณีของแฟนๆ AKB48 และวงน้องสาว และการซื้อซีดีเพื่อเพิ่มสิทธิ์ในการซื้อบัตรคอนเสิร์ตของ Taylor Swift ก็ได้ (อ่านต่อ >> เพื่อแฟนหรือเพื่อเงิน? Taylor Swift กับวิธีจองบัตรคอนเสิร์ตสุดโหด)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะยังซื้อซีดี ซื้อเพลงแบบดิจิตอล และตามสนับสนุนศิลปินที่คุณรักอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง หรือจะเป็นพวกฟังเพลงผ่านออนไลน์อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ และตามข่าวคราวผ่าน social media ประปราย เราเชื่อว่าตราบใดที่คุณยังคงฟังเพลง และชื่นชมผลงานของศิลปินเหล่านั้นอยู่ ไม่ว่าจะผ่านฟอร์แมตไหน คุณก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการเพลงยังคงดำเนินได้ต่อไปอยู่ดี อาจจะอยู่ที่คุณแล้วล่ะที่คิดว่าอยากจะสนับสนุนศิลปินที่คุณรักอย่างเต็มที่มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็ขอให้อยู่บนบรรทัดฐานของความ “พอดี” แล้วกัน
____________________
Story : Jurairat N.
Sources : Billboard, The Market Mogul, Sora News 24, The Register,
Photos : Stage48, GettyImages