บทบันทึกสู่เพื่อนเก่า "Mr. Big Live in Bangkok" โดย พรรษิษฐ์ วิชญคุปต์ | Sanook Music

บทบันทึกสู่เพื่อนเก่า "Mr. Big Live in Bangkok" โดย พรรษิษฐ์ วิชญคุปต์

บทบันทึกสู่เพื่อนเก่า "Mr. Big Live in Bangkok" โดย พรรษิษฐ์ วิชญคุปต์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"To Be with You"

ย้อนวันกลับไปในวัยทีนเอจ หนึ่งในคำที่คนหัดฟังเพลงพยายามค้นหาไอดอลส่วนตัวมีมากมาย ทั้งใครเล่นกีตาร์เก่งที่สุด เร็วที่สุด กลองมันที่สุด แต่คำที่สะกิดใจ และพยายามค้นหาสำหรับผมนั่นคือ Super Band ที่รวมพญาเทพมาจุติในที่เดียวกันมากที่สุด

สำหรับคนสามสิบปลายวิ่งไล่หลักสี่ไม่กี่หมากแหลกแล้ว ดนตรีที่ขึ้นมาเป็นกระแสหลักใหญ่ในบ้านเราช่วงวัยรุ่นราว 20 กว่าปีก่อนไม่พ้นกระแสโมเดิร์นร็อกจากอังกฤษ และอัลเทอร์เนทีฟที่พลิกกระแสให้ดนตรีร็อกจับต้องง่ายขึ้น ไม่ยากทั้งเรื่องภาพลักษณ์หรือดนตรีที่ซับซ้อนโซโล่ยากเกินเด็กมัธยมทั่วไปจะทำได้

ชื่ออย่าง Nirvana, Suede, Manic Street Preachers, Shed, Seven, Blur เข้ามายึดหัวหาดบ้านเราได้ไม่ยาก ยิ่งมีวงไทยที่ทำเพลงเนื้อไทยออกมาในแนวนี้เรื่องเลยไปกันใหญ่

ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในเด็กที่อยู่ในกระแสนั้น ทั้งฟัง ทั้งเล่น เป็นธรรมดาที่อิทธิพลของเพลงแนวนี้จะฝังลึกลงไปในหัว จนปัจจุบันแม้อายุที่เพิ่ม สังคมที่เปลี่ยน และรสนิยมจะพาเราไปลิ้มอรรถรสการฟังมาหลากแนว สุดท้ายก็วนมาจบที่เพลงลักษณะแบบนี้

Mr. Big

Mr. Big

 

แปลกที่เวลาผ่านมาถึงตอนนี้ หากมีใครมาถามว่าวงโปรดที่สุดของตัวเองคือใคร ผมตอบอย่างไม่ลังเล แน่นอนวงโปรดตลอดกาลของผมคือ Mr.Big ร็อกแอนด์โรลจากแอลเอ ที่เดินทางมายาวนานตั้งแต่ปี 1988 ท่ามกลางวงร็อกผมยาวมากมาย บวกกับกระแสอัลเทอร์เนทีฟที่แรงเข้ามาแทนที่ร็อกผมยาวกระแสหลักในช่วงที่ Mr.Big กำลังจะก้าวไป

ทันทีที่อินโทรแสนเร้าใจของ "Daddy, Lover, Brother, Littleboy" ระเบิดขึ้นด้วยภาพของ 3 สมาชิกดั้งเดิม แม้เสียงเบสของ Billy Sheehan จะทุ้มดุดันขนาดไหน แผดเสียงคำรามจาก Ibanez Fireman ของ Paul Gilbert จะเร่าร้อนเร้าใจสักเพียงใด เช่นกันกับสุ้มเสียงและลีลาที่คุ้นเคยของ Eric Martin รอบข้างต่างพากันเฮลั่นกรีดร้องอย่างสะใจ เด็กหนุ่มราวยี่สิบปลาย รวมทั้งเด็กมัธยมที่มาในชุดนักเรียน 4-5 คนที่ยืนอยู่ข้างหน้าต่างพากันกระโดดสุดตัว

ภาพบนเวทีของ Mr. Big ที่เราคุ้นเคย

ภาพบนเวทีของ Mr. Big ที่เราคุ้นเคย

 

ทว่าเพลงแรกของโชว์ทำเอาผมเองน้ำตารื้นโดยไม่รู้ตัว ปากร้องตาม แต่แปลกที่ใจมันไม่คึกเท่าไหร่นัก หวิวๆ พิกล

 

การกลับมาของ “Mr.Big

อาจจะแปลกหูไปบ้างกับจังหวะกลองของ Matt Star ซึ่งมาสวมบทบาทแทนที่ Pat Torpey ผู้ล่วงลับ ข่าวร้ายที่ดังก้องหูและสะเทือนใจที่สุดสำหรับแฟนเพลงพวกเขาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันนธ์ ที่ผ่านมา แต่ความประทับใจไม่ต่างไปจากครั้งก่อนๆ ที่จัดเต็มไป ณ ธันเดอร์โดม

บรรยากาศมุมกว้างของ Mr. Big Live in Bangkok

รรยากาศมุมกว้างของ Mr. Big Live in Bangkok

 

สำหรับโชว์ครั้งที่ 4 ในเมืองไทย Mr.Big ย้ำชัดว่าพวกเขาคือสุดยอด Performer ในแบบฉบับร็อกแอนด์โรลแท้ๆ ในยุคฮาร์ดร็อกแฮร์แบนด์เฟื่องฟู เพลงเร็วโยกหัวกันสะใจ แต่เหนือชั้นไปด้วยเมโลดี้ที่สวยงาม ซึ่งเป็นจุดเด่นที่แตกต่างของเพื่อนร่วมรุ่น แม้จะหนีไม่พ้นปัญหาของวงรุ่นใหญ่หลายๆ วงนั่นคือ กระแสตอบรับที่ไม่ดีนักสำหรับอัลบั้มใหม่ๆ ซึ่ง “นายใหญ่” วงนี้ผลิตสตูดิโออัลบั้มออกมาถึง 3 อัลบั้มเต็มๆ ไล่ตั้งแต่ What If... (2011), ..The Stories We Could Tell (2014) และ Defying Gravity (2017) ขนาดเพลงโปรโมต "Everybody Needs a Little Trouble” ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายที่มีภาพ Pat Torpey ปรากฏในเอ็มวี เสียงตอบรับก็เงียบงัน แม้ส่วนตัวผมจะรู้สึกว่าอัลบั้มล่าสุดจะออกมาดีมากเกินคาดก็ตาม

ทว่าทุกเพลงจากอัลบั้มสร้างชื่อที่ดังขึ้นมาล้วนปลุกเร้าอารมณ์ร็อกเกอร์ให้ลุกเป็นไฟทั้ง "Alive and Kickin'" หรือ "Rock & Roll Over" ก็จะเดือดขึ้นมาทันที

 

Take Cover : Song For Pat

รันโชว์ไปได้สักพักดูผู้ชมจะซึมลงไปนิดหน่อย เมื่อ Eric Martin พูดถึงสมาชิกดั้งเดิมยุคก่อตั้งวงที่จากไปอย่าง Pat Torpey ร่ายยาวถึงความผูกพัน ความสนุกร่วมกันมายาวนานหลายทศวรรษ แน่นอนทุกคนคิดถึงยอดฝีมือด้านกลองคนนี้ มันไม่ใช่แค่การสูญเสียของวง แต่เป็นการสูญเสียของวงการร็อกทีเดียว

Matt Starr สมาชิกใหม่แห่งครอบครัว Mr. Big

Matt Starr สมาชิกใหม่แห่งครอบครัว Mr. Big

 

ก่อนที่บรรยากาศจะซึมมากไปกว่าเดิม Eric แนะนำให้ทุกคนได้รู้จักสมาชิกใหม่ของวง ไม่สิ เขาใช้คำว่าสมาชิกคนล่าสุดของครอบครัว Mr.Big นั่นคือ Matt Starr ซึ่งเสียงตอบรับจะสนั่นโถงอีกครั้งพร้อมอินโทรสุดคลาสสิกที่นำด้วยกลองอย่าง "Take Cover" เพลงเด็ดจากอัลบั้ม Hey Man หน้าปกหุ่นไล่กาและแบ็กกราวด์สีชมพูฟ้าพาสเทล เป็นเพลงที่แฟนร้องตามได้ทุกท่อนแม้แต่เสียงเอื้อนของ Eric ก็ไม่เว้น

 

Why We Call him the Great Paul?

ในโชว์นี้เรื่องที่แฟนๆ ของพวกเขาตั้งตารอนั่นคือ การตัดสลับเข้าโซโล่ระดับปีศาจจากหนึ่งในมือกีตาร์ที่เก่งที่สุดของโลกในปัจจุบันอย่าง Paul Gilbert ในวัย 51 ทั้งดุ เร็ว มากเทคนิค ที่สำคัญใส่ยับทุกเม็ด อยากเห็นอะไรล่ะ แท็ปปิ้ง สปีดนรกแตกขนาดไหน สวิป โน่นนี่นั่นดูทันก็ดูไปเลย ทำเอาให้เหล่าเลคเชอร์แมนที่ตั้งแง่มาดูกันว่าเจ๋งจริงไหมซูฮกหงายท้องไปตามกันก่อนเชื่อมเข้าเพลงอมตะ “Addicted to That Rush” หนึ่งในไฮไลต์ที่โชว์ทักษะของสมาชิกทั้งสี่ การเดินกลองที่ละเอียดยิบมากลูกเล่นแต่แข็งแรง เป็นแก่นแกนให้กีตาร์ได้ปล่อยจินตนาการเรียกเสียงว้าวจากคนดูเป็นระยะ บวกกับลูกเบสที่น่าทึ่งเร็วไม่แพ้กีตาร์ของ Billy Sheehan แน่นอนอุปกรณ์สว่านไฟฟ้าคู่ใจต้องมา

Paul Gilbert ในวัย 51 ปี

Paul Gilbert ในวัย 51 ปี

 

ท่อนที่ว่าถือเป็นทีเด็ดแล้ว แต่ทุกอย่างที่ได้ชมเหมือนเป็นระดับมัธยมไปในพริบตา เมื่อเพื่อนสมาชิกทั้งสามเดินลงจากเวทีปล่อยให้ พี่ใหญ่ คนบ้าเล่นเบส 2 แจ็ก Billy ในวัย 65 ปี ควง Yamaha Attitude คู่ใจใส่ยับโซโล่อยู่ร่วม 5 นาที แต่เป็น 5 นาทีที่ไม่มีเบื่อ สำหรับคนดนตรี คนบ้าเบส

 

Bassist Hero

การได้ดู 10 นิ้วที่ทรงพลังของ Billy Sheehan ปลดเปลื้องทุกพันธนาการ ทลายทุกกรอบจำกัดของตำรา “เบส” คำพูดที่ออกจากปากผู้ชมขณะนั้นฟังแทบไม่เป็นคำ แต่ทุกน้ำเสียงที่ออกมาเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ซูฮกในความยอดเยี่ยมของโคตรเบสคนนี้ ถึงวัยจะเข้าใกล้คุณปู่ แต่ผมกล้าการันตีว่าโลกใบนี้หาคนโค่นเขาจากตำแหน่งหนึ่งในมือเบสที่เก่งที่สุดเท่าที่โลกเคยมีได้ยากเหลือเกิน ทั้งนี้หากดูกันจริงๆ คนเบสหลายคนอาจสงสัยเล็กๆ เพราะ บิลลี่ เป็นหนึ่งในเบสแถวหน้าที่ไม่นิยมโซโล่เบสด้วยการสแลป แต่จะสนไปทำไมกันเมื่อเล่นมันขนาดนี้

Billy Sheehan มือเบสระดับพระกาฬ

Billy Sheehan มือเบสระดับพระกาฬ

 

คลาสสิกสุดๆ เมื่อโซโล่ดังกล่าวเป็นการส่งเข้าอีกเพลงครูของคนร็อกที่อยากก้าวไปสู่คำว่า กีตาร์ฮีโร่ เบสฮีโร่ และ ซูเปอร์แบนด์ต้องผ่านไปให้ได้ นั่นคือ "Colorado Bulldog" ยกให้เป็นช่วงพีคที่สุดในการโชว์สุดยอดทักษะกับเพลงสุดซี้ดของเหล่าขาร็อก เช่นกันกับช่วงขายของที่ Mr.Big ทำได้ดีทุกครั้งในทุกโชว์ นั่นคือชุดเพลงรักหวานซึ้ง

ตามแบบฉบับบัลลาดร็อกระดับตำนาน ทั้ง "Wild World" งานเก่าจากคณะ Cat Stevens เพลงที่บอกถึงความรักล้นปรี่ที่ต่อให้คนรักคนดีอยากจากไป ก็ขอให้เก็บความรักจากหัวใจเขาติดตัวไปด้วยอย่าง "Just Take My Heart" รวมทั้งเพลงช้าที่ท้าทายมือกีตาร์และเบสอย่างร้ายกาจ ทั้งทักษะลูกเล่นที่นับไม่ทันว่า 1 ท่อนในไม่กี่วินาที Paul กับ Billy เล่นอะไรให้เราดู เช่นกันกับการเรียบเรียงให้ออกมาประสานกันลงตัวทั้งการเล่นและการร้องนั่นคือ "Green Tinted Sixties Mind" เพลงช้าที่ทั้งคู่ปล่อยแสงแห่งความอิ่มเอมใส่ผู้ชมอย่างไม่ยั้งมือ

น้ำเสียงที่ฟังแล้วอิ่มเอมทุกครั้งจาก Eric Martin

น้ำเสียงที่ฟังแล้วอิ่มเอมทุกครั้งจาก Eric Martin

 

ไหนจะเพลงชาติของวงอย่าง "To Be With You" เพลงที่ทุกคนรออยู่ เพียงแค่ส่งสัญญาณเข้าเพลง กว่า 3,000 ชีวิตใน GMM Live House ร้องกันสุดเสียงจน Eric Martin แทบไม่ต้องทำอะไรนอกจากยิ้ม แล้วก็ร้องออกมาอย่างด้วยสีหน้าและท่าทางมีความสุขที่สุด โดยส่วนตัวเพลงนี้ถือเป็นเพลงโปรดลำดับต้นๆ ของชีวิต และนี่ก็คือเพลงในวันสำคัญวันแรกแห่งการเริ่มต้นชีวิตคู่ ไม่ต้องเล่าต่อก็คุณๆ คงพอเดาได้ว่าสภาพผมขณะร้องและดื่มด่ำไปกับเพลงนี้จะเป็นอย่างไร

จบจากโชว์ สิ่งที่ได้ยินหลายคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันคงไม่พ้นเรื่องของเสียงที่ออกมาฟังยากไปนิดและไม่เคลียร์นัก เท่าที่เจอะเจอคำถามนี้ยิงใส่ ผมเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่ามันดีหรือไม่ ด้วยความสัตย์ผมแทบไม่ได้สนใจเรื่องแสงสีเสียงสักเท่าไหร่ จริงๆ ก็เป็นมาตั้งแต่ครั้งก่อน

3 สมาชิกยุคก่อตั้งวง

3 สมาชิกยุคก่อตั้งวง

 

Mr.Big เป็นวงไม่ขายโปรดักชั่นนักเวลามาเมืองไทย หากคุณหวังจะเห็นแสง สี กราฟฟิก สารพัดบนเวทีให้ลืมไปเลย ส่วนเสียงก็เกินกว่าจะอธิบายได้ด้วยชั้นความรู้ที่ผมมี ที่รู้ก็แค่เพียงการได้ดูพวกเขาอีกครั้งในวัยนี้ มันเหมือนได้เจอเพื่อนเก่า ครูคนเก่า แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เราอยากสร้างและฟังดนตรี เพื่อนคนนี้ที่อยู่หลายช่วงสำคัญของชีวิต มาเล่นดนตรีให้ฟังต่อหน้าด้วยความคิดถึงเท่านี้มันก็คุ้มค่าเหลือเกิน

ทั้งนี้ขอขอบคุณทาง Sanook ที่ชวนมาร่วมสนุกร่ายยาวบทความนี้ให้แฟนๆ Sanook ได้อ่านเป็นครั้งแรก หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้พบกันใหม่ครับ

Mr. Big ส่งท้ายความประทับใจ

Mr. Big ส่งท้ายความประทับใจ

เรื่อง : พรรษิษฐ์ วิชญคุปต์ (ผู้บรรยายกีฬา/นักเขียน)
ภาพ : OD Rock Fest

อัลบั้มภาพ 45 ภาพ

อัลบั้มภาพ 45 ภาพ ของ บทบันทึกสู่เพื่อนเก่า "Mr. Big Live in Bangkok" โดย พรรษิษฐ์ วิชญคุปต์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook