“2 IS BETTER THAN 1” กับเรื่องราวของความสุข อายุ และแง่คิดดีๆ ที่ซ่อนอยู่ในดนตรีของพวกเขา
“อายุเป็นเพียงตัวเลข”
ประโยคนี้ดูเหมาะสมกับศิลปินหลากหลายคนไม่ว่าจะเป็นไทยหรือเทศ โป่ง-ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ นักร้องนำวง หิน เหล็ก ไฟ และ The Sun ก็ยังคร่ำหวอดอยู่ในวงการเพลงบ้านเราแม้อายุจะปาเข้าไป 56 ปีแล้ว หรือแม้กระทั่ง Mr. Big ที่เพิ่งจะมาวาดลวดลายแบบลืมอายุที่เมืองไทยไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน สมาชิกแต่ละคนล้วนแล้วแต่เป็นปูชนียบุคคลของวงการดนตรีโลกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Eric Martin, Billie Sheehan หรือแม้แต่ Paul Gilbert เองก็ตาม
แม้ว่าวงดนตรีสัญชาติไทยอย่าง 2 IS BETTER THAN 1 ที่ประกอบไปด้วย 3 สมาชิกอย่าง ขนุน-วัลลภ เจียรสถิต (แต่งเพลง, เรียบเรียง, ร้องนำ, เบส, เพอร์คัสชั่น, เครื่องเป่า), มีน-พัทธศิษฏ์ ศรีศุภลักษณ์ (แต่งเพลง, เรียบเรียง, ร้องนำ, กีตาร์, เครื่องเป่า) และ หอย-อภิศักดิ์ เจือจาน (แต่งเพลง, ร้องนำ, กลอง, เพอร์คัสชั่น) จะอายุไม่มากเท่าศิลปินที่เรากล่าวไปข้างต้น แต่ตัวเลข 30 ปลายๆ 40 ต้นๆ ก็ถือว่าไม่น้อย เมื่อเทียบกับศิลปินวัยรุ่นวัย 20-30 ที่มีอยู่ดาษดื่นในวงการ
ปกอัลบั้ม 3 is better than 2
ทว่าพวกเขาก็ยังขอยืนหยัดทำในสิ่งที่รัก นั่นก็คือเสียงดนตรีที่เปรียบเสมือนเพื่อนอยู่เคียงคู่ชีวิตมาอย่างยาวนาน พร้อมกับจุดมุ่งหมายที่อยากจะถ่ายทอดแง่คิดดีๆ บางอย่าง ให้คนฟังได้ฉุกคิด และนำไปปรับใช้ในชีวิตได้บ้าง ส่งต่อมายังอัลบั้มเต็มชุดที่ 2 ในชีวิตอย่าง 3 is better than 2 ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งทางด้านเนื้อหาและภาคดนตรี นั่นอาจเป็นรางวัลสูงสุดที่มีคุณค่า ... มากกว่ายอดขาย
2 IS BETTER THAN 1 กลับมาพร้อมการเปลี่ยนแปลงสมาชิก?
ขนุน : อัลบั้มแรกเมื่อปี 2555 มันเริ่มมาจากตัวผมก่อน เริ่มจากการเข้าไปอัดเพลง ทำเพลง เรียบเรียงดนตรีในค่าย Classy Records นี่ล่ะ แล้ววันหนึ่ง พี่ป๊อก (ทวิษย์ชญะ ตั้งสหะรังษี) เจ้าของค่าย Classy Records ก็เอ่ยปากถามว่า อยากทำอัลบั้มของตัวเองไหม ผมก็ตอบกลับไปว่าอยากทำ ก็เลยหานักร้องจนไปได้ มะเหมี่ยว (อิสรีย์ นำพาเจริญ) มา หลังจบอัลบั้มพี่ป๊อกก็เห็นศักยภาพในตัวมะเหมี่ยว เลยอยากให้น้องออกมาทำผลงานเดี่ยว แล้วพี่ป๊อกก็จะให้ผมทำอัลบั้มที่ 2 ต่อด้วย ก็เลยต้องหานักร้องใหม่ แต่คิดว่าถ้าเป็นผู้หญิงเหมือนเดิมก็จะซ้ำๆ ไม่ค่อยน่าสนใจ แล้ว มีน กับ หอย ผมก็รู้จักมานานร่วม 20 ปีแล้ว ทั้ง 2 คนก็มีเพลงแต่งเก็บไว้ ก็เลยชวนมารวมเป็นทริโอ ทำเป็นอัลบั้ม 3 is better than 2 เสียเลย
การที่รู้จักกันมานาน ถือเป็นข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการทำวงดนตรีอย่างไร?
มีน : ผมว่าทำงานง่ายกว่าคนที่ไม่รู้จักกันเลยนะ ก่อนที่จะมาทำเพลงในฐานะวง 2 IS BETTER THAN 1 วันเนี่ย ผมก็ทำงานให้ค่าย Classy Records มาระยะหนึ่งแล้ว แต่การมาเป็นศิลปินเป็นเรื่องใหม่ แล้วเราไม่สามารถส่องกระจกดูตัวเองได้ ก็ค่อนข้างประหม่ากับการที่เรามาเป็นฟร้อนต์แมนแล้วนะ
หอย : คือปกติถ้าเราร่วมงานกับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน มันจะมีความรู้สึกอะไรบางอย่างมาสะกิดนิดหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกันไปเลยมันสบายกว่า แล้วเราก็ปรับตัวไม่ยากด้วย คือเรามีข้อจำกัดส่วนตัว คือเราได้เมโทรนอม แต่เราเรียบเรียงไม่ได้ 13 เพลงในอัลบั้มเราแบ่งกันทำคนละ 4 เพลง บวกกับเพลงของพี่ป๊อกอีก 1 เพลง ซึ่งส่วนที่เราทำเรายกให้ขนุนและมีนเรียบเรียงเลย แล้วเราก็เคารพการตัดสินใจของพวกเขาด้วย เหมือนใครมีจุดด้อยเรื่องไหน เพื่อนอีก 2 คนก็จะช่วยอุดให้
มีน-พัทธศิษฏ์ ศรีศุภลักษณ์
วงดนตรีวงนี้ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรผ่านบทเพลง?
ขนุน : ด้วยความที่ต่างคนต่างก็มีเพลงของตัวเอง ก็มานั่งฟังกันว่าตรงไหนที่พอจะเข้ากันหรือรวมกันได้ อัลบั้มชุดนี้ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นไปในทางเดียวกันในแง่ของการเรียบเรียงดนตรี มันเป็นวาไรตี้เลย แต่จุดร่วมสำคัญที่เหมือนกันก็น่าจะเป็นเนื้อเพลง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการมองโลกของคนที่อายุราวๆ 40 ผ่านโลกผ่านประสบการณ์ชีวิตมาพอสมควรแล้ว เป็นการมองโลกในแบบที่ไม่ใช่เด็กๆ หรือวัยรุ่น และที่สำคัญมีความสร้างสรรค์ในเชิงบวก ซึ่งพวกเรา 3 คนช่วยกันทำเองในทุกขั้นตอน มีนักดนตรีรับเชิญมาแค่ 3-4 คน เพราะอย่างมีนก็เล่นกีตาร์ หอยก็เล่นกลองได้ ผมเล่นเบส เครื่องเป่า คีย์บอร์ด เครื่องอื่นๆ ก็เล่นได้เล็กๆ น้อยๆ ส่วนใหญ่เลยทำเองกันหมด
แต่เดาว่าคงไม่ได้มีแต่เรื่องง่ายดายในการทำอัลบั้มนี้แน่ๆ?
ขนุน : แน่นอน คน 3 คนไม่มีทางคิดตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว บางทีก็กลัวว่าจะหลากหลายเกินไป เพราะต่างคนต่างมีแนวทางของตัวเอง ความยากคือทำอย่างไรให้ทุกอย่างยังอยู่ในทิศทางเดียวกัน ไม่หลุดออกไปมาก โอเคเพลงของเราเป็นวาไรตี้ แต่มันก็ยังมีอะไรที่เป็นจุดเชื่อมโยง อย่างน้อยสิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือเราอัดสดหมด เครื่องดนตรีเป็นอะคูสติกจริงๆ ไม่ใช้อิเล็กทรอนิกส์เลย แต่สิ่งที่ยากกว่าก็คือว่า ด้วยความเป็นอะคูสติกจริงๆ ก็มีอยู่หลายแบบ มันจะไปทางไหนก็ได้ อะคูสติกคือการใช้เครื่องดนตรีสด ความสดก็มีหลายแบบอีก อย่างอัลบั้มนี้จะมีตั้งแต่แจ๊ซยุค Dixieland สวิงแจ๊ซก็มี ร็อคหรืออะแคปเปลล่าก็มี แค่ยืนพื้นด้วยอะคูสติกโฟล์ค ชุดแรกไม่มีกีตาร์เลย เพราะผมเล่นกีตาร์ไม่เป็น แต่พอได้มีนกับหอยซึ่งเขาเล่นกีตาร์เข้ามา เพลงส่วนใหญ่ของอัลบั้มก็จะมีกีตาร์
คือไม่มีเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เลย?
หอย : ถ้าไม่นับเอฟเฟกต์กีตาร์นะ
ขนุน : เอฟเฟกต์ยังเป็นอนาล็อกเลย (หัวเราะ) คือผมหมายถึงเครื่องดนตรีที่เราเอามาใช้จะเป็นเครื่องดนตรีอะคูสติกหมดเลย มีบ้างเล็กน้อยที่เราใช้เสียง Sampler ด้วยในกรณีที่เราหาเครื่องดนตรีนั้นๆ มาอัดไม่ได้ แต่ก็จะเป็น Sampler ที่เป็นเครื่องดนตรีอะคูสติกมาใช้อยู่ดี ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เสียงไวเบรโฟน เราไม่สามารถไปขนมาอัดได้ ก็ต้องใช้เสียงไวเบรโฟนที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ หรือเสียงกลองทัดในเพลง “นิ้วเพชร” ก็ต้องใช้เสียงอื่นที่ใกล้เคียงกับกลองทัด แต่ก็ยังเป็นเสียงอะคูสติกอยู่ดี เรียกได้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มาเกี่ยวข้อง แต่กระบวนการอีดิทต่างๆ เราก็ใช้ห้องอัดระบบดิจิตอลนะครับ เราคงไม่กลับไปใช้เทปวีลในการบันทึกเสียง หายากมากแล้ว (หัวเราะ)
หอย-อภิศักดิ์ เจือจาน
ด้วยความวาไรตี้ที่มีทั้งแจ๊ซ, โฟล์ค, ร็อค ต่างๆ นานา โดยรวมคิดว่าอัลบั้มชุดนี้ฟังยากไหม?
ขนุน : ส่วนใหญ่ผมว่าฟังง่ายนะ อาจจะมีบางเพลงที่ต้องตั้งใจฟังเนื้อร้องบ้าง แล้วตีความในแต่ละเนื้อหาของเพลง เพราะอย่างที่เราบอกว่าใช้ชีวิตมาจะ 40 หรือ 40 กว่าแล้วเนี่ย (หัวเราะ) เราก็พยายามจะใส่แง่คิดในการดำเนินชีวิต พยายามจะใส่อะไรที่เราเห็นในโลกของความเป็นจริง แต่ในเรื่องดนตรีผมว่าฟังไม่ยาก อย่างเพลงที่ผมทำเป็น Dixieland เป็นแจ๊ซในยุค 1900 ก็พยายามจะตีความการเอาดนตรีแบบนั้นมาใช้ คือดนตรีสไตล์นั้นมันเป็นดนตรีสนุก สอดคล้องกับเนื้อหาที่พูดถึงการไม่มองความทุกข์ที่เข้ามาอยู่กับเราไม่นาน ความสุขก็เช่นกัน เพราะอย่างนั้นมองชีวิตให้สนุกดีกว่า แต่อย่างเพลงจากมีน เขามีพูดถึงความตาย ก็จะใช้ซีตาร์ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีอินเดีย เอามาเป็นตัวแทนเรื่องจิตวิญญาณในฝั่งตะวันออก หรืออย่างเพลง “นิ้วเพชร” ของหอย มีการหยิบฉันทลักษณ์ที่เรียกว่า ฉันท์ มาใช้ แล้วพูดถึงเรื่องยักษ์นนทก ก็เลยเอาปี่เข้ามาใส่ด้วย
คือคนทั่วไปได้ยินคำว่า Dixieland ก็อาจจะรู้สึกว่าฟังยากขึ้นมาทันที
ขนุน : บางทีศัพท์มันยากจริงๆ แม้ว่าเราจะเคยได้ยินเพลงพวกนี้อยู่ก็ตาม
หอย : ลองนึกภาพพวกสวนสนุก ขบวนพาเหรด
มีน : ถ้าไม่บอกชื่อของแนวเพลง ฟังเพลงก่อนมันจะรู้สึกว่าฟังไม่ยากหรอก (หัวเราะ)
โจทย์ในการทำเพลงออกมาสู่คนฟังในทุกวันนี้ของ 2 IS BETTEN THAN 1 คืออะไร?
ขนุน : ผมจะย้ำกับอีก 2 คนเสมอว่า ทำเพลงให้ตัวเราเองชอบก่อน ถ้าเราชอบ นั่นคือพอแล้ว ถือว่าเราจบแล้ว ที่เหลือคนอื่นจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่เป็นไร คนอื่นจะตินู่นตินี่ก็ฟังไว้ แต่ไม่ต้องไปสนใจอะไร เราก็ชอบก็พอแล้ว ถ้าเพลงออกมาดังเปรี้ยงเลย แต่เราไม่ชอบ แล้วเราต้องเล่นมันทุกวัน โอ้โห มันจะแบบว่า... (หัวเราะ) อาจจะได้เงิน คนดูอาจจะเยอะ แต่เราไม่มีความสุขน่ะ
ขนุน-วัลลภ เจียรสถิตย์
ปัจจัยเรื่องอายุมีผลต่อการทำงานของวงดนตรีวงนี้ไหม?
มีน : แน่นอน เพราะเด็กๆ เขาก็ฟังเพลงน่ารักๆ ใสๆ ปั๊ปปี้เลิฟใช่ไหม (หัวเราะ) ซึ่งเราจะไปบอกว่าเพลงนั้นดี เพลงนี้ไม่ดีไม่ได้ เขาโตขึ้นเขาอาจจะฟังเพลงอีกอย่างหนึ่ง เขาอาจจะกลับมาฟังเพลงเราก็ได้
ขนุน : จริงๆ เพลงมันมีฐานคนฟังตามอายุของมันน่ะครับ อย่างเด็กวัยรุ่น เด็กมัธยม เขาจะมาฟังเพลงคลาสสิคเหรอ ฟังแจ๊ซเหรอ ก็คงไม่มั้งครับ (หัวเราะ) เพลงแต่ละเพลงก็คงเหมาะกับช่วงอายุที่แตกต่างกัน เหมือนอย่างยุคคุณพ่อคุณแม่ผม เขาก็ฟังสุนทราภรณ์ในยุคของเขาที่เขาชอบ พอมาถึงวันที่เราทำเพลง จริงๆ กลุ่มเป้าหมายของเราก็คงไม่ใช่เด็กวัยรุ่น เราอยากให้คนยุครุ่นราวคราวเดียวกับเรานี่แหละฟัง น่าจะเป็นอย่างนั้น
มีน : ฝรั่งเขาจะพูดว่า คุณจะฟังเพลงตอนที่ยังเป็นวัยรุ่นไปจนถึง 25 คุณจะฟังเพลงช่วงนี้ซ้ำไปตลอดชีวิต
ขนุน : ก็มีส่วน มันเป็นประสบการณ์ในชีวิตเขาน่ะ เหมือนทุกวันนี้เพลงที่เรายังจำได้ไม่ลืม “ลมหายใจ” เมื่อ 20 ปีที่แล้วเราก็ยังฟังอยู่ เพลงพี่บอย โกสิยพงษ์ เราก็ยังฟังอยู่ คงเป็นยุคหนึ่งที่เรากำลังอินกับมัน มันก็จะอยู่กับเราไปตลอด ไม่แน่ว่าเพลงของเรา สมมติว่ามีวัยรุ่นที่เขาฟังแล้วชอบ มันก็อาจจะเป็นเพลงที่ติดหูเขาไปจนอายุเยอะก็ได้
แต่สุดท้าย ความสุขสำคัญที่สุดในการทำเพลง?
ขนุน : ถ้าทำเพลงออกมาแล้วมีความสุข ผมถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แล้วไม่ได้ชอบเพลงที่เราแต่งอย่างเดียวนะ
มีน : ชอบเพลงของทุกคน (หัวเราะ)
ขนุน : ถึงแม้มันอาจจะขายได้ไม่ได้ผมก็ไม่รู้ แต่ว่าเราโอเคกับมันแล้ว
ขนุน: คือยังไม่มีเพลงที่เราไม่ชอบกันแบบ เฮ้ยไม่เอาได้ไหมอะไรงี้ ยังไม่มีอย่างนั้น เราฟังแล้วชอบทุกอันมันก็โอเค ถึงแม้อาจจะขายได้ไม่ได้ผมก็ไม่รู้ แต่ว่าเราโอเคกับมันแล้ว
ย้อนกลับไปฟังอัลบั้มชุดแรกของ 2 IS BETTER THAN 1 ได้ที่นี่
แม้ว่าจะยึดเอาความสุขเป็นที่ตั้ง แต่ก็ยังคงคาดหวังกับอัลบั้มชุดนี้?
มีน : คาดหวังครับ คาดหวังว่าเราจะต้องก้าวหน้า เหมือนผมก้าวขาออกมาแล้ว ผมคงทำไปจนกว่าผมจะทำไม่ไหว รวมไปถึงอยากมีแฟนเพลงกลุ่มเล็กๆ ที่ตามเราไปยังที่ต่างๆ ที่เรามีโอกาสได้เล่นดนตรี
หอย : สำหรับเราไม่เชิงคาดหวัง เราออกแนวฝันมากกว่าว่า อย่างน้อยถ้าเขาได้ยินเพลงเรา เขาจะมีความสุขตอนที่ได้ฟัง ถ้าฝันไปมากกว่านั้นก็คือ อยากไปเล่นให้เขาฟังต่อหน้า ส่วนเรื่องยอดขาย รายได้ มันเป็นสิ่งที่เราอาจจะคุมได้ แต่เราก็เชื่อว่า ถ้าเขาฟังแล้วเขาชอบ เดี๋ยวอะไรๆ มันก็จะตามมา
ขนุน : ของผมนี่ทั้งหวังทั้งฝันมาตั้งแต่อัลบั้มแรกแล้วครับ ผมหวังไว้ว่าจะมีคนที่ฟังเพลงทั้ง 2 ชุดแล้วเขาได้แง่คิด มันจะมีบางเพลงที่เราฟังแล้วรู้สึกว่า เวลาเรามีความทุกข์เราจะฮัมเพลงนี้ขึ้นมา แล้วเราก็จะเตือนตัวเอง สอนตัวเองตามเนื้อเพลงที่ได้ยิน ในอัลบั้มนี้มีเพลงแบบนั้นอยู่เยอะ เพลงที่สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ส่วนในแง่ของดนตรีและการเรียบเรียง ผมหวังไว้ว่าอยากให้มีดนตรีแบบนี้ออกมาเยอะๆ ดนตรีที่ไม่ใช่แค่ป็อปธรรมดา ทั้ง 2 อัลบั้มผมพยายามใส่เครื่องดนตรีแปลกๆ เข้าไป ให้คนฟังรู้สึกว่า เฮ้ย ไอ้เสียงแบบนี้เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ผมอยากได้ยินอย่างนั้นเยอะๆ อยากเห็นอัลบั้มต่างๆ ที่มีการเรียบเรียงหรือใช้เครื่องดนตรีที่หลากหลาย ส่วนตัวอยากได้ยินอย่างนั้น ก็เลยทำเพลงแบบนี้ออกมา แล้วถ้ามันไปจุดประกายให้กับนักดนตรีรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทำอย่างนั้นเยอะๆ ก็คงจะดี
และในวันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ตั้งแต่ 15.00 น. เป็นต้นไป วง 2 IS BETTER THAN 1 กำลังจะมีมินิคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม 3 is better than 2 ในชื่อ “2 IS Live On The Road #1” ณ ร้าน Cup and Handle Café อ.เมือง จ.อุทัยธานี ใครสนใจแวะชมฟังดนตรีเพราะๆ จากพวกเขาได้ เข้าฟรีไม่มีเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ