วงดนตรี “ภูมิจิต” กับนานาทัศนะเรื่องการเติบโตทางดนตรี การศึกษา และสังคมไทยทุกวันนี้ | Sanook Music

วงดนตรี “ภูมิจิต” กับนานาทัศนะเรื่องการเติบโตทางดนตรี การศึกษา และสังคมไทยทุกวันนี้

วงดนตรี “ภูมิจิต” กับนานาทัศนะเรื่องการเติบโตทางดนตรี การศึกษา และสังคมไทยทุกวันนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพราะการใช้ชีวิตในสังคมมันไม่ใช่เรื่องง่าย...

วงดนตรีหลายวงจึงเลือกจะเล่าเรื่องราวสะท้อนอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม หรือทัศนคติที่มีต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง วงดนตรีที่ชื่อ ภูมิจิต ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 4 คนอย่าง พุฒิ-พุฒิยศ ผลชีวิน (ร้องนำ, กีตาร์), กานต์-เกษม จรรยาวรวงศ์ (กีตาร์), แม็ค-อาสนัย อาตม์สกุล (กลอง) และ บอมบ์-ธิตินันท์ จันทร์แต่งผล (เบส) ก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่เดินในเส้นทางดังกล่าว

จากอัลบั้ม Found and Lost เมื่อปี 2551 สู่อัลบั้ม Bangkok Fever ในปี 2553 กับเรื่องราวของมนุษย์ การใช้ชีวิต และสังคม กับบทเพลงอย่าง “มากมายก่ายกอง”, “ด้วยความเคารพ”, “ลุมพินี” หรือแม้กระทั่ง “ตัวเรา ของเรา” เดินทางมาถึงอัลบั้มพิเศษอย่าง Home Floor ในอีก 2 ปีถัดมา สั่งสมฐานแฟนเพลงที่รักในเรื่องเล่าของ ภูมิจิต มาเรื่อยๆ แต่แล้วพวกเขาก็หายหน้าหายตาไป จนกระทั่ง…

ปกซิงเกิลเพลง

ปกซิงเกิลเพลง

20 มีนาคม 2561 ภูมิจิต กลับมาพร้อมซิงเกิลใหม่ “ชีพจร” ที่บอกเล่าเรื่องราวสิ่งที่คนวัยทำงานต้องประสบพบเจอ พร้อมความเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังใหม่อย่าง สนามหลวงมิวสิก, สีสันดนตรีใหม่ๆ ที่เราไม่ค่อยได้ยินจากพวกเขามาก่อน รวมไปถึงวิธีมองโลกที่แปรเปลี่ยน จากวัยรุ่นไฟแรงที่โหมกระหน่ำทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ สู่การเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจวิถีแห่งความเป็นไปมากขึ้น ตอกย้ำด้วยเพลงที่เพิ่งจะปล่อยออกมาอย่าง Active Income เพลงรักที่อยู่ท่ามกลางความฝัน การงาน และเงินทอง

ด้วยเหตุดังกล่าว Sanook! Music จึงชวน ภูมิจิต สนทนาถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น เลยเถิดไปถึงมุมมองที่มีต่อสังคมไทยในทุกวันนี้ และเหล่าคนวัยทำงานที่ทั้ง 4 หนุ่มก็อยู่ในช่วงวัยนี้เช่นกัน … ไม่ใช่อะไรหรอก ก็อัลบั้มใหม่ที่น่าตื่นเต้นของ ภูมิจิต มีชื่อว่า Mid : Life ที่แปลความหมายได้ว่า ชีวิตวัยกลางคน นั่นไง

 

ไม่นานมานี้ ภูมิจิต เลือกที่จะกลับมาพร้อมเพลงเนื้อหาหนักๆ อย่าง “ชีพจร”?

พุฒิ : จริงๆ เพลงนี้เกิดมา 5 ปีกว่าแล้ว ตั้งแต่จบอัลบั้ม Bangkok Fever ต้องอธิบายว่าเมื่อก่อนเราเป็นวงที่ฟังเพลงจากทางฝั่งอังกฤษเยอะมาก แล้ว กานต์ เขาไปเป็นผู้ประสบภัยในอังกฤษมา 2 ปี ซึ่งดูเหมือนจะดี เพราะมันเป็นหนึ่งในความฝันของเรา เหมือนได้ไปเมกะแห่งโลกของดนตรี แต่กานต์กลับมาบอกว่าเจอปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ ทุกเพลงมันเหมือนกันไปหมด และการแก้ปัญหาของกานต์คือ การเลือกฟังเพลงไทย ซึ่งไม่ใช่แค่เพลงไทยสากลทั่วไปอย่างเดียว แต่ไปค้นฟังหมดทุกแนว

กานต์ : ก็จะมีของอาจารย์ดนู ฮันตระกูล เป็นหลัก คือตอนไปอยู่อังกฤษ แต่ละเพลงมันคล้ายกันมาก แล้วเราก็คิดถึงการทำอัลบั้มที่ 3 อยู่ตลอดเวลา เราอยากทำสิ่งใหม่ ไม่อยากซ้ำรอยเดิม เราจึงกลับมาที่เพลงไทย เพราะเพลงของไทยเรานี่แหละที่จะทำให้ฝรั่งเซอร์ไพรส์ได้ เลยเริ่มทำการรีเสิร์ชข้อมูลก็พบว่า มันมีเพลงไทยหลายแบบมาก แต่มาชอบเพลงของอาจารย์ดนู เพราะมีความเป็นสากลสูง

พุฒิ : จำได้ว่าเรานั่งฟังเพลงของอาจารย์ดนูกันเยอะมาก ไปฟังในป่าลึกเลยด้วย (หัวเราะ) ที่ทองผาภูมิ กาญจนบุรี หนึ่งเพลงที่ติดใจเรามากที่สุดคือ “ชีพจรลงเท้า” เป็นเพลงประกอบรายการ ชีพจรลงเท้า ที่เราได้ยินมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้วพอยิ่งฟังก็ยิ่งรู้สึกว่า จังหวะมันติดหูมาก เลยคิดว่าถ้าเอาเพลงนี้มาเล่าในยุคปัจจุบัน เราจะเล่าด้วยมุมมองไหน ตอนนั้นชีพจรลงเท้า ตอนนี้ชีพจรของพวกเราเป็นแบบใด ก็เลยถอดคอร์ดมาส่วนหนึ่งแล้วพัฒนาต่อ จำได้ว่าแต่งเพลงนี้เสร็จก็กลับมากรุงเทพฯ วันต่อมาผมก็โดนไล่ออกจากงานเลย (หัวเราะ)

และเพลงสำเนียงไทยๆ ก็จะกลายมาเป็นคอนเซ็ปต์หลักของอัลบั้มชุดใหม่ของภูมิจิตด้วย?

พุฒิ : ใช่ครับ จริงๆ เราทดลองกันหลายอย่างมาก แต่ท้ายที่สุดก็จะเหลือแค่สิ่งที่เราคิดว่ามันลงตัวที่สุด เราใส่เสียงขิม เมโลดี้แคน เสียงฉิ่งลงไป

แม็ค : รวมถึงเครื่องดนตรีสมัยใหม่อย่างซินธิไซเซอร์หรือซาวด์อิเล็กทรอนิกส์แบบที่เขาใช้กัน มีออร์เคสตร้า เครื่องสาย มันเป็นการผสมผสานระหว่างสิ่งที่เคยแรงบันดาลใจในอดีต กับสิ่งที่อยู่ในปัจจุบัน กับประสบการณ์ที่สั่งสมมา

พุฒิ : ผมกับกานต์คุยกันอยู่บ่อยๆ ว่า เวลาพูดถึงความเป็นไทย เรามักนึกถึงอะไรที่ไทยมากๆ แต่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ ซึ่งเรากลับมองว่า เราไม่อยากให้มันถูกมองว่าแปลกแยกไปจากความเป็นไทยสากล ภูมิจิตเลยพยายามมองการทำดนตรีในมุมนี้ด้วย

กานต์ : เรียกว่าเราเอาความเป็นไทยมาบิดให้มันเข้าถึงง่ายขึ้น อย่างเพลงหมอลำ เรารู้สึกว่าการบอกเล่าตรงๆ คนทำกันเยอะแล้ว หรือการไปฟีทเจอริ่งกับนักร้องหมอลำ เราก็ว่ามันตรงไป ทำให้เกิดเป็นโจทย์ที่ว่า ทำแบบไหนล่ะ ที่จะทำให้หมอลำดูเป็นสากลโดยที่เราไม่ต้องเอามันมาทั้งก้อน เหมือนใช้ส่วนผสมเดิมๆ แต่ได้อาหารไทยจานใหม่

นั่นหมายความว่า คนฟังจะสัมผัสได้ถึงสีสันใหม่ๆ จากภูมิจิต?

แม็ค : ยิ่งถ้าติดตามภูมิจิตมาตั้งแต่แรกจะรู้สึกเลยว่า มันเป็นเรื่องใหม่มากๆ แต่สิ่งที่ใหม่สำหรับพวกเรา มันคือความเก่าแล้วของหลายๆ วง อย่างผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับศิลปินหลายคน เขาก็จะมีหลักคิดหรือวิธีการทำงานบางอย่างที่เป็นฟอร์แมตเหมือนๆ กันเพื่อให้ขายได้ ผมเองเป็นคนมิกซ์เพลงในอัลบั้มใหม่ของภูมิจิตทั้งหมด ผมก็ลองเอาสูตรเหล่านั้นมาลองทำกับภูมิจิตบ้าง ก็เลยมิกซ์เสียงร้องให้ชัดขึ้น ซึ่งแค่นี้แหละมันก็เป็นสิ่งที่ภูมิจิตไม่เคยทำกันมาก่อน (หัวเราะ) เหมือนเราพยายามทดลองกันมาทุกอย่าง ทำอะไรก็ได้ที่คนอื่นเขาไม่ทำกัน จนวันหนึ่งเราค้นพบว่า การทำตามคนอื่นนี่แหละ คือสิ่งใหม่สำหรับเรา

ไม่กังวลเหรอว่าแฟนๆ จะคิดว่า ภูมิจิต เข้าสู่เพลงกระแสหลักอย่างเต็มตัว?

พุฒิ : เราเป็นร็อคสตาร์ที่ทำเพลงป็อปอยู่แล้ว ดังนั้นเราไม่กังวลอะไรเลย

แม็ค : แปลให้ง่ายขึ้นก็คือ เราทำเพลงป็อปอยู่แล้วตั้งแต่อัลบั้ม Found and Lost แต่มันก็เป็นป็อปแค่ของเรา (หัวเราะ) นึกออกไหม แต่บังเอิญว่าคนอื่นไม่ได้มองว่ามันป็อปเหมือนเรา ซึ่งมันก็ไม่เป็นไร ทำให้วันนี้เราเลยอยากลองทางใหม่บ้าง

พุฒิ : แต่พอเราโตขึ้น ฟังเพลงมากขึ้น ความป็อปของเราก็จะกว้างขวางขึ้น เราก็คิดว่าแฟนเพลงภูมิจิตไม่ใช่คนใจแคบ และฟังเพลงหลายแนว เชื่อว่าเขาจะชอบเพลงของเรา และสนุกไปกับมันแน่นอน

(จากซ้าย) แม็ค อาสนัย, พุฒิ พุฒิยศ, บอมบ์ ธิตินันท์ และ กานต์ เกษม

(จากซ้าย) แม็ค อาสนัย, พุฒิ พุฒิยศ, บอมบ์ ธิตินันท์ และ กานต์ เกษม

 

ภูมิจิต ยังคงเล่าเรื่องราวของมนุษย์ สังคม สิ่งรอบตัวเหมือนที่เคยเป็นมา?

พุฒิ : ใช่ครับ แต่ก็อาจจะมีวิธีคิดที่ต่างกันมาก โดยที่ไม่ต่างกันเลย แต่ก็ต่างกันเยอะมากครับ (หัวเราะ) ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้เราพูดถึงเวลากับประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ อัลบั้ม Found and Lost เราเหมือนเด็กไฟแรงที่เรียนมหาวิทยาลัย Bangkok Fever จะเล่าเรื่องของ First Jobber ที่อยากทำอะไรสักอย่างที่ร้อนแรงมากๆ พอผ่านจากช่วงเวลานั้นไป 7 ปี เด็กคนเดิมก็ได้เรียนรู้วิธีการล้ม การลุกหลายๆ ครั้งซ้ำไปซ้ำมาจนค่อยๆ เติบโตขึ้น เข้าใจโลกกว่าเดิม และเกรี้ยวกราดน้อยลง เป็นคนที่อยู่กึ่งกลาง คุยได้ตั้งแต่แม่บ้านไปจนถึงซีอีโอ ดังนั้นถ้าถามว่ามันเหมือนเดิมไหม มันเหมือนเดิม แต่ถ้าถามว่ามันไม่เหมือนเดิมไหม มันก็ไม่เหมือนเดิม แต่เนื้อเพลงของเราจะกลั่นออกมาจากประสบการณ์ของเราเอง อัลบั้มของพวกเรามันคือการบันทึกชีวิตจริงๆ ไม่ได้โดนอะไรบังคับ เพราะฉะนั้นคิดอย่างไรก็พูดออกไปเลย กีตาร์คิดอะไรอยู่ก็เล่นไป ไม่ต้องมีใครมาคุมว่าต้องมีเพลงรัก 5 เพลงนะอะไรแบบนั้น

อัลบั้มใหม่ของ ภูมิจิต มีชื่อว่า Mid : Life พวกคุณเลือกจะเล่าเรื่องราวของชีวิตวัยกลางคน?

พุฒิ : ใช่ และก็ไม่ใช่ครับ (หัวเราะ) ความหมายแรกก็ตรงตัวเลย พูดถึงเรื่องชายหนุ่มที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงวัยกลางคนว่า ชีวิตต้องเจออะไรที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้ต่อเนื่องมาถึงความหมายที่ 2 นั่นก็คือ คนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างอะไรบางอย่าง ต้องหาเงินไปพร้อมกับดูแลครอบครัว ต้องดูแลงานตรงหน้าไปพร้อมกับดูแลความฝัน เราคิดว่าสมัยเด็กเราอาจเลือกทำอะไรสุดโต่งเพียงอย่างเดียวได้ เช่น เป็นศิลปินเต็มตัว ทำงานวิศวกรเต็มที่ แต่พออายุมากขึ้นปรากฏว่า เรากลับเลือกให้ชีวิตสุดโต่งน้อยลง และหันกลับมาดูแลสมการขนาดใหญ่ของเราให้มันกลมกล่อม ต้องครบทั้งความรัก ความฝัน การเงิน การงาน เราจะไม่สามารถทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้อีกต่อไป ก็เลยกลายเป็นที่มาของชื่อ Mid : Life

ในทุกวันนี้พวกคุณมองชีวิตของคนที่กำลังก้าวเข้าสู่ “Midlife” อย่างไร มีความสุขไหม หรือต้องขวนขวายหาความสุข?

แม็ค : ผมว่าแล้วแต่คนนะ แต่ส่วนใหญ่คงมีความรู้สึกเหมือนยืนอยู่กลางสะพาน บางคนบ้านรวยมาก แต่เขาอาจต้องแบกรับบางสิ่งบางอย่าง เช่น การเป็นผู้สืบทอดกิจการ การพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า ถึงจะรวยแต่ก็ลงมือทำได้ มันก็เป็นเรื่องของการต้องอยู่ตรงกลางในบางอย่างเหมือนกัน หรือบางคนมีครอบครัวฐานะปานกลาง ก็ต้องเจอแน่นอนว่า อายุเท่านี้แล้ว ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้างหรือยัง ไม่แม่ถาม ก็เมียถาม หรือไม่ก็โดนจากทั้งคู่ ผมมองว่าการยิ่งรู้จักตัวเองเร็วเท่าไหร่ ยิ่งแก้ปัญหาในช่วงวัยกลางคนได้ดี คือจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องง่ายหรอก ยากมากด้วยซ้ำ ผมชอบใช้คำว่าความรู้สึกกึ่งกลางในหลากหลายรูปแบบชีวิตต่างกันไป คนอายุวัยนี้ต้องเคยรู้สึกแบบนี้ล้านเปอร์เซ็นต์ ผมว่าการค้นหาตัวเองให้เจอให้เร็วที่สุดคือสิ่งสำคัญ

บอมบ์ : อย่างผมจะเป็นคนที่ชอบอะไรก็จะลงมือทำทันที และเราต้องหาเงินกับมันให้ได้ด้วย ก็จะเข้าวิกฤตวัยกลางคนอย่างสมบูรณ์แบบ สมัยเด็กพอรู้ตัวเองว่าชอบวาดรูป เราก็ขี้เกียจเรียนเลย กลายไปเป็นเด็กหลังห้อง แต่เราเริ่มงานเร็ว พอจบ ม.6 ก็เริ่มสมัครงานเลย แล้วงานขีดๆ เขียนๆ เขาดูที่ฝีมือไง

กานต์ : คือผมมองว่าปัญหามันอยู่ที่ระบบการศึกษา ยิ่งตอนนี้ผมเพิ่งมีลูกด้วย ผมจะมองเห็นเลยว่า เด็กแต่ละคนมันคนละแบบกัน แต่เราไปจับยัดพวกเขาไว้ในที่เดียวเพื่อให้ออกมาเหมือนกัน ไม่มีโรงเรียนไหนมานั่งสังเกตหรอกว่าคนนี้ถนัดดนตรี แล้วมา custom ตัวต่อตัว จัดคลาสให้เน้นดนตรีเยอะหน่อย เรียนเลขนิดๆ ไม่มีหรอก ยิ่งมาผสมกับระบบครอบครัวยุคก่อนที่พยายามให้เด็กเข้าบล็อกเดิมๆ อีก แต่ยุคนี้ดีหน่อยที่พ่อแม่ก็เริ่มถามลูกว่าอยากเรียนอะไร หากิจกรรมเสริมให้ลูกได้ทำหลังเลิกเรียน

ภูมิจิต

ภูมิจิต

 

เล่าเรื่องสังคมตามยุคสมัยมาหลากหลายเรื่องราว ภูมิจิตมองสังคมไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไร?

พุฒิ : โชคดีอย่างหนึ่งที่สมาชิกในวงภูมิจิตไม่มีใครเหมือนกันเท่าไหร่ เราเหมือนคน 4 คนที่ไม่น่าจะใช้ชีวิตร่วมกันได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญมากในสังคมไทยยุคนี้ ที่คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตร่วมกับคนที่ไม่เหมือนตัวเองไม่ได้ การที่ผมเรียนวิศวะ มีเพื่อนเรียนรัฐศาสตร์อย่างกานต์ ได้รู้จักกับนักวาดการ์ตูนอย่างบอมบ์ มีบ้านนักดนตรีอย่างแม็ค มันเหมือนเป็นทางสำคัญที่เอาไว้แก้ปัญหาของสังคมไทยเลยก็ว่าได้ นั่นคือการยอมรับความแตกต่าง และเรียนรู้ความไม่เหมือนตัวเองให้ได้

แม็ค : ยกตัวอย่างง่ายๆ ก่อนหน้านี้คือผมมีวงสกา แต่ผมเกลียดสกาสามช่ามาก คือสกามันดูเท่ดูเก๋มาก แต่พอเข้ามาเมืองไทยกลับถูกทำให้เป็นลูกทุ่งสามช่า ซึ่งผมรับไม่ได้ แล้วผมเกลียดที่สงกรานต์ทีต้องมาเห็นคนแบบ ฮึ่ย! ฮึ่ย! ฮึ่ย! แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นเรามองมันด้วยความชื่นชม นี่แหละคือการปรับตัว การเบลนด์ให้เข้ากับคนไทย และนี่แหละคือการเรียนรู้คนที่ไม่เหมือนตัวเอง เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้

พุฒิ : อีกเรื่องคือการปะทะกันระหว่างคนยุคก่อนกับคนยุคหลังเราผ่านทางหน้าเฟซบุ๊ก ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้มันแรงขึ้นเรื่อยๆ จนคิดไม่ออกว่าเราจะปะทะกันไปอีกนานเท่าไหร่ ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าปัญหาส่วนหนึ่งของคนยุคหลังเราก็มาจากผู้ใหญ่ก่อนหน้าบางกลุ่มที่ทำอะไรบางอย่างเอาไว้ ซึ่งเด็กยุคหลังเราเขาไม่ได้ต้องการให้ผู้ใหญ่มาแก้ปัญหานะ จริงๆ เขาแค่อยากให้ผู้ใหญ่ขอโทษ แต่ในทางกลับกัน ที่ผู้ใหญ่ยุคก่อนเขาทำทุกอย่างก็เพื่อพวกเรา แต่พอพยายามให้ผู้ใหญ่ขอโทษ เขาก็รู้สึกไม่ดี ทำไมเด็กพวกนี้เชื่อไม่ได้ สิ่งที่ผู้ใหญ่อยากได้ก็คือคำขอบคุณมากกว่า ดังนั้นผมว่าทางแก้ในความซับซ้อนของการปะทะกันทางวัฒนธรรมที่แตกต่างของคน 2 รุ่นก็คือ การพยายามพูดคำว่า “ขอโทษ” และ “ขอบคุณ” ให้มากขึ้น ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเด็ก

อยากให้เพลงของ ภูมิจิต เข้าไปมีบทบาทในสังคมอย่างไร?

พุฒิ : ตั้งแต่อัลบั้ม Bangkok Fever มันจะมีเพลงที่เรารู้สึกว่า มันเปลี่ยนทัศนคติการมองโลกของเราได้ จากที่เคยเหมือนเป็นการประกาศให้คนรู้จักตัวเรา แต่กลายเป็นว่าตอนนี้มีคนทักแชตมาหาเราว่า เขาฟังเพลงของภูมิจิตตอนเลิกยาไอซ์ แล้วก็เลิกได้สำเร็จ บางคนบอกว่าฟังเพลงเราตอนทำวิทยานิพนธ์ แล้วก็ทำได้สำเร็จ เขาขอเอาไปใส่ในเครดิตขอบคุณ หรือแม้กระทั่งเพลง “Home Floor” ที่หลายคนฟังแล้วบอกว่ารู้สึกดีเวลาไปอยู่ในเมืองแปลกหน้า เช่น คนกรุงเทพฯ ไปอยู่ขอนแก่น คนขอนแก่นไปอยู่ปารีส ผมเลยรู้สึกว่าเพลงที่เราพยายามเขียนบอกความเป็นเรามันมีประโยชน์กับคนอื่น จากที่เคยอยากบอกเล่าแค่ชีวิตของตัวเอง วันนี้เราอยากให้เพลงของภูมิจิตเป็นซาวด์แทร็ค เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา เป็นกำลังใจให้เขามีชีวิตไปด้วยกัน

 

Story by: Chanon B.
Photos by: Sanook! Music & สนามหลวงมิวสิก

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ วงดนตรี “ภูมิจิต” กับนานาทัศนะเรื่องการเติบโตทางดนตรี การศึกษา และสังคมไทยทุกวันนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook