ทำไมต้องมี "อัลบั้มรวมเพลง" โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

ทำไมต้องมี "อัลบั้มรวมเพลง" โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

ทำไมต้องมี "อัลบั้มรวมเพลง" โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยสงสัยกันบ้างไหมครับ ขณะที่เราซื้อผลงานของศิลปินคนโปรดทุกอัลบั้ม ติดตามฟังทุกเพลงของเขา แต่ทำไมบางครั้งก็มีคนเอาเพลงดังของศิลปินเหล่านั้นไปรวมกับเพลงของศิลปินอื่นๆ อีกหลายราย แล้วออกมาเป็นอัลบั้มรวมเพลง จำนวนเพลงกว่าสิบเพลง กว่าสิบศิลปิน แต่มีศิลปินที่เราชื่นชอบเพียงเพลงเดียว เราจะซื้อไปทำไม แล้ว เราก็มีอัลบั้มของเขาที่มีเพลงนั้นอยู่แล้วด้วย

แต่เชื่อไหมครับ มันขายได้ครับ บางชุดก็ขายดีเสียด้วย เพราะตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคเทปคาสเสตต์มาจนถึงดิจิตอล ดาวน์โหลด อัลบั้มรวมเพลงจากศิลปิน หรือที่เราเรียกว่า Compilation by Various Artists หรือยุคโบราณก่อนโน้นเรียก Omnibus Album ก็ยังคงอยู่ และแชร์สัดส่วนยอดขายจากอัลบัมปกติของแต่ละศิลปินได้มาตลอด ไม่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ขายกันทั่วโลกเลยทีเดียว

 

ที่อัลบั้มรวมเพลงเหล่านี้ผลิตออกมาขาย แถมบางอัลบั้มก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ล้วนมีปัจจัยสำคัญหลายอย่างที่คอยเกื้อหนุน อาทิ

1) รสนิยมของคนฟัง

รสนิยมการฟังเพลงของคนฟังทั่วโลกไม่เหมือนกัน มีหลายหลากเช่นเดียวกับแนวเพลงที่มีอยู่มากมายจนบรรยายไม่หมด บางคนชอบดนตรีคันทรี บางคนร็อค บางคนเรกเก บางคนแจ๊ซ บางคนชอบจับฉ่ายฟังหลายแนว อะไรก็ชอบไปหมด การนำเพลงเด่น เพลงที่คนฟังชื่นชอบในแต่ละแนวมารวมเป็นอัลบัมรวมเพลงอย่างที่ว่าเป็นทางออกที่ดี คนซื้อตัดสินใจง่าย เพราะมีแต่เพลงดังเพลงเด่นที่คนฟังยอมรับ อยากสะสม เก็บไว้ฟังนานๆ

 

2) สไตล์และแนวเพลงมีหลายประเภท

จากสมัยก่อนที่มีอัลบั้มรวมเพลงทั่วๆไป ไม่ได้จำเพาะแนวเพลง เน้นแต่รวมเพลงดังในอันดับเพลงเป็นหลัก เช่น Top 10 Billboard Single, Top of the Pops, Songs to Remember, Oldies But Goodies, The Greatest Love Songs และอื่นๆแล้วแต่จะสรรหาชื่อมาตั้ง แต่ภาพรวมก็ยังเป็นเพลงดังเพลงฮิตอยู่ดี แต่เมื่ออุตสาหกรรมเพลงเติบโตอย่างรวดเร็ว แนวเพลงแตกแขนงออกไปมากมายจนนับไม่ไหว เราจึงเริ่มเห็นอัลบั้มสไตล์ Bossa Nova: The Smoothest Tunes for the Coolest People ไปจนถึง Hitsville USA Motown เรียกได้ว่ามีงานรวมเพลงที่ครอบคลุมดนตรีทุกสไตล์ทุกแนว

 76280

76283

 

3) ธุรกิจดนตรี

แม้งานรวมเพลงจะไม่ติดอันดับยอดขายสูงแบบอัลบั้มของศิลปินทั่วไป แต่มันก็ขายได้เรื่อยๆแบบน้ำซึมบ่อทราย เพราะตลาดงานรวมเพลงกว้างกว่าที่เราคาดคิดไว้มาก คนซื้อมีตั้งแต่วัยสิบต้นๆไปจนถึงสว. อายุ 80 ปีเลยทีเดียว ที่สำคัญ มีงานรวมเพลงออกมารองรับความต้องการของคนฟังเพลงทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกแนว ทุกสไตล์จริงๆ และที่เราอาจมองข้ามก็คือ ศิลปินเจ้าของเพลงได้ส่วนแบ่งจากยอดขายในรูปแบบของค่าลิขสิทธิ์ผลงานไปด้วย ศิลปินนักร้องในอดีตที่มีเพลงฮิตสุดๆ หลายๆ เพลง รับค่าลิขสิทธิ์จากงานรวมเพลงแบบนี้ปีละเป็นล้านนะครับ อย่างเอลตัน จอห์น, Bee Gees (แบร์รี กิบบ์), แบร์รี แมนิโลว์, บิลลี โจล หรือนักแต่งเพลงมือทองอย่างไดแอน วอร์เรนก็ได้อานิสงส์จากส่วนนี้ไปไม่น้อย

 

งานรวมเพลงออกมาขายใคร?

ตราบใดที่ยังมีคนฟังเพลงเกิดใหม่ขึ้น งานประเภทก็ยังขายได้ ขณะที่คนฟังประเภทสว. ก็สามารถหาซื้องานรวมเพลงในยุคของตนเองได้อย่างง่ายดาย แถมมีให้เลือกมากมายเหลือเกิน ในยุครุ่งเรืองของซีดีตั้งแต่ปี 1987 มาถึงราวๆ ปี 2010 ตลาดงานรวมเพลงของบ้านเราคึกคักมาก นอกจากงานรวมเพลงที่นำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ค่ายเพลงสากลบ้านเรายังรวมเพลงออกเองอีกด้วย บางชุดก็ร่วมมือกับค่ายในภาคพื้นเซาธ์อีสต์ เอเชีย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง เพราะตลาดซีดีและรสนิยมของคนฟังเพลงในย่านนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ชอบเพลงเก่าซึ้งๆ หวานๆ ชอบเพลงช้า บัลลาดชวนประทับใจ ในแต่ละปีของยุคซีดีรุ่งเรืองจึงมีงานรวมเพลงออกมาไม่ใช่น้อย มีทั้งคุณภาพและไม่มี ประเด็นที่ไม่มีหมายถึงเป็นเพลงคัฟเวอร์โดยศิลปินท้องถิ่นประเทศนั้น หรือเพลงที่ศิลปินเจ้าของเพลงนำมาเล่นใหม่ บันทึกเสียงใหม่ก็มี แต่ที่ขายดีมากๆ คงหนีไม่พ้นงานรวมเพลงที่คนในค่ายเพลงสากลบ้านเรารวมเองหรือมีส่วนร่วมด้วย อาทิ ซีรีส์ Super Hits (EMI) หรือ Rewind (Sony Music) ที่นำเพลงสากลยอดฮิตในอดีตช่วง 30-50 ปีที่ผ่านมารวมไว้อย่างครบครัน แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ถือว่าครบถ้วนมากที่สุดซีรีส์หนึ่ง 

อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นลูกค้าขาประจำของงานรวมเพลงก็คือนักสะสม นักดนตรี ดีเจ คนรักสบาย ตลอดจนคนที่ฝังใจกับอดีตของตัวเอง กลุ่มนักสะสมกับคนที่ฝังใจกับอดีตเป็นกลุ่มที่เสียเงินกับงานรวมเพลงมากจริงๆ ครับ (เอาตัวเองเป็นตัวอย่างนะครับ) เพราะอะไรดี อะไรไพเราะ ฟังไปหมด ส่วนกรณีของคนรักสบายก็คือ ไม่ชอบหยิบซีดีมาเปิดแผ่นหนึ่งเพื่อฟังเพลงที่ชอบหรือเพลงฮิตแค่เพลงสองเพลง แล้วเปิดข้ามเพลงที่ไม่ชอบไป สู้งานรวมเพลงไม่ได้ ไม่ต้องเปิดข้าม ฟังได้หมด ชอบทุกเพลง ถูกใจจริงๆ

 

พัฒนาการของงานรวมเพลง

จากเมื่อแรกเริ่ม งานรวมเพลงในยุคเทปและแผ่นเสียง เป็นเพียงการนำเพลงซิงเกิลฮิตของอันดับเพลงในต่างประเทศมารวม กระทั่งกลายเป็นงานรวมเพลงสากลที่ฮิตในบ้านเรา เพลงที่รายการวิทยุเปิดบ่อย เพลงที่คนฟังร้องขอให้เปิดมากๆ ซึ่งอาจไม่ใช่ซิงเกิลฮิตในต่างประเทศ แต่ดันฮิตในบ้านเราก็มีเพิ่มมากขึ้น จากนั้นก็เริ่มแยกแยะแนว ประเภทเพื่อเอาใจคนฟังหลายๆกลุ่ม เช่น Heavy Ballads, Pop History, Super Oldies, Flashback, Classic Rock, 80s Reply, The Best of Soundtrack เห็นได้ว่าเอาใจคนทุกกลุ่ม ทุกแนวอย่างแท้จริง 

ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและแสดงถึงการเอาใจใส่คนฟังเพลงก็คือ จากซีดีแผ่นเดียว กลายเป็นสองแผ่นคู่ จากนั้นเป็นบอกซ์เซ็ต 3 แผ่น 4 แผ่น จนถึง 5 แผ่น ฟังกันจุใจหายอยากกันไปเลย ราคาก็ไม่ได้สูงมากจนซื้อไม่ได้ เพราะยิ่งจำนวนแผ่นมาก ราคาเฉลี่ยต่อแผ่นก็ถูกลงกว่าปกติด้วย 

อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ Line Note หรือบทความเฉพาะที่กล่าวถึงงานชุดนั้น ปกติผู้รวมเพลงเลือกเพลง (compile) มักเป็นผู้เขียน กล่าวถึงความเป็นมา ทำไมถึงรวมเพลงชุดนี้ แต่ละเพลงมีความสำคัญอย่างไร บางชุดลงรายละเอียดของแต่ละเพลงด้วย ตั้งแต่เครดิต ที่มา ความเคลื่อนไหวในอันดับเพลง จนถึงเนื้อเพลง หลายส่วนที่กล่าวมาจึงเป็นปัจจัยที่คนฟังตัดสินใจซื้องานรวมเพลงเหล่านี้ด้วย

 

76281

 76284

76286

 

อุปสรรคเพียงหนึ่งเดียวที่มักเกิดขึ้นกับงานรวมเพลงก็คือ เรื่องลิขสิทธิ์เพลงครับ มองง่ายๆ เลย ค่ายส่วนใหญ่จะนำเพลงฮิตของค่ายตนเองมารวมเป็นหลัก แต่บางครั้ง เพลงที่ฮิตและคนฟังอยากฟังมากๆก็ดันไม่ได้อยู่กับค่ายตนเอง จึงต้องมีการขออนุญาตใช้เพลงจากค่ายอื่นด้วย กรณีเพลงของศิลปินดังระดับโลกมากๆ อย่าง The Beatles The Rolling Stones นั้น ไม่อนุญาตให้นำเพลงของพวกเขาไปรวมกับศิลปินอื่น ไม่ว่ากรณีใดๆ จึงไม่ต้องกังขาเลยครับ ถ้างานรวมเพลงที่ออกๆ กันมาล้วนไม่มีเพลงของสองวงดังนี้ และอีกหลายศิลปินที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์เพลงข้ามค่าย เพราะธุรกิจมันซับซ้อนมากกว่าที่เราคิด ส่วนศิลปินส่วนใหญ่ใจดี เอาเพลงไปใช้ได้เลย ขอให้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ตามเหมาะสมก็แล้วกัน ส่วนค่ายเพลงสากลในบ้านเราล้วนมีมิตรภาพกันเหนียวแน่น ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาตลอด กรณีของเพลงข้ามค่ายกันจึงไม่เป็นปัญหา บางครั้งก็แลกเปลี่ยนเพลงกันด้วย เพราะสมัยพีคๆ ทุกค่ายต่างทยอยออกงานรวมเพลงกันแทบจะเป็นรายเดือนกันเลย 

ยุคก่อนมีซีดี มีบริษัทที่เป็น Third Party ขอลิขสิทธิ์เพลงมาออกงานรวมเพลงโดยเฉพาะก็มี แต่เมื่อกลายเป็นธุรกิจทำเงิน บางค่ายก็ลงทุนกว้านซื้อเพลงที่เคยฮิต แต่ไม่มีเจ้าของลิขสิทธิ์มาเป็นของตัวเอง อย่างค่าย Rhino ของอเมริกา ออกงานรวมเพลงเป็นซีรีส์ใหญ่ชื่อ Have a Nice Day ออกมา 22 แผ่น มีทั้งเพลงฮิต เพลงหายาก ที่สำคัญที่สุดป็นเวอร์ชันดั้งเดิมโดยศิลปินเจ้าของเพลง

 

ใครที่ไม่ได้ผ่านช่วงพีกของตลาดงานรวมเพลงยุคนั้นมา อ่านแล้วคงพอนึกภาพออกกันบ้างนะครับ ในครั้งหน้าจะแนะนำงานรวมเพลงที่มียอดขายดีมากๆ ในบ้านเรา และรวมเพลงได้อย่างดีเยี่ยม เป็นที่ถูกอกถูกใจคนฟังเพลงอย่างยิ่ง อย่าพลาดนะครับ

 

*ภาพประกอบบางส่วนเป็นงานรวมเพลงของต่างประเทศที่ออกเป็นแผ่นเสียง ยุคนั้นยังไม่มีผลิตซีดีครับ

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook