ทำไมต้องมี "อัลบั้มรวมเพลง" ตอน 2 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

ทำไมต้องมี "อัลบั้มรวมเพลง" ตอน 2 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

ทำไมต้องมี "อัลบั้มรวมเพลง" ตอน 2 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตอนก่อนเมื่อเดือนที่แล้วได้อธิบายเกี่ยวกับอัลบั้มรวมเพลงไว้พอสังเขป แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด คราวนี้มาว่ากันถึงประเภทและวัตถุประสงค์ของอัลบั้มรวมเพลงต่างๆที่ออกมาในบ้านเราและต่างประเทศกันครับ 

ก่อนอื่นขอจำแนกงานรวมเพลงตามวัตถุประสงค์และจุดขายก่อนครับ ผมเน้นซีดีที่ออกโดยสังกัดในบ้านเราเป็นหลักนะครับ

  1. รวมตามแนวเพลงและประเภทของเพลง

  2. รวมตามยุคของเพลง

  3. รวมตามความต้องการของผู้ฟัง และตลาด

  4. รวมตามกระแสและเฉพาะการณ์

  5. เมืองนอกรวม งานคุณภาพ

 

1. รวมตามแนวเพลงและประเภทของเพลง

เป็นงานที่ออกมาถี่และมากที่สุดในกลุ่มซีดีงานรวมเพลงครับ ในอดีตเราจะเห็นงานรวมเพลง Pop, Rock, Jazz, Country, New Age, Black Music, Disco, Hard Rock/Heavy Metal, Rap/Hip-Hop และแนวต่างๆเท่าที่มีให้ฟังบนโลกใบนี้ 

แทบจะรับประกันได้เลยว่าออกมากี่ชุดก็ขายได้ เพราะเป็นงานที่ขายคนฟังเฉพาะกลุ่มจริงๆ ตอบสนองความต้องการของตลาดคนฟังแต่ละแนวแต่ละประเภทได้อย่างดีเยี่ยม ทำไมจะไม่ง่ายล่ะครับ ในเมื่อทุกเพลงเป็นแนวเดียวกันหมด เอาใจคนฟังเพลงแนวนั้นกันเต็มที่ คัดเฉพาะเพลงดัง เพลงฮิตของแต่ละศิลปินมารวมกันอย่างคับคั่งแบบอิ่มเอมกันเลย อย่างชุด Disco Fever คัดมา 21 เพลงจากยุคดิสโกรุ่งเรือง ไม่มีเพลงไหนที่ขาเต้นยุคนั้นไม่รู้จัก Sweet Rock เป็นงานออกมาแบบซีรีส์สั้นๆ แต่ประสบความสำเร็จ เพราะรวมเพลงฮาร์ดร็อค/เมทัลที่ได้รับความนิยมทางรายการวิทยุในยุคนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพลงช้า ไม่ก็เน้นเสียงกีตาร์อะคูสติกเป็นหลัก ชุด III มีเพลงชาติในแนวนี้ครบครัน ทั้ง "Before the Dawn", "Always Somewhere" ไปจนถึง "Babe" ส่วน Best of Acoustic 2 เน้นเพลงโฟล์ก/ร็อคจากยุค '60-'70s เป็นหลัก เข้าข่ายรวมเพลงเก่า แต่อยู่ในโทนเดียวกัน เต็มไปด้วยเพลงโปรดของคนฝึกกีตาร์โปร่งยุคน้นด้วย อาทิ "Donna Donna", "Leaving on a Jet Plane", "Aubrey", "Time in a Bottle" ไปจนถึงเพลงดีจากศิลปินที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักอย่าง "Karla Bonoff"

80285

  • Disco Fever (PolyGram) 1998

 

80286

  • All that Jazz (EMI/Thailand) 2000

 

80287

  • Sweet Rock III (EMI) 2000

 

80288

  • Pure Country: Best of the 90s (Priority Records/US) 1997

 

80289

  • Best of Acoustic 2 (Sony/BMG) 2005

 

 

2. รวมตามยุคสมัยของเพลง

นี่ก็ขายดีพอๆกับประเภทแรก เราได้ผ่านตากันบ่อยมากก็มีพวกเพลงฮิตจากยุค '60s '70s '80s เพลงฮิตจากยุคดิสโก ยุคเดอะ พาเลซ ยุคฮาราจูกุ มากมายจนจำกันไม่ไหว แต่ที่ผมคัดมาแนะนำถือว่าเป็นงานที่รวมเพลงได้ดีมากถึงมากที่สุดในยุคของมัน คนในยุคนั้นได้ฟังต้องหูผึ่งและล่องลอยกลับไปสู่อดีตในทันที เหมาะที่จะใช้เป็นบทเรียนในการศึกษาเพลงดังในอดีตอย่างยิ่งครับ Love & Peace ชื่อชุด สีสันปกและสกรีนแผ่นสื่อยุคบุบผาชนปลายยุค '60s ชัดเจน เพลงระดับมหากาฬทั้งสิ้น แถมบุ๊กเลตเนื้อเพลงเล่มหนา ออกมา 2 ชุด Super Hits ออกมา 5 ชุด เหมือนเอาเพลงดังจากตู้เพลงหยอดเหรียญในยุค '70s มาใส่ไว้อย่างครบครัน ได้บรรยากาศยุคนั้นสุดๆ และมีทุกแนวเพลงให้ฟังกันเต็มอิ่ม Rewind ออกมา 3 ชุด รวมเพลงจากค่ายของตนเองโดย Sony Music ซึ่งแคตตาล็อกค่ายนี้มีเพลงระดับยอดเยี่ยมไม่แพ้ค่ายไหนเหมือนกัน ส่วนใหญ่เน้นเพลงช้า บัลลาด และเพลงติดท็อป10 ของต่างประเทศ Remember the Palace จะกว้างกว่าดิสโกอยู่พอสมควร เพราะรวมเพลงที่ฮิตสุดๆของยุคนั้น และเปิดในเดอะ พาเลซ สถานบันเทิงระดับแนวหน้าของยุค รวมเพลงติดหู เพลงที่ดังเฉพาะบนฟลอร์ของประเทศไทยไว้ครบครัน ส่วน 80s Replay ออกมา 2 ชุด เพลงดังครบครัน นี่ก็เป็นงานแบบคละแนว มีทั้งเพลงของ Queen, Nena, Yes ไปถึง Sade รับประกันความฮิตของเพลง

 

80301

  • Love & Peace: The Very Best of Sixties (Universal) 2001

 

80299

  • Super Hits 1-5 (EMI/Thailand) 2000

 

80300

  • Rewind: Back to 70s-80s 1-3 (Epic Thailand) 1996

 

80297

  • Remember the Palace (Warner Music) 2004

 

80298

  • 80s Replay (Sony Music/EMI) 2003

 

3. รวมตามความต้องการของผู้ฟังและตลาด

เพลงกลุ่มนี้มีตลาดไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้ฟัง แต่ส่วนใหญ่จะถวิลหาเพลงเก่าย้อนไปยุคโอลดี บางกลุ่มก็ชอบเพลงรัก หรือกลุ่มที่ชอบเพลงที่เปิดทางรายการวิทยุก็มีไม่น้อย เกือบจะเป็นแนวจับฉ่าย แต่ก็ยังมีคอนเสปต์ชัดเจนว่าชุดนั้นเกี่ยวกับอะไร มักไม่ค่อยหลุดกรอบ อย่าง Always มีทั้งเพลงยุค70s 80s แต่คอนเสปต์อยู่ที่ความรัก ชีวิตคู่ เน้นท่วงทำนองซึ้ง ชวนประทับใจ Classical 2010 ตลาดคลาสสิคัลเป็นตลาดที่ไม่อาจละเลยได้ มีผู้ฟังกลุ่มหนึ่งต้องการเพลงเหล่านี้ ชุดนี้นำศิลปินนิวเอจ โอเปรา คลาสสิคัลยุคใหม่มาเล่นเพลงคลาสสิกระดับขึ้นหิ้ง เพื่อดึงคนฟังกลุ่มใหม่ไปในตัว แต่นานๆ จะออกสักชุด 107FM Metropolis ออกมา 3 ชุด สนองความต้องการกลุ่มผู้ฟังที่หลงใหลเพลงที่เปิดทางคลื่น FM107 นั่นเอง ซึ่งเพลงก็คล้ายกับ Super Hits หรือ Rewind ในหมวด 2 I Love the 70s ออกมา 2 ชุด ชุดละ 2 ซีดี มีเพลงให้ฟังเต็มอิ่ม ขายกลุ่มเดียวกับที่ชอบ FM107 แต่เป็นกลุ่มที่ยุคนั้นชอบอัดเพลงจากรายการวิทยุลงเทปคาสเสตต์ไว้ฟังเองเป็นหลัก สุดท้าย Sweet Memories ออกมา 12 ชุดเป็นลอง ซีรีส์ เน้นโอลดีและเพลงยุค '50s-'60s ซึ่งมีเพลงเก่าที่คุ้นหูให้ฟังมากมาย เป็นซีรีส์ที่ขายผู้ฟังได้ทุกกลุ่ม เน้นผู้ฟังผู้ใหญ่มากที่สุด

 

80339

  • Always (Warner Music) 2006

 

80305

  • Classical 2010 (EMI) 2009

 

803044

  • 107FM Metropolis 1-3 (Universal) 2004

 

80303

  • I Love the 70s 1-2 (Sony Music) 2002

 

80302

 

4. รวมตามกระแสและเหตุการณ์ต่างๆของยุคสมัย 

ส่วนใหญ่เป็นงานที่ออกสนับสนุนอีเวนต์ดนตรีใหญ่ๆของโลกเป็นหลัก หรือถ้ามีกระแสอะไรเกิดขึ้น ค่ายเพลงก็นำกระแสนั้นมานำเสนอเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ หลายคนคงเคยซื้อหรือผ่านตากันมาแล้ว หลักๆ ก็มี Grammy Nominees รวมเพลงที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมีในแต่ละปี ซีรีส์ Now ก็ออกทุกเพลง รวบรวมเพลงฮิตในปีที่ออกมาอัดแน่นไว้ในซีดีแผ่นเดียวอย่างคุ้มค่า A Windham Hill Christmas ทุกค่ายในอเมริกาและเกือบทั่วโลกมีลิสต์ซีดีเทศกาลนี้อยู่ใน Release Plan ทุกปีตามประเพณี เป็นโชคดีของผู้ฟังที่จะได้ฟังศิลปินคนโปรดร้องเพลงคริสต์มาสให้ฟัง ซึ่งเป็นเพลงที่ไม่อยู่ในอัลบั้มใดของพวกเขาเสียด้วย Song for Tsunami เป็นตัวอย่างของอัลบัมงานการกุศลเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชน ชุดนี้หาทุนช่วยเหลือคนที่ประสบเคราะห์ร้ายจากเหตุสึนามิในปี2004 ต่างประเทศมักมีอัลบั้มการกุศลประเภทออกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรการกุศลที่ไม่หวังผลกำไรที่มีศิลปินดังๆสนับสนุนอยู่ MTV2 Headbangers Ball ช่วงที่นูเมทัลและฮาร์ดร็อครุ่งเรืองทาง MTV จนถึงกับทำเป็นรายการประจำ จึงไม่พลาดที่จะทำอัลบั้มรวมเพลงออกมาขายควบคู่ไปด้วย เหมาะสำหรับคอร็อคหนักๆโดยเฉพาะ

 

80306

  • 1996 Grammy Nominees (Sony Music) 1996

 

80307

  • Now 2 That’s What I Call Music (EMI/PolyGram) 1996

 

80308

  • A Windham Hill Christmas II (BMG) 2003

 

80309

  • Song for Tsunami (Universal) 2005

 

80310

  • MTV2 Headbangers Ball Volume 2 (Sony Music) 2004

 

5. เมืองนอกรวม เน้นงานคุณภาพ

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา มีค่ายเพลงอิสระจำนวนมาก นอกเหนือจากค่ายเมเจอร์ที่มีสาขาในบ้านเรา บางค่ายออกงานรวมเพลงโดยเฉพาะ บางค่ายออกงานเฉพาะทางเพื่อเอาใจแฟนเพลงกลุ่มหนึ่งและเจ้าของค่ายหรือพนักงานก็เป็นแฟนเพลงแนวนั้นด้วย แต่ที่จะกล่าวถึงเป็นสังกัดสัญชาติอเมริกันที่ออกงานโดยมิวสิก เลิฟเวอร์ เพื่อมิวสิก เลิฟเวอร์โดยเฉพาะ นั่นคือ สังกัด Rhino ที่เป็นสังกัดย่อยของ Warner Music อีกที ก่อตั้งปี 1978 ออกผลงานระดับโลกจารึกออกมาหลายชุด รวมทั้งงานรวมเพลงที่ปัจจุบัน ผมยังไม่เห็นสังกัดไหนทำออกมาได้ดีเท่า Super Hits of the 70s: Have a Nice Day เป็นซีรีส์มหากาพย์ที่ออกมารวม 25 ชุด จุดเด่นก็คือคัดเพลงจากเวอร์ชันดั้งเดิมทั้งหมด บางครั้งก็นำเวอร์ชันอัลบัมที่ยาวกว่าเวอร์ชันซิงเกิลมาใส่ไว้ ถ้าคนไม่มีความรู้ความสามารถทางนี้มักไม่ทำกันครับ กล่าวได้ว่าเป็นงานรวมเพลงยุค '70s ที่สมบูรณ์แบบที่สุด และหาฟังยากที่สุดในปัจจุบัน อีกซีรีส์หนึ่งของสังกัดนี้คือ Billboard Top Pop Hits ที่ทำออกมาเป็นรวมเพลงแต่ละปีในแผ่นเดียว พูดง่ายๆก็คือ Top 10 ของแต่ละปีนั่นเอง ไม่มั่นใจว่าออกมาถึงปีไหน แต่เริ่มต้นที่ปี 1960 คาดว่าอาจจะออกถึงปี 1989 ข้อด้อยของทั้งสองซีรีส์ก็คือจำนวนเพลงที่น้อยมาก จำนวนเท่ากับแผ่นเสียงคือ 10-12 เพลง รวมเวลาประมาณ 30-40 นาที ซึ่งใช้พื้นที่ของซีดีไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ทั้งสองซีรีส์นี้ เจอที่ไหนซื้อได้เลยครับ มีคุณค่าทั้งทางดนตรีและประวัติศาสตร์อย่างมหาศาลเลย

 

80311

  • Super Hits of the 70s: Have a Nice Day 1-25

 

80312

  • Billboard Top Hits 1960-?

 

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ ของ ทำไมต้องมี "อัลบั้มรวมเพลง" ตอน 2 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook