“โลกที่สาม” ของ “Chanudom” กับแรงปรารถนาในตัวตนและเสียงดนตรีที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ | Sanook Music

“โลกที่สาม” ของ “Chanudom” กับแรงปรารถนาในตัวตนและเสียงดนตรีที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

“โลกที่สาม” ของ “Chanudom” กับแรงปรารถนาในตัวตนและเสียงดนตรีที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“แม้คนทั่วไปอาจไม่คุ้นชิน อย่าตัดสินว่ามันผิด…”

หนึ่งในเนื้อร้องจากเพลง “คนบาป” ผลงานเมื่อ 2 ปีที่แล้วของวงดนตรีที่ชื่อ Chanudom ที่น่าจะบ่งบอกถึงตัวตนของพวกเขาได้ชัดเจนที่สุด ด้วยสไตล์เพลงที่ทั้ง 3 สมาชิกอย่าง พัด-ชนุดม สุขสถิตย์ (ร้องนำ), ต๊อบ-ธัชพล ชีวะปริยางบูรณ์ (กลอง) และ แพท-สถาปัตย์ แสงสุวรรณ (กีตาร์) ให้คำนิยามไว้ว่า Theatrical Rock ที่อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การนำเอาศาสตร์ละครเวทีมาผสมผสานกับดนตรีร็อคที่พวกเขาภูมิใจนำเสนอ ต่อยอดไปจนถึงการแสดงสดที่ทำให้คนดูรู้สึกราวกับว่ากำลังชมละครเวทีที่น่าตื่นตาตื่นใจ หรืออาจจะด้วยลุคและคอสตูมที่ทั้งจัดจ้านและเตะตา แม้แต่ลีลาของนักร้องนำอย่าง พัด ที่ร่ายรำเคลื่อนไหวร่างกายไปตามที่หัวใจเรียกร้อง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอะไรที่วงการเพลงไทย … ไม่คุ้นชิน

แต่อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าความแปลก แหวกแนว และความแรงอย่างที่หลายคนรู้สึกกับวงดนตรีวงนี้นั้นเป็นสิ่งที่ผิด เพราะหากได้รู้จักถึงตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา ความหลงใหลที่มีต่อเสียงดนตรี รวมถึงแนวความคิดที่ไม่เคยถูกตีกรอบ คุณจะหลงรัก Chanudom ได้ไม่ยาก

Chanudom มักมาพร้อมกับลุคจัดจ้านเสมอ

จาก The Rebirth of Chanudom อัลบั้มอีพีที่บรรจุเพลงเอาไว้ 4 แทร็คเมื่อปี 2016 สู่อัลบั้มเต็มชุดแรกในชีวิตที่ทั้ง 3 สมาชิกขอใช้ชื่อว่า โลกที่สาม ที่กำลังจะวางจำหน่ายในวันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2561 เป็นวันแรกที่คอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มของพวกเขา การเดินทางจนมาถึงช่วงเวลาอันแสนพิเศษที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ใช่โชคชะตา แต่เรามองว่ามันเป็นเรื่องของ “แรงปรารถนา” ที่มีต่อสิ่งที่ Chanudom รักและเลือกที่จะเดินทางบนถนนสายนี้เสียมากกว่า

เอาล่ะ … พร้อมก้าวเข้าสู่ “โลกที่สาม” ของ Chanudom กันแล้วหรือยัง?

 

กลางปี 2016 Chanudom อัลบั้มอีพี The Rebirth of Chanudom ได้ฤกษ์ปล่อยออกมาพร้อมรสชาติทางดนตรีที่จัดจ้าน เข้มข้น และแปลกใหม่ มาวันนี้พวกคุณกำลังจะมีอัลบั้มเต็มชุดแรกในชีวิต มันเป็นความรู้สึกเช่นไร?

พัด : มันจะยากก็ว่ายาก จะว่าง่ายก็ว่าง่าย แต่เรารู้สึกว่ามันมาในเวลาที่ถูกต้องแล้ว ถ้าเร็วไป บางอย่างอาจจะหายไป ถ้าช้าไป บางอย่างก็อาจจะหายไปเช่นเดียวกัน เพียงแค่เราต้องสร้างคุณภาพให้ได้เท่ากับตอนทำอีพี และก็รู้สึกว่าเราพึงพอใจต่อมันมากที่สุดด้วย

ต๊อบ : เราแค่รู้สึกว่าเราอยากทำ เราไม่รู้ว่ามันยากหรือง่าย แต่เรารู้สึกว่ามันมีแพสชั่นในการทำมากเลย อยากทำ ทำเสร็จแล้วก็อยากฟัง เรารู้สึกแบบนี้เลย

ความเลิศของนางพญาอินดี้ร็อค

ในอีพี เรารู้สึกว่าเรื่องที่ Chanudom เล่ามันค่อนข้างส่วนตัว เสียดสีสังคม มีความจริงจังที่ฟังสนุกอยู่ในนั้น แล้วสำหรับอัลบั้มเต็มล่ะ จะเป็นอย่างไร?

ต๊อบ : ยังคงมีเรื่องเสียดสีสังคมอยู่ และจะมีมากขึ้น แต่มันจะขยายออกไปอีกว่า นอกจากเรื่องสังคม ชีวิตมนุษย์ ความรัก หรือเรื่องเซ็กซ์ มันก็มีเรื่องราวต่างๆ ต่อจากนั้นไปอีกนะ อัลบั้มนี้ชื่อ โลกที่สาม เราขยายความต่อว่า โลกที่สามในความหมายในแง่บวกคืออะไร คือปกติแล้วเลขสามจะเป็นเลขที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มือที่สาม เพศที่สาม โลกที่สาม ไม่มีใครคิดว่ามันดีในการรับรู้ของมนุษย์ แต่ Chanudom จะไม่ตีความแบบนั้น

พัด : เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วคนเราชอบแบ่งโลกออกเป็นสามส่วน หนึ่งคือโลกสังคมที่เราต้องอยู่ สองคือโลกของครอบครัวที่เราต้องเจอ และสามคือโลกของตัวเอง แล้วเรากำลังจะบอกว่า โลกของตัวเองสำหรับบางคนก็มักจะคิดว่า เป็นโลกที่มันเหนื่อยเหลือเกินที่จะเอาออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะอาจจะถูกหาว่านู่นนี่นั่น เพราะมันเป็นโลกส่วนตัวของเรา แต่อย่าลืมว่า ความคิดสร้างสรรค์หรือผลงานต่างๆ มันเกิดจากโลกส่วนตัวของเรานะ แล้วเราก็กำลังเป็นตัวแทนที่จะบอกว่า Chanudom คือโลกที่สาม คือโลกส่วนตัวของเรา คือโลกของความครีเอทีฟ ที่เรากำลังเผยแพร่ในสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดี และเราต้องเคารพในโลกส่วนตัวของตัวเอง อย่างในอัลบั้มนี้ก็จะพูดถึงหลายแง่มุม อย่างเพลง “ขาวดำ” ที่จะพูดถึงความแตกต่าง หลายคนถูกเซ็ตความคิดไว้ว่า ขาวต้องดี ดำต้องไม่ดี แต่พอมองลงไปในรายละเอียดจริงๆ เราก็รับรู้ได้ว่า กูดีได้เพราะดำว่ะ บางครั้งก็เหลิงได้เพราะขาวว่ะ ซึ่งมันอาจจะไม่ได้เกิดจากพวกเรา 3 คนเพียงอย่างเดียว เราว่าจริงๆ แล้วเรื่องราวต่างๆ มันเกิดจากมนุษย์ แต่เป็นมุมมองของเราเท่านั้นเอง

อย่างก่อนหน้านี้พวกคุณเปิดหัวอัลบั้มด้วยเพลง “18+” ที่หลายคนตีความว่า นี่คือเรื่องเซ็กซ์?

พัด : ทุกความสัมพันธ์ของผู้ชาย-ผู้หญิง ผู้หญิง-ผู้หญิง ผู้ชาย-ผู้ชาย มันจะต้องมีเรื่องเซ็กซ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วเราอยากเอาเรื่องนี้มาอยู่ในเพลง เพราะเราเชื่อว่า ดนตรีหรือเพลงเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถทำให้คอนเทนต์หนักๆ เป็นเรื่องราวที่ฟังง่าย คลี่คลาย สนุกๆ ได้ แล้วเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องหนึ่งที่ใครหลายๆ คนโดยเฉพาะคนไทยไม่กล้าเปิดเผย ทำให้รู้สึกว่าสิ่งนี้น่าอาย ไม่น่าพูดถึง คือเราก็ไม่ได้สนับสนุนให้มันเป็นสิ่งที่พูดได้โจ่งแจ้งขนาดนั้นหรอก หรืออย่างบางคนพอนึกถึง 18+ พอไปอยู่ในภาพที่เป็นหนังหรือซีรีส์ มันจะเป็นหนังโป๊ แต่พอเป็นดนตรี มันไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงโป๊ไง แต่เป็นเพลงที่พูดถึงเรื่องความกะล่อนได้ เรื่องสัญลักษณ์ได้ เรื่องอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ และคิดว่า 18+ นี่แหละที่เหมาะกับการเป็นเพลงเปิดอัลบั้มโลกที่สาม

จริงๆ ก็มีเพลงสากลมากมายที่ซ่อนสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับเซ็กซ์ไว้ในเนื้อหา?

พัด : ใช่ จริงๆ เราได้ไอเดียมาจากเพลงลูกทุ่งในบ้านเราด้วยนะ อย่างเพลง “หมากัด” ของคุณเอกชัย ศรีวิชัย หรือเพลงของแม่พุ่มพวง (พุ่มพวง ดวงจันทร์) อย่าง “กระแซะเข้ามาซิ” ที่มีท่อนที่ร้องว่า “อีกกี่วันจะได้เจาะไข่แดง” อะไรแบบนี้ มันเป็นสื่อที่สนุก อย่าง “18+” มันมีทั้งความแรดและความแรง ซึ่งเรารู้สึกว่า Chanudom พูดถึงมันได้ พูดออกมาแล้วไม่น่าเกลียด ด้วยคาแรกเตอร์ของวง ด้วยสมดุลที่เราสร้างขึ้นมา

แต่ละคนมีมุมมองต่อคำว่า “18+” อย่างไร?

แพท : เป็นกฎข้อห้าม เป็นการแบ่งอะไรสักอย่าง

ต๊อบ : คิดแบบเดียวกับแพท เหมือนพอพูดคำว่า 18+ ถ้าอยู่ในประเทศเรา แวบแรกในการนึกถึงและการรับรู้ก็คือ การห้าม การจำกัดในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ว่าถ้าอายุต่ำกว่านี้ มันจะไม่เหมาะไม่ควรด้วยอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งใครมาเป็นคนบอกก็ไม่รู้ด้วย แต่สำหรับในเพลง เราตั้งใจจะทำให้มันสนุกแค่นั้นเอง

พัด : พอพูดถึง 18+ ในมุมมองสังคมเมืองไทย ก็มักจะพูดถึงการดูถูกคนดู คนฟัง คนเสพงาน ที่เรารู้สึกแบบนี้เพราะว่า วิธีการของเรากับเมืองนอกมันต่างกัน เราไม่ค่อยชอบการตีความหมายของคนอายุต่ำกว่า 18 ปีในบ้านเรา มันเหมือนเป็นการดูถูกอย่างหนึ่ง อย่างในซีรีส์ที่มีฉากยิงปืน ก็เซ็นเซอร์ปืน ทั้งๆ ที่ก็ดูออก ฉากดูดบุหรี่ เห็นนม คือเราเข้าใจแหละ แต่ในอีกแง่ก็คิดว่า คิดว่าคนดูโง่เหรอ ทำให้เรารู้สึกว่า นี่คือความไม่เท่าเทียม

ปกซิงเกิล 18+

เดินทางมาสู่ซิงเกิลล่าสุด “นางสาวปรารถนา” เราอยากรู้ว่า เธอคือใคร?

พัด : เรามองเห็นนางสาวปรารถนาว่าเป็นผู้หญิงทุกๆ คนที่มีแพสชั่นหรือแรงปรารถนาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราเคยเจอผู้หญิงคนหนึ่งกำลังใช้มือถือไลฟ์ตัวเอง ไลฟ์ขายของ คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าเป็นบ้าอะไร แต่จริงๆ แล้วเขามีเบื้องลึกเบื้องหลังว่า เขาจะเอาเงินที่เขาได้จากการไลฟ์ขายของไปช่วยพ่อแม่ที่ป่วยอยู่ เราเลยรู้สึกว่า คนเราไม่สามารถตราหน้าใครได้ ทุกคนมีแรงปรารถนาเพื่อทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ทุกคนเป็นนางสาวปรารถนาได้ ทุกคนมีแพสชั่นแตกต่างกันไป แต่เราอาจจะเน้นไปที่เพศหญิง เพราะเป็นอะไรที่ลูกเล่นมันชัดมากกว่า

ฟังแล้วนึกถึงเพลงอย่าง “รอยประหลาด” หรือ “คนบาป” ที่พูดถึงการตัดสินคนจากภายนอก?

พัด : ใช่

ต๊อบ : เหมือน Chanudom เป็นวงดนตรีที่พยายามจะส่งเสียงตลอด เสียงก็ไม่ได้ดังมากนะ (หัวเราะ)

พัด : ซึ่งเพลง “นางสาวปรารถนา” เราได้ จ๋าย-อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี มาแต่งคำร้องกับเรา แต่พอได้ทั้งเนื้อทั้งเมโลดี้แล้วก็ใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าจะตกผลึก เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก

ต๊อบ : เคยทำเวอร์ชั่นหนึ่งมาก่อนด้วย แต่สุดท้ายก็ลบทิ้ง

เพลง “ดาวเรืองดาวโรย” ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ คือแรงบันดาลใจสำคัญในการทำเพลงนี้?

พัด : หนึ่งคือเราชอบร้องเพลงลูกทุ่งอยู่แล้ว สองคือตัวละครผู้หญิงในเพลง “ดาวเรืองดาวโรย” มีความคล้ายๆ ตัวละครผู้หญิงใน “นางสาวปรารถนา” คือมีแพสชั่นเหมือนกัน ผู้หญิงใน “ดาวเรืองดาวโรย” เข้าไปอยู่ในเมืองกรุงแล้วท้องป่อง มีลูก กลับมาเจอความโศกเศร้า นั่งรถไฟที่หัวลำโพง มองวิวสวยๆ ข้างทางแบบช้าๆ แต่ผู้หญิงใน “นางสาวปรารถนา” คือผู้หญิงที่ออกไปเจอโลกภายนอกเพื่อเรียนรู้เหมือนกัน แต่หยิบลิปสติกขึ้นมาก่อนจะวิ่งไปที่สนามบินเพื่อจะไปเมืองนอก เสียงเครื่องบินขึ้นอะไรแบบนี้ (หัวเราะ) ซึ่งมันก็ส่งผลให้ดนตรีของเราจะมีความฉวัดเฉวียน และที่สำคัญ “ดาวเรืองดาวโรย” มีบทสรุปให้ แต่เพลงของเราไม่มีนะ

แต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง “นางสาวปรารถนา” เรากลับรู้สึกเศร้านะ มันอาจไม่มีบทสรุปหรอก ผู้หญิงคนนั้นแต่งตัวเสร็จ เขาจะออกมาทำอะไรก็ได้ แต่ช็อตที่ส่องกระจก แต่งตัว เรารู้สึกว่าผู้หญิงคนนั้นกำลังขบคิดอะไรบางอย่างในชีวิตอยู่?

ต๊อบ : อันนี้น่าจะเป็นฟีดแบ็คแรกหลังจากปล่อยเพลงเลย เราอยากรู้มากเลยว่า คนฟังรู้สึกอย่างไร ตีความอย่างไร

พัด : ชอบการคาดหวังแบบนี้นะ ตัวละครอาจจะไม่ได้รู้สึก แต่อ้าว ฉันเศร้าไปแล้ว คือมันก็ตีความได้หลายแบบว่าทำไมนางสาวปรารถนาต้องทำแบบนี้ ทำไมออกจากบ้านแล้วต้องหยิบลิปสติกขึ้นมา

แพท-สถาปัตย์ แสงสุวรรณ

แพท-สถาปัตย์ แสงสุวรรณ

 

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจนับตั้งแต่อีพีจนมาถึงเพลงล่าสุด พาร์ตดนตรีของ Chanudom มีความสดใหม่อยู่ตลอดเวลา?

ต๊อบ : มันเกิดจากความที่เรา 3 คนชอบดนตรีหลากหลายด้วยแหละ แตกต่างกันออกไป พอมารวมกันคิดอะไรบางอย่างขึ้นมา เราก็จะดึงสิ่งที่เราชอบต่างๆ ของตัวเองมาใช้ 4 เพลงในอีพี บวกเพลง “เลยตามเลย” มาจนถึงตอนนี้ มันไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ใครที่ได้ฟัง “18+” มาก่อน ในอัลบั้มมันก็จะไม่เป็นอย่างที่ได้ยินอีกแล้ว แต่เราก็ยังสามารถบอกได้อย่างหนึ่งว่า มันมีจุดร่วมอยู่ ไม่ใช่ไม่เหมือนกันจนเหมือนอยู่กันคนละวง เราก็มานั่งฟังกันอีกทีว่า มันยังเป็น Chanudom อยู่นะ

แพท : ซึ่งจุดร่วมนั้นก็คือ… ความพึงพอใจของพวกเรา (หัวเราะ)

พัด : พัดชอบโมเม้นต์ของการเข้ามาผสมผสานกัน พาร์ตนี้เราแต่งมาโคตรลูกทุ่งเลย สาวมากเลย พอมาเจอความร็อคของพี่แพท เจอความกรู๊ฟของพี่ต๊อบเข้าไป มันเปลี่ยนมู้ดแอนด์โทนไปเลยนะ มันทำให้เนื้อเรื่องที่เล่าบางอย่างลึกขึ้น หรืออาจจะง่ายขึ้น อันนี้คือความตื่นเต้นของพัด และพัดก็คิดว่าพี่แพทกับพี่ต๊อบก็เป็นเหมือนกันเวลามาเจอเนื้อร้องของพัด

ต๊อบ : เรารู้สึกเหมือนกันว่า บางอย่างที่เรามีหรือที่แพทมี จะถูกเลือกมาใช้เพื่อสนับสนุนเพลงของ Chanudom บางอย่าง จริงๆ แพทมีสิ่งที่ทำได้เยอะกว่านี้ แต่ไม่ได้นำมาใช้เพราะมันอาจจะไม่เหมาะกับ Chanudom ก็ได้ นี่คือจุดร่วม แล้วมันจะสื่อออกมาผ่านเพลง

ต๊อบ-ธัชพล ชีวะปริยางบูรณ์

ต๊อบ-ธัชพล ชีวะปริยางบูรณ์ 

 

Chanudom เป็นวงที่มีคนพูดถึงความโดดเด่นของเพอร์ฟอร์แมนซ์มาแต่ไหนแต่ไร สำหรับโชว์ของเพลงในอัลบั้มโลกที่สาม จะเปลี่ยนแปลงไปจากตอนปล่อยอีพีมากน้อยแค่ไหน?

พัด : อันนี้พูดได้เลยว่าเปลี่ยนไปแน่นอน ไม่ได้มาจากแค่อัลบั้ม มันมาจากการที่เราได้ไปเล่นหลายๆ ที่ สะสมมาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าเราเริ่มเจอคาแรกเตอร์ของตัวเอง คือจริงๆ มันคือการที่เราชอบแบบไหนก็ทำแบบนั้นก่อนนั่นแหละ แต่ตอนนี้เราเริ่มรู้แล้วว่าเราชอบโมเม้นต์ไหน สีของภาพๆ นั้นมันชัดขึ้น และเราก็พยายามรวบรวมและทำให้สมดุลที่สุดกับการที่มันจะต้องเป็น Chanudom ให้มากที่สุด ตอนนี้เรามีจำนวนเพลงที่มากขึ้น และเล่าเรื่องได้มากกว่าเดิม แล้วพวกเราก็เติบโตขึ้นในเชิงของเพอร์ฟอร์แมนซ์นับจากอีพี รวมถึงเรารู้แล้วว่าเราจะทำอะไร ต้องมีอะไรเข้ามาเสริม ทั้งเรื่องสเตจ แสง เสียง หรือการนำเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบอื่นเข้ามาประกอบ

ต๊อบ : มันเหมือนเป็นมาตรฐานที่ตัวพวกเรานี่แหละที่เป็นคนตั้งเอง เปิดมาแบบนี้ พอเป็นอัลบั้มเต็มมันดร็อปกว่าตอนนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นความเป็นละครเวทีหรือ Theater มันต้องปรับให้มากขึ้นและเข้มข้นขึ้นกว่าเดิมด้วย ภายใต้บทเพลงที่ยังเป็นร็อคอยู่ เราต้องดึงจุดนี้ที่มันอาจจะเป็นจุดเด่นที่ทุกคนเข้าใจว่าเราเป็นแบบนี้มาใช้ให้เกิดผลมากที่สุด ซึ่งพวกเราก็ต้องทำงานกันเหนื่อยขึ้น

พัด-ชนุดม สุขสถิตย์

พัด-ชนุดม สุขสถิตย์

 

ย้อนกลับไปในช่วงที่ Chanudom เปิดตัว หลายคนมองว่าพวกคุณเป็นวงดนตรีของเพศทางเลือก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าก็ยังคงมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีทัศนคติในแง่ลบต่อเพศทางเลือก จากวันนั้นถึงวันนี้มันมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องมุมมองของคนภายนอกเข้ามาสู่ภายในวงอย่างไรบ้างไหม?

พัด : คือเรื่องทัศนคติในแง่ลบพัดมองว่าไม่มีใครผิดเลยนะ มันเหมือนสมมติว่าพี่ไม่ชอบงู แต่เราชอบงู สาเหตุของการชอบงูหรือไม่ชอบงู สาเหตุของการชอบเพศนี้หรือไม่ชอบเพศนี้ มันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องไปนั่งโทษว่าใครผิดใครถูกเลย สิ่งที่พัดเจอชัดเจนเลยก็คือ สิ่งที่เราต้องพูดมากขึ้นคือเรื่องเพศ คือเหมือนเป็นตัวแทน เป็นกระบอกเสียง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เราแค่รู้สึกว่า จริงๆ แล้วฉันไม่ได้ชอบหน้าที่นี้หรอก แล้วฉันก็ไม่ได้อยากถืออะไรบางอย่างเพื่อจะต้องมานั่งแบกว่าฉันต้องทำหน้าที่นี้ เพราะหน้าที่ของฉันคือฉันจะเป็นนักร้องอย่างเดียว แต่ด้วยความที่เราเป็นเพศนี้ หลายครั้งมันก็เลยกลายเป็นเรื่องนี้ที่เราต้องเจอคำถามบ่อยๆ ว่าเราคิดเห็นอย่างไรที่ถูกเรียกว่าเป็นเพศนี้เพศนั้น สิ่งนี้จึงชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ถามว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร มันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่โอเคนะ ในฐานะคนทำงานศิลปะออกมาอย่างหนึ่ง แล้วถ้ามันส่งผลที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ได้ เป็นเสียงหนึ่งที่จะทำให้เกิดแรงผลักดันอะไรบางอย่างให้มันก้าวต่อไปได้ และดีขึ้นได้ มันก็ย่อมดีกว่าอะไรบางอย่างที่เข้ามาแล้วหายไป เราสู้กับตัวเองมาตั้งแต่เด็ก พยายามพิสูจน์ตัวเองว่า จริงๆ คุณภาพของคนมันสำคัญกว่าคำที่ถูกเรียกด้วยซ้ำว่าเราเป็นอะไร จนตอนนี้มันชัดเจนขึ้นจนเราแทบจะเป็นคนๆ หนึ่งที่สามารถดึงคนให้มาเชื่อได้ อย่างน้อยเราก็กระเตื้องอะไรบางอย่างให้โลกได้รู้ว่า เรากำลังใช้ดนตรีเรียกร้องอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคุณค่าของมนุษย์ได้ และอย่างน้อยสิ่งนี้ก็ทำให้เรารู้ว่า เรายังมีคุณค่า

Chanudom

Chanudom

 

แรงปรารถนาสำคัญต่อ Chanudom อย่างไร?

พัด : สำหรับเรามันคือ การที่คุณตื่นขึ้นมาคุณต้องรู้แล้วว่าคุณอยากทำอะไร แม้กระทั่งว่าวันนี้คุณไม่มีอะไรทำ แต่พอรู้สึกตัวคุณก็ต้องลุกขึ้นมาเพื่อที่จะแปรงฟันล้างหน้า นั่นคือแรงปรารถนาแล้วสำหรับเรา โดยเฉพาะยิ่งพอเป็นงานเพลงของ Chanudom เราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะต้องไปขนาดไหน แค่มันไปอยู่ถูกที่ถูกทางสำหรับเรา ทำให้มันอยู่ตรงกลางในใจว่า เราชอบแบบนี้ แล้วมันอยู่กับคนที่เขาชอบเราในแบบนี้ เท่านี้เราก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จแล้ว มันคือแรงผลักดันในแต่ละวันที่ทำให้เราพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ชีวิตมนุษย์เกิดมามันโชคดีอยู่แล้วที่เราได้ลืมตาขึ้นมาในแต่ละวัน แต่ทำอย่างไรล่ะให้ความโชคดีของเรามันไปต่อ ให้คุณค่าของชีวิตมีค่าต่อไป

ต๊อบ : จริงๆ แล้วเป้าหมายของการทำวง Chanudom ขึ้นมาในตอนแรกที่คุยกันแทบจะไม่ได้สนใจผลลัพธ์เลย เราอยากทำเพราะอยากทำจริงๆ อย่างเพลง “รอยประหลาด” มันก็ประหลาดจริงๆ เหมือนเป็นเพลงที่ไม่มีท่อนบ้าบออะไรให้จำได้เลย เราว่าข้อดีของ Chanudom อย่างหนึ่งคือมันไม่มีกรอบเลย เราสามารถแหกหลุดไปได้ทุกอย่าง อัดเพลงในห้องน้ำก็ได้ ซึ่งตอนนี้มันก็มาไกลประมาณหนึ่งในความเป็นไปได้ของมัน ทีนี้แรงปรารถนาของเราคือ พอมาถึงจุดหนึ่ง เราต้องคำนึงถึงคนที่มาร่วมงานกับเราในตอนนี้ด้วย เพราะน้องๆ นักดนตรีทุกคนที่มาช่วยเราเล่น เขามาด้วยใจจริงๆ เพราะจำนวนงานของเรามันไม่เยอะ ถ้าสมมติว่าตัววงของเราสามารถทำให้เขามีงานได้ค่อนข้างประจำนิดหนึ่ง อาจไม่ได้เยอะถึงขนาดวงที่เป็นที่รู้จัก แต่ให้มันมีพอที่สามารถทำให้เขาอยู่ได้ เราว่าอันนี้เป็นแรงปรารถนาต่อไปของเรานะ

แพท : คล้ายๆ พี่ต๊อบสำหรับเรื่องน้องๆ นักดนตรี ส่วนในเรื่องของการทำเพลง เราก็อยากลองอัดกันเองดูบ้าง หรืออะไรที่เป็นเรื่องยิบๆ ย่อยๆ ที่อยากลองทำให้มันได้ ลองเป็น Home Studio บ้างไหม ลองสักที แล้วปั้นให้มันดีให้ได้

ท้ายที่สุด คนฟังจะสัมผัสได้ถึงอะไรเมื่อก้าวเดินเข้ามาใน “โลกที่สาม” ของ Chanudom?

แพท : เราว่าไม่จำเป็นต้องรับรู้หรอกครับว่า ความหมายที่แท้จริงของโลกที่สามที่พวกเราคิดคืออะไร เราว่าคนฟังน่าจะได้ฟังแล้วคิดอะไรของเขาเอง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาจะคิดอะไรเหมือนกัน คือต่อให้เราเขียนบรรยายเป็นย่อหน้าว่าเราทำงานชิ้นนี้ขึ้นมาด้วยความคิดอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็อาจจะไม่เข้าใจก็ได้ นอกจากเขาจะลองเปิดมันแล้วคิดของเขาเอง เราอยากให้มันเป็นแบบนั้นมากกว่า ไม่ได้อยากป้อนความคิดว่า 18+ คือห้ามเด็กดูนะ แต่ลองคิดดูสิ ว่ามันคืออะไร

ต๊อบ : สมมติว่าเราได้ดูคอนเสิร์ต หรือมิวสิควิดีโอของ Chanudom ภาพที่เห็นสำหรับบางคนอาจรู้สึกว่าทำไมดูยาก เข้าถึงยาก ดูไม่เฟรนด์ลี่ ไม่อยากคุยด้วย แต่เราอยากกลับบอกว่า ลองมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้เลยนะ หลังเวที หรือช่วงที่ไม่ได้ทำงาน เราสามารถคุยเล่นสนุกสนานกันได้ อยากให้มาทำความรู้จักกัน แล้วจะรู้ว่ามันสนุก ไม่ได้น่ากลัวหรือยากขนาดนั้น มันคือการแลกเปลี่ยนกัน น่าสนุกนะครับ

พัด : เราคาดหวังในความไม่คาดหวังของคนฟังมากกว่า ไม่รู้หรอกว่าเขาจะฟังหมดหรือเปล่า เราแค่รู้สึกว่า สิ่งที่เราเจอมาทำให้เรามั่นใจได้ว่า ฉันจะก้าวออกมาเป็นแบบนี้นะ ตัวตนเราจะเป็นแบบนี้ สังคมก็มองนะว่า เฮ้ยขนาดนี้เลยเหรอ แต่เราแค่อยากลองพิสูจน์ดูว่า ที่เราเป็นแบบนี้ วิธีการเติบโตของเรามันมาจากดนตรีแบบนี้หมดเลย ลองฟังดูสิมันเป็นอย่างไร เราเชื่อในอะไรอยู่ เราเชื่อว่าพอเราเลือกทางเดินที่เราชอบและมีความสุข ต่อให้มันเจอทางที่มันยากลำบากหรือเหนื่อย มันจะมีหนทางในการไปต่อได้อีก เพราะเรารักมันแล้ว เลือกมันแล้ว เราปฏิเสธอะไรมันไม่ได้ เราต้องภูมิใจกับมัน

 

ดินแดน “โลกที่สาม” เตรียมพร้อมต้อนรับทุกคนอย่างเป็นทางการกับ “The Moon Stories: Chanudom The Opening Album Concert” คอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มชุดแรกในชีวิต นัดหมายวันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2561 ณ ร้าน Nineteens Up (สีลม 19) ตั้งแต่ 19.00 น. เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดการซื้อบัตรได้ที่ Line ID : wtdshop หรือเฟซบุ๊กเพจค่าย What The Duck และสามารถฟังเพลงของ Chanudom เป็นการอุ่นเครื่องก่อนไปสนุกให้สุดเหวี่ยงกับพวกเขาได้จากเพลย์ลิสต์ด้านล่างนี้เลย

 

Story by : Chanon B.
Photos by: Sidhipong W. / What The Duck

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ “โลกที่สาม” ของ “Chanudom” กับแรงปรารถนาในตัวตนและเสียงดนตรีที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook