“Scrubb” วัยรุ่นที่เอาแต่ใจ และความสนุกทางดนตรีใน “18+ โตแล้วทำอะไรก็ได้”
ยังคงจดจำจุดเริ่มแรกที่ทำให้วงดนตรีที่ชื่อ Scrubb เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักฟังเพลงได้อยู่เสมอ เนื้อร้องจากเพลง “ทุกอย่าง” ที่ร้องว่า “จะทำทุกๆ อย่าง จะทำทุกๆ ทาง” ที่มาพร้อมท่วงทำนองคึกคัก ซาวด์และเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ได้สร้างความแตกต่างให้กับวงการเพลงอินดี้ในบ้านเราในขณะนั้นอยู่ไม่น้อย เผลอแวบเดียวลืมตาตื่นขึ้นมาอีกที 2 สมาชิกอย่าง เมื่อย-ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ (ร้องนำ) และ บอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา (กีตาร์) พา Scrubb มาไกลถึง 18 ปี และเมื่อคืนนี้ พวกเขาก็มีคอนเสิร์ตใหญ่เป็นของตัวเองเป็นครั้งที่ 2 ในชีวิตในชื่อ Scrubb 18+ โตแล้วทำอะไรก็ได้ ณ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี จัดโดย บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
จากวงดูโอ้วงเล็กๆ วงหนึ่งที่มีคิวเล่นเป็นวงแรกๆ ในช่วงบ่ายของเทศกาลดนตรีเด็กแนวอย่าง Fat Festival ซึ่งผู้เขียนจำได้ว่ามีจำนวนผู้ชมเพียงหลักสิบกว่าคน จนมาสู่อีกครั้งของคำว่า “คอนเสิร์ตใหญ่เต็มรูปแบบ” การเติบโตมาพร้อมกับแทบจะทุกเพลงของวง Scrubb ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นมากทีเดียวในการที่จะได้ฟังเพลงเหล่านั้นแบบสดๆ บนเวทีสเกลใหญ่ยักษ์อีกครั้ง แม้จะต้องยอมรับว่า Scrubb เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ชมการแสดงสดบ่อยครั้งมากๆ ในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาก็ตาม
Scrubb
โตแล้วทำอะไรก็ได้… Scrubb จะมาทำอะไรบนเวทีคอนเสิร์ตของพวกเขาเองกันแน่นะ? หรือ เมื่อย จะมาร้องเพลงลูกทุ่ง? บอลจะออกสเต็ปแดนซ์ในบีตอีดีเอ็ม? มันคงเป็นสารความสงสัยตั้งต้นที่แวบขึ้นมาในหัวเราที่คงจะสนุกดีหากได้เห็นวงดนตรีที่มีภาพลักษณ์นิ่งๆ มาทำอะไรที่ต่างออกไป แต่เจ้าสารความสงสัยดังกล่าวก็ถูกคลี่คลายด้วยเวลา 3 ชั่วโมงเศษ กับการ “ทำอะไรก็ได้” บนเวทีคอนเสิร์ตที่ เมื่อย-บอล ไม่จำเป็นต้องละทิ้งตัวตนของตัวเองไปไหนไกล แถมยังเต็มไปด้วยความจริงใจและความสนุกสไตล์ Scrubb อีกด้วย
หนึ่งทุ่มตรงตามกำหนดการ ประโยคทักทายปรากฏขึ้นบนจอที่ขนาบข้างเวทีหลักด้วยทีท่ากวนๆ ก่อนที่นักดนตรีแต่ละคนจะเดินขึ้นมาประจำการตามตำแหน่ง ปิดท้ายด้วย เมื่อย และ บอล ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า คอนเสิร์ตใหญ่หนนี้ของ Scrubb พร้อมเริ่มต้นขึ้นแล้ว “เพลงของเรา” ที่เนื้อหาเชื้อเชิญให้แฟนๆ ให้ “มาร้องเพลงด้วยกัน” คือเพลงแรกที่พวกเขาหยิบมาประเดิม เวทีสีพาสเทลน่ารักสดใสทำให้ Scrubb กลับไปเป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 18 อีกครั้ง ให้ความรู้สึกราวกับเป็นห้องนั่งเล่นที่ทุกๆ คนมารวมตัวกันสร้างความสุขทางเสียงดนตรีอย่างไรอย่างนั้น
เมื่อย-ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ
และแล้วคอนเซ็ปต์ โตแล้วทำอะไรก็ได้ ก็เริ่มต้นกันอย่างไม่ต้องรีรอ เพราะ Scrubb เลือกเพลงฮิตมาเล่นกันตั้งแต่ต้นโชว์! ไม่ว่าจะเป็น “ใกล้” ที่ทำให้เราเห็นภาพคลื่นมนุษย์กระโดดพร้อมกันตั้งแต่ท่อนอินโทร รวมไปถึงเพลงอย่าง “เช้า”, “ทุกอย่าง”, “Sea Scape”, “ย้อนเวลา”, “โลกหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ”, “คนนี้” และ “รอยยิ้ม” บอกตามตรงว่าเสียดายแทนคนเข้างานช้า เพราะพวกคุณได้พลาดเหล่าบรรดาเพลงดังที่โดยปกติแล้วจะถูกวางเอาไว้ในช่วงท้ายคอนเสิร์ต แต่ Scrubb ขอเอาแต่ใจ จัดให้ครบครันตั้งแต่ช่วงแรก
สังเกตได้ว่า นอกจากเครื่องดนตรีหลักแล้ว Scrubb ก็ยังใส่สีสันของเครื่องเป่า เครื่องสาย และทีมประสานเสียงเพิ่มเติมเข้ามาแทบจะทุกเพลง ที่แอบปลาบปลื้มมากๆ ก็คือเสียงไวโอลินในเพลง “ทุกอย่าง” ที่เมื่อมาผนวกกับไลน์คีย์บอร์ดกลิ่นอายแจ๊ซซี่เล็กๆ มันทำให้ “ทุกอย่าง” ในเวอร์ชั่นนี้มีเสน่ห์ที่ต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด
บอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา
ช่วงต่อมา เมื่อย-บอล ยังคงเซอร์ไพรส์คนดูอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเพลงจากอัลบั้มเต็มชุดล่าสุด Season ที่เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อนมาเปิดตัวในเวอร์ชั่นเล่นสดอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก หลายบทเพลงเราคุ้นหูกันพอสมควรจากการตัดออกมาเป็นซิงเกิล ไม่ว่าจะเป็น “ฝน”, “ทุกวัน” หรือ “ดวงตะวัน” ที่นำเอาอินโทรที่ชื่อ “Summer” มาเปิดหัว มากไปกว่านั้นยังมีเพลงในอัลบั้มที่หลายคนอาจยังไม่เคยฟังอย่าง “ทิ้งตัว”, “ละคร”, “ฤดู” และเพลงช้าที่พวกเขาไม่ค่อยมีมากนักอย่าง “ยังอยู่” แต่ละเพลงแสดงถึงสีสันทางดนตรีที่ Scrubb ก้าวออกมาจากเซฟโซนของพวกเขาอย่างชัดเจนโดยที่ยังไม่ละทิ้งตัวตนในแบบฉบับ Scrubb ที่ฟังครั้งแรกก็ยังรู้ทันทีว่าเป็นเพลงของพวกเขา บอกเลยว่านี่ไม่ใช่เรื่องราวที่จะสามารถทำกันได้อย่างง่ายดาย แต่สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังกันก็ทำให้วงดนตรีวงนี้เฟรชอยู่เสมอในเวลาเดียวกัน
ทะเลดาวกลางคอนเสิร์ต 18+ โตแล้วทำอะไรก็ได้
Scrubb ยังคงไม่หยุดการทำอะไรก็ได้บนคอนเสิร์ตครั้งนี้ เมื่อเพลง “ลึกลึก” บอล วางกีตาร์ลงและไปนั่งอยู่หลังกลองชุด ซัดสแนร์แบบไม่ยั้งร่วมกับ เมื่อย และมือกีตาร์อย่าง ต่อ จากคณะ Radio Star แม้ว่า เมื่อย จะเกริ่นนำว่าในช่วงนี้นั้นเป็นเซ็ตเพลงที่ไม่ค่อยจะได้รับความนิยมสักเท่าไหร่ แต่แฟนคลับ Scrubb ก็ส่งเสียงกรี๊ดสนั่นทุกครั้งเมื่ออินโทรของแต่ละเพลงดังขึ้น หลังจากนั้นเป็นคิวของ เพลง-ต้องตา จิตดี สมาชิกวง Plastic Plastic ในฐานะมือคีย์บอร์ด ที่ขึ้นมาแจมในเพลง “วันเหล่านั้น”, “รอยต่อ” และ “ฟ้า” ร่วมกับอีกหนึ่งนักดนตรีอย่าง เรมี่ ที่ขึ้นมาช่วยผลิตเสียงซินธ์ฯ ส่วนพี่บอลของทุกคนโยกย้ายไปเล่น เบลไลรา หรือ นิ้งหน่อง ที่ทุกคนคุ้นเคย ปิดท้ายด้วย เมื่อย ที่จำลองสตูดิโอย่อมๆ ที่บ้านของเขามาอยู่บนเวที โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Looper ร่วมสร้างท่วงทำนองเพลง “หนี” เวอร์ชั่นใหม่กับ ต่อ ที่เท่เอามากๆ
เมื่อ บอล ต้องไปเล่นนิ้งหน่อง
หลังจากแจมเซสชั่นสิ้นสุดลง ก็ต่อกันด้วย “กลัว” หนึ่งเพลงถ้วนในคอนเสิร์ตที่ร้องโดย บอล แต่กลับเรียกเสียงกรี๊ดสนั่นฮอลล์จากบรรดาแฟนเพลง ซึ่งมีการนำเสียงฟลู้ตเข้ามาสร้างเสน่ห์ในแบบที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ก่อนที่ความสนุกจะลากยาวต่อเนื่องจากเซ็ตเพลงสุดฮิตที่ทุกคนต้องลุกขึ้นมากระโดดไปพร้อมๆ กันทั้ง “ขอ”, “เธอ”, “คำตอบ” ที่มีทีมกลองมาร่วมสร้างความสนุก และ “เข้ากันดี” ที่ในช่วงท้ายเพลงเมื่อยค่อยๆ ไล่เรียงทีมนักดนตรีที่มาช่วยทำให้คอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นจริงขึ้นมา รวมไปถึงมิวสิคไดเรกเตอร์อย่าง ปกป้อง จิตดี อีกหนึ่งสมาชิกวง Plastic Plastic และโปรดิวเซอร์ที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่วง Scrubb มาตลอดอย่าง ฟั่น-โกมล บุญเพียรผล ด้วย
และแล้วก็เหลือเพียง เมื่อย และ บอล บนเวทีคอนเสิร์ต บอล กล่าวว่าตามสคริปต์ต้องเป็นช่วงที่พวกเขาทั้งคู่ต้องกล่าวอะไรซึ้งๆ แต่ก็อย่างที่แฟนๆ รู้กันดี Scrubb ไม่ใช่วงดนตรีที่พูดเก่งนัก แต่คำขอบคุณของ บอล ที่มีต่อเมื่อยและแฟนเพลง ที่ทำให้เขาเชื่อมั่นในความ “ไม่มั่นใจ” ว่าสิ่งที่ Scrubb ทำมาตลอด 18 ปีว่ามันโอเคหรือไม่ และคำตอบของแฟนๆ ที่ตะโกนขึ้นมาว่า “โอเค” ก็ทำให้มือกีตาร์คนเก่งของเราถึงกับร่ำไห้ ก่อนที่ทั้งคู่จะร่วมร้องเพลงสุดท้ายของคอนเสิร์ตอย่าง “เก็บไว้ให้เธอ” โดยที่มีเพียงเสียงกีตาร์ของ บอล และเสียงร้องของ เมื่อย เพียงเท่านั้น เชื่อว่าเป็นภาพที่หลายคนยังคงคิดถึงและประทับใจมาจนถึงตอนนี้ แถมช่วงอังกอร์ Scrubb ยังจัดมาให้อีก 3 เพลง ไม่ว่าจะเป็น “Inchan Tree”, “Art Bar” และ “ใกล้” ที่ทำให้ทุกคนในฮอลล์กระโดดสุดตัวกันอีกรอบ
น้ำตาลูกผู้ชายของ บอล Scrubb
ทำไมความเอาแต่ใจของ Scrubb มันสนุกเช่นนี้? ด้วยอายุ 18 ปีของวง หากเทียบกับคนธรรมดา Scrubb คือวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่คุกรุ่นไปด้วยความอยากทดลองอะไรใหม่ๆ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยเพลงดังที่ขายได้สบายๆ แต่พวกเขาก็ยังขอลองสร้างผลงานเพลงที่แตกต่างออกไปในอัลบั้ม Season สร้างคอนเสิร์ตที่แทบจะไม่มีแพตเทิร์นเหมือนคอนเสิร์ตโดยทั่วไป ผสมผสานสคริปต์อยู่บ้างประปราย บนเวทีเต็มไปด้วยความเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวตนของ Scrubb ที่ดำเนินมาตั้งแต่จุดเริ่มต้น น้อยวงนักที่จะกล้าหยิบเอาเพลงฮิตมาไว้ในช่วงต้นโชว์ กล้าที่จะเอาเพลงอัลบั้มใหม่ที่คนฟังยังไม่ค่อยรู้จักมาเล่นเกินครึ่งอัลบั้ม แต่นี่คือสิ่งที่ Scrubb อยากทำ อยากสร้างแนวความคิดใหม่ในการมาชมคอนเสิร์ตใหญว่า คุณไม่จำเป็นต้องมาฟังแต่เพลงดัง แต่อยากให้ทุกคนมาฟัง “ดนตรี” ที่เจ้าของงานอยากนำเสนอ
โทนสีของเวทีตอบโจทย์ตัวเลข 18 ที่บ่งบอกการที่ Scrubb ยังคงความเป็นวัยรุ่นไม่เปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี การเรียบเรียงดนตรีใหม่จากเสียงคีย์บอร์ด ซินธิไซเซอร์ เครื่องเป่า เครื่องสาย และการประสานเสียง สร้างความสดใหม่ให้บทเพลงของ Scrubb เป็นอย่างมาก ในขณะที่เรื่องซาวด์และไลท์ติ้งอาจไม่ได้ทำให้ร้องว้าว แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่ต่ำกว่ามาตรฐานของคอนเสิร์ตใดคอนเสิร์ตหนึ่งแต่อย่างใด
คอนเสิร์ต Scrubb 18+ โตแล้วทำอะไรก็ได้
แม้ว่าในช่วงที่ Scrubb นำเพลงจากอัลบั้มใหม่มาเล่น รวมถึงการแจมกันในช่วงกลางคอนเสิร์ตอาจทำให้ปฏิกิริยาจากผู้ชมในฮอลล์ดูนิ่งๆ ไปสักนิด และขาดความต่อเนื่องของอารมณ์ความสนุกไปสักหน่อย แต่ก็อยากที่เราบอก การมาชมคอนเสิร์ต ใช่ว่าจะมารอฟังแต่เพลงฮิตติดชาร์ต การรับรู้ถึงสิ่งที่ศิลปินอยากจะสื่อสารออกมาผ่านการแสดงสดต่างหาก … ที่สำคัญที่สุด
Sanook! Music เชื่อว่า การเดินทางของวงดนตรีที่ชื่อ Scrubb จะไม่หยุดอยู่เพียงตัวเลข 18 ปีอย่างแน่นอน เพราะอย่างน้อย เมื่อย-บอล คงรู้แล้วว่ามีคนรัก Scrubb มากขนาดไหน และอยากให้พวกเขา “เชื่อมั่น” ในสิ่งที่พวกเขาทำอยู่มากเพียงใด
ลองมาฟัง Season อัลบั้มชุดล่าสุดจาก Scrubb กันดู
Story by: Chanon B.
Photos by: บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
อัลบั้มภาพ 16 ภาพ