“The Yers” บทสนทนาแห่งความร้าวรานและน้ำตา สู่บทเพลงอันแสนเจ็บปวดเสมอมาและตลอดไป | Sanook Music

“The Yers” บทสนทนาแห่งความร้าวรานและน้ำตา สู่บทเพลงอันแสนเจ็บปวดเสมอมาและตลอดไป

“The Yers” บทสนทนาแห่งความร้าวรานและน้ำตา สู่บทเพลงอันแสนเจ็บปวดเสมอมาและตลอดไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากฟังเพลงในอัลบั้มก่อนหน้านี้ของวงดนตรี The Yers อย่าง Y และ You เพียงผิวเผิน ก็คงจะสัมผัสได้ถึงภาษาที่แปลกแตกต่างไม่ซ้ำใคร ซาวด์อัลเทอร์เนทีฟร็อคเท่ๆ ที่ทำให้พวกเขาเจิดจรัสในแวดวงดนตรีอินดี้บ้านเรา แต่หากลองหลับตาฟัง เพ่งพินิจพิจารณาลงลึกไปถึงแก่นของสารที่ อู๋-ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ (ร้องนำ, กีตาร์), ต่อ-พนิต มนทการติวงค์ (กีตาร์), โบ๊ท-นิธิศ วารายานนท์ (เบส) และ บูม-ถิรรัฐ ภู่ม่วง (กลอง) ต้องการจะสื่อผ่านผลงานศิลปะทางด้านเสียงดนตรี มันช่างเต็มไปด้วยร้าวรานเกินคณานับ ไม่ว่าจะเป็น “การสื่อสาร”, “ระหว่างขับรถ”, “คืนที่ปวดร้าว”, “เพียงหนึ่งครั้ง”, “คืนที่ฟ้าสว่าง” หรือแม้แต่ “เสพติดความเจ็บปวด” ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นภาพจำแรกเมื่อนึกถึงวงๆ นี้ไปเสียแล้ว

เดินทางมาถึงอัลบั้มชุดล่าสุด น่าสนใจที่ The Yers วางเครื่องดนตรีไฟฟ้าลง และหยิบเครื่องอะคูสติกมาบรรเลงแทน แม้ว่าดนตรีจะผ่อนเบาลง ทว่าแค่ชื่ออัลบั้มอย่าง Cry ที่หมายถึงอาการร้องไห้ของมนุษย์ ก็น่าจะบ่งบอกทิศทางแห่งอารมณ์ของอัลบั้มชุดนี้ได้เป็นอย่างดี และยิ่งเมื่อ Sanook! Music ได้สนทนาอย่างเป็นจริงเป็นจังกับทั้ง 4 สมาชิก อาการร้องห่มร้องไห้ที่ว่ามันไม่ใช่เรื่องธรรมดาเสียแล้ว เมื่อทุกท่วงทำนองและตัวอักษรที่ปรากฏในทุกเพลง ล้วนแล้วแต่กลั่นออกมาจากความเจ็บปวดที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “แผลสด” ในช่วงชีวิตของฟร้อนต์แมนอย่าง อู๋ ก็ว่าได้

ความร้าวรานที่แปรสภาพเป็นน้ำตา สู่กระบวนการการทำอัลบั้มที่ “สะใจที่สุดในชีวิต” มันหนักหนาสาหัสสักเพียงไหน ลองอ่านไปฟังอัลบั้ม Cry ที่วางแผงเรียบร้อยแล้วไป เอาให้หัวใจมันช้ำถึงที่สุดสักครั้ง

genie recordsปกอัลบั้ม Cry จาก The Yers

วันที่ The Yers ตัดสินใจจะทำอัลบั้มอะคูสติก วันนั้นมันเป็นความรู้สึกเช่นไร?

อู๋ : คือเรารู้สึกว่าวงดนตรีหนึ่งวงควรจะมีวันที่เปิดประตูและวันที่ปิดประตูบ้าง จากอัลบั้ม You เราตัดสินใจว่าอยากจะปิดประตูสักพักหนึ่ง เพื่อให้คนอยากรู้ว่าข้างในมีอะไร แต่ค่ายก็อยากจะให้มีผลงานต่อเนื่อง เราก็มองหาตรงกลางว่ามันคืออะไร เขาบอกว่ามีซิงเกิลพิเศษก็ได้ แต่เราไม่ชอบทำงานแบบซิงเกิลมากๆ มันจับต้องอะไรไม่ได้เลย ก็เลยคุยกับค่ายว่า ถ้าอย่างนั้นขอทำอัลบั้มอะคูสติกแล้วกัน เอาเพลงเก่ามาทำใหม่ แล้วเพิ่มเพลงใหม่สักเพลงสองเพลง ด้วยความคิดว่ามันง่าย สบายๆ มีกีตาร์โปร่งเดี๋ยวก็เสร็จ แต่พอทำไปเรื่อยๆ มันดันมีเรื่องมากระทบเราพอดี ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างเครียดมากสำหรับผม แล้วจำนวนเพลงใหม่ก็มากขึ้นเรื่อยๆ เพลงเก่าที่ทำอะคูสติกไว้ก็โละออกไปบ้าง กลายเป็นว่าเพลงใหม่เยอะกว่าเพลงเก่า เป็นอัลบั้มอะคูสติกที่รากเลือดอยู่เหมือนกันในขั้นตอนการทำ

เอาเข้าจริงคนภายนอกบางกลุ่มก็อาจรู้สึกว่า อัลบั้มอะคูสติกก็แค่เปลี่ยนจากกีตาร์ไฟฟ้ามาเป็นกีตาร์โปร่ง?

ต่อ : อาจเป็นเพราะเราเลือกวิธียากด้วยมั้ง เราอัดกันที่บ้าน เป็นห้องนอนเก่าของอู๋ ซึ่งไม่เก็บเสียงด้วย แล้วมันจะมีอุปสรรคในการทำงานตลอด แค่ฝนตกก็อัดไม่ได้แล้ว

อู๋ : แล้วมันก็มีอีกหลายปัจจัย คือการอัดกีตาร์โปร่งในห้องอัดที่มันเก็บเสียงก็ว่ายากแล้วนะ แต่มันยากกว่าตรงที่เราต้องมาคอยหลบ noise ทั้งหลายแหล่ที่เราเลี่ยงไม่ได้ มันเป็นการทำงานที่โหดร้ายมากๆ เพราะเราไม่เคยเล่นกีตาร์โปร่งกันจริงจังขนาดนี้มาก่อน

โบ๊ท : เรื่องทักษะด้วยครับ กีตาร์โปร่งมันยากกว่าไฟฟ้าตรงที่เราไม่ได้จับทุกวัน แล้วมันเป็นเสียงที่มาจากตัวกีตาร์เลยโดยไม่ได้ผ่านเอฟเฟกต์ ไม่ได้ผ่านอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว พอเราเล่นผิดหรือเล่นขยับไปนิดเดียวเท่านั้นมันก็มีผลแล้ว

อู๋ : อย่างเพลง “เสียง” ที่เราเพิ่งปล่อยออกมา จริงๆ ผมตั้งใจให้มันเป็นซิงเกิลแรกของอัลบั้ม แต่พออัดเสร็จผมรื้อใหม่หมด เหตุผลโง่มากนั่นคือ ผมใช้ปิ๊ก นั่นเป็นบทเรียนแรกเลย คือมันควรจะเป็นนิ้ว ยากขึ้นไปอีก พออัดเพลง “พายุหมุน” เฮ้ย อัดร้องมันไม่ควรยืนตรงนี้ว่ะ มันควรจะไปยืนในตู้เสื้อผ้า เละเทะมากนะตอนนั้น

อู๋-ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์

อู๋-ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์

 

เดี๋ยวนะ คุณอัดเพลงในตู้เสื้อผ้า?

อู๋ : ทุกเพลงด้วยซ้ำครับ คือเปิดตู้เสื้อผ้าแล้วเอาไมค์วางข้างหน้า แล้วหันหน้าเข้าไปในนั้น คือทฤษฎีเสียงเนี่ย เวลามันวิ่งตรงไปเจออะไรที่เป็นหนัง มันจะเด้งกลับ แต่ถ้ามันเจอผ้า มันเข้าไปแล้วจะไม่มีเสียงสะท้อนกลับมา นี่เป็นเบสิกเลยครับ คือถ้าอยากได้ซาวด์แบบในอัลบั้มนี้อีก ต้องจัดเสื้อผ้าที่มีตรงนั้นให้เหมือนเดิม

ต่อ : คือมันไม่ได้มีฉากกั้นแบบที่เป็นมาตรฐาน มันยากแหละ แต่มันก็ได้ในสิ่งที่เราอยากจะได้ เพราะมันได้บรรยากาศในห้องนั้นจริงๆ

อู๋ : การทำอัลบั้มมันคือไดอารีครับ สำหรับผมอัลบั้มนี้คือไดอารีที่บันทึกชีวิตว่า ครั้งหนึ่งผมเคยนอนห้องนี้ ใช้เวลานอนอยู่ที่นี่ประมาณ 8-9 ปี แล้วก็ได้ทำอัลบั้มเก็บไว้ เพื่อเราจะได้ยินมวลเสียงของไอ้ห้องนอนบ้านเก่าหลังนี้ของผมอยู่ในเพลง อัลบั้มอะคูสติกมันต้องจริงใจมากที่สุด แล้วไอ้ความจริงใจนี้มันถูกใส่ลงไปในการอัดเสียงอัลบั้มชุดนี้

ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด ตัวตนของ The Yers คือเครื่องดนตรีไฟฟ้า?

อู๋ : คุณคิดถูกแล้ว หลายคนบอกว่ามันมาเร็วเกินไปสำหรับอัลบั้มอะคูสติก สำหรับผมคือไม่ เหมือนกับว่าเราอยากทำก็ทำเลย ไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่นใหญ่ มีเพลงเยอะๆ แล้วก็มาทำ มันไม่ใช่เพลงเวอร์ชั่นอะคูสติก แต่มันคืออัลบั้มอะคูสติก แค่นั้นเลย

ต่อ-พนิต มนทการติวงค์

ต่อ-พนิต มนทการติวงค์

 

การทำอัลบั้มเหมือนกับไดอารี แล้วไดอารีที่ชื่อว่า Cry มันบอกเล่าถึงอะไร?

อู๋ : พูดถึงผมนี่แหละครับ คนเดียวเลย เพลงใหม่ในอัลบั้ม Cry คือ การที่ผมผิดหวังกับคนๆ หนึ่งมากๆ เสียใจ รัก และเกลียดคนๆ หนึ่งมากๆ มันคือสิ่งที่บอกว่าช่วงชีวิตในเวลานั้นของผมมันโคตรแย่ เจอแต่คนแย่ๆ เรื่องแย่ๆ เรื่องบั่นทอนชีวิต แล้วมันก็ร้องไห้ พอร้องไห้เสร็จมันก็กลายมาเป็นเพลงใหม่ทั้งหมดที่มันหาที่ระบายไม่ได้ ก็เลยเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือ

ถือว่าเป็นเรื่องราวที่หนักกว่าเมื่อเทียบกับ 2 อัลบั้มแรก?

อู๋ : ไม่รู้ว่าหนักกว่าไหม แต่สำหรับผม ผมรู้สึกว่ามันหนัก เหมือนเป็นช่วงที่เราเจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ ของชีวิต แล้วไม่เคยเจอคนๆ นี้มาก่อน อยู่ดีๆ เขาก็โผล่เข้ามาในชีวิตเรา แล้วคนนี้ก็… โห ทำให้เราเสียใจได้ขนาดนี้เลยเหรอ แล้วก็บวกกับอีกหลายๆ เรื่อง บางเรื่องมันอ่อนแอไม่ได้ มันดาวน์จริงๆ นะ (หัวเราะ) อย่างเพลง “พายุหมุน” ตอนมิวสิควิดีโอตัดต่อเสร็จ ผมดูได้แค่รอบเดียว เพราะไอ้ฉากแฟลชแบ็คมันคือเราเลย คือผมบอกให้ผู้กำกับทำเอง พอทำเสร็จแล้วมาดู มันทรมานมาก มันลบภาพนี้ออกจากหัวไม่ได้ โคตรเข้าใจความรู้สึก มันรุนแรงประมาณหนึ่งเลย แต่ไดอารีเล่มนี้ก็เขียนจบไปแล้วนะ ชีวิตก็แฮปปี้ขึ้น เพราะกิจการร่ำรวยจากทรยศสตูดิโอของผมเอง (หัวเราะ)

ดนตรีอะคูสติกมักมาพร้อมกับโทนโดยรวมที่สว่าง สดใส แต่เท่าที่ฟังพวกคุณเล่ามา เนื้อหาที่หนักหนาสาหัสมันย้อนแย้งอยู่เหมือนกันนะ?

อู๋ : สำหรับเรามันคือการทำเพลงเหมือนเดิมแหละ แต่แค่เปลี่ยนเครื่องดนตรี โบ๊ทเล่นเบสไฟฟ้าใช่ไหม เอาเบสโปร่งไป แต่เล่นเหมือนเดิมนะ ไม่ต้องมานั่งทดเลยว่าเรากำลังเล่นอะคูสติกกันอยู่ ริฟฟ์กีตาร์ก็โง่ๆ เหมือนเดิม วงอื่นเขาไม่เล่นกันแบบนี้แน่ๆ แต่เราก็ยังเล่น มันคือการเอากีตาร์ไฟฟ้าไปวาง แล้วเอากีตาร์โปร่งมาเล่น แค่นั้นเลย ไม่ได้มองว่าจะต้องสว่างขึ้น จะต้องเป็นอะคูสติก ทุกอย่างคือ The Yers เหมือนเดิม

 

ฟังเพลงอัลบั้ม Cry ของ The Yers ได้ที่นี่

เคยได้ยินมาว่า การเรียบเรียงดนตรีสำหรับการเล่นอะคูสติกมันยาก?

อู๋ : เพลงใหม่ไม่ยากครับ แต่เพลงเก่ายาก ผมเลยโยนหน้าที่นั้นให้เพื่อนอะเร้นจ์เพลงเก่าทั้งหมดที่เราจะมาทำใหม่ ส่วนเพลงใหม่เป็นหน้าที่ผม

โบ๊ท : อย่างผมจะยากหน่อย เพราะไม่เคยทำ เราก็ทำเท่าที่เราอยากได้ มันสนุกตรงที่แรกๆ เราจะหาเรเฟอร์เรนซ์ เอาแบบนี้ จะเล่นแบบนี้ แต่เราเล่นกีตาร์ไม่ได้ ไม่เก่งขนาดนั้น เอาเป็นว่าเล่นได้แค่ไหน พยายามใส่เข้าไปเท่าที่เราเล่นได้ แล้วประกอบกันให้พอดีที่สุด ให้กลมกล่อมที่สุด

ต่อ : สำหรับคนที่ไม่ได้แต่งเพลงทุกวัน ผมว่าโจทย์มันไม่ยากเท่าแต่งเพลงใหม่ มันง่ายกว่าในการเรียบเรียงเพลง แต่แค่อยากจะใส่อะไรลงไปเท่านั้นเองให้เสน่ห์มันเพิ่มมากขึ้น ไม่ให้มันเป็นแค่เพลงที่แคบ ออกมาดีดกีตาร์กันเฉยๆ พอทำอัลบั้มนี้แล้วรู้สึกว่า เราต้องเล่นกีตาร์โปร่งให้เก่งกว่านี้อีก เราไม่เคยเล่นกีตาร์โปร่งแบบ picking หรืออะไรที่กีตาร์โปร่งเขาทำกัน

ในอัลบั้ม Cry คุณเริ่มแทร็คแรกด้วยเพลง “Cry” และปิดท้ายด้วย “คลาย” พวกคุณพยายามจะสื่อถึงการคลี่คลายในอะไรบางอย่างหรือเปล่า?

อู๋ : ผมไม่ได้มองถึงขนาดนั้น จริงๆ ก็แค่อยากจะมีเพลงขึ้นต้นและเพลงจบท้าย “Cry” คือเสียงเปียโนประมาณ 1 นาที นั่งเล่นเองที่บ้าน ริฟฟ์นี้เพราะดีว่ะ ตอนที่เล่นรู้สึกว่ามันเป็นริฟฟ์ที่เรารู้สึกเสียใจ ทีนี้ก็มาคุยกันว่าอยากทำเพลงบรรเลงแบบจริงจังสักเพลงในแบบของ The Yers ซึ่งก็ออกมาโง่ตามที่เราต้องการ (หัวเราะ) คือเพลงบรรเลงปกติจะมีเมโลดี้สวยงาม มีท่อนหวือหวา พอเราลองมาแจมกันตามสูตรวงเรา ก็เลยได้เป็นเพลง “คลาย” มาปิดท้ายอัลบั้ม มันก็มี 2 แง่มุมแหละ Cry แรกคือน้ำตา สิ่งที่ทำให้เกิดอัลบั้มนี้ อีกคลายหนึ่งมันคือดนตรีของเรา อัลบั้มนี้เป็นดนตรีที่ผ่อนคลาย

บูม-ถิรรัฐ ภู่ม่วง

บูม-ถิรรัฐ ภู่ม่วง

 

น้ำตาและความเจ็บปวดคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเพลงของ The Yers ขึ้น มันจะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ?

อู๋ : แน่นอนครับ ผมพิสูจน์แล้วว่า ทุกครั้งที่ผมเขียนเพลงด้วยความเสียใจ มันไหลลื่นและมีความสุขมากๆ มันกลายเป็นความสุขของผมไปแล้ว ตอนที่ผมยังไม่ได้ทำ The Yers ยังอยู่วงกรุงเทพมาราธอน ผมอยากทำวงขึ้นมาวงหนึ่ง แล้วผมจะเขียนเพลงด้วยคอนเซ็ปต์ที่ว่า แรงบันดาลใจจากโลกในแง่ร้าย ผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายมาก เจอใครก็ไม่ชอบ เจอเรื่องนี้ก็ไม่ชอบ เกลียดคนนู้นคนนี้ เก็บทุกอย่างมาคิด ผมก็บอกกับที่บ้านว่า ผมจะเขียนเพลงด้วยแรงบันดาลใจจากโลกในแง่ร้ายของผมให้ได้ ที่บ้านก็บอก เฮ้ย ทำไมเป็นคนแบบนั้น มันจะดีเหรอ คนฟังเขาจะรู้สึกอย่างไร ช่วยมองโลกในแง่ดีหน่อยได้ไหม ชีวิตมันจะได้บวกขึ้น ผมก็ตอบกลับไปว่า เชื่อสิ ว่ามีคนฟังและมันเกิดขึ้นได้ ผมถ่ายทอดเรื่องนี้ได้ ที่บ้านก็ไม่เชื่อ

การมองโลกในแง่ร้ายมันบรรเทาลงไปบ้างไหม?

อู๋ : พอทำเพลงไปสักพักผมเริ่มรู้แล้ว ผมบาลานซ์เป็นแล้ว ผมมองโลกในแง่ดีมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผมเจออะไรมาก็ยังเก็บสะสมไอ้เจ้าความเกลียดนั้นอยู่ คำด่า สิ่งที่ทำให้เราเสียใจ เราเจ็บปวด ทีนี้ผมก็เลยแบ่งออกเป็น 2 ท่อได้แล้ว ท่อหนึ่งเป็นการมองโลกในแง่ดี ผมเอามาใช้กับชีวิตตัวเอง  เพื่อให้ตัวเองอยู่บนโลกใบนี้ได้โดยที่ไม่ต้องเจอกับอะไรที่มันร้ายๆ ส่วนอีกท่อเป็นท่อแห่งความโหดร้าย (หัวเราะ) ท่อแห่งความโสมม ผมเก็บไว้เป็นสต็อกของผมในการทำงาน เวลาผมจะเริ่มทำอะไรสักอย่าง เปิดฝาถังนี้ ตักขึ้นมา แล้วก็ค่อยๆ เติมสร้างเป็นงาน แล้วมันมีความสุขทุกครั้งเลยที่กลับไปตัก เวลาเปิดฝาดูแล้ว เฮ้ย เรามีอะไรอยู่ในนี้บ้างวะ อ๋อ มีหัวไอ้คนนี้อยู่ (หัวเราะ) หัวของคนๆ นี้ที่มันเคยทำเรา เราฆ่ามันทิ้งแล้วเก็บไว้ในถังๆ นี้ พอเราจะเขียนเพลงนี้ เราดึงหัวมันขึ้นมาตั้งไว้บนโต๊ะเลย เวลาเขียนก็มองหน้ามัน มีความสุขมาก พอเขียนเพลงเสร็จปุ๊บ เราก็เอาหัวมันไปทิ้งหน้าบ้าน รถขยะก็เก็บเอาไป แล้วเราก็กลับไปใช้ชีวิตปกติของเรา

โบ๊ท-นิธิศ วารายานนท์

โบ๊ท-นิธิศ วารายานนท์

 

แสดงว่าอาการในเพลง “เสพติดความเจ็บปวด” เริ่มจะบรรเทาลงแล้วหรือเปล่า?

อู๋ : ไม่รู้สิ แต่ถ้าผมเขียนเพลงเสร็จแล้วผมก็ทิ้งไอ้คนนั้นไปเลย ไม่เอาคนๆ นี้มาเขียนอีกแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ออกไปตามล่าฆ่าคน แล้วก็เอาหัวกลับมาเก็บไว้ที่บ้านอีก (หัวเราะ) เราฆ่ามันด้วยใจของเรา อย่างเพลง “เกลียด” โอ้โห คือเราได้บันทึกว่า เราได้ฆ่าคนๆ หนึ่ง แล้วกระจายเรื่องนี้ไปให้คนทุกคนฟัง แล้วเรามีพรรคพวกที่ฟังเรา 17 ล้านครั้ง สะใจมากเลย มันเป็นการบำบัดของผมไปแล้ว ทุกวันนี้ก็พูดกับเพื่อนกับทุกคนตลอด ทำไงดีวะ อยากโดนด่าอีกว่ะ (หัวเราะ) อยากโดนทำให้ผิดหวังอย่างนี้อีก โคตรมีความสุขเลย โคตรเป็นแรงบันดาลใจชั้นดี แล้วทุกครั้งที่ได้ทำงานเพื่อตอบสนองตัวเองอย่างนี้ มันกลายเป็นรู้สึกว่างานเรามีคุณค่ามากขึ้นด้วย

แล้วสมาชิกคนอื่นมีมุมมองอย่างไรกับมวลความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในเพลงของ The Yers?

ต่อ : ตั้งแต่ที่อยู่ในวงมาในเพลง “คืนที่ปวดร้าว” ผมได้รับความดาร์กในตัวอู๋มาตลอด ดนตรีขึ้นมาคือทำไมมันอึนขนาดนี้ แต่มันเข้าใจได้นะว่า คนๆ นี้คิดอะไร แต่งเพลงแบบไหน แล้วมันก็เป็นแบบนั้นมาตลอด ผมไม่ได้เป็นคนคิดแง่ลบแบบเขา แต่เราเข้าใจว่าเขาจะสื่อสารอะไรออกมามากกว่า

โบ๊ท : ผมว่ามันเป็นเรื่องของการพูดเรื่องอะไร แล้วใครพูดด้วย ถ้าอู๋พูดเรื่องนี้ ดีกว่าอู่ไปพูดเรื่อง เฮ้ย วันนี้ฉันขับรถออกไปแล้วมีความสุข เจอหมาสีขาวตัวหนึ่ง มันไม่เหมาะเท่าอู๋พูดเรื่องนี้ พลังมันคนละเรื่องกัน มันถูกแล้วในการที่เขานำเสนอเรื่องนี้

บูม : แล้วมันก็ส่งผลต่อการแสดงสดบนเวทีด้วย จากเนื้อหา จากตัวเพลง วงเรามันดูเข้มขึ้นจากที่ปกติอาจจะไม่เข้มขนาดนี้ (หัวเราะ) คือด้วยอารมณ์ของเพลงเราคงแฮปปี้มากไม่ได้ แต่มันก็เป็นการระเบิดอีกมุมหนึ่งของเราออกมาด้วย

แสดงว่าเราอาจจะไม่ได้ฟังเพลงสมหวังจาก The Yers?

อู๋ : จริงๆ ซิงเกิลที่เราเพิ่งปล่อยอย่าง “เสียง” เป็นเพลงสมหวังมากที่สุดของ The Yers คือมันปิดท้ายดีแหละ แฮปปี้เอนดิ้ง แต่ต้นเรื่องของเพลงนี้เป็นเรื่องแย่มากๆ สำหรับผม คือถ้าเป็นงานโฆษณา เอาเงินมาวางให้ผม ผมทำได้ แต่ถามว่าทำได้ดีไหม ก็ทำได้จนกว่าลูกค้าจะชอบ แต่ถามว่าเราชอบไหม ไม่ได้หลงใหลขนาดนั้น ถ้าทำเพื่อเงิน เพื่อปากท้อง ทำได้ แต่ถ้าทำเพื่อตัวเอง และทำเพื่อแสดงงานศิลปะ จัดนิทรรศการสักครั้งหนึ่งจะทำไหม ผมไม่ทำ เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านความแฮปปี้

แล้วในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความเจ็บปวด ถ้าคนเราไม่รู้สึกเจ็บปวดอีกต่อไป จะเกิดอะไรขึ้น?

อู๋ : ผมว่ามันจะไม่เกิดงานศิลปะแน่นอน แล้วคนก็จะตายด้าน เพราะไม่ได้รับการจรรโลงใจจากงานศิลปะ เพราะงานศิลปะแทบจะทุกแขนงมันมาจากความเจ็บปวด แม้กระทั่งงานที่แฮปปี้เอนดิ้งก็ตาม เพราะถ้าคุณไม่เคยเจ็บมาก่อน คุณจะไม่รู้ว่าความสุขเป็นอย่างไร มันจะเป็นโลกที่ไร้ซึ่งความสวยงามแน่นอน

บูม : แม้กระทั่งความสุข คุณก็อาจจะไม่รู้สึกถึงความสุขอีกแล้วก็ได้

ไดอารี่เล่มอะคูสติกของ The Yers ได้จบลงแล้ว แล้วไดอารี่เล่มต่อไปล่ะ?

อู๋ : หลังจากนี้เราจะจำศีลกันครับ นั่นแปลว่า เราจะยังไม่มีงานใหม่อะไรจาก The Yers ออกมาหลังจากอัลบั้ม Cry เราคุยกับค่ายเรียบร้อยแล้วว่ารอบนี้ขอจริงจัง ได้โปรดอย่ารอเพลงใหม่จาก The Yers สักพักหนึ่ง ผมอยากปิดประตูไว้สักพัก ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ออกไปทัวร์หรือไม่ออกไปเล่นดนตรีนะครับ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ยังเจอกันในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เวทีคอนเสิร์ตได้ ส่วนไดอารีเล่มต่อไปจะเป็นอย่างไรเดี๋ยวคงต้องรอดูว่า ใครจะเข้ามาในชีวิต หรือผมจะไปฆ่าปาดคอใครมาได้บ้าง ถ้าคิดถึงผม ก็ยังมี Klear, De Flamingo, ฟักแฟง No More Tear ที่ผมทำงานกับพวกเขา

โบ๊ท : ก็ไม่มีอะไรครับ ถ้าคิดถึงก็โทรมา

ทุกคน : (หัวเราะ)

The Yers

มีคำแนะนำสำหรับคนที่กำลังใช้ชีวิตอยู่กับความเจ็บปวด ณ ขณะนี้ หรือแม้แต่จมอยู่กับอดีตอันปวดร้าวบ้างไหม?

ต่อ : จริงๆ มันจะมีช่วงเวลาที่เราข้ามมันไปได้เองครับ ถ้าเราอยู่ในช่วงนี้ ใครมาพูดให้ตายอย่างไรเราก็ออกมาไม่ได้หรอก มันจะมีช่วงเวลาที่เรากลับมาได้เอง

โบ๊ท : มันก็เหมือนการจมน้ำ จมจนเหนื่อย พอเหนื่อยมันก็ต้องมีขึ้นมาหายใจบ้าง มันจะมาเอง ทำอะไรไม่ได้ก็รอครับ รอให้พายุความเจ็บปวดมันผ่านไป

บูม : ผมว่าคนเรามันเจ็บได้ แต่เจ็บได้ไม่นานหรอก สุดท้ายเราทนมันได้ แล้วก็จะหลุดจากความเจ็บปวดนั้นไปเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปบังคับอะไรเลย

อู๋ : เจ็บน่ะดีออก จะได้รู้ว่าเวลาเรามีความสุข เราจะมีความสุขมากๆ เลยนะ คือบนโลกนี้มันมีทั้งดีและร้าย เรื่องง่ายๆ ของหลักพุทธศาสนา มีร้าย มีดี จบ พอมันเลวมากๆ เดี๋ยววันหนึ่งมันก็จะดีมากๆ เอง ผมเชื่ออย่างนั้น หรือไม่ถ้าจะเอาให้สะใจที่สุด เราต้องทำให้คนรับรู้ให้ได้อย่างแนบเนียน วิธีการของผมคือเนื้อเพลงนี่แหละ ผมไม่เคยสะใจในการทำงานเพลงเท่ากับอัลบั้ม Cry มาก่อนเลย

ต่อ : ในสต็อกของอู๋ ในกล่องใบนั้นอาจมีหัวของพวกเราอยู่ก็ได้นะ

อู๋ : (หัวเราะ) ใช้ไปแล้ว

 

Story by: Chanon B.
Photos by: Thanapol W. / genie records

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ “The Yers” บทสนทนาแห่งความร้าวรานและน้ำตา สู่บทเพลงอันแสนเจ็บปวดเสมอมาและตลอดไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook