“แจนจัง” การวาดฝันที่ทั้งกล้าทั้งกลัว ในวันที่ไร้นามสกุล “BNK48”
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2018 ข่าวการจบการศึกษาของ แจน-เจตสุภา เครือแตง จากวง BNK48 กลายเป็นข่าวที่สร้างความสนใจอย่างมากให้กับหลายๆ คน เพราะเธอถือเป็นสมาชิกที่ได้รับความนิยมสูงและในขณะเดียวกัน เหตุผลในการจบการศึกษาของเธอก็คือการที่เธอได้รับโอกาสในการทำเพลงและเป็นนางแบบที่ญี่ปุ่น ซึ่งทำให้หลายคนมีคำถามว่าก้าวต่อไปของเธอหลังจบการศึกษาจะเป็นอย่างไร >> "แจน BNK48" ประกาศจบการศึกษาจากวง หลังได้รับโอกาสในการทำงานที่ญี่ปุ่น
หลังจากที่เวลาผ่านไปเกือบปี ในตอนนี้แจนก็กลายเป็นศิลปินที่มีผลงานออกมาหลายชิ้น ทั้งซิงเกิลเพลงสากล “You Make Me (My Dreams)”, “Lanla (La La La)”, “Hundreds & Thousands” และ “Piece of Home” รวมถึงซิงเกิลภาษาไทย “วาดฝัน” ที่เธอทำออกมาในฐานะเพลงธีมงาน Nippon Haku Bangkok 2018 โดยนอกจากงานเพลง เธอก็มีผลงานการถ่ายโฟโต้บุ๊ค Summer Diary Jan Chan 1st Photobook ที่บันทึกเรื่องราว ตลอด 7 วัน ขณะแจนเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากแจนได้รับเลือกให้เป็น ทูตท่องเที่ยวของจังหวัดฮอกไกโด (Hokkaido Smile Ambassador) จนทำให้เธอต้องเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นทุกเดือน
ล่าสุดทาง Sanook! Music เองก็มีโอกาสได้พูดคุยกับ แจน ถึงการทำผลงานเพลงสากล รวมถึงประสบการณ์ตอนทำงานที่ญี่ปุ่น และการวางแผนทำงานในอนาคต ไปจนถึงคำถามเรื่องกฎการถ่ายรูปที่เปลี่ยนไป หลังจบการศึกษาจาก BNK48
ก่อนที่จะพูดถึงผลงานเพลง อยากให้แจนเล่าถึงความรู้สึกวินาทีแรกที่กลายเป็นศิลปินเดี่ยว?
หลังจากที่จบการศึกษา แจนมีความรู้สึกอยากจะทำผลงานออกมา แต่ก็กังวลว่าความสามารถจะถึงไหม ใจหนึ่งก็กลัว ใจหนึ่งก็กล้า คืออยากเริ่มแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรให้ไปได้ไกล แต่ตอนนั้นโชคดีที่มีทีมงานสนับสนุนจนได้เริ่มทำผลงานออกมา
ทำไมแจนถึงตัดสินใจทำผลงานเพลงสากลออกมาก่อนผลงานเพลงไทย?
ตอนเริ่มทำงานก็ได้ทีมงานจากญี่ปุ่นมาร่วมทำเพลง พอเริ่มทำงานก็ตัดสินใจทำเพลงภาษาอังกฤษออกมา เพราะทีมงานสามารถซัพพอร์ทเราในการทำเพลงญี่ปุ่นและสากลได้ ก็มีหลายคนถามถึงผลงานเพลงไทย ซึ่งจริงๆ เพลงไทยก็อยากทำ แต่ตอนแรกยังไม่พร้อมที่จะทำเพราะทีมงานไม่ใช่คนไทยเลย คือจุดเริ่มต้นของแจนมันต่างจากคนอื่น
ในการทำเพลงสากลของแจน คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุด?
สิ่งแรกที่ต้องฝึกหนักมากก็คือการออกเสียงภาษาอังกฤษ ต้องฝึกสำเนียงทั้งๆ ที่เราแทบไม่มีความรู้เรื่องภาษา และด้วยความที่เราไม่มีเวลามากนักก็ต้องฝึกในชีวิตประจำวันเอา อย่างเช่นตอนพูดคุยกับโปรดิวเซอร์คุณ Holly Terrens ที่เป็นคนออสเตรเลีย ด้วยการวิดีโอคอลคุยกันว่าการออกเสียงคำนั้นคำนี้เป็นอย่างไร มันจะต่างจากการฝึกร้องเพลงมาก ที่ให้ความสำคัญในจุดนี้ก็เพราะตอนทำเพลงเป็นกลุ่มเราจะร้องเพลงในพาร์ทตัวเอง แต่พอเป็นศิลปินเดี่ยวมันจะร้องทั้งเพลงและต้องสื่ออารมณ์มากขึ้น ทุกอย่างเลยต้องตั้งใจกว่าเดิมมาก
เวลาทำผลงาน 1 เพลง แจนมีส่วนร่วมกับการทำเพลงอย่างไรบ้าง?
การทำงานแจนก็จะเลือกว่าอยากถ่ายทอดเรื่องราวอะไร แล้วก็จะมีทีมงานมาช่วยออกไอเดีย แล้วพี่ๆ เขาก็จะมาดูว่าจะทำออกมาอย่างไรให้เป็นรูปเป็นร่าง การทำงานของแจนกับทีมก็จะมีการประชุมกันบ่อยมาก เราก็มีความกังวลเวลาผลงานออกไปถึงคนดู ก็จะตามดูตลอด อย่างซิงเกิลแรก “You Make Me (My Dreams)” เราต้องการขอบคุณแฟนคลับ เพราะแจนโชคดีที่มีแฟนคลับคอยสนับสนุน หลังจากซิงเกิลนั้น ก็ค่อยๆ ทำเพลงอื่นๆ ให้มีเนื้อหาแตกต่างกันออกไป
แจนมีความกังวลเรื่องกระแสตอบรับผลงานเพลงไหม?
เเจนรู้ว่าตอนนี้หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่แจนทำอย่างเช่นการทำเพลงสากล คืออยากบอกว่าถึงแม้ตัวเราจะสามารถใช้โปรดิวเซอร์คนไทยได้ แต่อยากจะนำเสนอผลงานเพลงสากลไปก่อน เพราะตอนนี้ก็มีความสุขมากในการทำงานกับโปรดิวเซอร์ต่างชาติ ถึงแม้ว่าผลงานอาจจะไม่เข้าถึงคนหมู่มาก แต่ก็อยากทำไปเรื่อยๆ ก่อนค่ะ
คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ “แจนจัง” ไม่เหมือนศิลปินคนอื่น?
น่าจะเป็นการทำงานระหว่างทีมงาน 2 ประเทศทั้งจากไทย และ ญี่ปุ่น ที่ผสมผสานความแตกต่าง และก็เพลงอิเล็กทรอนิกส์ที่แตกต่างจากศิลปินกระแสหลัก และเราก็ทำงานกับศิลปินญี่ปุ่นที่ถนัดในด้านนี้จนกลายเป็นผลงานที่หลายคนได้ฟังกันค่ะ
การทำงานที่ญี่ปุ่นแตกต่างจากที่ไทยในจุดไหนบ้าง?
เวลาที่อยู่ที่นั่น แจนต้องให้ความสำคัญกับเวลามาก เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว เรามีทีมงานหลายคน และทีมงานจะมีการวางแผนทำอะไรก็เร็วมาก บางทีถ่ายงานอยู่เขาก็พูดขึ้นมาว่างานเสร็จแล้ว จนเราอุทานในใจขึ้นมาว่า "เสร็จแล้วเหรอ" (หัวเราะ) ซึ่งพอแจนไปทำงานสักพักก็ใช้เวลาไม่นานในการปรับตัวค่ะ
หลายๆ คนมักจะบอกว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เหมาะจะไปเที่ยว แต่ไม่เหมาะสำหรับอยู่นานๆ แจนคิดอย่างไรกับคำพูดนี้?
ก่อนที่แจนจะเดินทางไปก็มีคนที่บอกอย่างนี้เยอะมาก แต่แจนเองก็ยังไม่เคยเจอความรู้สึกแบบนั้น ซึ่งแจนก็คิดว่าความรู้สึกแบบนั้นอาจจะเกิดกับคนที่ทำงานในสภาพที่เครียด ต่างจากแจนที่ค่อนข้างมีอิสระในการทำงานสูง ถึงแม้จะต้องเตรียมตัวทำการบ้านมา อีกอย่างคนที่แจนทำงานด้วยก็เป็นคนที่ค่อนข้างเปิดกว้างทางความคิด คือตอนแรกเราเองก็แอบกลัวโปรดิวเซอร์เหมือนกัน แต่สักพักเราก็ค้นพบว่าทุกคนเป็นมิตรมาก อาจจะเป็นเพราะว่าการทำงานของแจนเป็นสายศิลปะ คนที่ทำงานด้วยเลยเป็นคนที่เปิดรับอะไรใหม่ๆ
ปัจจุบันนี้แจนได้จบการศึกษาจากวง BNK48 อยากรู้ว่าตอนนี้แจนสามารถถ่ายรูปกับแฟนคลับได้ตามปกติหรือยัง?
จริงๆ ช่วงแรกที่แจนจบการศึกษาออกมายังไม่รู้จะวางตัวอย่างไร เพราะตอนเป็นศิลปินก็ต้องเข้าถึงผู้คนง่ายๆ คือสามารถถ่ายรูปได้และพูดคุยได้กับทุกคน แต่แจนเองตัดสินใจค่อยๆ เปลี่ยนทีละขั้น เพราะนอกจากตัวเองแล้วแฟนคลับบางคนก็อาจจะตกใจ เพราะเขาตามเราในฐานะไอดอลมาตลอด เลยอยากเปลี่ยนทีละขั้นๆ ไม่งั้นมันจะเหมือนเจอสภาวะปลาน็อคน้ำ เวลาเปลี่ยนน้ำบ่อปลา ดังนั้นช่วงแรกแจนก็ไม่ถ่ายรูปกับแฟนคลับ ต่อมาก็อนุญาตเป็นกรุ๊ปช็อต และตอนนี้ก็อนุญาตให้ถ่ายกับแฟนคลับ 2 คน โดยมีแจนยืนอยู่ตรงกลางได้แล้ว ก็หวังว่าวันหนึ่งคนจะเข้าใจและเราเองก็อาจจะถ่ายรูปกับคนอื่นได้เหมือนศิลปินคนอื่น
ตอนนี้ผลงานแจนก็ออกมา 3 ซิงเกิลแล้ว แล้วเมื่อไหร่แฟนๆ จะได้ฟังอัลบั้มเต็มชุดแรกของ “แจนจัง” ?
ณ ตอนนี้ยังไม่มีเเพลนเรื่องอัลบั้มเลยค่ะ เพราะคิดทำเพลงออกมาอย่างเดียว ถ้าวันหนึ่งบริษัทมีความมั่นคงมากพอ และมีเพลงที่ทำออกมาเยอะ อาจจะเริ่มคิดในจุดนี้ แต่ตอนนี้แจนเพิ่งออกมาทำเพลงได้แค่ไม่กี่เดือน แต่ถ้าพร้อมก็อาจจะมีซีดี มีผลงานที่จับต้องได้ให้แฟนๆ ได้ฟังค่ะ
สุดท้ายนี้แจนวาดฝันเกี่ยวกับการเป็นศิลปินเดี่ยวไว้อย่างไร ?
ในมุมของแจน แจนอยากให้ตัวเองมีความสามารถในการร้องเพลงจริงๆ เพราะตอนนี้ก็รู้สึกว่าเราแค่ร้องเพลงได้ แต่ตอนนี้กำลังพัฒนาเรื่องการร้องให้เราเป็นคนที่สามารถร้องเพลงเป็นจริงๆ ส่วนในมุมของอาชีพศิลปินก็อยากมีแฟนคลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแจนเองก็จะได้ผลงานใหม่ๆ ออกมาให้ทุกคนได้ติดตามกันค่ะ
ขอบคุณภาพจาก Facebook JAN CHAN
Story : Sidhipong W.