5 โมเมนต์ที่อยากจะบอกคนที่พลาด “Mangosteen Music Festival: Detour” ว่า... เสียใจด้วยนะ!
หลังจากเปิดตัวในฐานะผู้จัดน้องใหม่ไปถึง 2 งานเมื่อปีที่แล้ว กับการนำศิลปินที่พกพาความน่าสนใจมาเต็มกระเป๋าทั้ง Honne และ Wolf Alice สู่เมืองไทย เปิดศักราชใหม่ในปีนี้ ทีมงาน Mangosteen Music Festival ก็ขอจัดหนัก พาวงดนตรีระดับโลกอย่าง Kodaline ที่คอดนตรีชาวไทยจำนวนไม่น้อย รอคอยที่จะได้ดูการแสดงสดของพวกเขาสักที
เสริมความหนักแน่นของคำว่า “มิวสิคเฟสติวัล” ด้วยไลน์อัพอันน่าตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็น Fickle Friends, Sunset Rollercoaster รวมถึงตัวแทนประเทศไทย Phum Viphurit (ภูมิ วิภูริศ) และ Polycat เพียงเท่านี้ก็มีเหตุผลเพียงพอแล้วที่เราจะกาปฏิทินไว้ตั้งแต่แรกเห็นชื่องาน “Mangosteen Music Festival: Detour”
22 กุมภาฯ ไบเทค บางนา ฮอลล์ 106 คลาคล่ำไปด้วยคอดนตรีหลากหลายรุ่นกันตั้งแต่ดวงอาทิตย์ยังไม่ลาลับ เพราะวงเปิดหัวประเดิมความสนุกกันตั้งแต่ 17.30 น. ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่าจะไปจบที่เวลาเท่าไหร่ รู้อย่างเดียวว่าราตรีนี้ยังอีกยาวไกล และวาดหวังไว้ว่าค่ำคืนนี้จะอบอวลไปด้วยความสุข
และนี่คือ 5 ความประทับใจจากทั้ง 5 ศิลปินแห่ง Mangosteen Music Festival: Detour ที่ทีมงาน Sanook! Music ขอกลั่นกรองออกมาเป็นตัวอักษร
01 Polycat
เข้ามาไม่ทันโชว์ช่วงแรก รีบเดินฝ่าความมืดในฮอลล์ (ที่แทบจะมองไม่เห็นทางเดิน) เพื่อมาซึมซับสุ้มเสียงสไตล์ 80s ของ Polycat อีกครั้ง แม้จะมีโอกาสชมการแสดงสดของพวกเขาหลายครั้งหลายครามาก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังตื่นเต้นทุกครั้งกับเพอร์ฟอร์แมนซ์และการถ่ายทอดอารมณ์ของ นะ-รัตน จันทร์ประสิทธิ์ นักร้องนำของวง ในขณะที่พาร์ตดนตรี โต้ง-พลากร กันจินะ (คีย์บอร์ด, ซินธ์) และ เพียว วาตานาเบะ (เบส) พร้อมทั้งสมาชิกแบ็คอัพและคอรัสอีก 4 ชีวิตได้สร้างมิติใหม่ที่แตกต่างไปจากเวอร์ชั่นที่เราฟังในซีดีหรือสตรีมมิ่งได้เช่นเคย “เพื่อนพระเอก”, “ดูดี”, “อาวรณ์” และ “พบกันใหม่?” ยังคงสร้างความสุขทางโสตประสาทได้ไม่ต่างจากครั้งไหนๆ ซึ่งเมื่อโชว์ของ Polycat จบลง สิ่งหนึ่งที่แวบขึ้นมาในหัวทันทีก็คือ... ซาวด์ดีชะมัด!
Polycat
02 Phum Viphurit
แวบออกไปดูลาดเลาโซนอาหารเพียงครู่เดียว เพราะคิวต่อไปคืออีกหนึ่งศิลปินไทยที่เราคิดถึง Phum Viphurit (ภูมิ วิภูริศ) ที่บอกว่าคิดถึงไม่ใช่อะไรหรอก ก็หนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ คนนี้ทัวร์รอบโลกหลากหลายทวีปยาวตลอดปีที่แล้วน่ะสิ น่าสนใจเหลือเกินว่าการได้มาดูหนุ่มภูมิเล่นสดอีกครั้งในวันที่เขาไปสั่งสมประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้มานานนับปี ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร ผลปรากฏว่าหลายเพลงจากอัลบั้ม Manchild อันคุ้นหูกลับแตกต่างไปจากเดิม ทั้งในส่วนของการเรียบเรียง และการเปลี่ยนแปลงดนตรี อาทิ “Trial & Error” ที่มีจังหวะจะโคนมากขึ้น หรือ “Adore” ที่ยังคงจังหวะเดิม แต่เพิ่มเติมรายละเอียดใหม่ๆ ลงไป ยังไม่นับรวมโชว์บีตบ็อกซ์สุดเดือดจากมือเบส วงแบ็คอัพของภูมิที่แข็งแกร่งเหลือเกิน แน่นอนว่าเขาไม่ลืมที่จะหยิบเพลงที่ไปสร้างชื่อ ณ เมืองนอกเมืองนาอย่าง “Lover Boy” มาเล่น พูดถึงพัฒนาการของเด็กหนุ่มคนนี้มาก็เยอะ แต่สิ่งที่มองไม่เห็นความแปรเปลี่ยนเลยก็คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และรอยยิ้มแบบ ภูมิ วิภูริศ ที่ไม่ต่างจากเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วเลยสักนิด
Phum Viphurit
03 Sunset Rollercoaster
ถึงเวลาต้องป้อนข้าวป้อนน้ำให้กระเพาะอาหารแล้วล่ะ เพราะเหลืออีกตั้ง 3 วง แม้ว่าบูธอาหารและเครื่องดื่มจะมีไม่น้อย แต่ดูเหมือนว่าจะไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ชมที่หลั่งไหลมาเรื่อยๆ สักเท่าไหร่ บางร้านคิวยาวเหยียดจนทำให้เราเลือกเติมพลังแบบด่วนๆ เพราะตั้งปณิธานว่าจะต้องดู Sunset Rollercoaster วงดนตรีส่งตรงจากไต้หวันวงนี้ให้ได้
เข้าไปทันช่วงท้ายๆ ของเพลงแรก หลังจากนั้นก็เหมือนต้องมนตราอะไรบางอย่าง ไม่รู้จะสรรหาคำใดมาอธิบายแนวทางของ Sunset Rollercoaster ดี อาจจะเรียกว่าเป็นวงอินดี้ป็อปที่มีไลน์กีตาร์บริตๆ ดิบๆ หน่อย เมโลดี้ฟังง่ายและไพเราะเอาเรื่อง แต่บทจะเดือดก็มีฟีลโพสต์ร็อคเข้ามาผสม สอดแทรกสัดส่วนดนตรีที่ไม่ธรรมดา แถมแซ็กโซโฟนและเพอร์คัสชั่นยังสร้างเสน่ห์ให้กับตัวเพลงได้เยี่ยมทีเดียว อาจจะคุ้นหูแค่เพลงปิดท้ายอย่าง “My Jinji” แต่โดยรวมแล้วถือเป็นอีกหนึ่งวงที่กลับมาตามต่อแบบไม่ต้องลังเล
Sunset Rollercoaster
04 Fickle Friends
โดยส่วนตัวผู้เขียน ระดับความอยากดู Fickle Friends แทบจะเทียบเท่าเฮดไลเนอร์อย่าง Kodaline เลยทีเดียว แม้จะเพิ่งมีอายุในวงการมาเพียง 5-6 ปี ทว่าซินธ์ป็อปจากเมืองไบรท์ตัน ประเทศอังกฤษ วงนี้ค่อยๆ เติบโตและเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เราหลงเสน่ห์จังหวะจะโคนที่พาเราโยกหัวโยกตัวตามแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว สรรพเสียงจากซินธิไซเซอร์ที่ทำให้สองเท้าอยากขยับเขยื้อนเต้นรำ เอเนอร์จี้เพียบพร้อมสุดๆ สำหรับ 1 สาวและ 4 หนุ่ม โดยเฉพาะเพลงดังของพวกเขาอย่าง “Glue” และ “Swim” นี่ เอาใจไปเลย... แดนซ์ยับ!
Fickle Friends
05 Kodaline
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระยะเวลาเพียง 6 ปีนับจากอัลบั้ม In a Perfect World ในปี 2013 จนกระทั่งวันนี้ 4 หนุ่ม Kodaline กลายเป็นวงระดับโลกเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าคอดนตรีชาวไทยต่างตื่นเต้นกับการเดินทางมาแสดงสดครั้งแรกครั้งนี้ของวงดนตรีสัญชาติไอริชกันแบบสุดๆ
อาจจะต้องเกริ่นสักเล็กน้อยว่า ผู้เขียนเคยชมการแสดงสดของ Kodaline ท่ามกลางเม็ดฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเมื่อครั้งพวกเขาไปเยือน Good Vibes Festival ที่มาเลเซีย มาแล้ว และก็ต้องยอมรับตามตรงว่า “ประทับใจสุดฤทธิ์สุดเดช” แบบไม่รู้ลืม การมาเยือน Mangosteen Music Festival: Detour จึงมาพร้อมความคาดหวังที่มีอยู่ไม่น้อย
และการได้ฟังเพลงหม่นๆ ร้าวๆ หรือสว่างสดใสในคราวเดียวในสไตล์ Kodaline ไม่ว่าจะเป็น “Brand New Day”, “Honest”, “Brother” ในช่วงแรกก็สร้างความฟินให้เหล่าสาวกที่รอคอยมานานแสนนาน ต่อเนื่องสู่พาร์ตหลังที่พีคยิ่งกว่าทั้ง “The One”, “I Wouldn’t Be”, “One Day” และ “Love Will Set You Free” โดยเฉพาะเพลงหลังที่โผล่มาแบบเซอร์ไพรส์ เนื่องจากที่มาเลเซียเราไม่ได้ฟังเพลงนี้แบบสดๆ ปิดท้ายด้วยอังกอร์ที่ร้องตามกันคอแทบแตก ก็ Kodaline จัด “All I Want” และ “High Hopes” ให้นี่นา
Kodaline ยังคงมาตรฐานของพวกเขาเอาไว้ได้ดี ดนตรีไม่ได้หวือหวา ไม่ได้มันสุดขั้ว แต่เอาคนดูได้อย่างอยู่หมัดตลอดโชว์ จากท่วงทำนองบาดๆ เสียงร้องเหงาๆ ของฟรอนต์แมนอย่าง Steve Garrigan ที่ไม่ว่าฟังครั้งไหนก็เจ็บจี๊ดได้ทุกที แม้มวลรวมของบรรยากาศโดยรอบจะสู้งานเอาต์ดอร์ที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราไม่ได้ ซาวด์ไม่ได้ดี แต่ก็ไม่แย่ แต่ท้ายที่สุด เราก็ไม่เสียดายเวลาเลยที่ได้ยืนดู Kodaline เล่นดนตรีสดๆ ให้ฟังอีกครั้ง
Kodaline
นอกจากโมเมนต์แห่งความสุขทางเสียงเพลงที่ Mangosteen Music Festival: Detour มอบให้กว่า 6 ชั่วโมงแล้ว ในอีกแง่มุม ก็นับเป็นอีกครั้งที่ทีมงาน Sanook! Music (และอีกหลายๆ เสียงจากคอดนตรีตัวจริงเสียงจริงภายในงาน) ต้องเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมอันย่ำแย่สำหรับการชมคอนเสิร์ตของคนบางกลุ่ม ตั้งแก๊งเม้าท์มอยพูดคุยกันเสียงดังกระหึ่ม บางกลุ่มถึงขนาดหันหลังให้เวทีเพื่อการสนทนาอันออกรส การนั่งบนพื้นเพื่อจับจองอาณาบริเวณของตนเองแม้ว่าโชว์ก่อนศิลปินไฮไลต์จะยังไม่จบ มหกรรมการยกสมาร์ตโฟนขึ้นมาถ่ายเกือบทั้งเพลง... และเกือบทั้งโชว์
เข้าใจว่าอยากเดินทางมามีความสุข อยากมาปาร์ตี้กับเพื่อน อยากมาสังสรรค์ แต่สำหรับวิถีแห่งการดูคอนเสิร์ต การทำให้ผู้อื่นที่ “อยาก” มาเสพดนตรีจริงๆ กลับต้องเดือดร้อนคงไม่ใช่เรื่อง แม้ว่าจะตั้งใจฟังเพลงและดูโชว์มากเพียงใด ทว่าก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเสียงคุยก็เล็ดลอดเข้าหูโดยอัตโนมัติอยู่ดี งานนี้ก็คงได้แต่หวังว่า กลุ่มคนเหล่านี้จะมีจิตสำนึกเกิดขึ้นในอนาคต และมีโอกาสได้ปรับปรุงแก้ไข ไม่เช่นนั้นการชมคอนเสิร์ตในเมืองไทยก็มีโอกาสจะสุขได้ไม่เต็มที่เช่นนี้เรื่อยไป
แต่ท้ายที่สุด 5 โมเมนต์ประทับใจที่เรากล่าวไปข้างต้น ก็ยังคงทำให้เราอยากจะบอกคนที่พลาด Mangosteen Music Festival: Detour ว่า “เสียใจด้วยนะ” อยู่ดี...
Story by: Chanon B.
Photos by: chatchanancc และ Tor CNN จาก Mangosteen Music Festival: Detour
อัลบั้มภาพ 86 ภาพ