เอ่ยคำร่ำลา “PLAY YARD by Studio Bar” กับบทสนทนาว่าด้วยดนตรีนอกกระแสในไทย | Sanook Music

เอ่ยคำร่ำลา “PLAY YARD by Studio Bar” กับบทสนทนาว่าด้วยดนตรีนอกกระแสในไทย

เอ่ยคำร่ำลา “PLAY YARD by Studio Bar” กับบทสนทนาว่าด้วยดนตรีนอกกระแสในไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ PLAY YARD by Studio Bar (เพลย์ยาร์ด บาย สตูดิโอ บาร์) ว่าคืออะไร... หลายคนอาจรู้แค่ว่าสถานที่แห่งนี้คือ... ร้านเหล้า แต่สำหรับเหล่าวงดนตรีนอกกระแสในเมืองไทย ต่างรู้จักมักคุ้นที่แห่งนี้เป็นอย่างดี

เพราะสำหรับพวกเขา PLAY YARD ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ แต่คือผู้คน... ผู้คนที่รักในเสียงดนตรี ผู้คนที่ชื่นชอบทางเลือกใหม่ๆ ที่ไร้ซึ่งกรอบมากั้น คือสนามเด็กเล่นที่เปิดโอกาสให้วงดนตรีหน้าใหม่ที่อาจแทบไม่มีใครรู้จักได้มาปลดปล่อยศักยภาพที่ตัวพวกเขามี คือร้านที่มีเมนูหมูกรอบที่ถ้าไม่สั่งถือว่ามาไม่ถึง ในตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา

28 กุมภาพันธ์ 2562 คือวันครบรอบ 7 ปี ของร้านแห่งนี้... คือวันสุดท้ายที่ PLAY YARD by Studio Bar ซึ่งพำนักพักพิงอยู่ที่ลาดพร้าวซอย 8 จะเปิดให้บริการ

Sanook! Music จึงขอร่วมส่งท้ายด้วยบทสนทนาย้อนรำลึกถึงการฝ่าฟันทุกอุปสรรคจนกระทั่งที่แห่งนี้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับศิลปินอินดี้ทั่วประเทศในการเดินทางมาแสดงสด รวมถึงมุมมองที่มีต่อวงการเพลงนอกกระแสในบ้านเราว่าเดินทางมาถึงจุดไหนกันแล้ว โดยตัวแทนของร้านขอแทนตนเองว่า “PLAY YARD” นั่นแหละ

ได้เวลาเปิดร้านในคืนสุดท้าย แล้วเอ่ยคำร่ำลากันแล้วล่ะ...

 

หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใด PLAY YARD by Studio Bar ต้องปิดตัวลง?

PLAY YARD : ง่ายๆ เลยคือมันมีเหตุอันควรครับ เป็นปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เป็นเรื่องสถานที่ที่เราไม่สามารถทำต่อได้มากกว่า ก็คือจะปิดร้านในวันที่ PLAY YARD by Studio Bar ครบ 7 ปีพอดี

7 ปีที่ผ่านมา ในมุมมองของคุณ PLAY YARD by Studio Bar คืออะไร?

PLAY YARD คือที่ที่ให้โอกาสสำหรับดนตรีนอกกระแส หรือ... ในกระแสในบางครั้งบางคราว เอาจริงๆ คือเพลงที่พวกเขาต้องการจะเล่น เพราะเท่าที่รู้บางที่เขาก็เล่นไม่ได้

ย้อนกลับไปในวันแรกที่มาพบเจอสถานที่แห่งนี้ มันเป็นอย่างไร?

ครั้งแรกเลยใช่ไหม พอเห็นปุ๊บรู้สึกว่าอยากทำไลฟ์เฮ้าส์ อันนี้คือความประสงค์แรกสุดตอนที่มาเห็นเลยนะ แต่ไอ้ความประสงค์แรกที่เราบอก ความเป็นจริงมันทำไม่ได้ในช่วงแรก มันก็จะต้องปรับโหมด ปรับพฤติกรรม องค์ประกอบหลายๆ อย่าง ฐานะทางการเงิน รวมถึงปรับการเรียนรู้ของเรากับที่นี่ไปพร้อมๆ กัน เราไม่เคยอยู่ในวงการธุรกิจมาก่อน ไม่ได้เป็นคนเล่นดนตรีเก่ง เป็นแค่คนฟังอยู่กับบ้านธรรมดาๆ ทำร้านไปเรื่อยๆ และเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา

แสดงว่า จากไลฟ์เฮ้าส์ที่ตั้งอกตั้งใจเอาไว้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยน?

เราเรียกมันว่าเป็นลูกผสม ระหว่างไลฟ์เฮ้าส์และร้านแฮงเอาต์ทั่วไป เพราะความคิดแรกสุดเราคิดแค่ว่า ดนตรีอะไรก็ได้ เราโอเคหมด แค่เป็นดนตรี แต่ก็ต้องมาผสมกับ house band (วงที่เล่นประจำร้าน) ที่ไม่ได้เล่นเพลงนอกกระแส สำหรับพนักงานออฟฟิศหรือคนทั่วไปที่ไม่ได้ฟังเพลงแปลกๆ ถ้าจะให้พูดตรงๆ คือเอามาหล่อเลี้ยงการเงินนั่นแหละ (หัวเราะ) สุดท้ายก็วนเป็นวงโคจรของธุรกิจ มันคือเรื่องเงิน เอาเงินที่ได้มาลงทุนอย่างอื่น เพราะถ้าเราไม่มีทางเลือกในแบบคนธรรมดา เราก็จะไม่มีเงินในการลงทุนเพิ่ม อย่างช่วงแรกเรามีโปรเจกต์ปล่อยของ พยายามหาวงหน้าใหม่มาเล่นก่อนวง house band ตอนนั้นอยากทำทุกสัปดาห์เลยนะ สุดท้ายมันก็เป็นไปไม่ได้

แต่เท่าที่สัมผัสได้ PLAY YARD by Studio Bar กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของดนตรีนอกกระแสในเมืองไทย?

เอาจริงๆ มันก็เป็นลูกผสมมาตลอด แต่ฝั่งดนตรีนอกกระแสมันค่อยๆ ขยับมวลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 3-4 เดือนมีอีเวนต์สักครั้ง ก็ขยับระยะสั้นลงเป็น 2 เดือนครั้ง เดือนละครั้ง เดือนละ 3-4 ครั้ง จน 2 เดือนสุดท้ายมีทุกวัน ก็พยายามจะใส่เข้าไปเรื่อยๆ ซึ่งเรามองว่า 2 เดือนสุดท้ายก่อนปิดร้าน PLAY YARD ถือเป็นไลฟ์เฮ้าส์เต็มตัว คือตอนแรกเรากลัวการเป็นไลฟ์เฮ้าส์เต็มตัวนะ กลัวว่าสังคมจะยังไม่ให้การสนับสนุนเต็มที่ เราไม่รู้ว่าจะไปไหวหรือเปล่า แต่พอถึงจุดที่รู้ว่าร้านมันจะต้องปิดแล้วนะ เฮ้ย งั้นขอสักครั้งก่อนละกันวะ เราก็ไม่รู้ว่าอนาคตมันจะเป็นอย่างไรต่อ ไม่รู้ว่าองค์ประกอบมันจะพร้อมอีกไหม งั้นเอาวะ ตอนนี้แหละ

ที่คุณกลัวเพราะการเป็นไลฟ์เฮ้าส์เต็มตัวนั้นค่อนข้างเสี่ยง โดยเฉพาะในเมืองไทย?

(หัวเราะ) มันเสี่ยงในเรื่องธุรกิจเลย คนไทยยังไม่ให้การสนับสนุนดนตรีอย่างสุดขั้วหรือมากกว่าฟังก์ชั่นอื่นๆ ในชีวิต นี่พูดโดยรวมเลยนะ เอาเข้าจริงค่าตั๋วคอนเสิร์ตวงดนตรีนอกกระแสมันแค่หนึ่งร้อย สองร้อย สามร้อย ถ้ามากกว่านี้เขาก็จะรู้สึกว่า โห ไม่ไหวนะ เขาสามารถเอาเงินส่วนนี้ไปทำอย่างอื่นได้ เอาไปกินเหล้าได้ กินบุฟเฟ่ต์ได้ ซื้อโทรศัพท์ได้ เขายอมจ่ายส่วนนั้นมากกว่าการแค่เสียเงินหลักร้อยมาดูดนตรี เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย เมืองไทยน้ำหนักมันยังไปทางอื่นมากกว่าทางนี้ ซึ่งคนที่ทำไลฟ์เฮ้าส์จริงๆ อาจจะต้องมีใจรักที่สูงมาก แล้วอาจต้องบาลานซ์ส่วนอื่นเป็นตัวช่วย เพราะมันไม่น่าอยู่ได้ การลงทุนทั้งค่าวง ค่าเดินทาง อุปกรณ์ ค่าเสื่อมของเครื่องเสียง ระบบไลท์ติ้ง (หัวเราะ) มันคำนวณเป็นเงินเท่าไหร่ล่ะ? ซึ่งทุกอย่างมันก็มาจากกระเป๋าของหุ้นส่วนทุกคน รวมถึงรายได้ที่เข้ามาแล้วเอามาหมุน

ต้องอาศัยลูกบ้าแค่ไหนในการสร้างสถานที่แบบนี้ขึ้นมาทั้งๆ ที่แวดวงดนตรีนอกกระแสในเมืองไทยก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร?

ไม่แน่ใจว่าความรู้สึกของเราตอนนั้นมันคืออย่างไร มันเริ่มจากการที่เราไป แฟต เฟสติวัล ครั้งที่ 2 ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว รู้สึกแบบ... โห จัดในห้างว่ะ แล้วความน่าตื่นตาตื่นใจคือ มันอยู่ในหลายๆ ที่ของห้างด้วย เจ๋งมาก ครั้งต่อมาก็ไปสวนสยาม ครั้งต่อมาที่สนามม้านางเลิ้ง ครั้งที่ 5 แดนเนรมิต หลังจากนั้นก็แถวๆ อิมแพ็ค อารีน่า ยาว สำหรับเรา เรารู้สึกว่า ดนตรีมันมีเสน่ห์ในแต่ละที่ น่าหลงใหลต่างกัน แล้วเราฟังดนตรีนอกกระแสมาตั้งแต่เรียนมหา’ลัย ฟัง Holly Berry ฟัง 11 R.D. แต่การไปร้านเหล้าในช่วงชีวิตวัยรุ่น เราก็จะได้ยินเพลงอีกประเภทหนึ่ง มันก็กลายเป็นคำถามว่า เพลงแบบที่เราฟังมันอยู่ที่ไหนวะ แต่เราก็ไม่ได้สรรหานะ เก็บไว้ในใจ แล้ววันหนึ่งมีคนมาชวนทำร้าน มันก็น่าสนใจ จับพลัดจับผลูมาเห็นที่นี่ เรารู้สึกตั้งแต่ครั้งแรกเลยนะว่าที่นี่คือไลฟ์เฮ้าส์ ทั้งๆ ที่มันก็เป็นแค่ร้านร้านหนึ่ง สงสัยเหมือนกันว่าทำไมมันมีความรู้สึกนั้นตรงเข้ามาที่เราเลย ไม่แน่ใจด้วยว่ามันเกิดจากอะไร แต่พอมีคนมาถามเรื่องนี้ก็เลยเริ่มย้อนคิดว่า หรือมันมาจากการ์ตูนที่เราอ่านวะ มันมาจาก Beck หรือ หรือว่ามาจากอย่างอื่น จากหลายๆ ความรู้สึกที่เราเคยสัมผัสมาหรือเปล่า ก็เอาวะ ลองดู ไม่สนใจอย่างอื่นเลยนะในช่วงนั้น (หัวเราะ) คือมองไม่เห็นอย่างอื่นแล้ว อยากทำ

ใช้คำว่าล้มลุกคลุกคลานได้ไหมสำหรับ 7 ปีที่ผ่านมา?

โห... คำพูดไม่สามารถอธิบายให้คนที่ไม่เคยเจอเรื่องราวแบบนี้ได้เลยว่ะ มันเป็นประสบการณ์มากกว่า เหมือนคนอกหัก ทำร้านนี้ก็หนักหน่วงมากๆ เราถูกเพื่อนสนิทโกง เราเคยถูกอาวุธรุนแรงจ่อที่ตัว สภาพจิตใจก็แย่ไปหลายรอบ (หัวเราะ) ล้มแบบที่ว่าต้องถามตัวเองว่า กูต้องมาเจออะไรขนาดนี้เลยหรือวะ แล้วก็ตอบกับตัวเองว่า เออ ชีวิตคนเรามันจะต้องเจอแบบนี้แหละ มันถึงจะผ่านไปได้ แล้วถ้าเราชนะมันได้ เราก็จะแข็งแกร่งกับมัน PLAY YARD มันถูกขี่ไว้ด้วยความต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย ฝั่งแมสถ้ามาเจออินดี้เข้าไปก็จะแบบ เพลงอะไรฟังไม่รู้เรื่อง แต่พอมาเจอวันที่เพลงแมสก็รู้สึกไม่คูลเลย ไม่เท่พอ ไม่ชัดเจนในตัวเอง แต่สุดท้ายทุกคนมันมีความคิดเป็นของตนเอง เราไปว่าเขาไม่ได้ แต่รู้สึกว่ามันเป็นโจทย์ที่ต้องทำ กว่าคนจะเปิดใจ มันต้องใช้เวลา ก็ทำต่อไป

แล้วอะไรที่คิดว่าทำให้ PLAY YARD อยู่ได้มาถึง 7 ปี?

เราว่าเราโชคดีที่มีคนช่วยในหลายๆ ส่วน ถ้าเป็นเราคนเดียว เราว่าไม่รอดตั้งแต่ยุคแรกๆ แล้ว ทั้งเรื่องกำลังใจ เชฟโหน่งที่ดูแลเรื่องอาหาร เจ (ผู้จัดการร้าน) ที่คอยรับไม้ต่อในช่วงที่เราเริ่มไม่ไหว และอีกหลายๆ คนที่เข้ามาช่วย

ธุรกิจที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องกับดนตรีนอกกระแสไปด้วยกันไม่ได้?

เราแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกแน่นอนว่าทุกคนต้องใช้เงิน ต้องอยู่ให้ได้ก่อน ส่วนที่สอง เราอยากทำในมุมของการฟังคน คนเรามันมีสิ่งที่อยากพูด แต่ในเมืองไทยมันไม่มีที่ให้พูด ไม่มีที่ให้ระบายออก โอเค คนที่ทำธุรกิจส่วนใหญ่เขารู้สึกว่าบางอย่างไม่สามารถเอามาทำเป็นเงินได้ แต่เราอยากทำมุมนี้ ขอเป็นที่ไว้ระบายสำหรับคนคนหนึ่งได้ไหม บ้านเรามันไม่มีพื้นที่ให้คนพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด เราจะถูกครอบด้วยอะไรบางอย่าง เด็กพูดไม่ได้ ผู้ใหญ่ก็... ฟังเราสิ เราโตมาก่อนนะ จะเชื่อหรือไม่เชื่อเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้วสำหรับเรานะ ซึ่งพื้นที่ที่เราบอกมันไม่มี เรารู้สึกว่าอยากทำพื้นที่แบบนั้น

อยากทำต่อไหม?

คือพออยู่ในมุมนี้นานๆ รู้สึกว่าบางอย่างของเรามันหายไป เราทุ่มไปจนรู้สึกว่า ถึงเวลาที่เราต้องไปใช้ชีวิต อาจจะด้วยความที่เราแต่งงานด้วยมั้ง อาจจะมีพาร์ตอื่นที่เราอยากเริ่มดูแลมากขึ้นแล้ว ถึงจุดนี้มันเริ่มเห็นไม้ต่อ เหมือนเป็นไม้อันเล็กๆ เริ่มผุดขึ้นมาในประเทศ หรือพื้นที่บางอย่างที่เริ่มเป็นแรงขับเคลื่อนกันต่อไปแล้ว ก็เลยรู้สึกว่า ถ้าอย่างนั้นถึงเวลาที่เราขอเบรกก่อน เหมือนว่าพอถึงจุดหนึ่งคนเรามันต้องมีช่วงบาลานซ์ตัวเอง ไม่อย่างนั้นพอทำต่อไปแล้วมันไม่มีอะไรที่... เหมือนทำไปโดยข้างในมันไม่ได้สำหรับเรา ก็เลยขอพักดีกว่า พักเพื่อไปมองเห็นโครงสร้างอะไรใหม่ๆ หรือปลดปล่อยตัวเองบ้าง มาย้อนดูอีกที เราใช้เวลากับมันจนลืมตัวเองไปในบางอย่างจริงๆ

เสียใจ หรือ เสียดายไหม?

พอยิ่งใกล้ถึงวันสุดท้ายก็เริ่มมาแล้ว (หัวเราะ) แต่มันก็เป็นข้อดีนะสำหรับเราที่ในช่วงหลังมันยังมีความรู้สึกที่ปะทุอยู่ตลอดเวลา แค่ด้วยร่างกายและความรู้สึกบางอย่างที่มันไม่ไหว มันก็ใจหายแหละ ยังมีสิ่งที่อยากเห็นอยู่ แต่เรามีคติอยู่อันหนึ่งว่า คนเรามันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างมีอะไรยั่งยืน เกิดมา ตั้งอยู่ และดับไป เป็นเรื่องปกติ ซึ่งสุดท้ายเราก็มองว่ามันเป็นเรื่องปกติแน่นอน จะว่าไม่ได้รู้สึกก็ไม่ใช่ มันต้องรู้สึกแหละ จะบอกว่าเสียใจ เราว่ามันไม่ใช่การเสียใจ เรารู้สึกว่าได้ทำเต็มที่กับสิ่งที่มันอยู่ตรงนี้ จนมันเห็นผลส่งไปถึงคนอื่น มันก็โอเคแล้วนะ เราไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร เราแค่ทำในสิ่งที่เราอยากให้มันเป็น แต่พอถึงจุดหนึ่ง มันใหญ่เกินควบคุม เราเลยรู้สึกไม่ไหว ไม่สามารถทำมันได้ทั้งหมด กดดันตัวเองด้วยล่ะมั้ง บางทีแอบสับสนอยู่ตลอดเวลาว่า สิ่งที่ทำไปมันดีแล้วจริงๆ หรือ เราไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ ของมัน หรืออาจจะเป็นช่วงที่ร้านใกล้จะปิด จิตใจเลยกระวนกระวายหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ

ไม่แน่ว่าวันหนึ่งคุณอาจจะไปเจอสถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่ทำให้คุณรู้สึกเหมือนเมื่อ 7 ปีที่แล้ว?

ใช่ เราอยากเจอความรู้สึกนั้นก่อน ก่อนที่จะลงมือทำร้านอีกครั้ง เอาปัญหาที่สะสมมา 7 ปีไปปรับแก้ไข ซึ่งเรายังไม่เจอสถานที่แห่งนั้น และอาจจะรู้ว่ามีปัญหามากมายในเมืองไทยที่บางเรื่องก็แก้ได้ บางเรื่องก็แก้ไม่ได้ด้วย

หลายคนมองว่า วงอินดี้ซึ่งเป็นที่รู้จักหลายๆ วงถือกำเนิดจากร้านแห่งนี้?

แต่เรากลับรู้สึกว่า ถึงไม่มี PLAY YARD คนที่มันมีคุณสมบัติพิเศษ หรือคนที่เก่งอยู่แล้ว อย่างไรเขาก็ไปได้ เราแค่เป็นเหมือนทางเชื่อมหรือว่าพื้นที่ที่อาจจะทำให้คนเห็นง่ายขึ้นหรือเร็วขึ้นมากกว่า วงที่แข็งแกร่งและมีอัตลักษณ์ของตนเอง พวกเขาต้องมีคนเห็นในสักวันอยู่แล้ว

7 ปีที่ผ่านมามองแวดวงดนตรีนอกกระแสในบ้านเราอย่างไรบ้าง?

ตอบยากมากเลย ช่วงเราเป็นวัยรุ่นก็มีแต่อะไรที่น่าตื่นเต้น แต่พอเข้าไปอยู่ในวงโคจรที่ทำร้านเอง มันมีปัญหามากมาย ก็เลยกลายเป็นความเครียดที่เกิดขึ้น มันจะไม่เหมือนคนที่แค่เสพงานแล้ว แต่สุดท้ายเราว่ามันก็วนไปที่ว่า เมืองไทยให้คุณค่ากับสิ่งนี้อย่างไร หรือให้คุณค่ากับแค่การเป็นปาร์ตี้ เพราะบางทีเราก็ยังเจอคอนเสิร์ตที่คนมาปาร์ตี้แล้วก็คุยกันเสียงดัง จนคุณละเลยและไม่ให้เกียรติสิ่งที่อยู่ข้างหน้าคุณ

ซึ่งอันที่จริงก็มีวงดนตรีนอกกระแสเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ไม่ใช่ทุกวงที่จะเติบโตและประสบความสำเร็จ?

เราว่ามันเป็นธรรมชาติของวงหรือศิลปินนะ เมืองนอกก็เป็น ญี่ปุ่น อเมริกา อังกฤษ เป็นหมด สุดท้ายมันคือการแข่งขัน ถ้าคุณเล่าแล้วถูกจริตคนฟัง คุณก็จะได้สิ่งนั้นกลับไป หรือคุณเล่าให้สิ่งที่มันอาจจะยากหรือเปล่า แต่ถ้าคุณอยากเล่าแบบนี้ คุณก็ต้องยอมรับในสิ่งที่คุณเล่าออกมา ทุกวงการเหมือนกันหมดแหละ เหมือนเดี่ยวไมโครโฟน ทำไมคุณโน้ส อุดม เขาถึงขึ้นไปอยู่ในระดับนั้นได้ เพราะเขามีวิธีย่อยเรื่องยากให้เข้าใจง่าย สุดท้ายก็ต้องมาถามว่า ในมุมนักดนตรีหรือคนเล่า จริงๆ คุณอยากเล่าเรื่องอะไร มันจะมีทั้งคนเข้าใจและไม่เข้าใจอยู่แล้ว เราจะไปบอกว่า เฮ้ย ทำไมทุกคนไม่เข้าใจล่ะ สำหรับเรามองว่ามุมนี้มันแอบเอาแต่ใจ คุณเล่าได้ แต่คุณไม่สามารถบอกให้คนฟังเข้าใจคุณได้ทุกคน เป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างมันต้องมีอิสระให้คนเลือกได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ ถ้ามีคนไม่ชอบวงคุณ ก็ต้องมาคิดแล้วว่า เราจะทำอย่างไรกับมัน ต้องปรับไหม หรือเราจะยืนยันในสิ่งที่เล่า ดนตรีมีองค์ประกอบตั้งมากมาย คาแรกเตอร์วง ชื่อวง แนวเพลง วิธีเล่น ภาพลักษณ์ วิธีพูด แล้วแต่ว่าคุณจะใช้มันอย่างไร เราว่าทุกคนต้องไปผ่านกระบวนการนั้นด้วยตัวเอง มันก็จะแข็งแกร่งขึ้น แต่ถ้าบางคนกลับเฟลหรือน้อยใจ อันนี้อาจจะเหนื่อยหน่อย คุณต้องเข้มแข็ง สู้ไปกับมัน

โอกาสเติบโตของไลฟ์เฮ้าส์ในเมืองไทยล่ะ?

มีแหละ แต่ต้องให้เวลา นอกจากเสียว่ามันจะถูกกลืนกิน เราคิดเรื่องนี้มานานมาก เพราะสุดท้ายเมืองไทยมันไม่ได้เอื้อต่อการฟังเพลงมากขนาดนั้น เราใช้เวลาไปกับอย่างอื่นมากกว่าปกติ หาเช้ากินค่ำ ออฟฟิศ ทำงาน รถติด (หัวเราะ) มันมีองค์ประกอบอื่นๆ มากมายที่คนไม่สามารถเลือกเสพดนตรีเป็นทางเลือกอันดับหนึ่ง ทุกคนต้องหาเงิน เดินทางฝ่ารถติด 2 ชั่วโมงไปกลับ ทำงานอีก 8 ชั่วโมง ที่เหลือทำอะไร ส่วนใหญ่เขาก็น่าจะเลือกอยู่บ้าน กินข้าว เจอเพื่อน ดนตรีก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่ลดหลั่นกันลงไป วงจรชีวิตของคนไทยยังไม่เอื้อสำหรับไลฟ์เฮ้าส์จริงๆ แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งที่ความเข้มแข็งของสังคมมันสูงขึ้น มันก็อาจจะโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้นะ

ถ้าสมมติว่าตื่นขึ้นมาวันหนึ่ง PLAY YARD มีลมหายใจ มีชีวิต คุณอยากพูดอะไรกับเขา?

เขาน่าจะคุ้มค่านะ เขาน่าจะดีใจ คุณได้สร้างคุณประโยชน์ ได้เติมเต็มชีวิตให้กับคนอื่น สำหรับเรารู้สึกว่า เขาให้คนอื่นไปเยอะมากเหมือนกัน อยากบอกเขาแบบนั้น เรารู้สึกว่าเขาน่าจะภูมิใจในสิ่งที่เขาเป็น ในการมีชีวิตของเขาอยู่ ณ ตรงนี้

 

Story and photos by: Chanon B.

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ ของ เอ่ยคำร่ำลา “PLAY YARD by Studio Bar” กับบทสนทนาว่าด้วยดนตรีนอกกระแสในไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook