"แผ่นเสียง-เทป-ซีดี" เทรนด์เก่าที่ไม่เคยตายในยุคออนไลน์สตรีมมิ่งรุ่งเรือง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
ในแวดวงซอฟต์แวร์ของวงการดนตรีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่าง เช่น คนฟังเพลงหันมาฟังเพลงสตรีมมิ่งมากขึ้น โดยมีอีกกลุ่มฟังเพลงแบบฟิซิคัล (จับต้องได้) ก็ขยายตัวมากขึ้น ทำให้ยอดขายและยอดการผลิตของแผ่นเสียงและเทปคาสเสตต์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด มีหลายอย่างที่ส่งเสริมเกื้อหนุนด้วย อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง Guardian of the Galaxy ทั้ง 2 ภาค หรือล่าสุด Bohemian Rhapsody ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม หรือปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังสื่อให้เห็นว่าพฤติกรรมของคนฟังเพลงในอนาคตอันใกล้นี้จะเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปฟังเพลงที่จับต้องได้ ไม่ได้ฟังผ่านอากาศแบบปัจจุบัน กระแสย้อนยุคกำลังจะได้รับความนิยมอีกเหมือนเมื่อ 40-50 ปีก่อนหรือ?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อต่างๆมีส่วนทำให้พฤติกรรมของคนฟังเพลงเปลี่ยนไปด้วย การอัดเพลงโปรดลงม้วนเทปของคนสมัย 40-50 ปีก่อนใน Guardians of the Galaxy กลายเป็นกระแสที่คนยุคนี้อยากทำตามและสนุกที่ได้ฟังเพลงในอดีตไปพร้อมๆกัน วง Queen กับช่วงชีวิตของเฟรดดี เมอร์คิวรีที่มีผลงานเพลงชั้นเยี่ยมออกมามากมาย ทำให้คนยุคนี้ที่ไม่เคยฟังเพลงของพวกเขาต้องกลับไปค้นคว้าและหาเพลงของพวกเขามาฟังอย่างเอาเป็นเอาตาย การณ์กลับเป็นว่าสิ่งที่ได้รับความนิยมในยุค60-70s กลับมาเป็นที่ต้องการของคนยุคนี้ไปอย่างไม่ฝัน เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเรานะครับ แต่มันเกิดขึ้นทั่วโลก ในประเทศที่มีคนฟังเพลงและเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ เยอรมนี และญี่ปุ่น ตัวอย่างล่าสุดก็คือ อัลบัมซาวน์ดแทร็กของเรื่อง Bohemian Rhapsody ถูกผลิตออกมาจำหน่ายทุกฟอร์แมต ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียง ซีดี และเทป รองรับและตอบสนองความต้องการของคนฟังเพลงและนักสะสมครบถ้วน ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบจะไม่ควรเกิดขึ้นเลยในยุคที่สตรีมมิงครองตลาดอย่างทุกวันนี้
- เป็นไปได้ไหมที่คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจกับสินค้าฟิซิคัลมากขึ้น
แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปแค่ไหน แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่หลงใหลในความโบราณ เก่าแก่แบบวินเทจ จะด้วยอิทธิพลจากคนในครอบครัว คนรอบตัวหรือจากในภาพยนตร์หรือพฤติกรรมของศิลปินคนโปรดก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งเริ่มย้อนกลับไปทำความรู้จักกับของวินเทจในอดีตสมัยที่พวกเขายังไม่เกิดกันแล้ว หนำซ้ำยังทำการบ้านกันอย่างมุ่งมั่นตั้งใจอีกด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าบางส่วนของคนกลุ่มนั้นเบี่ยงเบนออกจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการฟังเพลงก็คือ ให้ความสำคัญกับราคาของสิ่งของมากไป พูดง่ายๆก็คือ มีความคิดว่าของวินเทจต้องราคาแพง ยิ่งแพงยิ่งมีค่า ยิ่งหายาก ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องใช้ตรรกะนี้เสมอไป ของวินเทจดีๆ หายากราคาไม่แพงก็มีออกถมไป อยู่ที่จังหวะและโชคมากกว่า ทีนี้มาลองดูความเคลื่อนไหวของต่างประเทศกันครับ ว่าไปกันขนาดไหนแล้ว
- ทาวเวอร์ เรคคอร์ดเปิดชั้นขายแผ่นเสียงทั้งชั้น
ทาวเวอร์ เรคคอร์ด สาขาชินจูกุ ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจเปิดชั้นที่ 10 เพื่อเป็นชั้นที่ขายเฉพาะแผ่นเสียงโดยเฉพาะ ในวันที่ 21 มีนาคมนี้ โดยใช้ชื่อว่า “Tower Vinyl Shinjuku” มีพื้นที่ให้บริการราว 170 ตารางเมตร มีแผ่นเสียงทุกแนวทุกประเภท ยกเว้นแนวคลาสสิก มีแผ่นเสียงในสต๊อกประมาณ 70,000 แผ่น ภายในประดับด้วยลำโพงวินเทจขนาดยักษ์ พร้อมคอนเสปต์ “ให้ลูกค้าสนุกกับการช็อปปิงพร้อมกับฟังสุ้มเสียงอนาล็อกไปพร้อมๆกัน” ใครจะเดินทางไปญี่ปุ่นหลังจากวันที่ 21 มีนาคมละก็ แวะไปกระเป๋าฉีกได้เลยครับ
- บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ระดับโลกทยอยผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เล่นได้ทั้งอนาล็อกและดิจิทัล
ปลายปีที่ผ่านมา Yamaha ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่น MusicCast Vinyl500 ออกมาตอบสนองความต้องการของนักเล่นแผ่นเสียง แต่สิ่งที่พิเศษก็คือมันสามารถเล่นกับชุดลำโพงไร้สายที่ออกมาพร้อมกันได้ด้วย รวมทั้งมี Bluetooth ในตัว ตอบสนองสัญญาณ Wi-Fi ช่วยขยับขยายขอบเขตการฟังเพลงได้ตามต้องการ เช่น คุณเป็นเจ้าของบ้านหลังใหญ่ วางเครื่องเล่นแผ่นเสียงไว้ชั้น 1 แต่สามารถขึ้นไปนั่งฟังเพลงชั้น 2 ขณะที่ลำโพงไร้สายตั้งอยู่ชั้น 3 ได้สบายๆ สำหรับลำโพงที่ออกจำหน่ายควบคู่กันมีรุ่น MusicCast 20 กับ MusicCast 50 ที่น่าทึ่งอีกประการก็คือ เล่นสตรีมมิงได้อีกด้วย เรียกว่าตอบสนองทั้งอนาล็อกและดิจิทัลสมคำคุยจริงๆ ส่วนราคาเครื่องเล่นแผ่นเสียงตกประมาณ 699.95 ยูเอสดอลลาร์
- ยอดขายแผ่นเสียงในปี 2018 เพิ่มขึ้นในเยอรมนี
เยอรมนีเป็นประเทศอันดับ 3 ที่ยอดขายแผ่นเสียงเพิ่มขึ้นในปี2018 ต่อจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
จากข้อมูลของสมาพันธ์ผู้ผลิตดนตรีของประเทศเยอรมนีระบุว่า ยอดขายแผ่นเสียงโดยรวมลดลงจากปี2017 ราว 0.4% แต่ภาพรวมก็อยู่ในเกณฑ์ที่สูงอยู่ดี ส่วนสตรีมมิงยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 33.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนนั้น แต่ภาพรวมของยอดขายก็เติบโตขึ้น 46.4% ส่วนซีดียอดขายลดลงราว 20% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ยอดขายแซงสตรีมมิง ส่วนดาวน์โหลดแบบมีค่าใช้จ่ายยอดลดลง 9.9% สุดท้าย ยอดขายแผ่นเสียงเพิ่มขึ้น 5.1%
แฟรงก์ บริกแมน ผู้บริหารระดับสูงของ Universal Music ให้ความเห็นว่า “ยอดขายซีดีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น” ยอดขายสตรีมมิงเพิ่มขึ้น 46.4% ส่วนอเมริกาพุ่งไปถึง 75% ทำให้คิดได้ว่าในเยอรมนี ดาวน์โหลดคงกำลังถึงจุดจบในไม่ช้า”
- คลื่นวิทยุญี่ปุ่นเปิดแต่เพลงจากแผ่นเสียงอนาล็อก
คลื่นวิทยุญี่ปุ่นที่ว่านี้เป็นคลื่นของภาคพื้นคันไซ ชื่อรายการ “Analog Connection” ที่น่าทึ่งก็คือเป็นสถานีที่เปิดเพลงจากแผ่นเสียงล้วนๆ เน้นไปทางเพลงสากลแนวป๊อป, ร็อค, โฟล์ก สถานีนี้มีแผ่นเสียงใหม่เข้ากรุตลอดเวลา และมีแผ่นเพื่อใช้งานถึง 100,000 แผ่น รวมทั้งแผ่นหายากอีกจำนวนหนึ่ง
ตัวอย่างเพลงที่สถานีนี้เปิดเมื่อ 1 มีนาคมที่ผ่านมา
เพลงเปิดรายการ "Caught Up in You" จาก 38 Special
ช่วง Rock Around the Clock ที่เน้นเพลงฮิตจากยุค 60-80s
"Judy in Disguise" (With Glasses) จาก John Fred & His Playboy Band
"In the Year 2525" จาก Zager & Evans
ช่วง What’s in a Song
"He ain’t Heavy, He’s My Brother" จาก The Hollies
"Brother Louie" จาก Stories
ช่วงเล่นยกอัลบัม
นำอัลบัมแรกของ The Mamas and The Papas มาเปิดตั้งแต่เพลงแรกด้านเอ ถึงเพลงสุดท้ายด้านบี
เพลงด้านเอประกอบด้วย "California Dreamin’", "Go Where You Wanna Go", "Do You Wanna Dance", "Got a Feelin’", "I Call You Name", "In Crowd"
ช่วง Music Information
"Show Me the Way" จาก Peter Frampton
ช่วงเพลงตามคำขอ
"San Francisco (Be Sure to Wear Flowers in Your Hair" จาก Scott McKenzie
"Dande Lion" จาก The Rolling Stones
"Soulful Strut (Am I the Same Girl)" จาก Barbara Acklin
"I Wanna Dance With Somebody (Who Loves Me)" จาก Whitney Houston
"You’re Only Lonely" จาก J.D. Souther
"Look at Your Self" จาก Uriah Heep
"Flowers Never Bend With the Rainfall" จาก Simon & Garfunkel
"Rose Garden" จาก Lynn Anderson
"Tonight (Could be the Night)" จาก The Velvets
"My Hometown" จาก Bruce Springsteen
นี่เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของรายการเพลงที่มีคุณภาพของญี่ปุ่นที่บ้านเราเคยมีรายการคุณภาพไม่ด้อยกว่าเลยในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา น่าเสียดายที่ระบบการทำงานของเขากับเราแตกต่างกัน อาชีพดีเจที่น่ายกย่องจึงค่อยๆ หายไปจากวงการวิทยุบ้านเรา คนฟังเพลงบ้านเราจึงแทบไม่ได้ฟังเพลงดีๆ มีคุณภาพในอดีตแบบเพลย์ลิสต์ของสถานีวิทยุญี่ปุ่นหรือต่างประเทศกันเลย เพราะอิงเมนสตรีมและอันดับเพลงจากอเมริกามากเกินไป ทั้งที่วัฒนธรรมการฟังเพลงของเขากับเราต่างกันมากเหลือเกิน
- เทปคาสเสตต์คืนชีพ คนรุ่นใหม่พร้อมสนับสนุน
ในบ้านเรา ตลาดเทปไม่เคยห่างหายไปไหน มีเพียงช่วงซีดีบูมสุดขีดเท่านั้นที่เทปรวมทั้งแผ่นเสียงต้องประมาณตัวเอง หลบเร้นอยู่ในมุมมืด คนที่ฟังก็ยังฟังอยู่ แต่ซีดีก็เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตมากขึ้นแทนอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งบ้านเราก็กินระยะเวลาราวๆ 25-30 ปี
ในญี่ปุ่นร้านที่ขายเฉพาะเทปทยอยเปิดตัวเรื่อยๆ ถ้าจะนับจริงๆ ร้านที่ขายแต่เทปร้านแรกๆของญี่ปุ่นน่าจะเป็นร้าน Waltz ที่เปิดตัวเมื่อราว 4 ปีก่อนที่ย่านเมกุโระ โตเกียว มีเทปในร้านราว 6,000 ม้วน ไม่ใช่แค่มีงานในอดีต แต่รวมถึงวงใหม่ที่ออกผลงานเป็นเทปด้วย นับแต่ปี2010 เป็นต้นมา แถบอีสต์โคสต์ของอเมริกาเกิดกระแส “Cassette Culture” ขึ้น ศิลปินอินดีและหน้าใหม่มองว่าเทปทันสมัยและน่าเก็บ ต่างทยอยออกเทปกันอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ต้องการของคนฟังเพลงกลุ่มหนึ่งไปเลย
คนที่คลั่งไคล้เทปพูดเป็นเสียงกันว่าเสียงจากเทปมีเสน่ห์ ยิ่งเห็นแกนกลมๆสองอันหมุนขณะเล่นมันดูมีเสน่ห์ที่หาดูได้ยาก บางคนถ่ายลง IG พร้อมพร็อบที่สวยงาม ทำให้เกิดความต้องการในกลุ่มวัยรุ่นจนกระทั่งเป็นกระแสยอดนิยมในที่สุด
นี่คือตัวอย่างบางส่วนของกระแสของคนฟังเพลงที่หลงใหลในวินเทจ ทั้งแผ่นเสียงและเทป แทบไม่น่าเชื่อว่าอุตสาหกรรมเพลงในบ้านเรานั้น แผ่นเสียงแทบจะสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปลายยุค80s ส่วนเทปก็เริ่มหมดความนิยมราวต้นยุค 2000 ช่วงปี 2004-2005 ผ่านไปไม่ถึง 20 ปี ความคลาสสิกและรูปแบบที่เหมาะสมกับการฟังเพลงของมันกลับมาได้รับความนิยมอีก หลังจากถูกลืมและหลับใหลไปนาน และมีแนวโน้มว่าอีกราวๆปีหรือสองปีข้างหน้า มันอาจจะกลับเป็นมาซอฟต์แวร์หลักในการฟังเพลงอีกก็ได้ เพราะอะไรน่ะหรือครับ ก็มันเป็นฟิซิคัลไงครับ ไม่ใช่อากาศธาตุอย่างที่เราฟังสตรีมมิงกัน ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองการณ์ไกลและชิงลงมือกับความท้าทายนี้จนได้ชื่อว่าเป็น “นักปลุกผีรายแรก” ก่อนกัน
Photos : iStockPhotos, Tower Records Japan
--------------------------------------------------------------------------------
สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน
นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548
ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน