VINYL PLAYER 101 : ถาม-ตอบเรื่องแผ่นเสียง และเครื่องเล่น สำหรับมือใหม่หัดฟัง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
หลังจากทีมงานรายการ “ชีพจรทำกิน” ช่อง NBT2HD ไปทำข่าวที่ร้าน Record Hunter ที่ผมเป็นเจ้าของ รายการนี้ออกอากาศในช่วงข่าวเที่ยงของช่องเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็ได้รับฟีดแบ๊กพอสมควร โดยเฉพาะคำถามจากผู้ที่ได้ชมรายการที่สนใจฟังเพลงและมีรสนิยมฟังจากแผ่นเสียงเป็นหลัก ผมเห็นว่าหลายคำถามที่ส่งไปทางกล่องข้อความที่เฟซบุ๊กของร้าน Record Hunter ส่วนใหญ่เป็นคำถามที่หลายคนอยากทราบ แต่ไม่รู้ว่าจะถามใครดี หรือมีใครให้คำถามที่กระจ่างได้ เลยถือวิสาสะนำมาเผยแพร่ให้ทราบทั่วกันเลย คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อยครับ มีความคิดเห็นอย่างไร บอกให้ผมทราบบ้างจะขอบคุณอย่างสูงครับ มาดูคำถามและคำตอบกันเลยครับ
Q: จะลองหันมาเล่นแผ่นเสียงดูบ้าง ควรเริ่มต้นอย่างไรดี?
A: ก่อนอื่นต้องมีงบในจำนวนที่เหมาะสมก่อนครับ ต้องไม่น้อยกว่า 20,000 บาท กับเครื่องเสียงชุดหนึ่งที่คุณภาพอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ซึ่งมีแอมปริไฟร์ ที่ใช้ในการขยายเสียงที่เล่นจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงผ่านไปสู่ลำโพง ราคาราว 5,000-8,000 บาท เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ไม่ใช่ระบบเสียบเล่นกับสาย USB (เป็นเครื่องที่มีสายเสียบเข้ากับช่อง phono ของแอมป์ได้) ถ้าซื้อของมือสองควรเลือกระบบเฟือง (Direct Drive) ที่มีปัญหาน้อยกว่าระบบเก่าอย่างสายพาน ราคาประมาณ 4,000-7,500 บาท สุดท้าย ลำโพง 1 คู่ เพื่อขับกำลังเสียงออกมาในระบบสเตริโอ ราคาราว 5,000-10,000 บาท ถ้าคุณมีแอมป์อยู่แล้ว ลองสำรวจด้านหลังแอมป์ดูว่ามีช่อง phono ด้วยไหม ถ้ามี ก็ใช้งานได้เลย แต่ถ้าไม่มี ควรหาซื้อแอมป์ใหม่ หรือซื้อ pre-phono มาเชื่อมต่อ ซึ่งจะทำให้งบของคุณเพิ่มขึ้นอีกราว 3,000-5,000 บาท แนะนำให้ซื้อแอมป์ใหม่ที่มีช่อง phono ดีกว่าครับ เพราะคุณต้องใช้แอมป์ไปอีกนาน เวลาเลือกซื้อ หากไม่มีความรู้เรื่องเครื่องเสียง อย่าอายที่จะถามคนขายครับ ถามทุกอย่างที่เราอยากรู้ครับ ไม่ต้องเกรงใจ นอกจากนี้ควรเอาแผ่นเสียงที่มีหรือรักติดตัวไปด้วย เพื่อใช้ในการทดลองเปิดฟังเสียง ทดสอบว่าแอมป์ทำงานได้ตามต้องการไหม เครื่องเล่นแผ่นเสียงหมุนรอบนิ่งหรือไม่ และลำโพงส่งสัญญาณเสียงของเพลงที่เล่นออกมาในแบบที่เราคาดหวังหรือไม่ ส่วนยี่ห้อ ก็ขึ้นกับรสนิยมครับ มีให้เลือกมากมาย
ที่สำคัญ ใจเย็นๆ เงินอยู่กับเรา ไม่ต้องรีบใช้ ไม่ต้องเกรงใจคนขายหรือเซลส์ครับ ของถ้ามันเป็นเนื้อคู่เรา ยังไงก็ต้องได้มาอยู่ชายคาเดียวกันอยู่ดีครับ
ต่อมาก็คือการหาซื้อแผ่นเสียงมาฟัง ตัวดูดเงินหลักอยู่ตรงนี้ครับ เพราะเราต้องหาซื้อแผ่นมาฟังตลอด ควรย้ำกับตัวเองเสมอว่า ซื้อตามกำลังทรัพย์ครับ อย่าคิดว่าแผ่นเสียงที่เราต้องการ หากไม่ซื้อวันนี้ มันจะสูญสลายไปจากโลก ควรเริ่มต้นจากแผ่นที่อยากได้ที่สุดก่อน อาจจะเป็นแผ่นของศิลปินออกใหม่ที่เรารอคอยมานาน หรือแผ่นเก่าของศิลปินที่เราฟังจากเทปหรือซีดีจนจำได้หมดทุกเพลงก็ได้ เพราะซื้อมาแล้วยังไงก็ต้องเปิดฟังอย่างแน่นอน จากนั้นก็หาซื้อแผ่นมือสองราคาถูกๆตามร้านขายแผ่นเสียงในกรุงเทพฯครับ ราคาแผ่นขึ้นอยู่กับทำเลครับ มีตั้งแต่ราคาร้อยบาทจนถึงหลักหลายพันบาท พึงระลึกไว้เสมอว่า แผ่นเสียงที่อยากได้ หากไม่ซื้อวันนี้ วันหน้าก็มีให้ซื้ออยู่ดี แผ่นไม่ได้ผลิตออกมาแผ่นเดียว แต่ผลิตออกมาหลักหมื่นหลักแสนครับ และควรซื้อเมื่อมีสภาพคล่องครับ
Q: มีหลักเกณฑ์อย่างไรในการหาซื้อแผ่นเสียง?
A: ที่สำคัญก็คือ ต้องดูแผ่นให้เป็นก่อน ในที่นี้หมายถึงดูสภาพแผ่นให้เป็นว่าแผ่นใหม่ (mint) แผ่นเหมือนใหม่ (near mint) แผ่นสวย (excellent) แผ่นสภาพดี (good) หรือสภาพพอใช้ (fair) เป็นอย่างไร ถึงเราไม่มีเครื่องเล่นให้ลอง แต่เราใช้สายตาตรวจสอบได้ (visual grading) ซึ่งสายตาของเราไม่มีทางโกหกเราอยู่แล้วครับ ดูให้เป็น มีรอยแบบไหนที่เล่นไม่ได้ รอยแบบไหนที่เล่นได้ไม่เป็นอันตรายต่อปลายเข็ม ดังนี้แล้ว คนขายจะหลอกขายแผ่นโดยโกหกว่าสภาพเหมือนใหม่ ทั้งที่ผ่านการเล่นมาจนเป็นรอยทั่วไม่ได้อีกต่อไปครับ ส่วนแผ่นที่หามานานหรืออยากได้จริงๆ แม้จะเป็นรอยมาก ไม่น่าดู เราอาจจำใจซื้อมาก่อน เพราะไม่แน่ว่าจะมีโอกาสหาแผ่นชุดเดียวกันที่สภาพดีกว่านี้ได้เมื่อไหร่ รายละเอียดปลีกย่อยที่จะตามมา อย่างเช่น ดูประเทศที่ผลิต ดูแคตาล็อกนัมเบอร์ ดูเดดแวกซ์ว่าเป็นแผ่นเพรสไหน ฯลฯ เป็นประสบการณ์จากการเรียนรู้ที่จะตามมาเองครับ
ข้อดีของการซื้อแผ่นเดียวกับที่เราฟังเทปหรือซีดีจนปรุแล้ว เวลาเปิดลองเสียงจะทำให้เราทราบทันทีว่าเสียงที่ออกจากลำโพงผิดเพี้ยนหรือเปลี่ยนแปลงจากที่เราฟังจนเคยชินตรงไหน จะทำให้เราหาจุดบกพร่องหรือจุดที่ต้องปรับแต่งแอมป์, เครื่องเล่นแผ่น และลำโพงได้ง่ายยิ่งขึ้น
หลังจากซื้อแผ่นไปเปิดฟังที่บ้านแล้ว จำเป็นต้องมีที่สำหรับเก็บพวกเขาให้เป็นที่ทางและเหมาะสม ทั้งอุณหภูมิที่เหมาะสม สภาพภูมิอากาศ หรือแม้แต่อาภรณ์ห่อหุ้มกาย ทุกแผ่นต้องมีซองพลาสติกใสใส่หุ้มกันฝุ่นกันน้ำนะครับ จำเป็นมาก จากนั้นก็เก็บในห้องที่ไม่โดนแสงแดดส่องตรงๆ เก็บในกล่องกระดาษลูกฟูกหรือลังเบียร์ก็ได้ครับ หากยังมีจำนวนไม่มาก แต่ถ้ามีมากระดับเป็นร้อยแผ่น ควรหาซื้อตู้ใส่แผ่นมาใส่ กล่องใส่ควรมีขนาดที่ใส่แผ่นได้พอดีแล้วเหลือที่ให้หายใจอีกเล็กน้อย กล่องขนาดกว้าง 33 ซม.xสูง 33 ซม.เหมาะสมที่สุดครับ ใส่ได้พอดีเป๊ะ ทำให้แผ่นคงสภาพและไม่ช้ำง่าย อย่าเก็บในที่อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศา ไม่มีไอร้อนจากเครื่องจักรรบกวน ไม่มีฝุ่นหรือขนสัตว์มากเกินไป ไม่มีกลิ่นหรือควันบุหรี่รบกวน ห่างจากสารเคมีเหลวหรือเชื้อเพลิงทุกชนิด ห่างจากที่ที่น้ำท่วมถึง ห่างจากมือเด็กเล็กหรือสัตว์เลี้ยง ห่างจากปลวกและความชื้นด้วย ซึ่งสองอย่างหลังนี่อันตรายสุดๆครับ
Q: หาซื้อแผ่นเสียงได้จากที่ไหนบ้าง
A: มีร้านขายแผ่นเสียงกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯครับ แต่ละแห่งมีจุดเด่นแตกต่างกันไป ร้านตามห้างดังหรือย่านการค้าใหญ่ๆ มักเป็นจุดดึงดูด มีแผ่นออกใหม่ แผ่นตามกระแสให้เลือกมากมาย แต่ราคาก็สูงขึ้นตามแหล่งที่ตั้งด้วย ร้านขายแผ่นมือสองจึงเป็นทางออกที่ดี ลองหาจากเสิร์ชเอนจินดูครับ พิมพ์คีย์เวิร์ด “ร้านขายแผ่นเสียง” “แผ่นเสียงมือสอง” “แผ่นเสียงราคาถูก” เท่านี้ก็ช่วยได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีเฟซบุ๊กอีกนับไม่ถ้วนที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางซื้อขายระหว่างคนขายหรือคนซื้อแผ่นเสียง จะไว้ใจได้แค่ไหน ต้องลองเป็นสมาชิกแล้วศึกษาความเคลื่อนไหวในแต่ละเพจครับ ข้อดีก็คือ ราคาถูก ข้อเสียก็คือ เราไม่เห็นของจริง ต้องตัดสินใจซื้อด้วยการประเมินจากภาพถ่ายครับ โอกาสผิดหวังหรือถูกโกงก็มี แต่น้อยมากครับ สำหรับเพจที่มีจำนวนสมาชิกหลักพันหลักหมื่น
Q: นอกจากแผ่นเสียงแล้ว ควรฟังฟอร์แมตอื่นๆ อีกไหม?
A: เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมการฟังเพลงของแต่ละคนครับ บางคนโตมากับซีดี จึงฟังซีดีมาทั้งชีวิตและไม่ต้องการอย่างอื่นอีกแล้ว บางคนโตมากับแผ่นเสียงและเทป ก็ยังมีความสุขกับสองอย่างนี้ได้อยู่ คนรุ่นใหม่อาจโตมากับไฟล์ MP3 และดาวน์โหลด ตลอดจนสตรีมมิง ซึ่งไม่เคยได้ซึมซับกับเสียงอนาล็อก ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะปฏิเสธแผ่นเสียงหรือเทป การฟังเพลงคือไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่ง เป็นการใช้ชีวิตแบบปัจเจกที่ไม่สามารถไปตีกรอบ บังคับ หรือโน้มน้าวให้เปลี่ยนแปลงได้ จะฟังฟอร์แมตไหนก็ตาม ขอให้สมดุลกับงบในกระเป๋าไว้ก่อนเป็นดีที่สุดครับ ถ้ามีฮาร์ดแวร์อยู่แล้วก็ไม่ใช่เรื่องยาก เราไม่จำเป็นต้องเห่อตามกระแส ชอบอะไรก็ฟังอย่างนั้น เช่นเดียวกับแผ่นเสียง แม้ช่วงหนึ่งจะถูกผลักเข้าไปร่วมในกระแสฮิปสเตอร์มาแล้ว แต่ด้วยความที่มันไม่ใช่ของเล่น หรือจะสนุกกับมันสักพัก พอเบื่อก็ทิ้งไปเหมือนฮอบบีอย่างอื่น ใครที่ฟังแล้วจะหลงใหล เสพติดในสุ้มเสียงแบบอนาล็อกของมัน ตัวแผ่นเสียงเองก็มีเสน่ห์ในตัวมัน ฟังแล้วศึกษาค้นคว้าไปด้วย ความท้าทายจะเกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าจะให้ผมทำตัวเป็นหมอดู อาจกล่าวได้ว่า อนาคตมีแนวโน้มกระแสเรทโทรจะกลับมาเป็นที่นิยม สิ่งของวินเทจจากยุค 50 60 70s จะเป็นที่นิยมอีกครั้ง แต่อาจจะไม่ถึงกับเป็นเทรนด์ คงได้เป็นแค่กระแสให้คนรุ่นเก่าที่โตมากับยุคนั้นๆได้มีเวทีแสดงความเห็น แชร์ประสบการณ์ และให้ความรู้กับคนรุ่นหลังไปด้วยได้ ซึ่งผมน่าจะกำลังเป็นคนกลุ่มที่ว่า เป็นกลุ่มที่ยินดีทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง ดีกว่าเก็บมันไว้คนเดียว แล้วรอมันดับสูญไป
Q: ระหว่างเป็นคนฟังเพลงเก่ง กับเป็นคนฟังเพลงเป็น ควรเลือกเป็นแบบไหน?
A: เป็นคำถามที่ดีมากครับ มันสะท้อนตลาดเพลงและกลุ่มคนฟังเพลงในบ้านเราได้ค่อนข้างชัดเจน ในวงการเพลงทุกวันนี้มีคนฟังเพลงเก่งเต็มไปหมด เก่งนี่คือเก่งจริงๆ นะครับ ไม่ได้ประชด คุณจะเห็นได้จากดีเจจัดรายการเพลง บรรดาเอ็มซีตามงานอีเวนต์ดนตรีต่างๆ นักเขียนบทความตามนิตยสารต่างๆ ที่มีความรู้เรื่องเพลงเรื่องดนตรีดีมากๆ พวกเขารู้รายละเอียดไปหมดทุกอย่าง ตั้งแต่ที่มาของเพลง ใครแต่ง ออกกับค่ายเพลงไหน ความเคลื่อนไหวในอันดับเพลงเป็นอย่างไร และอาจรู้ไปถึงเรื่องครอบครัวของสมาชิกแต่ละคนในวง สิ่งเหล่านี้ เป็นประโยชน์ก็จริง แต่สุดท้าย มันก็แค่ฐานข้อมูลที่ทำให้จำไว้บอกต่อกับคนที่ไม่รู้เท่านั้นเอง คนฟังเพลงเก่งจัดอยู่ในกลุ่มนี้ครับ
ส่วนคนฟังเพลงเป็น เผินๆ ก็เหมือนคำจำกัดความของคนฟังเพลงทั่วไป อ้าว ก็เพลงนี้ป๊อป เพลงนั้นร็อค เพลงโน้นแจ๊ซ นี่ไง ฟังเพลงเป็น แต่ในความเป็นจริงมันล้ำลึก และมีรายละเอียดมากกว่านั้น แค่แยกแนวเพลงยังไม่พอครับ ถ้าคุณฟังเพลงถลำลึกจนหยุดไม่ได้ ฟังแล้วอยากศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม อยากรู้ว่าเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นที่ใช้ในเพลงเหล่านั้น ทำได้อย่างไร เล่นอย่างไรถึงได้สุ้มเสียงออกมาแบบนั้น จนต้องค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปินและเพลงที่เราชอบ ฟังเสียงเครื่องดนตรีออกว่าเป็นประเภทไหน เสียงที่ออกมาแบบนั้นต้องเล่นอย่างไร ฯลฯ จุดนี้ไม่ถือว่าเก่งครับ แต่เรียกว่า “ฟังเป็น” ฟังแล้วแยกแยะได้ ฟังแล้ววิเคราะห์ตาม แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์เพลงที่ฟังได้ ไม่จำเป็นต้องรู้ทฤษฎีดนตรี ไม่จำเป็นต้องเล่นดนตรีเป็น (แต่ถ้าเล่นเป็น จะทำให้คุณวิเคราะห์ไปอีกแนวทางหนึ่งในเชิงวิชาการด้วย) คนฟังเพลงเป็นไม่จำเป็นต้องไปรู้เรื่องส่วนตัวเรื่องครอบครัวหรือรายละเอียดในชีวิตของศิลปินที่ชอบ แค่เรารู้ว่าเขาทำงานอย่างไร มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจ ทำไมฟังเพลงของเขาแล้วเราเกิดความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมเขาแต่งเนื้อเพลงได้กินใจ มีความหมายลึกซึ้งขนาดนั้นได้ ผมว่านี่แหละครับ คือคนฟังเพลงเป็น
เราสามารถเลือกที่จะเป็นคนฟังเพลงเก่งหรือคนฟังเพลงเป็นได้ครับ เพราะทั้งสองอย่างก็อยู่บนพื้นฐานของความรักต่อเสียงเพลง ชอบฟังเพลง และสนใจมันเหมือนกัน แต่ด้วยอุปนิสัยหรือบุคคลของแต่ละคน จะบ่งบอกเราเองว่า เรา “เก่ง” หรือ “เป็น” ครับ
ขอบคุณสำหรับคำถามครับ ถ้ามีโอกาสจะรวบรวมคำถามที่เป็นประโยชน์นำมาชี้แจงให้ทราบกันอีก แต่คงไม่ใช่อนาคตอันใกล้นี้แน่ครับ แล้วพบกันใหม่ครับ
Photos : iStockPhoto
--------------------------------------------------------------------------------
สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน
นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548
ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน