เทปคาสเซต ของวินเทจที่เป็นกระแสมาแรงที่สุดแห่งปี โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

เทปคาสเซต ของวินเทจที่เป็นกระแสมาแรงที่สุดแห่งปี โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

เทปคาสเซต ของวินเทจที่เป็นกระแสมาแรงที่สุดแห่งปี โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หัวเรื่องอาจทำให้หลายคนงงว่าเกิดอะไรขึ้น เทปมีคนสนใจมากขนาดนั้นเลยหรือ ยิ่งคนที่เคยผ่านการเล่นเทปมาตั้งแต่ยุคแรกของมันเมื่อราว 40-50 ปีก่อนยิ่งจินตนาการไม่ออกเลยว่า ทำไมเทปถึงยังมีคนเล่นกันอยู่อีก

หากตอนนี้เป็นปี1990 หรือราว 30 ปีก่อน รับรองว่าไม่มีใครเคยคิดเลยว่าเทปจะมีจุดเสื่อมความนิยมจนถึงขนาดเลิกผลิตในบ้านเราในอีก 20 ปีต่อมา ปัจจุบันไม่มีค่ายเพลงใหญ่ผลิตเทปออกจำหน่ายอีกแล้ว โรงงานผลิตเทปก็ปิดกิจการไปหมด เทปที่มีขายในปัจจุบันจึงเป็นเทปเก่าจากยุคก่อนๆ ไม่ก็เป็นเทปที่นำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายเท่านั้น กรณีที่สั่งผลิตเอง ก็ต้องอาศัยจ้างประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียช่วยผลิต เหล่านี้ทำให้ต้นทุนราคาเทปสูงขึ้นจนน่าตกใจ จากราคาทุนม้วนละ 40-50 บาท ถีบตัวสูงขึ้นไปถึง 100-120 บาท หรือสูงกว่านั้น


ยุครุ่งเรืองของเทป

เมื่อมองย้อนไปในอดีต ราคาเทปผีหรือเทปเปล่าทั่วไป ราคาต่อม้วนประมาณ 25-30 บาทเท่านั้น มีขายเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง หาซื้อได้ง่าย พอมีกฎหมายลิขสิทธิ์เท่านั้นแหละ เทปผีค่อยๆหายไปจากตลาด แปรสภาพเป็นเทปผีทำมือ (อัดเอง ปกถ่ายเอกสารหรืออัดภาพสี) แอบขายตามซอกหลืบ ขณะที่เทปลิขสิทธิ์เป็นฝ่ายครองตลาดอย่างถูกต้องกฎหมาย หลังจากปล่อยให้เทปผีตักตวงอยู่นาน นับช่วงเวลาแล้วก็เกือบสิบปี กว่าเทปผีจะหายไปจากตลาดอย่างเบ็ดเสร็จ ทุกคนซื้อเทปลิขสิทธิ์เป็นปกติสุข

 
เสน่ห์ของเทป

ช่วงเวลาของเทปลิขสิทธิ์เป็นช่วงที่หอมหวานสำหรับคนรักดนตรีทุกแขนง ร็อค ป๊อป แจ๊ซ เมทัล ฯลฯ ปกเทปมีรายละเอียด เครดิต เนื้อเพลงเหมือนของนอกทุกอย่าง จนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แม้บางชุดต้องใช้กระดาษหลายพับเพื่อลงเนื้อเพลงให้ครบ แต่เมื่อต้นสังกัดเพลงสากลในไทยผลิตซีดีขายเองได้ ไม่ต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาซีดีก็ถูกลงตามลำดับ แต่ซีดีนำเข้าก็ยังขายได้ เพราะคนฟังบางกลุ่มต้องการคุณภาพมากกว่า ราคาสูงกว่าไม่ว่ากัน ขณะเดียวกัน เมื่อเทปหายหน้าไปจากตลาด คนที่เคยฟังเพลงก็ไม่ได้หันมาอุดหนุนซีดีมากขึ้น เนื่องจากราคาของซีดีกับเทปแตกต่างกันมากเกินไป เทปม้วนละร้อยต้นๆ แต่ซีดีราคา 350-500 บาท แตกต่างกันมากเสียจนบางคนหันไปพึ่งซีดีผีและไฟล์เพลงแบบ MP3 แทน


กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง หลังจากปี 2000

ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จุดประกายให้คนฟังเพลงหันมาสนใจเทปอีกครั้ง คาดว่ามีที่มาอยู่ 2 กระแส กระแสแรกในแวดวงดนตรีเมทัลอันเดอร์กราวน์ดในบ้านเรายังคงทำเทปขายกันอยู่ แม้จะทำขายเพียง 50-100 ม้วน แต่กลายเป็นของที่คนฟังเพลงแนวนี้เข้าสายเลือดต้องการอย่างมาก พร้อมสู้ราคาเพื่อให้ได้มาครอบครอง อีกกระแสหนึ่งคือ วงต่างประเทศในแวดวงอินดี้ที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญากับค่ายใหญ่ หรือลงทุนกันเองยังให้ความสำคัญกับเทป เวลาไปเล่นสดที่ไหนมักจะนำเทปผลงานตนเองไปวางขายหน้างานพร้อมกับซีดีไรต์ด้วย แล้วก็มีกระแสตอบรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแบบน้ำซึมบ่อทราย กระทั่งเทปกลายเป็นไอเท็มอันดับแรกๆที่คนฟังเพลงบ้านเราต้องการ เนื่องจากบ่งบอกตัวตนของเจ้าของเทปว่ารักดนตรีและติดตามวงเหล่านั้นมากเพียงใด


เทปไม่เคยหายไปไหน

แม้บ้านเราจะเลิกผลิตเทปมากว่าสิบปีแล้ว แต่ต่างประเทศอย่างประเทศเพื่อนบ้าน หรือหลายประเทศในยุโรป กระทั่งสหรัฐฯ ยังคงมีวางขายอยู่ แต่อยู่ในสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับซีดี แผ่นเสียง หรือยอดดาวน์โหลด ขณะนี้เทปเก่าไม่ว่าจะเป็นผีหรือลิขสิทธิ์ที่ออกในช่วง 20-30 ปีมานี้เป็นที่ต้องการอย่างมาก ทั้งในเพจและเฟซบุ๊กขาย/ประมูล บางม้วนราคาสูงจนน่าตกใจ คนรุ่นใหม่เองก็อยากได้เทปเก่าเหล่านั้นมาฟังและเก็บสะสมด้วย


ที่ญี่ปุ่นเทปก็มาแรงไม่น้อย

ในตลาดซื้อขายของเก่าออนไลน์กลายเป็นตลาดที่ร้อนแรงไปโดยปริยายเมื่อเครื่องเล่นเทปแบบพกพาหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “วอล์กแมน” ที่เป็นของเก่าระดับวินเทจที่ออกขายอย่างกว้างขวางเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก  ที่คนต้องการมากที่สุดคือ วอล์กแมนที่บริษัท Sonyผลิตหลายต่อหลายรุ่นในยุคเทปรุ่งเรือง แม้จะราคาสูงเมื่อเทียบเป็นเงินไทยแล้วร่วม 5-6,000 บาท ส่วนวอล์กแมนที่ราคาต่ำกว่า 5,000 บาท แทบจะมีคนแย่งกันซื้อเลยด้วยซ้ำ รุ่นยอดนิยมหรือหายากราคาอาจสูงถึง 30,000 บาทเลยทีเดียว

116807

วอล์กแมน Sony รุ่น TPS-L2


วอล์กแมนรุ่นแรก

ออกจำหน่ายในปี1979 เป็นรุ่น TPS-L2 เป็นเครื่องเทปในฮิตในหมู่วัยรุ่นญี่ปุ่น จากนั้นบริษัท Aiwa ก็ผลิตมาแชร์ตลาด ต่อจากยุคเทปก็เข้าสู่ยุคซีดี เอ็มดี(มินิดิสก์) ซึ่งแต่ละเครื่องมีสมรรถภาพดีเยี่ยม ตอบสนองความต้องการของคนฟังเพลงที่นิยมเครื่องเล่นแบบพกพาได้ดี แต่สิ่งเหล่านี้ก็ค่อยๆถูกลืม เมื่อเข้าสู่ยุคที่ฟังเพลงผ่านโทรศัพท์มือถือ

เมื่อเทปยังเป็นที่ต้องการของลูกค้าอยู่ ช่วง 2-3 ปีมานี้ Sony จึงผลิตเครื่องเล่นซีดีพ่วงวิทยุและเล่นเทปออกมาอีกครั้งในปี2016 ทำให้รูปแบบการฟังเพลงแบบ 40 ปีก่อนกลับมาอีกครั้ง แต่ดูจะไม่สมดุลเท่าใดนัก เพราะราคาของวอล์กแมนเก่ากับเทปเก่าถีบตัวสูงขึ้น ราคาผกพันแทบจะเป็นรายวันเลยด้วยซ้ำ


เทปเปล่ากลายเป็นของสะสมไปแล้ว

ร้านขายเทปโดยเฉพาะชื่อ Waltz ที่เขตเมกุโระ โตเกียว เป็นขุมทองสำหรับนักเสาะหาเทปและวอล์กแมนเก่าไปแล้ว “คนฟังส่วนหนึ่งสนใจของแบบฟิซิคัล(จับต้องได้)มากขึ้น ตัวศิลปินเองก็อยากให้ตัวเองมีผลงานเป็นฟิซิคัลมากกว่าดิจิทัล เทปจึงเป็นทางออกที่เหมาะสม” เจ้าของร้านให้เหตุผล ที่ Waltz ขายวอล์กแมนได้กว่า 1,000 เครื่อง นับแต่เปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2015

116809

ราคาวอล์กแมนรุ่นเก่าในเว็บประมูลของญี่ปุ่น


วิถีของคนฟังเทป

อยากให้ลองถามคนรอบตัวที่อายุเกิน 40 ปี หรือให้พวกเขาได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Guardians of the Galaxy แล้วถามความเห็นพวกเขา แทบจะทุกคนน่าจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ยุคของพวกเขา เทปมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวง การอัดเพลงลงเทปไว้ฟังเองเป็นเสน่ห์และสื่อรสนิยมของแต่ละคนได้ชัดเจนมาก เคยทราบจากเพื่อนคนญี่ปุ่นเกี่ยวกับการฟังเพลงในยุคเทปของพวกเขา กล่าวได้ว่า คนญี่ปุ่นเก็บของได้เนี้ยบมาก พวกเขาซื้อแผ่นเสียงมา แล้วอัดเพลงทั้งอัลบัมลงเทป เพื่อเอาไว้ฟังกับวอล์กแมน แล้วเก็บแผ่นเสียงนั้นเข้าตู้ ไม่จำเป็นจะไม่เอาออกมาฟังเลย อาศัยฟังเทปแทน นั่นทำให้แผ่นเสียงมือสองของญี่ปุ่นสภาพดีเยี่ยม เหมือนใหม่ เพราะใช้เล่นเพียงครั้งเดียวเพื่ออัดลงเทปนั่นเอง

ความสนุกที่สื่อรสนิยมของคนยุคเทปอีกอย่างก็คือ การอัดเพลงโปรดจากรายการวิทยุ การอัดเพลงลงเทปแบบนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และเทคนิคการอัดของแต่ละคน เพราะการอัดเพลงจากรายการวิทยุค่อนข้างซับซ้อนและมีปัญหายิบย่อย เพราะเวลาดีเจเปิดเพลงมักพูดลากยาวจนกระทั่งเพลงขึ้นต้น การจะอัดเพลงโปรดโดยไม่ให้เสียงดีเจหลุดติดมาด้วยจึงเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง และใช่ว่าจะอัดได้เป็นที่น่าพอใจในครั้งเดียว บางครั้งต้องติดตามรายการนั้น อัดเพลงเดียวกันหลายครั้งเพื่อคัดเอาเวอร์ชันที่ดีที่สุดเก็บไว้ฟัง เสน่ห์อีกอย่างของการอัดเทปแบบนี้ก็คือ เราคัดเพลงเป็นเพลย์ลิสต์ของตัวเองได้ หรือทำเป็นรวมเพลงโปรดของตัวเองได้เลย ผมก็เคยไล่อัดเพลงจนเต็มม้วน แล้วเขียนสันเทปว่า My Favorite Song Vol.1 อะไรทำนองนี้ แต่ถ้าไม่สะดวกอัดเอง ยุคนั้นก็มีร้านขายเครื่องเสียงหรือร้านขายแผ่นเสียงที่รับอัดเทปด้วย แม้แต่รายการวิทยุอย่าง I.S. Song Hit ของคุณเล็ก วงศ์สว่าง (ล่วงลับไปแล้ว) ก็มีบริการรับอัดเทปด้วย คิดราคาตามความยาวของเทปที่หลักๆยาว 60 นาที กับ 90 นาที ส่วนความยาว 45 นาที 70 หรือ 80 กระทั่ง 120 นาทีผลิตให้เลือกซื้อในภายหลัง นอกจากนี้เนื้อเทปยังมีหลายประเภท ทั้งธรรมดา (เนื้อธรรมดาที่เห็นได้ทั่วไป) เทปโครเมียม หรือ Type II ที่เก็บสัญญาณและรายละเอียดของดนตรีได้ดีกว่าธรรมดา สุดท้าย เทปเนื้อเมทัล ฉาบสารที่เพิ่มสมรรถภาพในการบันทึกสัญญาณเสียงลงแถบเทปได้ละเอียดและชัดเจนมากที่สุด ราคาก็แพงที่สุดด้วย ส่วนสนนราคาที่แต่ละร้านคิดแตกต่างกันไม่มาก ถ้าอัดเพลงยกอัลบัมแบบไม่เลือกเพลง ราคาค่อนข้างถูก ราวๆ 40-50 บาท แต่ถ้าเราทำเพลย์ลิสต์เลือกเพลงเองไปยื่นให้ร้าน ราคาค่าอัดก็สูงขึ้น อาจคิดนาทีละบาท หรือสูงกว่านั้น อีกทั้งต้องลุ้นด้วยว่าร้านมีแผ่นครบตามที่เราทำเพลย์ลิสต์หรือเปล่า


เทปอาจเป็นตัวชี้อนาคตของตลาดเพลงในอนาคต

จากที่เคยคิดว่าเทปเป็นแฟชันชั่วยามที่จะเลือนหายไปในเวลาไม่นาน ตอนนี้อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่แล้วครับ เมื่อเห็นตลาดขายเทปมือสองในเฟซบุ๊กซื้อขายกันแบบบ้าเลือด สู้ราคากันแบบไม่มีใครยอมใคร ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยหรือสากล จนบางครั้งรู้สึกอยากเอาเทปที่เก็บไว้มาขายด้วยเหมือนกัน ลองจับตาดูต่อไปครับ ถ้ามีบริษัทผลิตเทปเกิดขึ้นในไทยอีกครั้ง แสดงว่าเทปน่าจะก้าวขึ้นมาแชร์ตลาดเพลงได้ต่อจากแผ่นเสียงก็ได้ และอาจแซงหน้าแผ่นเสียงได้ด้วย เพราะราคาถูกกว่า เก็บรักษาง่ายกว่า และยังมีของกระจายอยู่ในตลาดอีกมาก รอให้คนที่มือถึงหยิบมาครอบครอง

 

--------------------------------------------------------------------------------

สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน

นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook