Produce 101 Japan : กงกรรมครั้งใหม่ของเหล่าติ่ง โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง | Sanook Music

Produce 101 Japan : กงกรรมครั้งใหม่ของเหล่าติ่ง โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

Produce 101 Japan : กงกรรมครั้งใหม่ของเหล่าติ่ง โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพิ่งผ่านการลุ้นระทึกและดราม่าปวดตับกับ Produce X 101 ไปเมื่อกลางปี ช่วงนี้เหล่าติ่งที่ชื่นชอบรายการแข่งขันแนวเซอร์ไวเวิลก็มีภาระต้องติดตามกันอีกรอบกับรายการ Produce 101 Japan ที่ออนแอร์มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนและจะถึงบทสรุปสุดท้ายในวันที่ 11 ธันวาคม

พูดแบบเข้าใจโดยง่าย Produce 101 Japan ก็คือรายการตระกูล Produce ในฉบับของญี่ปุ่นนั่นเอง รูปแบบการแข่งขันแทบจะเหมือนกันเด๊ะกับฝั่งเกาหลี นั่นคือผู้เข้าแข่งขันเป็นเด็กหนุ่มทั้งหมด 101 คน ผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุด 11 คนจะได้เดบิวต์อย่างเป็นทางการ กระทั่งการแบ่งรอบแข่งขัน รูปแบบเวที การจัดที่นั่งก็เหมือนกับเวอร์ชันดั้งเดิม แถมช่วงแรกๆ ของรายการยังไปถ่ายที่หอพักและสตูดิโอฝึกหัดเดียวกับ Produce เกาหลีด้วย

กระแส Produce 101 Japan อาจไม่ค่อยตูมตามในบ้านเรานัก สาเหตุหลักคือไม่มีซับไตเติ้ลภาษาไทยให้ดูอย่างเป็นทางการ อย่าว่าแต่ซับไทยเลย ขนาดซับอังกฤษแบบทางการก็ไม่มี สุดท้ายแล้วเหล่าแฟนๆ ต้องมานั่งแปลกันเอง เป็นเรื่องย้อนแย้งสิ้นดีที่ประกาศตัวเองว่าวงเดบิวต์จะเป็น Global Boy Group แต่ดันทำตัวเหมือนอยากดูกันเองแค่ในประเทศญี่ปุ่น ยังดีว่าทางช่องยูทูบของ Produce 101 Japan ยังทยอยลงคลิปให้ดู

อย่างไรก็ดี Produce 101 Japan มีความแตกต่างกับฉบับเกาหลีอยู่สมพอควร ในขณะที่ผู้เข้าแข่งขันเกาหลีส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีสังกัด แต่ของญี่ปุ่นนั้นระบุชัดเจนว่าต้องเป็นผู้เข้าแข่งแบบอิสระ นั่นหมายถึงว่าเด็กๆ หลายคนต้องยอมลาออกจากค่ายเพลงเพื่อร่วมรายการ แต่ด้วยความเป็นอิสระนี้เองทำให้วงเดบิวต์ของรายการจะเป็น "วงถาวร" ต่างจากของ Produce เกาหลีที่จะเป็นวงเฉพาะกิจชั่วคราว เพราะต้องกลับไปทำงานกับค่ายเดิม อย่างเช่น Wanna One ที่มีระยะสัญญาปีครึ่ง หลังจากนั้นก็แยกย้าย

06

ด้วยความเป็นเด็กอิสระ ฝึกฝนด้วยตัวเอง ความสามารถของผู้เข้าแข่งขันหลายคนเลยยังไม่ถึงขั้นสักเท่าไร ตอนดูออดิชั่นรอบแรกถึงกับกุมหัว ถึงกระนั้นมีหลายคนที่มีประสบการณ์ช่ำชอง ทั้งเคยเป็นไอดอลตั้งแต่เด็ก เป็นครูสอนเต้น หรือเคยเป็นแบกอัพแดนเซอร์มาก่อน รวมถึงสมาชิก 3 คนจากวงเคป๊อป HALO ที่ยุบวงไปแล้วและตัดสินใจดั้นด้นมาญี่ปุ่นเพื่อเริ่มต้นใหม่

อีกปัจจัยที่ทำให้การออดิชั่นหรือโชว์ใน Produce 101 Japan ไม่เร้าใจนักมาจากธรรมชาติของเพลงญี่ปุ่นที่บีทจะไม่ได้รุนแรง ท่าเต้นไม่เน้นความหวือหวา เพราะวงญี่ปุ่นเวลาขึ้นคอนเสิร์ตเขาจะร้องสด (ของเกาหลีท่าเต้นอลังการ จนต้องใช้วิธีลิปซิงค์ แบ็คกิ้งแทร็ก หรือพรีเรคคอร์ด) แต่ทั้งนี้ในรายการก็มีเพลงเคป๊อปเป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเพลงของ BTS, Seventeen หรือ EXO

ความต่างอีกอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Produce ฉบับญี่ปุ่นดูจะไม่ได้ตัดต่อแบบเน้นความขัดแย้งของผู้แข่งขันสักเท่าไร ฝั่งครูฝึกก็ไม่ได้ว่ากล่าวแบบเล่นใหญ่ ตามลักษณะของคนญี่ปุ่นที่มักจะพูดกันอ้อมๆ ดราม่าส่วนใหญ่ในรายการจะเป็นความท้อแท้และการลุกขึ้นสู้ของเด็กๆ เสียมากกว่า ตามคอนเซ็ปต์ของไอดอลญี่ปุ่นที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์พร้อม แต่ต้องมีความพยายาม อีกสิ่งน่าสนใจคือปกติแล้วผู้ชายญี่ปุ่นมักไม่ค่อยแสดงอารมณ์อ่อนไหวนัก การร้องไห้ในที่สาธารณะแทบเป็นเรื่องต้องห้าม ทว่าในรายการนี้เด็กหนุ่มร้องไห้กันกระจาย ประหนึ่งว่าเป็นพื้นที่ยกเว้นให้แสดงความอ่อนแอได้

สิ่งที่ Produce 101 Japan ต้องปรับปรุงโดยด่วนคือเรื่องโปรดักชั่นบนเวที จะเห็นได้เวทีมีอยู่รูปแบบเดียว แทบไม่เปลี่ยนฉากอะไรเลย (ในขณะที่ Produce ฉบับเกาหลีเปลี่ยนฉากกันเริ่ดหรูมาก) การจัดไลท์ติ้งและเคลื่อนกล้องก็แย่จนปวดใจ ทั้งไฟมืดมองไม่เห็นหน้าน้องๆ หรือกล้องไปจับภาพอะไรก็ไม่รู้แทนที่จะถ่ายหน้าคนร้อง ได้แต่หวังว่าทีมงานจะปรับปรุงเรื่องนี้ในช่วงท้ายของรายการ

ช่วงที่เขียนต้นฉบับชิ้นนี้ การประกาศลำดับครั้งที่สองรอบคัดเหลือ 35 คนเพิ่งผ่านพ้นไป ถึงตอนนี้เริ่มจะมองเห็น 11 คนสุดท้ายที่จะได้เดบิวต์ชัดเจนมากขึ้นเพราะอันดับค่อนข้างคงที่ น่าจะมีลุ้นเปลี่ยนแปลงแค่ช่วงอันดับที่ 9-11 เท่านั้น แต่ก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะมีการพลิกล็อกหรือไม่ แต่เดาว่าทีมงาน Produce 101 Japan คงไม่กล้าใช้อิทธิฤทธิ์เปลี่ยนโผแบบค้านสายตาคนดู มีบทเรียนจากฝั่งเกาหลีแล้วว่าการโกงคะแนนส่งผลเสียตามมาอย่างมหาศาล และที่สำคัญยุคนี้ #คนเขาดูออก จ้า

แถมท้ายด้วย 3 โชว์น่าประทับใจจาก Produce 101 Japan

เพลง "DNA" ของ BTS (ทีม 1) : รวมตัวท็อปของรายการอย่าง อิซเซย์ มาเมฮาระ, ทาคุมิ คาวานิชิ, คิมฮีชอน และ คิมยุนดอง ที่เต้นกันได้แข็งแรงน่าประทับใจ

 

เพลง "Wild Wild Wild" ของ Exile The Second (ทีม 2) : เป็นทีมที่มีสองดาวเด่นขาเต้นประจำรายการ นั่นคือ มาซานามิ อาโอกิ และ มาซาฮิโกะ อิมานิชิ (หรือฮิโกะจัง)

เพลง "Lemon" ของ Kenshi Yonezu (ทีม 1) : เพลงนี้เป็นเพลงที่ร้องยาก แต่ทีมนี้ทำได้ดีอย่างเซอร์ไพรส์ น่าเสียดายว่าส่วนใหญ่ได้คะแนนโหวตไม่สูงนัก

____________________

kanchat

ผู้เขียน - คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

(Kanchat Rangseekansong)

เปิดโลกดนตรีและไอดอลกับคันฉัตร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook