ดราม่าเลข 8 เลข 9 อันไม่จบสิ้นของวง Girls’ Generation โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
ในจักรวาลเคป็อปที่มีเรื่องดราม่าเป็นร้อยเป็นพันแต่ละวัน ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนก็มีประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจ นั่นคือการโพสต์อินสตาแกรมสตอรี่ของคิมแทยอนแห่งวง Girls’ Generation
เรื่องราวเริ่มต้นจากการที่หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการร้องเพลง Voice Queen ที่ชื่อว่า ฮงมินจี ให้สัมภาษณ์ในรายการว่าเธอเคยเป็นเด็กฝึกของค่าย SM Entertainment มาก่อน และเกือบจะได้เดบิวต์ในฐานะวง Girls’ Generation เธอยังบอกว่าร้องไห้น้ำตาไหลเมื่อได้ดูมิวสิควิดีโอของวง เพราะเธอควรจะเป็นหนึ่งในคนที่ยืนอยู่ตรงนั้น
ทว่าแทยอนกลับโพสต์ในไอจีสตอรี่ของเธอว่า "พวกเราทั้ง 8 คน ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อจะได้เดบิวต์ในนามของ Girls’ Generation เราไม่ใช่วงที่เกิดขึ้นได้ในวันเดียว พวกเราไม่ใช่ป้ายรถเมล์ที่ใครจะแวะมาก็ได้" (แซ่บมากแม่) พร้อมตบท้ายว่าไม่อยากเห็นใครเอาชื่อวงไปอ้างทำนองนี้อีก หลังจากนั้นฮงมินจีก็ออกมาขอโทษผ่านอินสตาแกรมของเธอ
ที่จริงเรื่องควรจะจบเพียงเท่านี้ แต่กลับมีดราม่าต่อเนื่องจากการที่แทยอนเขียนว่า "พวกเราทั้ง 8 คน" เป็นที่ทราบกันดีว่าแต่เดิมนั้น Girls’ Generation มีสมาชิกทั้งหมด 9 คน ก่อนที่เจสสิก้าจะออกจากวงไปเมื่อกันยายน 2014 ปฏิกิริยาก็มีหลากหลาย ทั้งแซวขำๆ ว่าแทยอนลืมใครไปหรือเปล่า หรือบางคนตีโพยตีพายว่าทำไมถึงจงใจเลือกใช้เลข 8 แทนที่จะเป็น 9 อันที่จริงนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเรื่องทำนองนี้ ตอนที่มิวสิกวิดีโอเพลง "I Got A Boy" ครบ 200 ล้านวิวแทยอนโพสต์ไอจีแล้วแท็กทุกคนยกเว้นเจสสิก้า หรือ ชเวซูยอง ก็เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ Channel Girls’ Generation ว่า "อยู่ด้วยกัน 8 คนสนุกที่สุด"
จากแค่เรื่องของตัวเลขก็เลยกลายเป็นการถกเถียงกันยืดยาว บ้างก็ว่าแทยอนเขียนว่า 8 นั้นถูกต้องแล้ว เพราะตอนนี้เจสสิก้าไม่ใช่สมาชิกวงและมันเป็นมารยาททางธุรกิจวงการดนตรีด้วย แต่อีกฝั่งแย้งว่าแทยอนสามารถใช้คำว่า ‘พวกเรา’ หรือ "พวกเราทุกคน" ก็ได้นี่นา รวมถึงมีหลายคนที่เชื่อว่าแทยอนกับเจสสิก้าไม่ถูกกันจริงๆ ไปจนถึงคนที่บอกว่าพวกเรากำลังโฟกัสผิดจุดนะ ประเด็นของโพสต์นี้คือการไม่ให้ใครมาอ้างชื่อของ Girls’ Generation แต่ทำไมแฟนคลับวงดันมาตีกันเองล่ะค้า
จะเห็นได้ว่าแต่ละคนล้วนมีความเชื่อหรือเหตุผลในแบบของตัวเอง ผู้เขียนจึงนึกถึงประโยคคลาสสิกของ Michael Haneke ผู้กำกับชาวออสเตรียที่ว่า "ไม่มีความจริงสัมบูรณ์ (absolute truth) มีเพียงความจริงส่วนตัว (personal truth) เท่านั้น" อันหมายความว่าไอ้ "ความจริง" ถึงจะมีคำว่า "จริง" มันก็ไม่ได้แปลว่าจริงแท้แน่นอนเสมอไป ที่เราเชื่อว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ก็มาจากการรับรู้หรือการสังเคราะห์ของเราเอง ยกตัวอย่างกรณีการออกจากวงของเจสสิก้า ทั้งฝั่งเจสสิก้าและสมาชิก Girls’ Generation ก็น่าจะมีความเห็นต่อเหตุการณ์นี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะแต่ละคนล้วนมีมุมมองของตัวเอง เช่นนั้นแล้วคำถามที่ว่า "ทำไมเจสสิก้าถึงออกจากวง" จึงไม่มีวันจะมีคำตอบตายตัวสมบูรณ์แบบ
ดังนั้นเมื่อความจริงกลับกลายเป็นสิ่งที่มีความเป็นส่วนบุคคล (subjective) มันก็เลยมีความหลากหลายขึ้นมา เหตุการณ์หนึ่ง หรือประเด็นหนึ่ง แต่ละคนจึงมองมันไม่เหมือนกัน (เช่นเรื่องการเขียนเลข 8 ของแทยอนนี่แหละ) ความดราม่าจะไม่เกิดเลยถ้าลองมองแบบกว้างๆ ว่าเบื้องหลังของเลข 8 นี้มันมีมากมายหลายประการ มันไม่จำเป็นจะต้องมีเหตุผลอย่างเดียว (โดยเฉพาะตามแบบที่เราเชื่อ) คนที่จะรู้ว่าทำไมถึงเป็นเลข 8 ก็คือตัวแทยอนเอง ซึ่งเราไม่มีวันรู้ถึงสิ่งนั้นได้และป่วยการจะไปนั่งเดา
อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนคิดถึงจากดราม่าครั้งนี้คือเรื่องความไม่สมดุลในโลกโซเชียล ในฝั่งหนึ่งก็มีการ bully กันอย่างรุนแรง (เช่น การรุมด่า หรือการเชียร์ให้คนฆ่าตัวตาย) หากอีกฝั่งหนึ่งก็จะคอยแก้ไขหรือขัดขวางไม่ให้คนอื่นแสดงความเห็นในแบบที่ตัวเองคิดว่าไม่สมควรหรือไม่ถูกต้อง ที่เรียกกันว่า Over-Political Correctness หรือ Over-PC นั่นเอง
ตามจริงแล้วมุกเลข 8 เลข 9 เป็นสิ่งที่แฟนคลับ Girls’ Generation เอามาล้อกันเองในเชิงตลกขบขันอยู่เสมอ บางครั้งยังจิกกัดตัวเองด้วยซ้ำ เช่นว่าเห็นรูปหมู่ของวงทีไรก็ต้องนับทุกทีว่านี่ 8 หรือ 9 คน อย่างกรณีโพสต์เลข 8 ของแทยอนเลยเอามาแซวกันขำๆ ว่าแทยอนแค้นฝังลึกเจสสิก้า หรือเจสสิก้าไม่ถูกใจสิ่งนี้ เป็นต้น ทว่าแฟนคลับหลายคนไม่ตลกกับสิ่งนี้ด้วย บ้างก็ว่าไม่เหมาะสม บ้างว่ามันทำให้เขารู้สึกไม่ดี ไม่สบายใจ
มันนำมาซึ่งคำถามว่าเวลาเล่นมุกตลกนี่เราต้องมีความ PC ขนาดไหน หรือเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเล่นมุกตลกที่ไม่ทำร้าย (offend) คนอื่น ลองนึกถึงพวกเดี่ยวไมโครโฟนดังๆ ในโลกตะวันตกที่เล่นมุกกันรุนแรงมาก เช่น Aziz Ansari แซวคนดูว่า "ทำไมคนเกลียดที่ R.Kelly ล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง แต่โอเคที่ Michael Jackson ตุ๋ยเด็กวะ" หรือ Dave Chappelle พูดในโชว์ว่า "เราทุกคนเคยถูกล่วงละเมิดตอนเด็กทั้งนั้นแหละ แต่เราไม่ได้ถูก Michael Jackson อมxxx เราเลยไม่มีเรื่องเล่า" แต่คนดูก็ฮาแตกไปกับมุกเหล่านี้ได้
อาจเพราะ Ansari กับ Chappelle พูดในฮอลล์สำหรับเดี่ยวไมโครโฟน เป็นพื้นที่ที่คนดูจ่ายเงินมาเพื่อขำและพอจะรู้ว่าต้องเจอกับอะไร ถ้าเปลี่ยนเป็นการเขียนข้อความเหล่านี้ทางทวิตเตอร์ พวกเขาน่าจะโดนกระแสแง่ลบไม่น้อย เช่นเดียวกับชาวโซเชียลบางกลุ่มที่ไม่ขำไปกับมุกเลข 8 เลข 9 ด้วย กลายเป็นเรื่องเดิมๆ ประเภท "ซีเรียสกับตลก" แต่ก็นั่นแหละ ความตลกและซีเรียสของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และถ้าทุกคนคิดเหมือนกันผู้เขียนก็คงไม่ได้มานั่งฉอดบทความชิ้นนี้
____________________
ผู้เขียน - คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
(Kanchat Rangseekansong)
เปิดโลกดนตรีและไอดอลกับคันฉัตร
>> "แทยอน" โพสต์ IG ตอบกลับอดีตเด็กฝึก SM ที่อ้างว่า เกือบได้อยู่วง Girls’ Generation