5 ความประทับใจจาก “The Alex Blake Charlie Sessions” เทศกาลดนตรีแห่งความเท่าเทียม | Sanook Music

5 ความประทับใจจาก “The Alex Blake Charlie Sessions” เทศกาลดนตรีแห่งความเท่าเทียม

5 ความประทับใจจาก “The Alex Blake Charlie Sessions” เทศกาลดนตรีแห่งความเท่าเทียม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นเทศกาลดนตรีหยิบยกประเด็นเรื่องเพศและความเท่าเทียมทางเพศมาเป็นธีมหลักของงาน แต่ “The Alex Blake Charlie Sessions” ที่จัดขึ้น ณ สถานีพลังงานปาซีร์ ปันจัง ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ธันวาที่ผ่านมาก็เลือกเล่นกับความท้าทายนี้ และจัดงานเทศกาลดนตรีที่รวมเอาศิลปินหญิงแกร่งจากหลายประเทศทั่วโลกมารวมกัน เพื่อแสดงออกถึงพลังของผู้หญิงในอุตสาหกรรมดนตรีที่ถูกครอบครองโดยผู้ชายมาอย่างยาวนาน และพวกเธอก็พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า ผู้หญิงก็มีความสามารถในการสร้างสรรค์ได้เก่งกาจไม่แพ้ใคร แม้จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ก็ถือว่าสอบผ่านในทุก ๆ ด้านที่เทศกาลดนตรีงานหนึ่งจะสามารถทำได้ วันนี้ Sanook Music จึงขอรวบรวม 5 ความประทับใจจากเทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความเท่าเทียมทางเพศมาฝากทุกคน

1. โรงไฟฟ้าเก่า สถานที่จัดงานสุดฮิปและไม่เหมือนใคร

ทันทีที่ก้าวเท้าเข้าสู่บริเวณสถานีพลังงานปาซีร์ ปันจัง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานใหม่เอี่ยมอ่องของประเทศสิงคโปร์ เราก็รู้สึกได้ถึงพลังของตึกเก่าแห่งนี้ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่สำคัญของประเทศ แม้จะถูกปลดประจำการไปแล้ว ตัวตึกก็ยังคงเอาไว้ซึ่งความแข็งแรง แต่ในความแข็งแรงนั้นก็แฝงเร้นไปด้วยความงดงามของสถาปัตยกรรมและความเท่แบบโรงงานปูนเปลือยที่ยิ่งมอง ก็ยิ่งมีเสน่ห์ จนทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่านี่อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เทศกาลดนตรี “The Alex Blake Charlie Sessions” เลือกที่นี่เป็นสถานที่จัดงาน เพราะสถานีพลังงานแห่งนี้ก็เหมือนกับกองทัพศิลปินสาว ๆ ที่สวยงามแต่เข้มแข็งและทรงพลัง

เมื่อเดินเข้าไปในตัวอาคาร เราจะพบว่าด้านในถูกจัดเป็นโซนต่าง ๆ ให้ผู้ร่วมงานได้สนุกสนานไปกับกิจกรรมมากมายที่เตรียมไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเพ้นท์หน้าด้วยกลิตเตอร์ การจัดแต่งทรงผม โซนแทททูที่มีช่างวาดแทททูมืออาชีพมาสร้างลวดลายบนเรือนร่างของทุกคน แล้วก็ยังมีโซนอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีหลากหลายสไตล์ให้เลือกกิน เลือกดื่มได้ตามใจ

และที่ขาดไปไม่ได้ก็คือ “เวที” ซึ่งเทศกาลดนตรีในครั้งนี้ ได้แบ่งเวทีออกเป็น 3 เวที ประกอบด้วย The Nest, “A” Stage, และ Club B ซึ่งศิลปินก็จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นแสดงบนเวทีต่าง ๆ โดยไม่มีการแสดงซ้อนทับกัน ทำให้เราสามารถเดินไปดูการแสดงศิลปินทุกคนได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะพลาดการแสดงของศิลปินคนไหน

แอบบอกว่า ตอนไปถึงก็กลัวว่าข้างในจะร้อนอบอ้าวและอึดอัด แต่ปรากฏว่าด้านในอาคารมีการติดตั้งท่อลมให้ความเย็น จึงทำให้เย็นสบายและไม่อึดอัดเลยสักนิด แถมทำให้เรามีเรี่ยวแรงจะโยกย้ายส่ายสะโพกไปตามจังหวะเสียงเพลงตั้งแต่ต้นจนจบงานเลย

2. ศิลปินหญิงกับการแสดงที่ทรงพลัง

ถึงจะรู้ว่ามีศิลปินคนไหนมาร่วมงานบ้าง แล้วเราเองก็ทำการบ้านไปก่อนเล็กน้อย แต่ก็ยอมรับว่าแอบหวั่นใจ กลัวตัวเองจะไม่เอ็นจอยกับการแสดงของศิลปินอินดี้หลากหลายสไตล์ จากทุกสารทิศทั่วโลก แต่ SOAK ศิลปินชาวไอริชที่ขึ้นแสดงเป็นคนแรกก็ช่วยขับไล่ความหวั่นใจออกไปเสียหมด ไม่รู้ว่าเป็นเพราะน้ำเสียงที่ชวนฝัน สไตล์ดนตรีที่ชวนเคลิ้ม หรือความน่ารักของ SOAK กันแน่ แต่พอรู้ตัวอีกที เราก็สนุกไปกับเพลงอินดี้ที่ไม่เคยฟังมาก่อนเสียแล้ว... น่ารักจริง ๆ นะ

SOAKSOAK

Stella Donnelly Stella Donnelly

เมื่อเครื่องติด เราก็ปล่อยตัวปล่อยใจให้สนุกสนานไปกับเสียงดนตรีและการเอนเตอร์เทนของศิลปินสาว ๆ ที่ต่อแถวกันมามอบพลังให้แฟน ๆ ผ่านเพลงของพวกเธอ และหนึ่งศิลปินที่สร้างความประทับใจให้กับเรามาก ๆ ก็คือ Stella Donnelly สาวน้อยจากเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ที่ขนเพลงจังหวะสนุกและสดใสมาให้แฟนเพลงได้ขยับเนื้อขยับตัวกัน แต่ที่ประทับใจมากที่สุดก็คงจะเป็นเนื้อหาในเพลงของเธอ ที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเพศออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาและสะเทือนใจ โดยเฉพาะเพลง “Boys Will Be Boys” ที่ตอนนี้กลายเป็นเพลงโปรดของเราไปแล้ว

LÉONLÉON

อีกหนึ่งศิลปินที่ต้องขอพูดถึงคือ LÉON ศิลปินแสนสวยที่มาพร้อมเสียงอันทรงพลัง (ที่วันนั้นแหบเสน่ห์นิดหน่อยเพราะเธอเป็นหวัด) จากสต็อกโฮล์ม ตอนที่ทำการบ้านก่อนไปร่วมงาน ต้องยอมรับว่าไม่ได้ฟังเพลงของศิลปินสาวคนนี้เลย เรียกว่าไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ แต่การแสดงของเธอกลับเป็นการแสดงที่เราประทับใจมากที่สุด เพราะไม่ว่าจะเล่นเพลงไหน เราก็ส่งเสียงเชียร์เธอไม่ขาด แถมโยกตัวตามสุดแรงจนปวดเนื้อปวดตัวหลังจากนั้น

A/K/A Sounds A/K/A Sounds

 Anna of the North Anna of the North

นอกจากนี้ยังมี A/K/A Sounds ดีเจสาวชาวสิงคโปร์ที่มาเปลี่ยนบรรยากาศให้งานกลายเป็นปาร์ตี้สุดร้อนแรง Anna of the North ศิลปินสาวจากนอร์เวย์ ก็เป็นอีกคนที่เราประทับใจในเอเนอร์จี้บนเวทีของเธอ เรียกว่าเป็นสาวน้อยที่มีพลังเต็มร้อยจริง ๆ และศิลปินเจ๋ง ๆ อีกมากมายที่มาขึ้นเวทีให้เราได้โยกตาม ทั้ง Dream Wife, Charly Bliss, ALMA, Goat Girl, Cate le Bon, Kero Kero Bonito, Ginette Chittick และ Ladies of LCD Soundsystem สองสาวจากวง LCD Soundsystem ที่ถึงแม้จะมากันแค่สองคน แต่การแสดงของพวกเธอก็ตรึงแฟน ๆ หน้าเวทีได้อยู่หมัด ทุกคนแดนซ์กระจาย ปิดท้ายเทศกาลดนตรีพลังหญิงได้อย่างสมศักดิ์ศรี

3. ศิลปะพลังหญิงจาก 4 ศิลปินในอาเซียน

ไม่เพียงแค่นักร้องและนักดนตรีพลังหญิงเท่านั้นที่มาร่วมสร้างความสนุกสนานให้กับแฟนเพลงในเทศกาลดนตรี “The Alex Blake Charlie Sessions” แต่ภายในงานยังมี 4 ศิลปินสาว ตัวแทน 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้มาร่วมสร้างสีสันผ่านงานศิลปะของพวกเธอ ประกอบไปด้วย Aeropalmics จากสิงคโปร์, Diela Maharanie จากอินโดนีเซีย, Manje จากมาเลเซีย, และ OHFUTON จากประเทศไทย

ทั้ง 4 สาวได้เปลี่ยนผนังในอาคารให้เป็นภาพวาดที่สวยงาม ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบของตัวเอง ทั้งนี้ ผู้ร่วมงานสามารถถ่ายรูปผลงานได้อย่างอิสระ และที่เราประทับใจมาก ก็คือทีมงานของเทศกาลดนตรี ที่จะเดินถือกล้องโพราลอยด์และถ่ายรูปให้ผู้มาร่วมงานฟรี ๆ เพื่อเป็นของที่ระลึกกลับบ้าน... เราก็ได้มาตั้ง 1 รูป ถ่ายกับภาพวาดของ OHFUTON หรือคุณหทัยรัตน์ เจริญชัยชนะ (โอ๋) มือเบสแห่งวง Futon วงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติไทยที่หลายคนคิดถึงมาก ๆ

และภายในงานก็ยังมีมุมขายสินค้าที่มีภาพวาดของ 4 ศิลปินติดอยู่ มีทั้งเสื้อยืดและกระเป๋า แถมยังมีสินค้าของศิลปินที่มาขึ้นเวทีอีกด้วย เรียกได้ว่า ใครใคร่ซื้อ ก็ซื้อได้ ตามสบายงบในกระเป๋า แต่ต้องบอกว่าของที่ขายในงานน่ารักมากทุกชิ้น!

4. ห้องน้ำดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

เพราะเรื่องของห้องน้ำเป็นเรื่องจำเป็นของทุกคน โดยเฉพาะถ้าไปงานที่มีคนมาร่วมเยอะ ๆ เราก็กลัวเรื่องห้องน้ำในระดับปานกลางถึงมาก แต่หนึ่งความประทับใจจากเทศกาลดนตรี “The Alex Blake Charlie Sessions” ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือเรื่องของห้องน้ำ ที่สะอาดตั้งแต่เริ่มงานจนจบงาน ไม่รู้จะเป็นเพราะระบบการจัดทำความสะอาดที่ดี หรือเพราะคนไปร่วมงานช่วยกันดูแล แต่ห้องน้ำของงานนี้ขึ้นแท่นห้องน้ำสะอาดอันดับหนึ่งในใจของเราเลย (แถมยังติดแอร์ด้วยนะ)

ไม่ใช่แค่เรื่องห้องน้ำที่ขึ้นแท่นที่หนึ่งในใจ แต่ภายในงานก็สะอาด ปราศจากขยะตั้งแต่เริ่มงานจนถึงตอนโบกมือบ๊ายบายกลับบ้าน มีถังขยะกระจายอยู่ทั่วงาน แถมมีการเปลี่ยนใหม่ทุกครั้งที่ขยะเต็ม สำหรับเราแล้ว นี่เป็นการจัดการขั้นสุดยอด ที่ทำให้ไม่เสียอรรถรสการชมคอนเสิร์ต เพราะถ้ามีขยะอยู่เต็มไปหมด สถานที่จัดงานก็คงจะดูไม่น่าพิศมัยมากนัก ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอยกให้ “The Alex Blake Charlie Sessions” เป็นเทศกาลดนตรีที่จัดการเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. Alex Blake Charlie

เคยสงสัยก่อนไปว่าทำไมต้องใช้ชื่อ “The Alex Blake Charlie Sessions” จนได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมงานและได้คำตอบว่า ชื่อ Alex Blake และ Charlie เป็นชื่อทั่วไปที่ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นชื่อผู้หญิงหรือชื่อผู้ชาย จึงเข้ากับแนวคิดของงานที่ต้องการแสดงออกถึงความเท่าเทียมทางเพศของคน โดยไม่แบ่งแยกว่าคนนี้เป็นผู้ชาย คนนั้นเป็นผู้หญิง พร้อมกันนี้ ยังต้องการสร้างความตระหนักถึงช่องว่างของศิลปินหญิงและศิลปินชายในอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลก ที่ยังคงถูกครอบงำด้วยกลุ่มศิลปินและโปรดิวเซอร์ผู้ชาย งานเทศกาลดนตรีในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ทางศิลปะที่ให้โอกาสศิลปินหญิงจากทั่วโลกได้แสดงพลังและส่งเสียงต่อปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ยังมีอยู่ในสังคม โดยใช้ดนตรีและศิลปะเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องต่อสู้ และยังร่วมเฉลิมฉลองความแตกต่างทางเพศ ที่ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ทุกคนล้วนแล้วแต่มีศักยภาพและความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมเช่นเดียวกัน

สุดท้ายนี้ ในฐานะของคนที่ไม่เคยเสพเพลงอินดี้มาก่อน การได้ไปร่วมงานเทศกาลดนตรีในครั้งนี้ ถือว่าเปิดโลกทางดนตรีให้กับเรามาก ๆ ไม่ใช่แค่ดนตรีที่สามารถเชื่อมโยงคนต่างสัญชาติและต่างภาษาให้เข้าใจกัน แต่เป้าหมายที่ต้องการทำให้สังคมกลายเป็นสังคมที่เท่าเทียม ก็เป็นอีกปัจจัยที่เชื่อมโยงคนทุกคนภายในงาน สำหรับเราแล้ว ดนตรีก็ไม่ต่างจากเรื่องเพศ ดนตรีมีสไตล์และรูปแบบที่หลากหลาย เช่นเดียวกับคนที่มีเพศสภาพที่แตกต่างกัน เราเรียนรู้ที่จะเปิดรับและฟังเพลงหลายรูปแบบ ซึ่งนั่นไม่ต่างจากการที่เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนมากมายหลากหลายเพศสภาพ ดนตรีหลอมรวมคนให้เป็นหนึ่งเดียว การยอมรับและให้เกียรติกันในฐานะเพื่อนมนุษย์โดยไม่มีเงื่อนไขว่าเป็นเพศสภาพใด ก็คงทำให้สังคมกลายเป็นหนึ่งเดียวได้เช่นกัน

อัลบั้มภาพ 40 ภาพ

อัลบั้มภาพ 40 ภาพ ของ 5 ความประทับใจจาก “The Alex Blake Charlie Sessions” เทศกาลดนตรีแห่งความเท่าเทียม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook