ยุคทองเพลงลูกทุ่ง ความสุขที่ไม่มีวันหายไป | Sanook Music

ยุคทองเพลงลูกทุ่ง ความสุขที่ไม่มีวันหายไป

ยุคทองเพลงลูกทุ่ง ความสุขที่ไม่มีวันหายไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากย้อนดูในทุกช่วงเวลาและยุคสมัยของประเทศ เราจะพบว่าเพลงลูกทุ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมาเนิ่นนานและไม่เคยหยุดนิ่ง วงการลูกทุ่งมีการเปลี่ยนแปลงและปรับโฉมตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้ตัวเองยังคงอยู่ได้ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป เช่น ในช่วงปี 2506 – 2513 ซึ่งเป็นยุคที่เพลงสตริงเริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับวัยรุ่น แต่เพลงลูกทุ่งก็ไม่ได้นิ่งเฉย และเกิดเป็นการผลิตบทเพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน ครื้นเครง และแสง สี เสียง ที่ทำให้ผู้ชมผู้ฟังได้ตื่นเต้นเร้าใจ จนกลายมาเป็นยุคทองของเพลงลูกทุ่งที่หลายคนยังคงจดจำกันได้ เรื่องราวของวงการลูกทุ่งยุครุ่งเรืองถูกนำมาถ่ายทอดในงานเสวนาเรื่อง “ยุคทองบทเพลงลูกทุ่ง การสู้กันของคนในวงการลูกทุ่งยุคแสงสี” ที่จัดขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) เมื่อวันที่ 19 ธันวาที่ผ่านมา และ Sanook ก็ไม่พลาดที่จะไปฟังเรื่องเล่าสุดสนุกจากคนในวงการลูกทุ่ง เพื่อมาบอกต่อให้คนรุ่นหลังได้ฟังกัน 

ลูกทุ่งยุคสวนสนุก

เมื่อยุคของเพลงรำวงเริ่มชะลอตัว วงการลูกทุ่งจึงต้องปฏิวัติตัวเองเพื่อความอยู่รอด ก่อเกิดเป็นยุครุ่งเรืองของเพลงลูกทุ่งที่เริ่มตั้งแต่ยุคของครูสุรพล สมบัติเจริญ และเกิดนักร้องลูกทุ่งมากมายที่กลายมาเป็นตำนานให้คนรุ่นหลังได้เล่าขานกัน โดยเรียกยุคนี้ว่า “ลูกทุ่งยุคสวนสนุก” ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวงดนตรีลูกทุ่งขึ้นมามากมาย เพราะมีข่าวลือหลังจากครูสุรพลเสียชีวิต ว่าทำวงดนตรีลูกทุ่งแล้วจะรวย เป็นคนลูกทุ่งแล้วจะรวย คนจึงตั้งวงดนตรีมากขึ้น ใครที่กำลังมีชื่อเสียงก็ตั้งวงดนตรี และมีวงดนตรีเกิดขึ้นกว่าร้อยวง

ครูสุรินทร์ ภาคศิริ นักประพันธ์เพลงชื่อดัง เจ้าของบทเพลงฮิตอย่าง หนาวลมที่เรณู, วอนลมฝากรัก และ หนุ่ม ... ชี้ว่า ยุคสวนสนุกนั้น เปิดยุคด้วยไวพจน์ เพชรสุพรรณ กับสุรพล สมบัติเจริญ แต่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุคของสายันห์ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ, พุ่มพวง ดวงจันทร์ และสุรชัย สมบัติเจริญ

“เขาเรียกว่าลูกทุ่งยุค 3 แล้วนะครับ ยุคแรกก็คือครูคำรณ สัมบุญณานนท์ ช่วงต้นยุคที่ 2 ก็คือ สมยศ ทัศนพันธ์และเบญจมินทร์ ตามมาด้วยไวพจน์ เพชรสุพรรณ, สุรพล สมบัติเจริญ แล้วก็มาเป็นรุ่นของผม” แสนรัก เมืองโคราช โฆษกคนดัง ที่เคยร่วมงานกับตำนานเพลงลูกทุ่งมากมาย ทั้งสายันห์ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ และศรชัย เมฆวิเชียร เล่าย้อนกลับไป

ครูไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องลูกทุ่ง) ประจำปี 2540 อธิบายที่มาของชื่อยุคเอาไว้ว่า 

“ที่เรียกว่า สวนสนุก ก็เพราะในงานที่ไปเล่น จะมีหนังกลางแปลง มีลิเก มีรำวง ปาเป้า สาวตกน้ำ มันคล้ายกับงานวัดนั่นแหละ แต่บางงานก็ไม่ได้จัดที่วัด แล้วงานที่จัดที่วัด ก็จะใช้รั้ววัดล้อม ประตูวัดปิดหมด”

“ถ้ามีวงดนตรีลูกทุ่งมาเล่น ก็จะมีการล้อมรั้ว ล้อมสังกะสีหรือรั้วผ้าก็ได้ มีประตูเข้าไปอีกทีหนึ่ง ซื้อตั๋ว 20 บาท ผ่านเข้าไปแล้วไม่มีที่นั่งนะ ต้องไปซื้อเก้าอี้อีก 20 บาท เป็นว่าสมัยก่อน เวลาไปดูวงดนตรีลูกทุ่งต้องเสียเงิน 40 บาท ซึ่งถือว่าเยอะ แต่ว่ารักลูกทุ่งเสียอย่าง ยังไงก็ยอมเสีย” ครูสุรินทร์เสริม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งของวงดนตรีลูกทุ่งในยุคนั้น คือพื้นที่การแสดงที่มีจำกัด วงดนตรีแต่ละวงต้องรองานวัดหรืองานกาชาดจังหวัด ซึ่งจะจัดขึ้นเพียงปีละหนึ่งครั้ง ด้วยเหตุนี้ วงดนตรีลูกทุ่งจึงใช้วิธีการเดินสายไปตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า “การปิดวิก” 

ลูกทุ่งปิดวิก  

นอกเหนือจากการแสดงตามงานวัดที่มีข้อจำกัดด้านเวลา วงดนตรีลูกทุ่งสมัยนั้นใช้วิธีการเดินสาย หรือ “การปิดวิก” ซึ่งเป็นการใช้เงินลงทุนเอง โดยมักจะเช่าโรงหนังตามอำเภอต่าง ๆ และเปิดแสดง พร้อมเก็บบัตรเข้าชม โดยจะแสดงสองรอบคือ รอบบ่ายและรอบค่ำ การทำแบบนี้ คนในวงการลูกทุ่งเรียกว่า “งานเสี่ยง” ในขณะที่งานไม่เสี่ยง คืองานจ้าง ที่มักจะเป็นการออกแสดงตามงานวัดและงานกาชาดทั่วประเทศ 

“เก็บเงินกันได้หมื่นกว่า สองหมื่น ก็ว่าได้เยอะแล้วนะ สมัยก่อน เก็บได้หมื่นนึง ปานว่าได้แสนสมัยนี้ สมัยที่พ่อดัง น้ำมันโซลาร์ลิตรละ 50 สตางค์ ก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 สตางค์” ครูไวพจน์เล่าความหลังสมัยที่ยังพาวงดนตรีของตัวเองเดินสายปิดวิกทั่วประเทศ 

“สมัยก่อนแกไปเดินสายนะครับ อีกหน่อยก็เดินสายสิญจน์แล้วล่ะครับ” แสนรักเอ่ยแซว 

ทั้งนี้ ครูไวพจน์ยังเล่าถึงบรรยากาศของการเดินสายที่ขึ้นเหนือ ล่องใต้ ไปกันเป็นเดือน ๆ ว่ามีทั้งสนุก ทุกข์ สุข ปนเศร้า เคล้ากันไป มีความยากลำบากทั้งในเรื่องของการเดินทางและการพักผ่อน ที่ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนกับยุคของแสนรัก ที่เริ่มนอนพักตามโรงแรม และมีรถบัสปรับอากาศ 

“ในยุคที่อามาเป็นพิธีกร ลูกทุ่งเริ่มมีค่าแล้ว เริ่มไปนอนโรงแรม ไปกับศรชัยรู้จักโรงแรม ไปกับสายัณห์ สัญญา เริ่มรู้จักห้องแอร์ รู้จักโรงแรมแล้ว เพราะมันอัปเกรดขึ้น รถก็เอารถปรับอากาศมาให้ลูกน้อง” แสนรักเล่าบรรยากาศการเดินสายในยุคของตัวเอง  

ขณะที่ผู้ชมในยุคนั้นอย่างคุณเจเน็ต เขียว ก็เล่าประสบการณ์การไปดูการเล่นดนตรีปิดวิกของราชินีเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ว่าเป็นความประทับใจที่เธอจะไม่มีวันลืม 

“ตอนนั้นดูพี่ผึ้ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ค่ะ แฟนเพลงเยอะมาก พี่ผึ้งเก่งมาก ร้องเพลงอินเดียก็ได้ เราเห็นหางเครื่องของเขา ละลานตามาก ๆ เป็นการแสดงที่อลังการ ชุดสมัยก่อนก็สวยมาก เฟื่องฟูมาก ๆ ” คุณเจเน็ต เขียวเล่า 

รับศึกเพลงสตริง 

แม้ในยุคนั้น เพลงลูกทุ่งจะรุ่งเรืองมาก จนถือว่าเป็นยุคทองของเพลงลูกทุ่ง แต่เพลงสตริงก็เริ่มเข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลกับกลุ่มวัยรุ่นเช่นกัน ทว่าแสนรักก็ยืนยันว่าแม้เพลงสตริงจะมีอิทธิพล แต่ก็ยังเอาชนะเพลงลูกทุ่งไม่ได้ 

“ยุคนั้นเพลงสตริงก็มีอิทธิพล แต่ว่ายังผ่านลูกทุ่งไม่ได้ ยังตีลูกทุ่งไม่ขาด ก็จะมีรอยัลสไปรท์ส แกรนด์เอ็กซ์ แล้วก็จะมีพวก PM5 แต่ลูกทุ่งก็ยังคงรักษาความเป็นลูกทุ่งอยู่เหมือนเดิม” แสนรักชี้ 

เพราะเพลงสตริงเริ่มเข้ามาแบ่งตลาด เพลงลูกทุ่งจึงนิ่งเฉยไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น จึงเปรียบเสมือนยุคแห่งการแข่งขันของดนตรีสองรูปแบบ สำหรับวงการลูกทุ่ง เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ก็มีการสร้างสรรค์บทเพลงที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีการเล่าเรื่องผ่านเสียงเพลง จังหวะ ลีลาที่สนุกสนาน พร้อมกับเนื้อหาของเพลงที่ลึกซึ้งกินใจ และทำให้ผู้ชมผู้ฟังสามารถจดจำบทเพลงเหล่านั้นได้ 

ไม่เพียงรูปแบบการแสดง เนื้อหา และจังหวะของดนตรีลูกทุ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ลูกทุ่งในยุคนั้นยังมีเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่ใคร ๆ ต่างคิดถึง นั่นคือ ลีลาการพูดของโฆษกประจำวงดนตรี ที่คอยสร้างเสียงหัวเราะให้ผู้ชม พร้อมทั้งทำให้นักร้องและบทเพลงมีความหมายมากยิ่งขึ้น 

“นักร้องแต่ละคนไม่เหมือนกันนะครับ อย่างศรชัย  เมฆวิเชียร ก็จะต้องพูดว่า บรรดาแขกผู้มีเกียรติที่รักและเคารพยิ่งครับ นักร้องคนนี้จะโด่งดัง ก็ไม่โด่งดัง จะจมก็ไม่จม จะลอยก็ไม่ลอย ในผลงานทหารเกณฑ์ผลัดสอง ของครูสุรินทร์ เชิญครับ พบกับหวานใจตลอดกาล ศรชัย เมฆวิเชียร” แสนรักยืนพูดนำศิลปินอย่างที่เขาคุ้นเคย 

“ณ แหล่งนี้ที่พักจิต ณ แหล่งนี้เรามีมิตรที่ยิ่งใหญ่ ณ แหล่งนี้เรามีสุขกว่าที่ใด ณ แหล่งนี้มีสายธารใจไหลสู่เรา แฟนเพลงที่รัก บัดนี้ถึงเวลาที่ท่านจะพบกับนักร้องลูกทุ่งขวัญใจคนเดิม นักร้องผู้บุกเบิกและสร้างสรรค์ แฟนเพลงท่านผู้มีเกียรติที่รักและเคารพ ปีแล้วปีเล่า ปีเก่าปีใหม่ งานวิก งานวัด บ้านนอก ในกรุง บ้านทุ่ง แดนไกล ที่เขาสัญญาไว้ ต้องไปพบกับแฟนเพลงทุกสถานที่” แสนรักพูดต่อเมื่อผู้เข้าฟังเสวนาเรียกร้องให้พูดนำสายัณห์ สัญญา ให้ฟังบ้าง 

แสนรักชี้ว่าการพูดนำศิลปินนั้น ส่วนใหญ่จะพูดคำเดิม เพราะเป็นเสมือนสัญลักษณะประจำตัวของนักร้องคนนั้น ๆ ในขณะที่สายัณห์ สัญญามีประโยคที่เป็นสัญลักษณ์ของตัวเอง ยอดรัก สลักใจ ก็มีคำพูดนำที่แสนรักยังจำได้ไม่ลืมเลือน 

“ยอดรักเขาเป็นนักร้องหน้าทะเล้น ร้องเพลงสนุกสนานเป็นกันเองกับท่านผู้มีเกียรติ ได้รับฉายาว่าเป็นพระเอกลูกทุ่ง นักร้องอินเตอร์ แชมป์ห้าตำแหน่ง พระเอกลูกทุ่ง ยอดรัก สลักใจ” แสนรักปิดท้ายพร้อมเสียงปรบมือ  

ความสุขของทุกยุคสมัย 

แม้ปัจจุบันนี้ บทเพลงจากยุคทองของเพลงลูกทุ่งไทยจะถูกแทนที่ด้วยกระแสเพลงรูปแบบใหม่ ทั้งกระแสเพลงป็อปเกาหลี กระแสเพลงสตริง หรือแม้แต่เพลงลูกทุ่งอินดี้ที่เข้าถึงผู้คนได้ง่ายด้วยอินเตอร์เน็ต แต่เพลงลูกทุ่งในตำนานก็ไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้ฟัง ไม่ว่าจะได้ยินที่ไหน บทเพลงเหล่านี้ก็ยังสร้างความสุขให้ทุกอยู่เสมอ 

และหากสังเกตดูให้ดี เราจะพบว่าเพลงลูกทุ่งของไทยมีการปรับตัวเองอยู่เสมอ บทเพลงลูกทุ่งไม่เคยหยุดนิ่ง มีการต่อสู้เพื่อให้วงการเพลงลูกทุ่งอยู่รอดตลอดเวลา และเกิดเป็นวิวัฒนาการเพลงลูกทุ่ง จากเพลงจังหวะช้า ๆ เนื้อหาซึ้งใจ สู่เพลงจังหวะครึกครื้น พร้อมเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น เรียกได้ว่าเพลงลูกทุ่งมีการปรับ เปลี่ยน ประยุกต์ตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างกลมกลืนและอยู่คู่กับสังคมไทยเสมอมา 

คุณค่าของเพลงลูกทุ่งช่วยขับกล่อมผู้คนในสังคม ทั้งยังสะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคม และวัฒธรรมของไทยในแต่ละยุคได้อย่างทันยุค ทันสมัย และทันเหตุการณ์ แม้ท่วงทำนอง เสียงร้อง เนื้อหาของบทเพลงจะเปลี่ยนไป แต่เพลงลูกทุ่งก็ยังทำหน้าที่มอบความสุขให้กับคนไทยในทุกยุคทุกสมัยไม่เปลี่ยนแปลง 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook