ชวน สุกี้-เอิ๊ต ภัทรวี คุยเรื่อง “Gypsy Carnival 5” เพลงลูกทุ่ง ศิลปินอินดี้ และความรับผิดชอบ | Sanook Music

ชวน สุกี้-เอิ๊ต ภัทรวี คุยเรื่อง “Gypsy Carnival 5” เพลงลูกทุ่ง ศิลปินอินดี้ และความรับผิดชอบ

ชวน สุกี้-เอิ๊ต ภัทรวี คุยเรื่อง “Gypsy Carnival 5” เพลงลูกทุ่ง ศิลปินอินดี้ และความรับผิดชอบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แค่เห็นชื่อ “Gypsy Carnival” ความรู้สึกสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจก็พุ่งเข้าหาแทบจะทันที กับดนตรีดีๆ ที่มาควบคู่กับไลฟ์สไตล์แจ่มๆ แถมปีนี้ที่เดินทางเข้าสู่ปีที่ 5 ของงานจัดงานก็มาพร้อมกับธีม “งานวัดภูเขาทอง” ที่เชื่อมั่นเหลือเกินว่า ในวันพรุ่งนี้ (1 ก.พ. 63) ทุกอาณาบริเวณของ ต้นผึ้งฟาร์ม สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี จะเต็มไปด้วยความครึกครื้นอย่างสุดเหวี่ยงแน่ๆ

สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีในบทบาทมือกีตาร์วง พรู แต่สำหรับ Gypsy Carnival เขาคือผู้ก่อร่างสร้างทุกอย่างขึ้นมากับมือของเขา Sanook Music จึงชวนชายวัย 50 ปีผู้ยังมีหัวใจเป็นวัยรุ่นมาพูดคุยถึงการเติบโตของเฟสติวัลดังกล่าว พร้อมทั้งยังร่วมถกถึงความน่าเป็นห่วงในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สะท้อนกลับไปยัง “รีไซเคิลบูธ” ภายในงาน ซึ่งคราวนี้เขาก็ชวนศิลปินสาวมาแรงผู้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่าง เอิ๊ต-ภัทรวี ศรีสันติสุข มาร่วมพูดคุยด้วย

บทสนทนานี้จะเข้มข้นแค่ไหน ไปอ่านกัน

เอาเข้าจริงเทศกาลดนตรีในเมืองไทยมีมากมายหลายรูปแบบ Gypsy Carnival ที่เดินทางมาถึงปีที่ 5 มีความแตกต่างจากมิวสิคเฟสติวัลอื่นอย่างไร?

สุกี้: ความต่างคือ... เราไม่ใช่มิวสิคเฟสติวัล (หัวเราะ) Gypsy Carnival เป็น “มิวสิค แอนด์ ไลฟ์สไตล์” ตั้งแต่ปีแรก ผมมองว่าสมัยนี้ดนตรีอย่างเดียวมันไม่พอแล้ว คนที่มาเขาต้องการการมีปฏิสัมพันธ์ ต้องการสัมผัสประสบการณ์ มันเริ่มมาจากผมชอบดนตรีกับมอเตอร์ไซค์ ก็เลยเอามารวมกัน แต่พอผ่านไป 4-5 ปี มันมีความเป็นแฟชั่นโผล่เข้ามาแบบออร์แกนิก ก็เลยเป็นผลพลอยได้ อีกอย่างผมว่าจุดขายจุดหนึ่งของงานนี้คือ ธรรมชาติ 4 ปีที่ผ่านมาเราใช้เวลาสร้างเมืองยิปซี 1 สัปดาห์ งานเรามีวันเสาร์ พอวันอาทิตย์ 5 โมงเย็นเรามอบพื้นที่กลับคืนเจ้าของแบบเหมือนเดิม ไม่มีขยะ ผมเชื่อว่าเราเป็นเฟสติวัลเดียวในประเทศไทยที่มีรีไซเคิลบูธ ใครมาเราเอาถุงขยะให้ ขยะเต็มก็เอามาแลกของชำร่วย คือไม่ใช่แค่มาดูคอนเสิร์ต

ดนตรีอย่างเดียวมันไม่พอแล้วจริงๆ หรือสำหรับเทศกาลดนตรี?

สุกี้: ผมมองว่า ประเทศไทยมีอยู่แค่ราวๆ 50 วง จริงหรือเปล่าล่ะ? มันก็วนอยู่แค่นี้ ผมไม่ต้องพูดหรอกว่ามีใครบ้าง แล้วก็มีแต่ผมที่พูดประเด็นนี้มา 5 ปีแล้ว ไม่เห็นคนอื่นพูดแบบนี้บ้างเลย มันจะเป็นปัญหาในอนาคตนะ ถ้าศิลปินใหม่ในบ้านเราไม่เกิด มันก็ต้องกลับไปที่ศิลปินเก่า พวกรุ่นผมอายุ 50 กว่ากันแล้วนะ ป๊อด Moderndog ตูน Bodyslam ก็ 40 แล้ว พวกเราไม่เด็กกันแล้ว ใน 5 ปีที่ผ่านมาผมเห็น The TOYS คนเดียว แต่นี่มันก็เป็นมุมมองส่วนตัวของผมแหละ คือถ้ามิวสิคเฟสติวัลมีแต่ดนตรีอย่างเดียว มันก็วนอยู่แค่ 50 วง แล้วเดี๋ยวนี้คอนเสิร์ตมีทุกสัปดาห์ ผมเลยมองว่ามันต้องมีมากกว่าดนตรีน่ะ

Gypsy Carnival ปีที่ 5 มาพร้อมธีม “งานวัดภูเขาทอง”?

สุกี้: เราเปลี่ยนธีมทุกปี ปีนี้ครบรอบ 5 ปีเราก็เลยอยากจะฉลอง ผมก็บอกว่า ทำไมเราไม่ฉลองแบบไทย ก็เลยกลายเป็นธีมงานวัดภูเขาทอง แต่พอพวกเราทำก็อาจจะเป็นงานวัดแบบประยุกต์ เพราะเบื้องหลังเราไม่ใช่ลูกทุ่ง ภูเขาทองในงานนี้เลยจะเป็นผ้าขาวม้า ไฟนีออน กับขนนก ในงานก็มียิงปืน สาวน้อยตกน้ำ ส่วนในแง่ดนตรีถ้ามาทางนี้แล้วก็ต้องมีลูกทุ่งนิดนึง ก็ได้พี่ฮาย อาภาพร มาเล่นด้วย

สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์

คนที่เคยไปเที่ยวงานวัดก็จะเชื่อมโยงประสบการณ์ได้ง่าย?

สุกี้: ใช่ครับ แต่หัวใจของงานก็ยังเป็น Gypsy Carnival ภูเขาทองมันเป็นแค่ธีมในปีนี้ แล้วนอกจากพี่ฮาย ก็จะมี บริษัทฮาไม่จำกัด ด้วย ผมอยากเอาความเป็นไทยเข้ามาใส่ในงาน เอาเข้าจริงมันก็คือแบ็กกราวด์ของเรานั่นแหละ นอกจากนั้นแล้วผมก็อยากกลับไปที่รากเหง้าของตัวเอง ผมเป็นอินดี้ ถ้าเกิดมีคำถามว่า ใครก่อตั้งอินดี้ในบ้านเรา ก็คือพวกผม เบเกอรี่ มิวสิค แล้วผมสังเกตว่าประมาณ 4-5 ปีก่อน อินดี้มันหายไปเลยนะ แต่ 2-3 ปีให้หลังมันเริ่มกลับมา เริ่มมีกลุ่มของเขา ก็อยากจะเน้นตรงนี้ด้วย ก็ได้ Cat Radio ของคุณจ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ มาช่วย สร้างขึ้นมาอีก 1 เวทีก็คือ Cat Stage เอาศิลปินแนวหน้ามาเล่นเลย พวก Whal & Dolph, Safeplanet, Zweed n’ Roll, เอิ๊ต ภัทรวี, ไปส่งกู บขส. ดู๊, t_047, temp. ประมาณนี้

คุณมีความผูกพันกับภูเขาทองหรืองานวัดอย่างไรบ้างไหม?

สุกี้: ส่วนตัวไม่มีนะครับ ถ้าจะมีก็ภูเขาทองอยู่ใกล้บริษัทของตระกูลผม ถนนมหาชัยมันอยู่ตรงนั้น หรืออย่าง น้อย วงพรู น้องชายผมก็อาศัยอยู่แถวนั้น มันบ้า (หัวเราะ) มีแต่คนย้ายออกจากเยาวราชไปอยู่สุขุมวิท น้อยย้ายจากในเมืองไปอยู่ที่นู่น แล้วก็จะมีช่วงหนึ่งที่ผมหายไปจากวงการราว 10 ปี ผมขี่มอเตอร์ไซค์ไปต่างจังหวัดทุกเดือน ไปพวกตลาดโต้รุ่ง ผมว่ามันคือพื้นฐานของคนไทยนะ กรุงเทพฯ นี่ไม่ใช่ ผมคุยกับชาวต่างชาติเขาบอกว่า Bangkok is not Thailand ถ้าคุณอยากไปสัมผัสประเทศไทยจริงๆ คุณต้องไปน่าน ไปพะเยา จริงๆ คนไทยเป็นคนเรียบง่าย back to basic เดี๋ยวนี้กรุงเทพฯ มันเท่ไป มันฮิปไปหมด มันมีความเก๊กๆ อยู่ บางทีมันก็น่าเบื่อ

เอิ๊ต: เอิ๊ตยังไม่เคยไปงานวัดภูเขาทองเลยนะ แต่งานวัดธรรมดาก็เคยไปเดินเที่ยวบ้าง แต่เรามีเวลาแป๊บเดียว จริงๆ สิ่งที่ใกล้เคียงมากๆ ตอนสมัยเราเด็กก็คือละครมนต์รักลูกทุ่ง ทองกวาว อะไรแบบนี้ ชอบกลิ่นอายของมัน สีสัน ลูกโป่ง คือภาพมันมา ไม่รู้ว่าภาพมาจากไหนเหมือนกัน มันมีความสนุก

สุกี้: มันเฉิ่มดี

เอิ๊ต: มันจริงใจด้วย

อย่างเรื่องศิลปินลูกทุ่ง ทำไมต้องเป็น ฮาย-อาภาพร นครสวรรค์?

สุกี้: ลูกทุ่งมันจะมีอยู่สัก 3 แบบ รุ่นใหม่เลยอย่าง หญิงลี ศรีจุมพล ผมมองว่าก็อาจจะยังไม่เก๋าพอ หรือถ้าเป็นฟีลแบบ ก๊อท จักรพันธ์ มีแม่ยกมา มันก็ไม่ใช่เรา ตลาดของเราไม่ใช่ลูกทุ่ง เราคือตลาดฮิปสเตอร์ คุณอาภาพรเป็นอะไรที่แบบ... คุณไม่ฟังลูกทุ่งคุณก็รู้จักอาภาพร เขาคือไอคอน ถ้าให้เทียบกับเพลงเพื่อชีวิต พี่ปู พงษ์สิทธิ์ เขาข้ามไปได้ทุกงานนะ ผมมีความรู้สึกว่าพื้นฐานของพี่ฮายคือลูกทุ่ง แต่เขาสามารถข้ามไปสู่ทุกจุดได้

ฮาย-อาภาพร นครสวรรค์ฮาย-อาภาพร นครสวรรค์

ตื่นเต้นไหมที่จะเห็นดนตรีลูกทุ่งไปอยู่บนเวที Gypsy Carnival?

สุกี้: แน่นอน มันเป็นภาพที่ผมรู้ว่ามันจะเวิร์ก ในฐานะคนเบื้องหลังที่ทำตรงนี้มาเยอะ ผมวาดภาพมันออกว่ามันโอเค 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากทุ่มครึ่งไปแล้วใครขึ้นก็ได้ ขอให้โจ๊ะ ขอให้สนุก อย่างพี่ฮายนี่ผมอยากให้มีหางเครื่องแบบเต็มวงเลย ผมจำได้ตอนเด็กๆ คนใช้บ้านผมหนีไปเป็นหางเครื่องด้วย (หัวเราะ)

หรืออย่างฝั่งศิลปินอินดี้ วงอย่าง Safeplanet หรือ t_047 ก็มีแฟนคลับตามมาดูโชว์ของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ?

สุกี้: ผมว่ามันยอดเยี่ยมมากเลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันคือแบ็กกราวด์ของพวกผม มันเป็นจิตวิญญาณของอินดี้ มันเป็นสปิริตที่ผมชอบ เหมือนสมัยที่พวกผมเริ่มต้น กูจะทำของกูอย่างนี้ กูไม่เอาค่ายใหญ่ อย่ามายุ่ง แล้วมันไม่ใช่แค่ดนตรี แต่มันคือจิตวิญญาณ

กระแสอินดี้ในบ้านเรามันมีทั้งจุดรุ่งเรือง จุดที่ดูซบเซาลงไป จนมาถึง 2-3 ปีที่คุณบอกว่ามันเริ่มกลับมาอีกครั้ง เราอยากรู้ว่าในอนาคตมันจะมีโอกาสกลับมาพีคเหมือนตอนยุคเบเกอรี่ มิวสิคไหม?

สุกี้: วงการเพลงบ้านเรามันไม่ใช่ยุคนั้นแล้ว ไม่ต้องคุยถึงอินดี้เลย คุยถึงวงการเพลงโดยรวมเลยดีกว่า คือจะให้กลับไปเป็นไอ้วงการเพลงที่เราเคยรู้จักเมื่อ 15 ปีก่อน... มันหมดแล้วนะ เพราะเทคโนโลยี เพราะทุกอย่าง ถามว่ามีโอกาสไหม... ผมว่าไม่มีทางในมุมมองของผม มันจะมีช่วงหนึ่งที่ศิลปินอินดี้จะบอกว่า “ฉันเป็นอินดี้ ฉันจะแต่งตัวอย่างนี้” เออ โอเค มึงเก่ง แต่คุณต้องเข้าใจการตลาดด้วย ถ้าคุณไม่เข้าใจมาร์เกตติง คุณก็จะไม่เข้าใจอะไรเลย แต่พักหลังๆ ศิลปินเขาเริ่มเข้าใจว่า เขาต้องพีอาร์ เขาต้องทำการตลาด ไม่งั้นใครจะไปรู้จักคุณ ไม่ใช่แค่ทำดนตรีอย่างเดียวแล้วนึกว่าจะเปลี่ยนโลกได้ มันไม่ง่ายขนาดนั้น ผมว่าเริ่มมีศิลปินที่เขาเข้าใจตรงจุดนั้นแล้ว ต้องทำอย่างไรในยูทูบ ต้องโปรโมตอย่างไร ตรงนี้สำคัญนะ มันเรียกว่า Music Business คุณต้องมีตรงนี้ด้วย และต้องมีพรสวรรค์ด้วย

เอิ๊ต ภัทรวี: สำหรับเอิ๊ต เอิ๊ตมองคำว่าอินดี้ว่าเป็นการที่เราดูแล ผลิตผลงานด้วยตัวเอง โดยอาจจะไม่มีค่าย หรืออาจจะเป็นค่ายที่อนุญาตให้เราเป็นตัวของตัวเอง แต่ถ้าเป็นเรื่องแนวเพลง ตอนนี้เอิ๊ตมองว่าทุกคนทำเพลงเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น เหมือนมีการผสมผสานอะไรบางอย่างแล้วมารวมกันตรงกลาง อย่างวง Zweed n’ Roll ถ้าถอดดนตรีออกมาจริงๆ มันก็อาจจะเป็นเพลงป็อปฟังสบายถ้าเราเอามาเรียบเรียงใหม่ หรืออย่าง Whal & Dolph นี่เพลงโคตรป็อปเลย สำหรับเอิ๊ตไม่ได้รู้สึกว่าใครเป็นอินดี้หรือไม่ได้เป็น แต่ตอนนี้มันน่าสนใจตรงที่ทุกแนวมันมารวมกัน เอาความชอบมารวมกัน รวมถึงการที่เราอนุญาตให้เป็นตัวของตัวเอง ทุกคนชอบความเป็นตัวตนของแต่ละคน มันคือความยูนีก ไม่ใช่ความเพอร์เฟกต์

สุกี้: เมื่อกี๊เอิ๊ตพูดประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก นั่นคือ “ตัวเพลง” สิ่งนี้สำคัญที่สุดในวงการ ผมเคยพูดว่า “The song is the most important thing” ถ้าคุณเขียนเพลงไม่เป็นมันก็จบ อย่าง 2-3 ปีก่อนเอาแต่เรื่องซาวด์กัน เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันทำให้ทุกอย่างง่าย แต่เขาลืมไปว่า มันไม่ใช่เทคโนโลยี เพลงต้องมาจากหัวเราสิ

เอิ๊ต ภัทรวี และ สุกี้เอิ๊ต ภัทรวี และ สุกี้

ความเป็นตัวของตัวเองของศิลปินเพลงสำคัญมากน้อยแค่ไหน?

สุกี้: สำคัญสิครับ ศิลปินที่ดีคือศิลปินที่มีลายเซ็น ศิลปินที่ห่วยคือศิลปินที่ผมฟังแล้วผมไม่รู้ว่าพวกเขาคือวงอะไร มันเหมือนกันไปหมด มันก็ยังมีหลายวงตอนนี้นะที่เหมือนๆ กัน ซึ่งเขาจะอยู่ไม่นาน ดูศิลปินอมตะทั่วโลกสิ ทุกคนลายเซ็นชัดหมด ไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินเพลงด้วย ศิลปินอะไรก็ได้ อย่างวง U2 กีตาร์ขึ้นมาก็รู้แล้วว่าคือใคร

Gypsy Carnival คือเฟสติวัลรักษ์โลก?

สุกี้: ผมมองเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่นะ แต่ถ้าบอกว่าพรุ่งนี้โลกจะพังผมไม่เชื่อ ผมว่ามันข้อเท็จจริงอยู่ เรื่องอากาศนี่เรื่องจริง มันเป็นอะไรที่ทางรัฐต้องซีเรียสกว่านี้ เพราะมันกระทบกับพวกเรา ผมไปเฟสติวัลบางงาน มันไม่ใช่เละนิดเดียวนะ เละแบบ... What! มีความรับผิดชอบต่อสังคมสักหน่อยไหม มันน่าเกลียด ผมเชื่อว่าถ้าเราเจอสถานที่สวยๆ เราต้องทิ้งมันไว้แบบเดิม ผมเชื่อในสภาวะโลกร้อน ผมเชื่อว่าถ้าเราไม่เริ่มดูแลกัน ลูกหลานเราจะมีปัญหา ปีแรกที่ผมทำรีไซเคิลบูธ ผมก็ทำเป็นกึ่งๆ มุข แต่ผมสามารถทำทุกอย่างกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้หลังงานจบ ผมค่อนข้างภูมิใจตรงนี้ หรือคนนอกวงการเขาอาจจะคิดว่า แสงสีเสียง ศิลปิน เวทีมันยาก แต่สิ่งที่ยากจริงๆ คือ logistic คือเข้าออกอย่างไร ห้องน้ำ ระบบรักษาความปลอดภัย ขยะ การคุมคม คุณต้องลงทุนตรงนี้ต่างหาก ถ้าคุณไม่ลงทุนตรงนี้แล้วพัง มันไม่ตลกนะ พังแล้วเรื่องใหญ่

คาดหวังอะไรกับ Gypsy Carnival 5 ในหนนี้บ้าง?

สุกี้: ผมเชื่อว่างานๆ นี้สามารถเติมพลังให้กับคุณได้ และอยากให้คนแสดงกับคนดูเป็นหนึ่งเดียวกัน มันไม่ง่ายนะ แล้วปีหน้าเราน่าจะจัดคอนเสิร์ต B-Day อีกรอบหนึ่ง น่าจะสุดท้ายแล้ว แก่แล้ว ตอนประชุมผมก็บอกว่า ไม่จำเป็นจะต้องแสงสีเสียงเยอะ แค่ศิลปินที่ใช่ เพลงที่ใช่ ศิลปินไม่จำเป็นจะต้องเหาะออกมา (หัวเราะ) แค่ศิลปินมาให้ครบ และ Make a song is the right song. เท่านี้คนดูโอเคแล้ว แล้วค่อยมาเชื่อมต่อกันระหว่างคนดูกับคนเล่น เล่นแล้วไม่เชื่อมต่อกันมันเหนื่อยนะ มันอยากลงเวทีแล้ว (หัวเราะ) แต่เมื่อไหร่ที่คอนเนกต์กันติด มันคือความอัศจรรย์น่ะ อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ ชวน สุกี้-เอิ๊ต ภัทรวี คุยเรื่อง “Gypsy Carnival 5” เพลงลูกทุ่ง ศิลปินอินดี้ และความรับผิดชอบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook