เปิดตัว “MILK!” อะคาเดมีทางดนตรีในรูปแบบ Artist Service Platform ครั้งแรกในไทย | Sanook Music

เปิดตัว “MILK!” อะคาเดมีทางดนตรีในรูปแบบ Artist Service Platform ครั้งแรกในไทย

เปิดตัว “MILK!” อะคาเดมีทางดนตรีในรูปแบบ Artist Service Platform ครั้งแรกในไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แถลงข่าวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 สำหรับ “MILK!” ในบทบาทการเป็น Artist Service Platform ครั้งแรกของประเทศไทย นำทีมมาโดย 2 ผู้บริหารค่าย What The Duck ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทแม่ของ MILK! อย่าง มอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์ และ บอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา หรือ บอล Scrubb นั่นเอง

MILK! คือชุมชนคนดนตรีที่อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ For Better Community ถือกำเนิดจากไอเดียตั้งต้นของพฤติกรรมการฟังเพลงที่เปลี่ยนไป ด้วยจำนวนศิลปินซึ่งสามารถนำเสนอผลงานผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อัตราการปล่อยเพลงของศิลปินที่ถี่ขึ้น แนวเพลงหลากหลายมากขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงไทยในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ต่อยอดไปสู่แนวคิดที่อยากจะพัฒนาศิลปินอิสระกลุ่มนี้อย่างจริงจัง สนับสนุนและผลักดันพวกเขาให้เติบโตในทิศทางที่ถูกต้อง

MILK! ไม่ใช่ค่ายเพลง... แต่เปรียบเสมือนอะคาเดมี

มอย และ บอล เน้นย้ำบนเวทีตั้งแต่แรกว่า MILK! ไม่ใช่ค่ายเพลงดั่งเช่นที่ What The Duck เป็น โดยแตกต่างทั้งในเรื่องของแนวคิดและกระบวนการการทำงาน หาก What The Duck เปรียบได้กับทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง MILK! ก็คือทีมอะคาเดมีของสโมสรนั้น ศิลปินที่ทีมงานเล็งเห็นว่ามีศักยภาพจากการไปสเกาต์ (scout) ตามสถานที่ต่างๆ ก็จะมีการเชิญมาพูดคุย เซ็นสัญญา และเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแล ให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ ต่อไป

MILK! ย่อมาจากตัวอักษรภาษาอังกฤษ 4 ตัวคือ M = Music (ดนตรี), I = Independence (ความอิสระ), L = Learning (การเรียนรู้) และ K = Knowledge (ความรู้) ซึ่ง 2 บอสใหญ่อย่าง มอย และ บอล เน้นย้ำเรื่อง “ความอิสระ” มากที่สุด โดยอธิบายว่า ศิลปินที่เข้ามาอยู่ใน MILK! นั้นจะได้รับอิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ ไม่มีการไปเปลี่ยนตัวตนของพวกเขาแต่อย่างใด เพียงแต่จะให้คำปรึกษา คำแนะนำ เพื่อชี้แนวทางให้ศิลปินได้เรียนรู้ และค้นพบว่าสิ่งที่ดีที่สุดของพวกเขาคืออะไร

คัดเลือกศิลปินด้วยความชอบ... และสัญชาตญาณ

ระหว่างที่งานแถลงข่าวกำลังดำเนินไป พร้อมกับตัวแทนศิลปิน 3 เบอร์แรกของ MILK! อย่าง Loserpop, Quicksand Bed และ Varis ที่ขึ้นไปกล่าวความในใจ เราก็แอบสงสัยเล็กน้อยว่า 3 ศิลปินข้างต้นนั้นแตกต่างจากวง ลานดอกไม้ ที่เพิ่งจรดปากกาเซ็นสัญญากับ What The Duck ไปเมื่อไม่นานมานี้อย่างไร เพราะหากมองจากคนภายนอกเข้ามาก็จะรู้สึกว่า พวกเขาเหล่านี้ก็คือ “วงอินดี้” ไม่ต่างกัน

บอล ต่อพงศ์ ชี้แจงกับทีมงาน Sanook Music ว่า ในมุมมองของเขา ลานดอกไม้ ค่อนข้างชัดเจนในทุกองค์ประกอบ แนวทางการทำเพลง สไตล์ รวมไปถึง อัตราการเติบโตของแฟนของ ลานดอกไม้ ที่มีแบบก้าวกระโดด ซึ่งอาจจะแตกต่างจากศิลปิน 3 เบอร์แรกของ MILK! ที่กำลังเริ่มต้นและมีพัฒนาการที่ดีอย่างค่อยเป็นค่อยไป MILK! ก็จะมองว่าสามารถเพิ่มเติมทักษะในด้านใดเข้าไปอีกได้บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกล้วนแล้วแต่เกิดจาก “ความชอบ” และ “สัญชาตญาณ” ทั้งสิ้น

“ยกตัวอย่างง่ายๆ หากเป็นศิลปินของ What The Duck มันอาจจะเป็นคำแนะนำในเชิง มันควรจะเป็นแบบนั้น หรือ มันต้องเป็นแบบนั้นนะ อีกทั้งตัวศิลปินเองก็มีเป้าหมายที่ค่อนข้างชัดแล้วว่าตัวเองต้องการอะไร กว่าตอนที่เริ่มทำในช่วงแรก แต่สำหรับ MILK! มันจะเป็นเชิงคำถามมากกว่าว่า เป็นแบบนั้นดีไหม แบบนี้ดีกว่าหรือเปล่า แล้วให้ตัวศิลปินได้เรียนรู้ด้วยตัวของพวกเขาเอง” บอลอธิบายเพิ่มเติม

ห้าม ซ้ำ ชั้น!

ระยะเวลาที่ศิลปินจะมาอยู่ภายใต้การดูแลของ MILK! ตามข้อสัญญาคือ 2 ปี และสามารถเพิ่มได้อีก 1 ปี หากยังต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม หมดจากนี้ ศิลปินก็จะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง อาจจะกลับไปเป็นศิลปินอิสระเต็มตัวอีกครั้ง อาจจะมีค่ายน้อยใหญ่มาจีบให้ไปร่วมงาน MILK! เปิดอิสระให้กับศิลปินอย่างเต็มที่

ภายใต้ระยะเวลาดังกล่าว MILK! ก็พร้อมจะสนับสนุนศิลปินในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

  1. การพัฒนาศิลปิน (Artist and Repertoire) ทั้งเรื่องของเพลงและทัศนคติที่ดี
  2. การให้คำปรึกษาด้านการวางแผนการตลาด และประชาสัมพันธ์ (Marketing and communication consultancy) ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ, กลยุทธ์เกี่ยวกับ Relationship รวมไปถึงการทำงานกับสื่อต่างๆ ด้วย ซึ่งในจุดนี้ MILK! ได้พันธมิตรอย่าง CJWorx เอเจนซีชื่อดังของเมืองไทยมาวางกลยุทธ์ให้
  3. ทุนสนับสนุน (Funding) ซึ่ง MILK! มีทุนให้ไปทำเพลง รวมถึงโปรดักชั่นด้านต่างๆ แต่ละวงก็จะได้ทุนจำนวนหนึ่งไปจัดสรร ซึ่งเม็ดเงินตรงนี้ทางศิลปินไม่ต้องชดใช้คืนแต่อย่างใด

นอกจากนั้นทาง MILK! ยังเปิดอิสระให้กับการรับงานของแต่ละศิลปินที่สามารถรับเองได้ หรือจะให้ MILK! ประสานงานให้ก็ได้ โดยเป้าหมายสำคัญคือให้ศิลปินมี “พื้นที่” ในการแสดงความสามารถให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อีกทั้งยังได้อีกหนึ่งพาร์ตเนอร์อย่าง Believe Digital ซึ่งเป็น Music Distributor ระดับท็อปมาช่วยผลักดันเพลงสู่มิวสิคสตรีมมิ่งทั่วโลกได้อีกด้วย

ทำ MILK! แล้วได้อะไร?

อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ หลายคนคงสงสัยว่า MILK! จะสร้างรายได้กลับสู่องค์กรได้มากเท่าไหร่? ด้วยวิธีการไหน? มอย-บอล กลับตอบคำถามนี้ในทิศทางที่ต่างออกไป

“MILK! ไม่ใช่ยูนิตสำหรับการสร้างรายได้ โอเค มันอยู่ในลิสต์แหละ แต่มันไม่ใช่ priority แรก ใน 3 ปี 5 ปีข้างหน้าอาจมีรายได้เข้ามาก็ได้ แต่มันไม่ใช่ความตั้งใจของเราในตอนนี้”

ดูเหมือนว่าคำตอบของคำถามที่ว่า MILK! จะอยู่อย่างไร คงไม่สำคัญเท่า MILK! กำลังจะทำอะไรต่อ คงต้องติดตามกันต่อไป แต่อย่างน้อยในวันแถลงข่าว MILK! ก็ให้โอกาสและพื้นที่สำหรับ 3 วงอย่าง Loserpop, Quicksand Bed และ Varis ที่ได้พบปะสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ และได้โชว์ฝีมือการเล่นสดด้วยตัวตนของพวกเขาอย่างแท้จริงเรียบร้อยแล้ว

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ FB : MILKbkk

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ เปิดตัว “MILK!” อะคาเดมีทางดนตรีในรูปแบบ Artist Service Platform ครั้งแรกในไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook