4 วิธีปรับแต่งชีวิตกับการฟังเพลงในช่วงกักตัวเพราะ "โควิด-19" โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

4 วิธีปรับแต่งชีวิตกับการฟังเพลงในช่วงกักตัวเพราะ "โควิด-19" โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

4 วิธีปรับแต่งชีวิตกับการฟังเพลงในช่วงกักตัวเพราะ "โควิด-19" โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ได้ขึ้นหัวเรื่องผิดหรอกครับ แต่สถานการณ์รอบตัวและรอบโลกไปในทิศทางเดียวกันหมดอย่างนี้ เราจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักและเดินหน้าไปพร้อมกันร่วมกันครับ ทีนี้มันเกี่ยวอย่างไรกับเรื่องของเพลงและดนตรีที่ผมเขียนในแต่ละเดือน ครั้งนี้ก็ลากมาให้เกี่ยวกันจนได้ครับ เพราะตราบใดที่เรายังฟังเพลงและมีความสุขกับมัน แม้จะมีวิกฤตโควิด-19 มาเป็นอุปสรรค เราก็ทำให้มันเป็นโอกาสและยังมีความสุขกับการร่วมต่อสู้กับมันได้ครับ

ตามมาตรการเก็บตัวสู้โควิดของรัฐบาล หรือ Work from Home อาจทำให้เราหงุดหงิดหรือรู้สึกว่าง พานกังวลไปจนถึงขั้นวิตกได้ แต่เชื่อไหมครับ ถ้าคุณเป็นคนฟังเพลงและมีแผ่นเสียง เทป ซีดี ดีวีดี ฟัง คุณจะไม่รู้หงุดหงิดหรือว่างเลย ผมใช้เวลาช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเอง และเชื่อว่าถ้าเรายังคงทำงานตามปกติ ออกจากบ้านไปทำงานแบบไปเช้าเย็นกลับ เราอาจจะทำอย่างนี้ไม่ได้ด้วยซ้ำ หรือถ้าทำได้ อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนจนถึงเป็นปีเลยด้วย

 
เราทำอะไรได้บ้างในช่วงกักตัวและ WFH

  1. จัดระบบและระเบียบกับข้าวของที่เราใช้และเก็บสะสม

ในกรณีของคนฟังเพลงก็หนีไม่พ้นแผ่นเสียง เทป ซีดี ดีวีดีครับ ลองนำทุกแผ่นทุกม้วนที่มีมากองข้างหน้า แล้วบอกกับตัวเองว่า "เอาละ ฉันจะทำให้พวกแกอยู่กันเป็นหมวดหมู่ จะทำสำมะโนครัวพวกแกสักที" แล้วก็จัดการแยกทั้งหมดตามอักษร ถ้าเป็นเพลงสากลก็เรียบจาก A ถึง Z เพลงไทยเริ่มจาก ก ถึง ฮ ครับ ระวังนิดนะครับ สำหรับเพลงสากล หากเป็นศิลปินเดี่ยว ทั่วไปจัดเรียงโดยใช้นามสกุลนำ เช่น George Michael ต้องจัดอยู่หมวด M ครับ ใครเคยจัดตามสะดวกเอาชื่อเป็นหลัก อาจจะรู้สึกทะแม่งๆหน่อย แต่ทำไปเรื่อยๆจะคุ้นชินเองครับ 

ถ้าคุณมีปัญหากับการจัดเรียงตามตัวอักษร แนะนำให้แก้ปัญหาด้วยการจัดเรียงตามแนวเพลงหรือสไตล์ดนตรีครับ เช่น Pop, Jazz, Vocal, Rock, Country, Soundtrack แต่ถ้าแยกแยะตามแนวเพลงอย่างนี้ สุดท้ายคุณก็ต้องมาเรียงตามตัวอักษรอยู่ดี แต่ตัดปัญหาตรงที่แบ่งแยกแล้ว ค้นหาง่ายขึ้นครับ เพิ่มเติมครับ การแยกตามแนวเพลงคุณต้องแยกตามหลักนะครับ แยกตามความพอใจของตัวเองก็ได้ แต่คุณต้องจดจำเองว่าจัดศิลปินนั้นอยู่แนวไหน ตัวอย่างเช่น Grover Washington, Jr. เป็น Fushion Jazz คุณอาจจัดอยู่ในหมวด Jazz หรือ Smooth Jazz ก็ได้

 เมื่อแยกแยะตามอักษรแล้ว แต่ละศิลปินควรไล่เรียงตามปีที่ออกด้วย เพื่อจัดเป็น Discography ตาม Timeline จะทำให้เราทราบว่ามีผลงานของศิลปินรายนั้นกี่ชุดแล้ว มีครบหรือยัง ขาดชุดไหนบ้าง หรือต้องการแค่ชุดรวมเพลง ฯลฯ เหล่านี้คือประโยชน์ของการจัดหมวดหมู่แผ่นเสียง เทป ซีดี ซึ่งบางคนที่ซื้อเก็บสะสมไว้มากๆ เผลออาจเจอกรณีซื้อซ้ำ ซึ่งก็สามารถนำมาโพสต์ขายแผ่นที่ซ้ำได้อีกด้วย หาเงินมาซื้อแผ่นใหม่ที่ต้องการได้อีกทางหนึ่ง

 กรณีที่มีพื้นที่สำหรับเก็บจำกัด ลังกระดาษช่วยได้มากครับ โดยเฉพาะลังใส่น้ำมันพืชมรกตหรือลังใส่น้ำอัดลมขวดลิตรแบบเก่า สามารถใส่ซีดีได้สองชั้นพอดี ถ้าเป็นเทปก็สี่ชั้น แบบอัดแน่นเต็มลังครับ ขนย้ายสะดวก จัดหมวดหมู่ง่าย และไม่สิ้นเปลืองงบด้วยครับ ถ้าคุณพอมีงบมากหน่อย ซื้อตู้ใส่ก็ดีครับ เพราะมันเป็นระเบียบและดูสวยงามกว่า ตู้แบบที่ว่าเป็นตู้โปร่งไม่มีฝาปิดครับ เมื่อจัดเสร็จแล้วเห็นสันซีดีหรือเทปชัดเจนครับ สะดวกและสวยงามครับ

  1. จัดการกับส่วนเกินที่ข้าวของหลังจากจัดระเบียบเสร็จแล้ว

จากข้อ 1 เราจะได้ข้อสรุปสั้นๆว่าเราจะเก็บสะสมอะไรต่อไป และอะไรที่ไม่ต้องการ หากเราใช้จากการกักตัวตามวิกฤตโควิดให้เกิดประโยชน์อย่างชาญฉลาด นั่นหมายถึงว่านอกจากเราจะเอาเวลาไปหาซื้อของมาสะสมมาฟังแล้ว เรายังต้องผ่องถ่ายของที่เราไม่ต้องการแล้ว อันเนื่องจากมีซ้ำ หรือฟังมาแล้ว เริ่มเบื่อ หรือยิ่งไปกว่านั้น คุณเปลี่ยนแนวทางดนตรีที่ฟัง ของที่ซื้อมาฟังในอดีตตกยุคแล้ว จากที่เคยฟังเพลง Pop หันมาฟังเพลง Rock ก็ระบายของจึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะหาเงินมาเพื่อซื้อของที่ต้องการต่อไป 

อีกกรณีหนึ่งที่ต้องจัดการกับข้าวของ แม้เราอาจจะยังอยากเก็บเอาไว้ก็คือ พื้นที่อันจำกัด หลายคนอยู่อพาร์ตเมนต์ อยู่คอนโด หรือห้องเช่า ซึ่งเป็นอุปกรณ์พอสมควรในการฟังเพลงและเก็บสะสมแผ่นเสียง เทป ซีดี การนำสิ่งเหล่านี้มาหมุนเวียนเพื่อรักษาพื้นที่ในการจัดเก็บก็เป็นอีกสิ่งจำเป็น ผมมีห้องสำหรับเก็บแผ่นเสียง เทป ซีดีก็จริง แต่นานวันเข้า ผมก็เห็นว่าบางแผ่น บางม้วน เราคงไม่หยิบมาฟังอีกแล้ว หรืออาจจะหยิบมาฟัง แต่คงเป็น 5-10 ปีหยิบมาฟังสักครั้ง จึงจำเป็นต้องให้มันมีที่อยู่ใหม่ อาจจะไปอยู่กับคนที่ต้องการเก็บมันต่อ หรือมีคุณค่ากับคนใหม่มากกว่าที่จะอยู่กับเรา สุดท้าย อย่าเสียดาย เว้นแต่ว่ามันมีความหลังหรือผูกพันกับเรามาก สุดท้าย กลุ่มแผ่นที่ไม่ค่อยได้ฟังหรือนานๆฟังทีก็ต้องย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ในลังตามที่กล่าวไว้ช่วงท้ายข้อ 1 ครับ

  1. สร้างรายได้จากส่วนเกินของสะสม

แน่นอนว่าเมื่อทำทั้งสองข้างข้อข้างต้นแล้ว เราจะได้แผ่นเสียง เทป ซีดี ดีวีดีส่วนเกินมาจำนวนหนึ่ง เป็นแผ่นซ้ำ แผ่นที่ไม่ฟังแล้ว แผ่นที่เคยชอบ ไปจนถึงแผ่นที่เห็นแล้วงงว่าซื้อมาได้อย่างไร ฯลฯ เหล่านี้นำมาสร้างรายได้ด้วยการนำมาขายครับ ขายในเว็บขายของ เฟซหรือเพจขายซีดี แผ่นเสียงหรืออะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับสิ่งสะสมเหล่านี้ ทั้งนี้ก็เพราะมีโอกาสที่คนคอเดียวกันจะมาเจอ และติดต่อขอซื้อได้ไม่ยาก ช่วง WFH นี้ยังช่วยหารายได้จากขายแผ่นเก่าได้อีกด้วย
 

  1. แถมท้ายเรื่องนิตยสารและหนังสือเกี่ยวกับดนตรี 

ยุคนี้เป็นยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์แทบจะไม่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆเหมือนอดีตอีกแล้ว เผลอๆ อาจเป็นอันดับท้ายๆที่คนสมัยนี้จะหยิบมาอ่านด้วยซ้ำไป เพราะเราสามารถหาอ่านได้จากเว็บไซต์ ตลอดจนเพจเกี่ยวกับดนตรีที่มีอยู่ดาษดื่น ตอบสนองความต้องการได้ทุกรูปแบบ ทั้งฟังเพลง อ่านบทความ เล่นเกม และฐานข้อมูล

 

คนฟังเพลงที่อ่านหนังสือเพลงไปด้วยยังมีอยู่ครับ ทั้งอ่านจากหนังสือเก่าหรือหนังสือต่างประเทศที่มีขายตามร้านหนังสือนำเข้าชั้นนำทั่วไป ข้อดีของหนังสือก็คือ เมื่อซื้อมาอ่านแล้ว มันอยู่กับเราไปตลอด ไม่นับกรณีเสียหายหรือสูญเสียจากเหตุผลอื่น เช่น ปลวกกิน น้ำท่วม หรือถูกทำลายนะครับ หนังสือเพลงในอดีตที่ยังอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้จึงมีค่าและควรแก่การเก็บสะสม รักษาให้ดีเพื่อเป็นประโยชน์ในอนาคต ถ้าคุณมีพื้นที่จัดเก็บมาพอ ก็ไม่ทิ้งครับ แต่ถ้าจำเป็นต้องทิ้งจริงๆ ก่อนทิ้ง อาจแก้ปัญหาด้วยการสแกนทั้งเล่มเก็บไว้ในรูปแบบไฟล์ภาพ เซฟลงแผ่น CDR หรือฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ ประหยัดเนื้อที่และเก็บได้ไม่จำกัดจำนวนครับ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการเสียเวลาสแกนหนังสือทีละหน้า แต่คุ้มค่าแน่นอนครับ เพราะหนังสือเพลงบางเล่ม เป็นทั้งข้อมูลและความบันเทิงไปพร้อมๆกัน ทุกวันนี้ผมยังท่องเว็บขายหนังสือเก่าเพื่อตามหาหนังสือเพลงในอดีตมาอ่านอยู่ครับ ขณะเดียวกันก็ซื้อหนังสือเพลงจากต่างประเทศที่มีขายอยู่เป็นระยะ คนฟังเพลงไม่อาจหย่าขาดจากข่าวสาวความเคลื่อนไหวในวงการได้ครับ

ที่กล่าวมาทั้งหมด คุณอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึงหลายเดือนในการจัด ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีสมบัติส่วนตัวเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด กรณีของผมคงต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะจัดไปเรื่อยๆและนิสัยเสียอย่างหนึ่งคือ เวลาจัด เมื่อเจออะไรที่คาดไม่ถึงก็มักเอามาลูบคลำหรือเปิดฟังเสมอ ทำให้ไม่เสร็จสักที เพราะบางวันก็เปิดฟังหลายแผ่น เจอหนังสือเล่มที่ลืมไปแล้วว่าเคยซื้อ ก็เอามานั่งพลิกไปมา อ่านช่วงที่่อยากอ่าน ทำให้การจัดเก็บยืดยาวออกไปอีก ถ้าคุณเป็นละก็ อย่าตำหนิตัวเองครับ เพราะมันเป็นความสุขอย่างหนึ่งกับการได้พินิจพิจารณาและรำลึกความหลังกับสมบัติส่วนตัวเราเอง

หวังว่าทุกคนคงสนุกและมีความสุขในช่วง WFH ที่ยังไม่ทราบว่าจะยุติเมื่อไรนะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook