KPOP 101: รวมคำศัพท์ คำย่อ จากแฟนไอดอลเกาหลีในทวิตเตอร์ | Sanook Music

KPOP 101: รวมคำศัพท์ คำย่อ จากแฟนไอดอลเกาหลีในทวิตเตอร์

KPOP 101: รวมคำศัพท์ คำย่อ จากแฟนไอดอลเกาหลีในทวิตเตอร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในโลกทวิตภพ หรือ Twitter ที่เป็นโลกแห่งการจำกัดตัวอักษรไม่เกิน 280 อักษร เคยเข้าไปอ่านข่าวศิลปินเกาหลีแล้วงงเป็นไก่ตาแตกบ้างไหมว่าเขาคุยเรื่องอะไรกัน ทำไมอ่านไม่รู้เรื่องเพราะตัวย่อและศัพท์เฉพาะเยอะไปหมด มาดูคำศัพท์ที่เราอยากแนะนำให้รู้จัก เพื่อที่จะทำให้คุณตามอ่านข่าวศิลปิน K-POP อย่างโปรมากขึ้นกัน

 

K-POP Vocabulary 101:

ทล 

- ไทม์ไลน์ (Timeline) เหมือนหน้า feed ใน Facebook

รีล่า

- รีทวิต (retweet) อันล่าสุด

เมน 

- สมาชิกในวงที่ชอบเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่จะเป็นคนเดียว (แฟนต่างประเทศจะใช้คำว่า bias)

FYI: ส่วนใหญ่แฟน K-POP จะชอบเลือกเมนในวงที่ตัวเองชอบกัน และมักจะเป็นคนเดียว หากเราบอกว่าเราชอบวงนี้ บทสนทนาจากอีกฝ่ายมักจะถามเราว่า “เธอเมนใคร?”

เมนรอง 

- สมาชิกที่ชอบรองลงมาจากเมนหลัก

เหนือเมน 

- สมาชิกที่ชอบเป็นพิเศษนอกจากเมน หมายถึงคนที่แอบทำให้เราปันใจ แอบเหลียวมอง แอบกรี๊ดให้บ้างเวลาเขา/เธอปรากฏตัวพร้อมเมนหลักของเรา

เมนโวคอล เมนแดนซ์ เมนวิชวล 

- ตำแหน่งของสมาชิกในวงว่าเป็นสมาชิกที่มีความสามารถทางด้านการร้องเพลงเป็นพิเศษ (เมนโวคอล) การเต้น (เมนแดนซ์) หรือเป็นหน้าตาของวง (เมนวิชวล) หมายถึงเป็นสมาชิกที่มีหน้าตาดี โดดเด่นเป็นพิเศษ

โมเมนต์

- ช่วงเวลาพิเศษๆ ที่น่าจดจำ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเรากับศิลปิน หรือศิลปินด้วยกันเอง

ชิป / ชิปเปอร์ / เรือ / เรือล่ม / เรือแล่น / เรือผี

- ในสังคม K-POP ชิป (ship) คือการจิ้น เป็นความชอบที่เราได้เห็นสองสมาชิกที่เราชอบอยู่ด้วยกัน ทำอะไรด้วยกัน

- ชิปเปอร์ หมายถึง คนที่เป็นคนชิปสองสมาชิกนั้นๆ เช่น แจยงชิปเปอร์ (แฟนคลับที่ชิปคู่แจฮยอน และแทยง NCT)

- เรือ เป็นคำแปลจาก ชิป (ship) หมายถึงคู่ที่เราชิปมีรูปคู่กันออกมา เช่น คู่ที่เราชิปปล่อยรูปคู่ออกมาใน Twitter เราอาจพูดได้ว่า เรือเรามา

- เรือแล่น หมายถึง คู่ชิปของเรามีโมเมนต์ที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น มีรูปคู่ชิปของเราเดินยิ้มกอดคอกันออกมาจากตึกบริษัท เราอาจบอกว่า วันนี้เรือแล่น

- เรือล่ม หมายถึง คู่ชิปที่จริงๆ มีคนชอบอยู่ แต่ในขณะนั้นอาจไม่มีโมเมนต์พิเศษเลย หรือสมาชิกสองคนนั้นมีคำพูด หรือการกระทำที่ทำให้แฟนคลับรู้สึกว่า สองคนนี้ไม่ได้สนิทกัน (อาจเป็นเพียงจังหวะสั้นๆ เท่านั้น) เช่น คู่ชิปของเราให้สัมภาษณ์ว่าต่างฝ่ายต่างไม่มีเบอร์มือถือของกันและกัน เราอาจแซวว่า วันนี้เรือเราล่ม

- เรือผี เป็นคำแซวเล่น ที่หมายถึงการจับคู่ชิปที่แปลกประหลาด ไม่น่าจะมาคู่กันได้ อาจเพราะเป็นสมาชิกที่ดูไม่สนิทกันมาก ไม่มีโมเมนต์ให้เห็นเลย หรือดูแล้วเป็นโพเดียวกัน ไม่น่าจับคู่กันได้ ทั้งนี้เป็นคำแซวกันขำๆ เท่านั้น อย่าใช้คำนี้จริงจังนะคะ

โพ / สลับโพ

- มาจากคำว่า Position ที่หมายถึง “ตำแหน่ง” ในที่นี้หมายถึงมุมมองของเราที่มีต่อเมน หรือสมาชิกในวงว่าเรามองว่าเขาเป็นเป็นคนแมนๆ เท่ๆ เป็นน้องน้อยน่ารัก หรือเป็นลูกรักน่าเอ็นดู เป็นที่มาของคำว่า โพพี่ โพน้อง โพลูก หรือบางครั้งก็หมายถึงตำแหน่งการชิป ว่าเราชิปคนนี้เป็นพระเอก หรือนายเอก

FYI: การสังเกตุโพการชิป ชื่อที่อยู่ข้างหน้าจะเป็นโพพระเอก ชื่อข้างหลังจะเป็นโพนายเอก เช่น kookv (จองกุก กับ วี BTS) กับคนชิป vkook จะคนละโพกัน แบบนี้เรียกว่า สลับโพ ที่หมายถึงการสลับตำแหน่งชิป เช่น kookv กับ vkook

FYI 2: ในกลุ่มแฟนคลับ เรื่องของคู่ชิป และตำแหน่งโพเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาจมีคนที่ค่อนข้างจริงจัง และเป็นเรื่องความชอบส่วนบุคคล เราควรเคารพการชอบของแต่ละคน ไม่ก้าวก่าย ไม่บลัฟกันนะคะ

แม่ (เช่น แม่ไซต์ แม่เกา แม่จีน)

- หมายถึง เจ้าของแอคเคาท์แฟนคลับของศิลปิน ส่วนใหญ่จะเป็นแฟนคลับของสมาชิกคนเดียวในวง ที่คอยอัปเดตข่าวและรูปของสมาชิกคนนั้นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นแฟนคลับที่ตามถ่ายรูปสมาชิกคนนั้นๆ แล้วโพสต์ลง Twitter หรือเว็บไซต์ของเขา/เธอเอง จะเรียกว่า แม่ไซต์ (แฟนต่างประเทศอาจเรียก มาสเตอร์ หรือมาสเตอร์นิม ที่แปลว่า คุณมาสเตอร์) เจ้าของแฟนไซต์ต่างประเทศ เราอาจเรียกว่า แม่เกา (แฟนไซต์เกาหลี) แม่จีน (แฟนไซต์จีน) เป็นต้น

FYI: แฟนไซต์จีน มักมีชื่อว่า Bar เช่น LISA BAR หมายถึง แฟนไซต์ของลิซ่าในประเทศจีน

บ้าน

- แฟนไซต์ ส่วนใหญ่จะมีแฟนคลับเข้าไปเป็นสมาชิกในเพจ หรือเว็บไซต์ด้วย เช่น บ้านนายอน บ้านซากุระ

แฟนชานท์ / ชานท์

- การร้องตะโกนระหว่างที่ศิลปินทำการแสดง แฟน K-POP นิยมส่งเสียงตะโกนให้กำลังใจศิลปินขณะกำลังแสดงสดมากกว่าจะร้องเพลงตามไปทั้งเพลง โดยจะเลือกช่องว่างระหว่างท่อนตะโกนเรียกชื่อสมาชิกในวง หรือท่อนเพลงบางท่อน หรือบอกรักสมาชิกในวงเป็นคำสั้นๆ ระหว่างเพลง

FYI: แฟนชานท์ มีทั้งแบบที่แฟนคลับคิดคำคิดช่วงตะโกนขึ้นมากันเอง และแบบที่เป็นการกำหนดมาให้จาก Official หรือมาจากค่ายเพลงเอง แล้วแต่ค่ายแล้วแต่วง

เดบิวต์

- ศิลปินถูกปล่อยโปรโมตในฐานะศิลปินเป็นครั้งแรก เป็นการเปลี่ยนสถานะจากเด็กฝึกในค่าย เป็นศิลปินอย่างเป็นทางการ

พรีเดบิวต์

- มักเป็นคำที่ใช้พูดถึงรูป หรือช่วงก่อนที่สมาชิกคนนั้นจะเป็นศิลปิน อาจเป็นช่วงก่อนเป็นเด็กฝึก หรือช่วงที่เป็นเด็กฝึกในค่ายก็ได้

คัมแบ็ค

- ช่วงที่ศิลปินกลับมาปล่อยผลงานใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเพลงเดียว มินิอัลบั้ม หรืออัลบั้มเต็ม

พรีบั้ม

- มาจากคำว่า pre-order album ที่อาจมีแฟนคลับเปิดรับพรีออเดอร์อัลบั้มจากเกาหลี ซื้ออัลบั้มจากเกาหลีมาให้

FYI: การพรีอัลบั้ม ผู้เปิดพรีอาจรับซื้อซีดีจากเกาหลีให้ เพราะยอดซื้อในเกาหลีจะถูกนับคะแนนเข้ารายการเพลงต่างๆ หรืออาจพรีเพื่อขอสิทธิ์ในการลุ้นเข้า fan sign

(โฟโต้) การ์ด

- ในอัลบั้มของศิลปิน K-POP มักแถมรูปขนาดเท่าการ์ด หรือบัตรแบบสุ่มมาให้ด้วย แต่ละคนที่ซื้อไปจึงได้รูปสมาชิกไม่เหมือนกัน

FYI: แฟนคลับอาจซื้อใหม่จนกว่าจะได้การ์ดที่เป็นรูปเมนของตัวเอง หรืออาจขอแลกการ์ดกับแฟนคลับคนอื่นๆ

ไฮทัช

- กิจกรรมสัมผัสมือกับศิลปินที่จะเกิดขึ้นในงานแฟนมีตติ้ง แตะมือกันเหมือนไฮไฟว์ (High Five)

โฟโต้กรุ๊ป

- กิจกรรมถ่ายรูปกับศิลปินเป็นหมู่คณะพร้อมกับเพื่อนๆ แฟนคลับคนอื่นๆ (ที่ให้ถ่ายรูปพร้อมกันหลายๆ คนเพื่อเปิดโอกาสให้แฟนคลับหลายๆ คนได้ถ่ายรูปกับศิลปินมากกว่าการถ่ายรูปแค่คนสองคน)

แฟนไซน์ / ไซน์

- fan sign เป็นกิจกรรมที่ส่วนใหญ่ค่ายเพลงจะจัดขึ้นหลังจากศิลปินปล่อยผลงานใหม่ เพื่อให้แฟนคลับซื้ออัลบั้มนั้นๆ แล้วมีสิทธิ์ลุ้นเข้างานเพื่อรับลายเซ็นจากมือศิลปินโดยตรง

แฟนเซอร์วิส

- fan service เป็นการแสดงออกจากศิลปินที่มีให้กับแฟนคลับ เพื่อทำให้แฟนคลับมีความสุข อาจจะเป็นอะไรเล็กน้อยๆ เช่น การโพสท่าน่ารักๆ ทำมือรูปหัวใจส่งให้ ยิ้มให้ ขยิบตาให้ ไปจนถึงแฟนเซอร์วิสใหญ่ๆ อย่างการโอบกอด หรือมอบของขวัญให้

สตรีม

- stream หมายถึงการปั่นยอดวิวใน YouTube หรือปั่นยอดฟังใน online streaming service ต่างๆ

FYI: ศิลปิน K-POP มักถูกนับยอดวิว ยอดฟังเพลง เพื่อมอบเป็นรางวัลในรายการเพลงต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเพิ่งคัมแบ็ค

สวนแตง

- คำเรียกเล่นๆ สำหรับ MelOn ที่เป็น online streaming service ชื่อดังของเกาหลี

FYI: นอกจาก MelOn แล้ว ยังมีสตรีมมิ่งเซอร์วิสอื่นๆ ด้วย เช่น genie, soribada เป็นต้น

1st Win, 2nd Win…

- เมื่อไรที่เห็นชื่อศิลปิน หรือชื่อเพลงตามด้วยคำว่า 1st win หมายถึงศิลปินคนนั้น หรือเพลงนั้นคว้าชัยชนะมาจากรายการเพลงใดๆ ได้ 2nd win ก็หมายถึงการชนะรายการเพลงเป็นครั้งที่สอง

FYI: ศิลปินจะชนะรายการเพลงใดรายการเพลงหนึ่งได้ ต้องได้คะแนนจากหลายๆ ส่วน เช่น ยอดซื้ออัลบั้มแบบ physical ยอดดาวน์โหลดเพลงดิจิตอล ยอมสตรีมมิ่งเพลง ยอดวิว YouTube หรือคะแนนโหวตผ่านแอปพลิเคชั่น ฯลฯ

All Kill

- ออลคิล หมายถึงเพลงใหม่ที่ศิลปินเพิ่งปล่อยออกมาขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ในทุกสตรีมมิ่งของเกาหลี ทั้งในส่วนของชาร์ต Realtime (อัปเดตทุกชั่วโมง) และ Daily

PAK

- มาจาก Perfect All Kill หมายถึงเพลงที่ขึ้นอันดับ 1 หลังปล่อยทั้งในชาร์ต Realtime, Daily ของทุกสตรีมมิ่ง และ Weekly chart ของ iChart

FYI: จะได้ All Kill หรือ PAK จะมีประกาศอย่างเป็นทางการจาก iChart ที่เป็นชาร์ตรวมสถิติเพลงจากสตรีมมิ่งที่เข้าร่วม (เช่น MelOn, genie, Bugs, Soribada, FLO, VIBE ฯลฯ)

FYI 2: CAK มาจาก Certified All Kill เป็นคำเรียกย่อยว่าเป็น All Kill ที่ได้รับการยืนยันจาก iChart แล้วจริงๆ

ด้อม / กลับด้อม

- มาจากคำว่า fandom ที่หมายถึงกลุ่มแฟนคลับ กลับด้อม คือคำแซวเมื่อใครสักครที่ปกติชอบศิลปินคนหนึ่ง แต่กลับไปกรี๊ด หรือชื่นชอบอีกศิลปินหนึ่ง จึงอาจแซวว่า “มาๆ กลับด้อมเก่าก่อน”

คัมแบ็คสเตจ / come back stage

- การแสดงสดครั้งแรกในรายการเพลงในทีวี หลังปล่อยเพลงใหม่

กู๊ดบายสเตจ / goodbye stage

- การแสดงสดครั้งสุดท้ายในรายการเพลง (จบการโปรโมตเพลงนี้ในรายการเพลงอย่างเป็นทางการ)

โดนตก

- ได้ดูรูปหรือคลิปศิลปินคนหนึ่งแล้วรู้สึกตกหลุมรัก อยากเป็นแฟนคลับ

บง

- มาจากภาษาเกาหลี ที่หมายถึง แท่งไฟ

แฟนฟิค / ฟิค

- มาจากคำว่า fan fiction คือเรื่องแต่งที่แฟนคลับใช้ศิลปินเป็นตัวละครในเรื่อง

จอยลดา (จอย) / ReadAWrite (รอร) / เด็กดี

- แอปพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ที่เป็นศูนย์รวมแฟนฟิค

OP

- มาจากคำว่า Original Post หมายถึงเจ้าของโพสต์ที่เล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกมา แฟนๆ คนอื่นที่เอาไปเล่าต่ออาจจะโพสต์ว่า “OP เล่าว่าวันนี้ไปเจอศิลปินคนนั้นมา” เป็นต้น

แฟนแคม

- มาจากคำว่า fan camara ที่แต่ก่อนอาจมีคลิปของศิลปินที่แสดงอยู่บนเวที โดยคนถ่ายเป็นแฟนคลับที่ถ่ายโฟกัสเฉพาะสมาชิกคนใดคนหนึ่ง ปัจจุบันอาจมี fan cam แบบที่ Official ถ่ายแยกสมาชิกให้เองเลย และอาจจะเรียกว่า focus cam ก็ได้

ซาแซง

- มาจากภาษาเกาหลี ที่หมายถึงแฟนคลับที่ตามติดศิลปินมากเกินไปจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับศิลปิน เช่น แฮกเบอร์มือถือแล้วโทรเข้าไปป่วน ตามถ่ายรูปทุกฝีก้าวแม้เป็นพื้นที่และเวลาส่วนตัว เป็นต้น

แอคหลุม / แอคเห็บ

- แอคเคาท์ในทวิตเตอร์ที่อาจเป็นแอคเคาท์ที่สองหรือที่สามของคนใดคนหนึ่งในโลก Twitter ที่เอาไว้บ่นลอยๆ ไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง

ดิส / รูปดิส

- รูป Display กลมๆ ที่ใช้แสดงตัวตนใน Twitter

ออ อซ อซท นสจ บพ กัซ บทอ บท ทว ฯลฯ

- แฟนคลับไทยมักชอบใช้ตัวย่อเรียกชื่อวงของตัวเอง หรือชื่อค่าย เช่น ออ=SM, อซ=EXO ต้องอาศัยการเดาจากเนื้อหาในโพสต์ รูปดิสว่าเป็นแฟนคลับวงอะไร พูดถึงใครอยู่

มบ

- เมมเบอร์

แกรด

- มาจากคำว่า graduation จบการศึกษา ในบางวงที่มีระบบให้สมาชิกออกจากวงไปเมื่อถึงเวลา หรืออนุญาตให้สมาชิกออกจากวงได้เอง จะใช้คำว่า แกรด

ยูนิต

- เมื่อวงไอดอลวงใดวงหนึ่งที่มีสมาชิกหลายคน แยกกลุ่มย่อยออกมาเพื่อมีผลงานใหม่แยกออกมา มักจะเรียกว่าเป็นยูนิต หรือ sub unit ส่วนใหญ่จะตั้งชื่อยูนิตใหม่ที่สอดคล้องกับชื่อวงหลัก

ไตเติลแทร็ก 

- Title track หมายถึงเพลงที่ตัดโปรโมตจากอัลบั้มใหม่ที่ปล่อยออกมา (ศิลปินฝั่งตะวันตกจะใช้คำว่า ซิงเกิล)

B-sides

- เพลงในอัลบั้มที่ไม่ใช่ไตเติลแทร็ก (แตกต่างจากศิลปินตะวันตกที่จะหมายถึง เพลงแถมในแผ่นซิงเกิล ที่ไม่ได้อยู่ในอัลบั้ม)

มินิอัลบั้ม

- อัลบั้มที่มีเพลงไม่ถึง 10 เพลง (ศิลปินตะวันตกจะใช้คำว่า EP)

ไฮโน้ต

- ท่อนร้องเสียงสูงในเพลง (เพลง K-POP ส่วนใหญ่จะมีท่อนปล่อยของของเมนโวคอล)

แดนซ์เบรก

- ท่อนไม่มีเนื้อเพลงที่จะเป็นช่วงให้สมาชิกเต้นกันเต็มที่ และอาจเป็นช่วงปล่อยของของเมนแดนซ์

สโลแกน / ผ้าเชียร์

- อุปกรณ์เชียร์ศิลปินที่สามารถนำเข้าไปในคอนเสิร์ตได้ ศิลปินจะใช้คำว่า แบนเนอร์ (banner) ซึ่งทำจากกระดาษ แต่สโลแกนจะเป็นผ้า อาจเรียกว่า ผ้าเชียร์ ได้ มีทั้งแบบ Official และแฟนเมด

Season’s Greetings

- ปฏิทินพร้อมอัลบั้มรูปต่างๆ ที่ค่ายเพลงของศิลปินนั้นๆ จะปล่อยออกมาให้แฟนๆ จับจองกันในช่วงปีใหม่

 

ใครยังจำได้ไม่หมดก็ไม่เป็นไร เซฟบทความนี้ไว้ เจอคำแปลกๆ ก็มาเสิร์ชดูได้ และแน่นอนว่าในอนาคตอาจมีคำใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาอีก เพราะโลกออนไลน์ โดยเฉพาะโลกทวิตเตอร์ เป็นชุมชนรวมคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สุดๆ ค่อยๆ จำ ค่อยๆ เรียนรู้กันไป เดี๋ยวก็ชินเองค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook