“Dir En Grey” วงดนตรีที่ฆ่าไม่ตาย Part 1 โดย อริญชย์ Dose | Sanook Music

“Dir En Grey” วงดนตรีที่ฆ่าไม่ตาย Part 1 โดย อริญชย์ Dose

“Dir En Grey” วงดนตรีที่ฆ่าไม่ตาย Part 1 โดย อริญชย์ Dose
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อมตะกับฆ่าไม่ตายในวงการอื่นๆ อาจจะใช้เหมือนกัน แต่วงการดนตรีกลับไม่ใช่แบบนั้น วงดนตรีอมตะอาจจะกล่าวถึงวงที่มีบทเพลงตราตรึงใจคนอยู่ยาวนาน แต่ไม่จำเป็นว่าวงดนตรีนั้นจะต้องยังดำเนินอยู่ต่อไปหรืออาจจะยุบหรือไม่ยุบ ศิลปินอาจจะมีชีวิตอยู่หรือไม่มีก็เป็นได้อย่างวง Pause ที่นักร้องนำเสียชีวิตไปนานแล้วแต่วงยังมีเพลงอมตะ แต่วงดนตรีที่เรียกว่าฆ่าไม่ตายคือวงที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่อาจจะตายได้สักวันหรือเคยผ่านจุดต่ำสุดของชีวิวงดนตรีมาแล้วในไทยวงอย่าง Big Ass ก็นับเป็นหนึ่งในนั้นได้ แต่ในวันนี้ที่จะมาเล่าให้ชาวๆ คนเหงาหูฟัง จะไม่ได้กล่าวถึงวงไทย ไม่ใช่เพราะชังชาติ หรือไม่ชาตินิยมชมชอบแต่อย่างใด

แค่อยากยกตัวอย่างวงเอเชียหนึ่งวงที่สามารถทำให้ฝันของวงรุ่นพี่เป็นจริงได้ และสร้างความเป็นชาตินิยมออกไปได้กว้างไกลที่สุดวงหนึ่งในยุคสมัยของวงนั่นก็คือ วงดนตรีจากญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Dir En Grey

Dir En GreyDir En Grey

Dir en grey (เดอร์ ออง เกรย์)

ชื่อวงดนตรีนี้มาจากคำนี้มาจากการรวมกันของสามภาษาคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ แปลว่าเหรียญสีเทา วง J-Rock วงนี้เริ่มก่อตั้งวงเมื่อปี 1997 สมาชิกประกอบไปด้วย

Vocal - Kyo [เคียวไม่ใช่ชื่อจริงๆ เป็นชื่อที่เขาใช้เป็น AKA. เรียกตัวเอง]

Guitar - Kaoru

Guitar - Die

Drums - Shinya

Bass - Kizaki ภายหลังเปลี่ยนเป็น Toshiya

พวกเขากระโจนเข้าสู่เส้นทางสายดนตรีด้วยแนว Visual Rock ตามสไตล์สมัยนิยมของญี่ปุ่นในช่วงนั้น และเมื่อปี 1998 เพลงของพวกเข้าก็เข้าสู่ Top 10 Oricon Chart หลังจากนั้นทางวงได้สุดยอดตำนานที่ยังมีลมหายใจและเป็นรุ่นใหญ่ของวงการเพลงร็อคญี่ปุ่นนั่นคือ Yoshiki แห่งวง X Japan มาโปรดิวซ์ให้ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความยากลำบากของ Dir En Grey ที่ต้องต่อสู้เพราะเหรียญมีสองด้านเสมอ แน่นอนการได้คนเก่งมาช่วงทำงานและผลักดันเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่วงต้องแบกรับคือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกาะ Yoshiki ดัง ตัววงเองก็ฝีมือไม่เอาไหน แต่พวกเขาก็ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ และปล่อยซิงเกิลฮิตมากมายออกมา จนปี 1999 พวกเขามีผลงานอัลบั้มแรกชื่อ GAUZE ภายใต้สังกัดเวลานั้นคือจุดสูงสุดของยุคทองสมัยร็อคญี่ปุ่นครองเมือง และนี่คือจุดสูงสุดแรกของพวกเขาวงดนตรีที่มาจากโอซาก้า ไล่ตามความฝัน มีอัลบั้มประสบความสำเร็จ เป็นวงอายุน้อยที่สุดที่ได้เล่นที่ Nippon Budokan แต่หารู้ไม่ว่าพายุร้ายกำลังคืบคลานเข้ามาหาพวกเขา

ในปี 2000 ช่วง Tour อัลบั้มที่สองที่ชื่อว่า Macabre ตัว Kyo มีปัญหาป่วยหนักเพราะแก้วหูฉีกขาด ด้วยปัญหาการได้ยินเสียงต้องทำให้ Dir En Grey เลื่อนกำหนดการทัวร์คอนเสิร์ตในอัลบั้มที่สอง Kyo ขอลาออกเพื่อให้วงเดินต่อไปได้ แต่เพื่อนๆ กลับตัดสินใจรอและให้ Kyo ไปรักษาให้หายและจับมือเดินไปต่อด้วยกัน และหลังเหตุการณ์ Dir En Grey ได้ตั้งพันธะสัญญาว่า ต่อแต่นี้ไม่ว่าจะเกิดอะไร อนาคตจะเลวร้ายแค่ไหน วงนี้จะมีแค่พวกเราห้าคน และจะไม่มีวันทิ้งกันจากนี้และตลอดไป ปี 2001 พวกเขาปล่อยอัลบั้มที่สาม Kisou และเริ่มมี่ทัวร์ในแถบๆ เอเชีย เริ่มทำการแสดงประเทศจีน ไต้หวัน และเกาหลี และกลับมาปิดทัวร์ที่ญี่ปุ่น สิ้นสุดการทัวร์ Rettou Gekishin Angya ต่อด้วยปี 2003 Dir En Grey จัดคอนเสิร์ตที่ Akasaka Blitz 5 Day's โดยเล่นติดต่อกัน 5 วันตามธีมของแต่ละอัลบั้ม ซึ่งมาปิดด้วย Vulgar อัลบั้มที่ 5 ในวันที่ 5 พอดี และทัวร์ยาวไปยันปี 2004

ช่วง 2004-2005 กระแสดนตรีของโลกเริ่มเปลี่ยน ดนตรีหนักๆ เริ่มไม่ค่อยเป็นที่นิยมอีกต่อไป การมาถึงของยุคดิจิตอล การโหลดเพลงเถื่อน เว็บบิต โฟร์แชร์ แนปสเตอร์ ยอดขายวงดนตรีทั่วโลกค่อยๆ ตกลง แต่ Dir En Grey กลับเลือกเส้นทางที่เป็นตัวตนของพวกเขาคือทำอัลบั้มให้หนักขึ้นไปอีก เป็น Metal แบบเต็มข้อ ผลลัพธ์คือ แฟนคลับที่ญี่ปุ่นจึงหดหายลดตัวลง อย่างไรก็ตามพวกเขาไปเยือนทั้งเบอร์ลินและปารีส พวกเขาได้วง Eths ของฝรั่งเศสมาแสดงเปิดให้ ด้วยซึ่งวงคนขาวเปิดให้วงคนเหลืองคงจะมีน้อยมากๆ ในทัวร์ชื่อ It Withers and Withers ซึ่งเกิดการบอกปากต่อปากผ่านเว็บบอร์ดต่างๆ ในยุคนั้น และปี 2006 Dir En Grey ยังได้เล่นในเทศกาลดนตรีใหญ่อีกถึงสองงานคือ Rock am Ring และ Rock im Park หลายๆ คนมองว่าพวกเขาเข้าใกล้เส้นทางดนตรีระดับนานาชาติ แต่หารู้ไม่นี่คือหายนะของวงระลอกที่สอง

อย่างที่ทุกคนทราบ สองเทศกาลดนตรีดังกล่าวคือเทศกาลวงดนตรีร็อคที่ใหญ่ที่สุดสองงานของโลกแทบจะไม่มีวงจากตะวันออกวงไหนได้ไปเล่น คือแน่นอนว่าทุกวงฝันที่จะไปเล่น แต่จะมีสักกี่วงที่ทำได้จริง Dir En Grey คือวงนั้น บางทีมันอาจจะเป็นครั้งแรก ครั้งเดียว และครั้งสุดท้าย และเวทีที่เขาได้เล่นคือ Center Stage เวทีหลักที่ทรงเกียรติจากทั้งหมด 4 เวที ในบทสัมภาษณ์ที่ทางวงพูดถึงเวลาช่วงนั้น พวกเขากล่าวว่า ที่หลังเวทีพวกเขาได้แต่นั่งหลบมุมตัวเล็กๆ แอบมองวงดนตรีทั้ง A7X, Deftones, Metallica, GnR, Alice In Chains, Trivium, Tool, Stone Sour แต่ละวงแค่ได้ยินชื่อก็ขนลุก แต่พวกเขามีโอกาสได้เล่นเวทีเดียวกับวงระดับตำนานแบบนั้นทั้งหมด เหมือนจะดี แต่ที่แท้จริงกลับสร้างบาดแผลอย่างหนักให้วง

ในเวลาที่พวกเขาเล่นวันนั้น คนดูเรือนแสนรอคอยและคาดหวังจะเจอวงระดับโลก ก่อนขึ้นเวทีพวกเขากลัว ประหม่า และตื่นตระหนก แต่สิ่งเดียวที่พวกเขาคิดได้คือเล่นมันออกมาให้ดีที่สุด Rock am Ring สังเวียนนี้ไม่ใช่ที่ของวงธรรมดา คนดูบางส่วนโห่ไล่ บางส่วนเขวี้ยงของใส่ เขารู้ว่านั้นไม่ใช่ทีของเขาอีกต่อไป คอมเมนต์ในอินเทอร์เน็ตโคตรเดือดแบบลุกเป็นไฟ มีแต่คำก่นด่าทั้ง Yellow Monkeys, วงกาก, เล่นได้แค่นี้กลับบ้านไปกินกล้วยเถอะ เรียกว่าเหยียดเต็มข้อ แต่เหตุการณ์นี้แหละเป็นเหตุการณ์สำคัญ และนั่นคือจุดเปลี่ยนที่สองของวง

เมื่อกลับมาบ้านเกิด สิ่งเหล่านี้ที่ Dir En Grey ทำแทนที่จะสร้างบารมีให้วง ทำให้แฟนเพลงเชื่อมั่น แต่กลับสร้างบาดแผลให้แฟนเพลงที่ว่าเปลี่ยนตัวตนไปจนไม่เหลือความเป็นญี่ปุ่น เปลี่ยนตัวเองไปเป็นตะวันตกหมดแล้ว บางส่วนไม่ชอบเพลง แต่ก็ใช้การกระทำมากกว่าไม่ฟัง ยังคงคอยคอมเมนต์สร้างความเสียหายให้วงอย่างสนุกปาก ไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศ ไม่มีใครต้องการวงดนตรีวงนี้อีกต่อไป จากจุดสูงสุดของชีวิตนักดนตรีมาสู่จุดต่ำสุดของชีวิตนักดนตรี จากฮอลล์หลักหมื่นในอดีต ต้องกลับมาเริ่มที่ Live House อีกครั้งมีคนมาดูไม่กี่ร้อยหันมามองตัวเองก็เริ่มแก่ลงทุกวันเป็นแค่วงที่ดังในอดีต รู้สึกตัวอีกทีชีวิตมันก็ไกลเกินจะกลับตัว แต่พวกเขายังคงเล่นดนตรีต่อไป

โปรดติดตามตอนต่อไป...

เกี่ยวกับผู้เขียน
อริญชย์ แห่งวงดนตรี Dose กับเพลง 90s ที่จะมาระเบิดหู และเปิดหูเปิดตาคุณไปพร้อมๆ กัน

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ “Dir En Grey” วงดนตรีที่ฆ่าไม่ตาย Part 1 โดย อริญชย์ Dose

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook