คนฟังเพลงกับ New Normal ในอนาคต โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

คนฟังเพลงกับ New Normal ในอนาคต โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

คนฟังเพลงกับ New Normal ในอนาคต โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขออนุญาตกล่าวถึงอิทธิพลของเชื้อโควิด-19 ต่ออีกเดือนนะครับ ก่อนที่จะจากลาขาดกับมัน ผมมีความรู้สึกลึกๆว่าประเทศไทยจะบอกลากับมันได้ค่อนข้างแน่นอน เพราะประชาชนคนไทยค่อนข้างมีวินัยและปฏิบัติตามกฎกติกาของทางการอย่างเคร่งครัด เราจึงมียอดผู้ติดเชื้อน้อยลงจนเหลือ แค่หลักหน่วย ส่วนผู้เสียชีวิตก็เป็น 0 มาหลายวันแล้ว มองในแง่ดี เราจะได้ปลดล็อกกันในไม่ช้า แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้คือ การ์ดห้ามตก และเตรียมพร้อมกับการดำเนินชีวิตแบบ New Normal (ต่อไปจะขอย่อว่า NN ครับ) ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตแบบปกติเป็นกิจวัตรอย่างที่เคยเป็นมาแหละครับ แต่อาจมีบางสิ่งหายไป บางสิ่งเพิ่มเข้ามา อันสืบเนื่องมาจากประสบการณ์ที่เราต่อสู้กับโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนที่มาผ่านมานั่นเอง ผลกระทบหลักๆสำหรับกลุ่มคนฟังเพลงและมีธุรกิจเกี่ยวกับเพลงก็คือ ยอดขายที่หดหายไป ช่วงเวลาว่างในการฟังเพลงเปลี่ยนไป บางคนอาจมีเวลาฟังมากขึ้น บางคนก็น้อยลง ศิลปินบางรายสามารถเล่นดนตรีได้ตามปกติ แต่เป็นการเล่นผ่านโซเชียล เล่นไลฟ์ออนไลน์ครับ

ในวงการเพลงไม่ว่าไทยหรือเทศ NN อาจไม่ถึงกับทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิตจนเป็นแบบใหม่เสียทีเดียว หลายคนหลายศิลปินทำมาแล้วก่อนหน้านี้หลายปี ทั้งการเล่นไลฟ์ทางโซเชียลให้เฉพาะแฟนเพลงที่ลงทะเบียนได้ชม บางรายนำเพลงดังของตนเองมาเล่น แล้วนัดแนะกับเพื่อนศิลปินที่อยู่คนละประเทศมาเล่นแบบเรียลไทม์กันด้วยวิธีวิดีโอคอล ยิ่งไปกว่านั้น การสนับสนุนศิลปินด้วยการซื้องานและชำระเงินออนไลน์ก็ทำกันมานานแล้ว ศิลปินหลายรายยังนำรายได้ส่วนหนึ่งไปบริจาคให้องค์การกุศลอีกต่างหาก เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและยกย่องครับ

ช่วง 2-3 เดือนมานี้เรายังได้เห็นศิลปินดังหลายราย อาทิ Paul McCartney, Carole King, Phil Collins, Elton John, Billy Joel ล้วนทำคลิปรวมทั้งเล่นไลฟ์เพลงของตนเองผ่าน YouTube และโซเชียล มีเดียกันอย่างแพร่หลาย จนแฟนๆจำนวนมากเฝ้ารอว่าศิลปินคนโปรดของตัวเองจะเล่นไลฟ์ให้ดูเมื่อไร เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดจากอิทธิพลของโควิด-19 ทั้งสิ้น แม้จะถูกกำจัดสถานภาพในสังคม แต่เมื่ออยู่กับบ้าน อยู่ในที่ส่วนตัว ทุกคนก็พร้อมที่จะโชว์ผลงานของตัวเอง โดยที่ไม่มีเรื่องธุรกิจมาเกี่ยวข้อง และเราน่าจะได้ชมไลฟ์ในลักษณะนี้ไปจนถึงปลายปีเลยทีเดียว

กรณีของคนฟังเพลงอย่างพวกเรา การดำเนินชีวิตอาจเปลี่ยนไปไม่มากเมื่อทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ จากบทความเมื่อเดือนก่อน ผมพูดถึงการใช้เวลาว่างช่วงกักตัวอยู่กับบ้านและ Work from Home ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตการฟังเพลงของเราเอง น่าจะช่วยได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ทีนี้หลายคนที่ทำตามคำแนะนำ น่าจะรู้สึกว่าชีวิตง่ายขึ้นอีกมาก แต่บางคนอาจจะคิดว่ายังไม่คลิกเท่าไหร่

ในแวดวงธุรกิจดนตรีก็เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยครับ อย่างเช่นการเซ็นสัญญาเข้าสังกัดกับศิลปินหน้าใหม่ ซึ่งต่อไปจะไม่ง่ายเหมือนอดีตอีกแล้ว A&R (ย่อมาจาก Artists and Repertoire) ซึ่งเปรียบได้กับตำแหน่งแมวมองของค่ายเพลงที่คอยสอดส่องหาศิลปินที่มีแววดังและมีความสามารถมาเข้าสังกัดต้องทำงานหนักขึ้น พวกเขาต้องดูคลิปจาก YouTube บ่อยขึ้น คอยติดตามคลิปที่ถูกอัปโหลดในแต่ละวันของนักร้อง นักดนตรีที่น่าสนใจ ติดตามข่าว ตามไลก์ ตลอดจนติดต่อพูดคุยกับศิลปินเหล่านั้น ก่อนจะลงเอยด้วยการทาบทามมาเซ็นสัญญา ขณะที่ในอดีต พวกเขาแค่ไปนั่งตามไลฟ์เฮาส์เล็กๆ คอยดูวงสมัครเล่นขึ้นเล่นดนตรี แล้วตัดสินใจจากการแสดงของศิลปินเหล่านั้น ตอนนี้วิธีการเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ขั้นตอนซับซ้อนหยุมหยิมมากขึ้น แต่ก็นั่นแหละ หน้าที่เสาะหาช้างเผือกของ A&R ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป

มาถึงตรงนี้ผมขอแนะนำ 5 ข้อเพื่อดำเนินชีวิตช่วง NN ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้ครับ จะเลือกปฏิบัติตามเป็นบางข้อก็ได้ ตามแต่ความเหมาะสมครับ น่าจะเป็นประโยชน์กับคนฟังเพลงที่มีปัญหาทางการเงินและธุรกิจการงานสะดุดจากสถานการณ์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานะครับ

  1. ประเมินกำลังซื้อตัวเอง

พูดง่ายๆก็คือ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงครับ หลายๆคนคงมีเสียงเพลง เทป ซีดี แผ่นเสียงเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตกันแล้ว ทีนี้เรามาดูว่ารายได้ของตัวเองเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการในการฟังเพลงมากน้อยเพียงใด

ค่าใช้จ่ายในการซื้อซีดี แผ่นเสียง หรือซอฟต์แวร์ต่างๆเพื่อการฟังเพลงของเราไม่จัดว่าเป็นค่าใช้จ่ายประจำแบบค่าอินเตอร์เน็ต ค่าอาหาร ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้านนะครับ จำเป็นต้องนำรายได้มาใช้กับค่าใช้จ่ายประจำก่อน ถ้าไม่เหลือ ก็ต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวานครับ แต่ถ้ามีเหลือก็สามารถนำไปซื้อซีดี แผ่นเสียงฟังได้ หรือถ้าเหลือไม่มากก็อาจใช้ชำระค่ารายเดือนของสตรีมมิ่งที่ฟังอยู่ได้ครับ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น เงินเดือนปรับขึ้นตามอายุงาน กำลังซื้อของที่ต้องการก็เพิ่มมากขึ้น

 

  1. เลือกซื้อเฉพาะสิ่งที่ต้องการที่สุดในตอนนั้น

เพียงแค่คุณคิดว่าทำอย่างไรถึงจะบริหารรายจ่ายที่เหลือจากค่าใช้ประจำให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด เท่าที่ทราบ หลายคนแทบไม่ได้ซื้อซีดีฟังกันแล้ว แต่หันมาฟังสตรีมมิงแทน เพราะนอกจากจะไม่สิ้นเปลืองเงินแล้ว ยังมีเพลงให้ฟังมากมายทุกแนวทุกอย่างในโลกนี้ด้วย ส่วนที่น่าวิตกแทนก็คือ เพจที่ขายซอฟต์แวร์ในระบบประมูลครับ ไม่ว่าจะเป็นเทป แผ่นเสียง ซีดี หรือทุกอย่างที่เกี่ยวกับเพลง หากมีคำว่า "ประมูล" มาเกี่ยวด้วย นั่นหมายถึงคุณต้องพร้อมที่จะจ่ายแพงในสิ่งที่ต้องการสูงกว่าปกติ ที่ดุเดือดมากในช่วงนี้ก็คือ เทปเพลงครับ ประมูลกันดุเดือดมาก ยิ่งเป็นเทปที่มีคนต้องการมากๆ การเกทับกันจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเทปเพลงไทยสายร็อคหรืออินดี้ฯ ราคาไปไกลมาก เป็นหลักหลายๆพันหรือมากกว่านั้นครับ

ทางที่ดี เอาเท่าที่กำลังทรัพย์อำนวยก็ครับ แต่ถ้าต้องการจริงๆหรือเสาะหามานาน ก็จัดไปครับ แล้วค่อยมานั่งเลียแผลทีหลัง ไม่เสียหายอะไร เพราะผมก็เคยเป็นเหมือนกัน เวลาบิดของจาก eBay ครับ

 

  1. รู้ตัวเองว่าเป็นแค่คนฟังเพลงหรือนักสะสม

ถ้าเป็นอย่างแรก แค่สตรีมมิง่ก็น่าจะเพียงพอแล้วกับความสุขในเสียงเพลงที่ฟังในแต่ละวัน แต่ถ้าคุณเป็นคนประเภทที่ฟังแล้วต้องมีไว้เป็นเจ้าของ ไว้จับต้องด้ ลูบคลำได้ ก็ต้องวางแผนให้ดีครับ เพราะขึ้นชื่อว่า "สะสม" แล้ว มันมีแต่งอกเงยขึ้น ต้องต่อยอดไปเรื่อย มีแล้วต้องมีให้ครบ มีครบแล้ว สภาพต้องนางฟ้า นอกจากนี้บางคนก็ติดโซเชียลขนาดที่มีแล้วต้องอวดกัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ ใครมีของแพง ของหายากก็ต้องภูมิใจเป็นธรรมดา มีแล้วก็อยากให้คนที่ไม่มีได้ร่วมดื่มด่ำกับสิ่งที่เราขวนขวายหามาครองครอบด้วย

สำหรับข้อนี้ การเป็นแค่นักฟังเพลงจะสิ้นเปลืองน้อยมาก ต่างจากนักสะสมที่ต้องเสาะหา ขวนขวายสิ่งที่ต้องการมาครอบครองไม่รู้จักหมดสิ้น

 

  1. คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดในอนาคตของสิ่งที่สะสม

ถ้าพูดตรงๆก็คือ บรรดาสมบัติที่เรามีอยู่นี้ อนาคตมันจะทำเงินให้เราได้ไหม เช่น มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมาก จำเป็นต้องขายของสะสมที่มีอยู่ออกไป เพื่อหาเงินจำนวนนั้น หรือกรณีที่เบื่อ เลิกฟัง เลิกติดตาม บรรดาสิ่งที่เราเก็บไว้มันจะทำเงินให้เราได้มากน้อยเพียงใด บางทีก็รู้สึกเหมือนเล่นหุ้นนะครับ ซื้อมาฟังสักฟัง พอเห็นว่าตลาดต้องการขายได้กำไรหน่อย ก็ปล่อยเลย กรณีนี้เกิดกับนักฟังเพลงที่มีวิญญาณพ่อค้าอยู่ในตัวครับ บางอย่างก็ซื้อไว้ซ้ำเผื่้ออนาคตราคาก็เอาอันที่ซ้ำมาขาย แล้วเก็บไว้ฟังอันเดียว เป็นวิธีที่ดีนะครับ แต่มีคำถามตอบมาว่า คุณมีเงินเหลือเฟือพอที่จะซื้อซ้ำ แล้วเก็บไว้นานๆค่อยเอามาขายตอนราคาสูงๆหรือเปล่า เหมือนการลงทุนครับ เงินจมแน่นอน แต่ถ้ามองการณ์ไกลแล้วคุ้มค่า ก็น่าลองครับ อย่าลืมติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดด้วยนะครับ

 

  1. เดินหน้าเคียงคู่ไปกับพัฒนาการของเทคโนโลยี

อันนี้มีประโยชน์มาก และเป็นสิ่งที่หลายคนคงทำอยู่แล้ว ส่วนที่ยังไม่ได้ทำ ควรริเริ่มได้แล้วครับ จริงๆก็เหมือนการแบ็คอัปข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของเราไว้ แต่นี่ทำกับซอฟต์แวร์ที่เรามี โดยเฉพาะซีดีที่ควรนำมาริปเก็บไว้สำรอง อาจจะเป็นรูปแบบของไฟล์ MP3 ที่มี Bitrate สูงหน่อย เช่น 320 หรือ WMA ที่ใช้เนื้อที่น้อยกว่า MP3 แถมยังสตรีมมิงผ่านอินเตอร์เน็ตได้ด้วย และ Lossless Audio ซึ่งเป็นไฟล์ที่คุณภาพใกล้เคียงหรือเทียมเท่าซีดีกว่าประเภทอื่น แต่ก็กินเนื้อที่มากกว่าประเภทที่กล่าวถึงหลายสิบเท่า

ลองนึกถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นกะทันหัน ทำให้ต้องขายของที่สะสมไว้ เพื่อนำเงินมาใช้อย่างเร่งด่วนนะครับ แม้จะไม่ได้ขายได้จำนวนมากในครั้งเดียว ต่อให้ทยอยขาย คนที่ขายก็เกิดความเสียดายของอยุ่ดีตามธรรมชาติของคนสะสม แต่ถ้าเอาแบ็คอัปเพลงต่างๆไว้แล้ว เวลาขาย ความเสียดายจะน้อยลงไป และถ้ามองในแง่บวก อนาคตหาเงินได้ เราก็ยังสามารถซื้อมันกลับคืนมาได้อีก แต่ถ้าไม่พร้อมซื้อใหม่ ก็ยังมีไฟล์เพลงที่แบ็คอัปไว้ฟังอยู่ดี เดี๋ยวนี้แอปแปลงไฟล์เพลงหาง่ายมากและฟรีด้วยครับ มีเวลาว่างก็ทำไปเรื่อยๆ ส่วนแผ่นต้นฉบับมาสเตอร์ก็เก็บรักษาไว้อย่างดี ให้คงสภาพสวยๆเหมือนของใหม่ไว้ครับ ถ้าต้องขายก็ขายได้ราคากว่าแผ่นมือสองที่เจ้าของเดิมเก็บรักษาไม่เนี้ยบ

ทั้งหมดที่กล่าวมาก็คือการคาดคะเนถึงความเป็นไปได้ในอนาคตหลังจากประเทศไทยบอกลาโควิด-19 ไปแล้ว เรายังคงฟังเพลงต่อไปเหมือนเดิม แต่รูปแบบการฟังและการหาซื้อแผ่นอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกตลอดและรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันครับ บางคนอาจต้องเริ่มต้นใหม่ ก็ใช้วิธีแบบข้อ 5 ได้สบาย สุดท้ายนี้ ขอให้เราอดทนและผ่านพ้นไปด้วยกันครับ เดือนหน้าคงไม่มีเรื่องซีเรียสให้อ่านกันแล้วครับ เพราะเรากำลังก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook