หยุดความคิดใดใด แล้วมาสนทนากับ “Zee” คลื่นลูกใหม่ที่เชื่อในวิถีทางของตนเอง | Sanook Music

หยุดความคิดใดใด แล้วมาสนทนากับ “Zee” คลื่นลูกใหม่ที่เชื่อในวิถีทางของตนเอง

หยุดความคิดใดใด แล้วมาสนทนากับ “Zee” คลื่นลูกใหม่ที่เชื่อในวิถีทางของตนเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเอ่ยชื่อ “ซี-เวหยุทธ์ เกตุปัญญา” หรือชื่อในวงการว่า “Zee” หลายคนอาจยังไม่คุ้นหูนัก แต่ทันทีที่ได้ฟังเพลงของหนุ่มคนนี้ Sanook Music ก็มีความภูมิใจที่จะนำเสนอให้ทุกคนได้รู้จัก

จากศิลปินอิสระที่ทำเพลงเองทุกขั้นตอนในรูปแบบ bedroom studio ก่อนที่จะได้รับโอกาสจากค่ายสนามหลวงมิวสิก ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่ชักชวนให้มาปล่อยเพลงด้วยกันถึง 3 เพลง และในที่สุด Zee ก็กลายมาเป็นศิลปินในค่ายอย่างเต็มตัว และเพิ่งปล่อยซิงเกิล “หยุดความคิด” ที่ถือเป็นก้าวกระโดดซึ่งน่าสนใจ ทั้งในวิธีการเขียนเพลง รวมถึงซาวด์ดนตรีที่ไม่ซ้ำซากจำเจดั่งที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่เป็นประจำ

และด้วยวัยเพียงยี่สิบต้นๆ ของหนุ่มคนนี้ ทำให้เราอยากเจาะลึกเข้าไปทั้งในเรื่องกระบวนความคิด ความรัก ความฝัน และชีวิต ที่สะท้อนกลับไปยังตัวเพลงของเขาอย่างเข้มข้น

อ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ เราเชื่อว่าคุณจะหยุดความคิดที่มีต่อเด็กหนุ่มนามว่า Zee ได้ยากเย็นแสนเข็นอย่างแน่นอน

ZeeZee

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคุณคือการได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินค่ายสนามหลวงมิวสิกอย่างเต็มตัว ต้องปรับตัวปรับใจอย่างไรบ้างไหม?

Zee: ถือว่าเป็นการปรับตัวปานกลางครับ ไม่ได้เยอะขนาดนั้น คือก่อนหน้านี้ผมปล่อยเป็นเพลงๆ กับค่ายสนามหลวงมิวสิก มันเหมือนเป็นการทดลองน่ะครับ ผมก็ยังใหม่ด้วย ไม่เคยเจอการทำงานกับค่ายมาก่อน พอปล่อยไป 3 เพลงก็คือ “สิ่งที่อยากบอก”, “ฝันไปพอ” และ “ไม่พักผ่อน” ก็รู้สึกสบายใจกับพี่ๆ ที่ค่ายมากขึ้น แล้วพี่ๆ เขาก็ชวนแบบเต็มตัวด้วย ผมก็อยากใช้โอกาสนี้เป็นการศึกษาการทำงานภายในค่ายเพลง แล้วเขาก็ยังให้คุณค่ากับการเป็นตัวเองของผมมากๆ ด้วย

ภาพจำเกี่ยวกับคุณสำหรับหลายๆ คนคือการเป็นมือกีตาร์ให้กับ Daniel Didyasarin ตอนเล่นสด การที่อยู่ด้านหลังฟรอนต์แมน กับการมาสวมบทบาทเป็นฟรอนต์แมนเอง มันแตกต่างกันมากไหม?

ตอนเล่นให้ Daniel ผมเป็นนักดนตรี เราก็ทำหน้าที่นักดนตรีของเราให้ดีที่สุด โฟกัสกับการเล่นกีตาร์เต็มๆ แต่พอเป็นงานเพลงของตัวเอง เราทำคนเดียว ก็ต้องใส่ใจเรื่องรายละเอียดต่างๆ ของตัวเองมากขึ้น พอเล่นสดก็ต้องใช้การสื่อสารกับคนดูมากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่ก้มหน้าเล่นกีตาร์แล้วก็จบ

การสื่อสารกับคนดูสำหรับคุณมันยากไหม ดูคุณเป็นคนขี้เขินขี้อายพอสมควรเหมือนกันนะ?

สมมติว่าพอเพลงจบ ผมก็อาจจะคุยนิดๆ หน่อยๆ ยิงมุขแป้กๆ ไปบ้าง (หัวเราะ) บางทีก็แป้กบางทีก็เวิร์ก ก็ค่อยๆ หาไปเรื่อยๆ หรืออย่างบางโชว์ขึ้นเพลงแรกผมก็จะรู้สึกเขินๆ แต่พอมันไปเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มรู้ตัวแล้วว่า เฮ้ย ต้องเริ่มสื่อสารแล้วว่ะ โมเมนต์นั้นมันจะมาเอง เริ่มหาทางสื่อสาร หาทางคุย ให้คนดูช่วยกันร้องนิดๆ หน่อยๆ คงต้องฝึกไปเรื่อยๆ ครับ

เดินทางมาถึงซิงเกิลล่าสุด “หยุดความคิด” ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดเมื่อเทียบกับเพลงก่อนๆ คืออะไร?

จริงๆ ไม่ว่าจะเรื่องแนวเพลงหรือการทำเพลงตอนนี้กับตอนนั้นมันก็ไม่ได้ต่างกันมากครับ แนวทางของผมก็ยังค่อนข้างกว้างเหมือนเดิม แต่สำหรับเพลง “หยุดความคิด” ผมเริ่มหาซาวด์ใหม่ๆ เน้นซินธิไซเซอร์มากขึ้น ใช้ความดิจิทัลเพื่อขยายมิติของเพลงเข้าไปอีก ผมไม่ค่อยได้ใช้ซินธ์กับเพลงเก่าๆ ของผม อย่างเพลง “สิ่งที่อยากบอก” ก็จะเน้นไปที่เครื่องสาย ซึ่งผมอัดเองจากการเล่นจริงๆ หรือ “ฝันไปพอ” ผมก็เอาแคนมาอัดเอง แต่กลองก็ยังเป็น sampler เหมือนเดิม ซึ่งจริงๆ ผมไม่ได้ตีกรอบ ไม่ได้กำหนดตัวเองมาแต่ไหนแต่ไรว่าจะต้องทำเพลงแบบไหน ซาวด์เป็นอย่างไร ก็ทดลองไปเรื่อยๆ เป็นการค้นหาอะไรบางอย่าง แล้วก็ค้นพบไปเรื่อยๆ

กว่าจะหาซาวด์หรือแนวทางของแต่ละเพลงนี่มันยากง่ายอย่างไร?

ผมปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติมากกว่าครับ ส่วนใหญ่จะหาซาวด์ที่ลื่นหูตัวเองก่อน แต่ว่าเราก็ต้องรู้ก่อนนะครับว่าอยากจะสื่อความหมายอะไรในเพลงนั้นๆ คือเหมือนพอเรารู้แก่นของความหมายเพลง ว่ามันเป็นอารมณ์แบบนั้นแบบนี้ เราก็พยายามดีไซน์ซาวด์ที่ทดแทนอารมณ์นั้นออกไปได้ คือผมก็ยังไม่ได้โปรมากหรอก (หัวเราะ) ก็ต้องใช้วิธีงมๆ ค้นหาไปเรื่อยๆ ว่า เฮ้ย ซาวด์นี้สามารถตอบสนองเราได้ในตอนนั้น

อย่าง “หยุดความคิด” นี่งมหานานไหม?

ไม่นานครับ แต่มันจะมีเรื่องอะเรนจ์ที่ผมอยากให้ซาวด์มีความคล้ายคลึงกับเสียงออร์เคสตราให้มากที่สุด แต่ว่าก็ไม่ใช่ออร์เคสตราที่เป็นเสียงเครื่องสายไปเลย จะเน้นเป็นซินธิไซเซอร์เสียเป็นส่วนใหญ่

แล้วเราก็รู้สึกถึงกลิ่นอาย lo-fi หน่อยๆ เครื่องดนตรีน้อยๆ ชิ้น ซึ่งมักจะอยู่ในเพลงของคุณ?

คือผมพยายามจะคุมพวกเครื่องดนตรีน่ะครับ ผมจะไม่ใช่คนที่แบบ... เฮ้ยเสียงนี้ดี แล้วจะยัดมาใส่เรื่อยๆ ผมจะแอบคุมโทนนิดนึง แต่ไลน์ในเพลงเราก็ค่อยมาดีไซน์อีกทีว่า ไอ้เครื่องนี้ ท่อนนี้ จะแทรกมาตอนไหน คือด้วยความที่เทคนิคผมไม่ค่อยแน่นเท่าคนอื่น ผมจะค่อนข้างเชื่อใจในอารมณ์ตัวเอง ผมจะต้องเชื่อมันก่อน ถ้าจะให้นิยามก็อาจจะเรียกว่าเป็น lo-fi psychedelic pop เป็น lo-fi ที่ไม่เคลียร์นัก มีความฟุ้งๆ แต่เมโลดี้ก็ยังป็อปอยู่

“หยุดความคิด” คือเพลงรัก?

ใช่ครับ มันเป็นความรักของคนคู่หนึ่งที่เขาไม่สามารถตกลงกันได้ ความเห็นเขาไปคนละทาง แต่ในความเป็นจริง จากการที่คิดกันคนละแบบ ต้องแยกย้ายกันไป มันก็ต้องมีความคิดถึงกันบ้าง แต่สุดท้ายเราก็ต้องเข้าใจว่า มันก็เป็นเรื่องๆ หนึ่งที่ผ่านเข้ามา มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องเสียใจหรือโศกเศร้ากับมันขนาดนั้น สุดท้ายพอต่างคนต่างไป เราก็ยังอยู่ในโลกใบเดียวกัน ยังคงต้องเดินต่อไปเหมือนกัน ทุกคนก็ต้องพยายามหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง มันอาจจะมีความหม่นๆ บ้าง แต่สุดท้ายเราก็ต้องมูฟออนครับ

เรื่องความรักมันพูดยาก?

ยากจริงครับ อย่างตอนนี้ผมอายุ 22 มุมมองต่อความรักของผม ถ้ามองเรื่องความสัมพันธ์ ผมก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องจริงจังกับมันตลอดเวลา อาจจะเป็นเพื่อนที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจ คือผมว่าความรักในวัยผมควรจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสบายใจ เป็นการที่เราหยุดพักจากความเป็นจริงของโลกนี้ กลับมาเจอความรักแล้วเออ... เราสบายใจว่ะ อาจจะไม่ต้องเป็นแฟนก็ได้ อาจจะเป็นครอบครัวที่เรากลับมาเจอคนที่เรารัก เห็นเขากำลังมีความสุขเราก็สบายใจ

ซึ่งซิงเกิลนี้คุณได้โปรดิวเซอร์ที่ชื่อว่า “ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า”?

ใช่ครับ มีเรื่องหนึ่งอยากเล่าให้ฟัง ผมเจอพี่ตุลครั้งแรกในงานของ Cat Radio ปีไหนผมจำไม่ได้แล้ว คือผมชอบการแต่งเพลงของพี่ตุลมาก คือผมไรท์ซีดีเป็นเดโมประมาณ 4-5 เพลงห่อใส่กระดาษ A4 เขียนชื่อเพลงเขียนนู่นเขียนนี่เอาไว้เสร็จสรรพ แล้วพอเดินผ่านพี่ตุลผมไม่สงสัยอะไรเลย รีบยื่นให้แล้วพูดว่า “พี่ตุลครับ เอาเดโมผมไป” (หัวเราะ) พี่ตุลก็พยักหน้างงๆ แล้วผมก็ไม่ได้เจอพี่ตุลอีกเลยจนได้ทำงานร่วมกัน

ได้วิชาอะไรจาก ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า บ้าง?

เรื่องกระบวนการความคิดครับ เป็นการคิดในแบบที่ไม่ถูกกรอบมาจำกัดไว้ แล้วก็วิธีการทำดนตรีที่สะดวกขึ้นในแนวทางแบบของผม คุณภาพก็ดีขึ้น

ถัดจากเรื่องเพลง ลุคของคุณก็ดูเปลี่ยนไป จากเซอร์ๆ สบายๆ กลายมาเป็นหนุ่มเนี้ยบ?

(หัวเราะ) ผมเริ่มโตขึ้นมาอีกหน่อยมั้งครับ ก็อยากจะลองแต่งตัวบ้าง อยากเข้าถึงแฟชั่นบ้าง เราก็อยากรู้ว่าอะไรที่เราใส่แล้วดูดี อะไรที่เราใส่แล้วสบาย แต่ถ้าชีวิตประจำวันผมก็ยังชิลๆ เหมือนเดิมนะ ปกติผมชอบใส่เสื้อผ้าที่นุ่ม ถ้าไม่นุ่มคือไม่ใส่เลย (หัวเราะ)

เลยเถิดมาถึงเรื่องรูปร่างหน้าตา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณก็เป็นหนุ่มหน้าตาดีคนหนึ่ง สมมติว่าเขาตัดสินคุณแค่เพียงภายนอก ขายหน้าตาหรือเปล่า ขายลุคหรือเปล่า คุณจะอธิบายเขาว่าอย่างไร?

ผมก็เคารพในสิทธิความคิดของเขานะครับ คงไปหยุดความคิดของเขาไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ไปฟังเพลงผมด้วยก็ดี คือผมคงไม่ไปโฟกัสเรื่องลุคเรื่องอะไรแบบนั้นมาก มันเสียเวลาผม ทำงานของตัวเองให้ดีก่อนดีกว่าครับ

ศิลปินเพลงคือ “ความฝัน” ของคุณมาตั้งแต่เด็กเลยไหม?

ก็ใช่นะครับ แต่จำไม่ได้ว่าเริ่มตอนอายุเท่าไหร่ คือพ่อแม่ผมพาไปเรียนร้องเพลง แล้วเราก็สนุกกับมัน ผมชอบร้องเพลง “เลี้ยงส่ง” ของวง So Cool นั่นคือภาพของคำว่าศิลปินที่ผมเห็นเป็นภาพแรกในชีวิตเลย การเห็นบร๊ะเจ้าโจ๊กอยู่ในมิวสิควิดีโอ เฮ้ย มันโคตรเท่ แล้วผมก็ร้องอยู่เพลงเดียวเลยนะ (หัวเราะ)

แต่ผลงานที่คุณนำเสนอออกมามันไม่ได้เป็นเพลงในกระแสหลักอย่างเพลง “เลี้ยงส่ง” เลยนะ?

ผมว่าหนังเรื่อง ซักซี้ด ห่วยขั้นเทพ เป็นตัวจุดประกายเลยนะ ที่ทำให้ผมเริ่มกลับไปฟังเพลงเก่าๆ ในเรื่องมันจะมีศิลปินร็อคที่เป็นตำนานของเมืองไทย พี่ต้า Paradox, พี่ปู Blackhead แล้วพอเราดูเลยรู้สึกว่า เรายังเข้าไม่ถึงตรงนี้ ก็เลยเริ่มศึกษามาตั้งแต่ตอนนั้น ก็เป็นการเปิดโลกอีกใบของผม

สุดท้ายท้ายสุด ด้วยความที่คุณยังเป็นวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงแห่งความคึกคะนอง หัวเลี้ยวหัวต่อ จะก้าวไปสู่เส้นทางที่ผิดหรือถูกก็ได้ คำแนะนำจากคุณซึ่งเป็นวัยรุ่นเหมือนกันเกี่ยวกับการเลือกเส้นทางชีวิตคืออะไร?

สำหรับผมนะ ลองเดินไปก่อนเลย ถ้ามันถูกเขาจะรู้เอง ถ้ามันผิดก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องผิดตลอดไป คือถ้าเขาเลี้ยวผิดทาง มันไม่ได้หมายความว่าเขาจะเลี้ยวกลับมาไม่ได้ มันต้องลอง Everything is kinda based on the experience ผมว่าชีวิตมันคือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์มากกว่ากลัวว่าจะทำผิด

ไม่ว่าประสบการณ์นั้นจะให้น้ำตาหรือรอยยิ้มก็ตาม?

ใช่ครับ เพราะมันคือชีวิต Life is a tragic but it’s also a comedy นะ ผมคิดเช่นนั้น

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ หยุดความคิดใดใด แล้วมาสนทนากับ “Zee” คลื่นลูกใหม่ที่เชื่อในวิถีทางของตนเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook