ครึ่งหนึ่งของการเดินทาง "Road to Kingdom" โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง | Sanook Music

ครึ่งหนึ่งของการเดินทาง "Road to Kingdom" โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

ครึ่งหนึ่งของการเดินทาง "Road to Kingdom" โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตอนที่เขียนต้นฉบับชิ้นนี้เป็นช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่รายการ Road to Kingdom ออกอากาศมาได้ครึ่งทางแล้ว สำหรับคนที่ไม่คุ้นก็ขอเล่าสั้นๆ ว่ามันเป็นรายการแนวเซอร์ไววัลทางช่อง Mnet ที่เอาบอยแบนด์เคป็อปมาแข่งขันกันเพื่อหาผู้ชนะ เป็นการต่อยอดความสำเร็จของรายการ Queendom (2019) ที่เป็นการแข่งกันของวงผู้หญิง ซึ่งส่งผลดีต่อหลายวง อย่างเช่น (G)I-DLE หรือ OH MY GIRL ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

ศิลปินที่ร่วมเข้าแข่งใน Road to Kingdom มีทั้งหมด 7 รายด้วยกัน ได้แก่ PENTAGON, ONF, Golden Child, THE BOYZ, VERIVERY, Oneus และ TOO มีผสมผสานทั้งวงหน้าเก่าหน้าใหม่ (PENTAGON เดบิวต์ตั้งแต่ปี 2016 ส่วนวง TOO เพิ่งเปิดตัวเมื่อเมษายน 2020) แถมยังเพิ่มความดราม่าด้วยการที่คราวนี้จะมีวงที่ต้องตกรอบแน่นอนถึง 2 วง (ตอน Queendom จะตกรอบเมื่อได้ที่โหล่รวมกันสองครั้ง ซึ่งไม่มีวงไหนเป็นเช่นนั้น)

TOO

การแข่งขัน 3 รอบแรกของ Road to Kingdom ยังมีธีมคล้ายกับ Queendom ไม่ว่าจะการร้องเพลงดังของศิลปินอื่น, เพลงดังของตัวเอง และการร่วมร้องเพลงกับผู้แข่งขันอีกทีม แต่สิ่งที่ต่างไปได้ชัดคือ Road to Kingdom เป็นรายการที่ถ่ายทำท่ามกลางการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในห้องส่งจึงมีเพียงแค่พิธีกร, ศิลปิน และทีมงาน ไม่มีคนดูแม้แต่คนเดียว และก็เป็นเรื่องดีที่รายการไม่ใช้มุกใส่เสียงเชียร์ปลอมๆ แบบที่หลายรายการชอบทำกัน

ด้วยเพราะการแสดงบนเวทีของ Road to Kingdom ไม่มีผู้ชมในห้องส่ง ทีมงานจึงสามารออกแบบเวทีให้พิสดารได้ (เพราะไม่ต้องแคร์ว่าคนดูจะอยู่ด้านไหนหรือมองเห็นศิลปินหรือไม่) กล่าวคือมีลักษณะเป็นแคทวอล์คยาว และสามารถทำการแสดงได้ถึง 4 ด้าน รวมถึงไม่จำเป็นต้อง ‘ซ่อน’ ทีมถ่ายทำอีกต่อไป ตากล้องจึงสามารถแบกสเตดิแคมขึ้นไปถ่ายทำบนเวทีได้แบบโต้งๆ นำมาซึ่งการตัดต่อและเปลี่ยนมุมกล้องสุดหวือหวา

PENTAGON

เมื่อรูปแบบของรายการเป็นเช่นนี้ เหล่าศิลปินก็มีโจทย์ต้องคิดมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องการเรียบเรียงเพลงหรือท่าเต้น แต่ยังต้องคิดเรื่องพร็อพต่างๆ การเล่นกับมุมกล้องและใช้พื้นที่ของเวทีแต่ละด้านให้เป็นประโยชน์มากที่สุด โชว์ใน Road to Kingdom จึงเน้นเรื่องความเวอร์วังอลังการ เช่นว่าวง THE BOYZ ต้องไปซ้อมโชว์กันในสนามบาส แทนที่จะเป็นห้องซ้อมตามปกติ

แน่นอนว่าความตื่นตาตื่นใจเป็นจุดเด่นของ Road to Kingdom ทว่าเมื่อโชว์มีความซับซ้อนก็ลืมเรื่องการร้องสดไปได้เลย แฟนเพลงบางส่วนยังมองว่าศิลปินมัวแต่แข่งกัน 'เล่นใหญ่' ทั้งพร็อพและแดนซอร์มากมายชวนงง หรือมุมกล้องฉวัดเฉวียนชวนเวียนหัว ทำให้ผู้เข้าแข่งขันไม่สามารถแสดง ‘ตัวตน’ ออกมาผ่านการแสดงได้ หากอีกฝั่งหนึ่งก็บอกว่าโชว์เหล่านี้เป็นโอกาสพิเศษที่ไม่สามารถทำได้ง่าย ไม่ว่าจะในรายการเพลงหรือกระทั่งทัวร์คอนเสิร์ตก็ตาม อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องดีๆ เพียงไม่กี่เรื่องที่เป็นผลพวงมาจากภาวะโรคระบาด

ทั้งนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงโชว์ของ 3 ศิลปินที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ

1. เพลง Everybody โดย ONF

ต้องสารภาพว่าผู้เขียนเพิ่งรู้ว่ามีวงนี้อยู่ในวงการเคป็อปก็จากรายการนี้ (ชื่อวงอ่านว่า On and Off) พวกเขาเลือกเพลง "Everybody" ของ SHINee มาตีความใหม่จนแทบจำฉบับดั้งเดิมไม่ได้ เริ่มต้นด้วยทำนองแบบออร์เคสตร้าและโอเปร่า ก่อนจะค่อยๆ กลับมาเป็นเพลงแดนซ์ในที่สุด ส่วนท่าเต้นก็ผสมผสานทั้งเวอร์ชันออริจินอล (ซึ่งถือเป็นเพลงเคป็อปท่ายากที่สุดเพลงหนึ่ง) กับการเคลื่อนไหวในธีมซอมบี้ผีดิบ ถือว่าเป็นโชว์ที่น่าจะทำให้ ONF ก้าวสู่แสงไฟได้สักที

2. เพลง PHOTO โดย VERIVERY

ในรอบร้องเพลงตัวเอง น่าสนใจว่าหนุ่มๆ วง VERIVERY เลือกเพลง "PHOTO" ที่ไม่ใช่ไตเติ้ลแทร็ค เดิมทีเพลงนี้มีจังหวะที่หนักอยู่แล้ว แต่พวกเขานำมาทำใหม่ในธีมฝันร้าย ทำให้บีทของเพลงหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ จนช่วงสุดท้ายเหมือนว่าความเลวร้ายต่างๆ จะไม่มีอะไรมาหยุดได้อีกต่อไป ในส่วนของเพอร์เฟอร์แมนซ์ โดดเด่นด้วยบรรยากาศแบบหนังสยองขวัญและท่าเต้นที่พร้อมเพรียงกัน

3. เพลง Danger และ REVEAL โดย THE BOYZ

THE BOYZ ถือเป็นวงมาแรงที่สุดใน Road to Kingdom พวกเขาชนะที่หนึ่งในการแข่งขันสองรอบแรก โชว์ของวงนี้เน้นความผาดโผนและท่าเต้นที่ไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ อย่างเช่นการกระโดดบนหลังสมาชิกแบบสามสเต็ปหรือการก้าวเหยียบเมมเบอร์แบบต่อเนื่องในเพลง "Danger" หลายคนคิดว่าพวกเขาจะปล่อยของจนหมดมุกแล้ว แต่โชว์ถัดมาในเพลง "REVEAL" ก็ยังสรรหากิมมิคต่างๆ ที่ทำเอาศิลปินรายอื่นอ้าปากค้าง ไม่ว่าจะการต่อตัวหรือจุดไฟ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ดีที่สุดในการแสดงของ THE BOYZ น่าจะเป็นการสร้าง ‘สตอรี่’ ขึ้นมาราวกับกำลังดูภาพยนตร์

 

ทั้งนี้มีข่าวลือว่าผู้ชนะจาก Road to Kingdom จะไปแข่งขันต่อในรายการ Kingdom ซึ่งเป็นการเอาวงบอยแบนด์รุ่นกลางรุ่นใหญ่มาแข่งกัน มันทำให้เกิดคำถามว่ารายการแนวเซอร์ไววัลมันจะเยอะเกินไปหรือเปล่า ศิลปินจะต้องแข่งแบบไม่รู้จบกันไปถึงไหน แต่มองอีกแง่มันก็อาจจะเหมาะกับช่วง โควิด-19 ที่ศิลปินไม่สามารถออกอีเวนต์หรือจัดคอนเสิร์ต นี่อาจจะเป็นกลายเป็น New Normal ของวงการเคป็อปก็ได้

____________________

kanchat

ผู้เขียน - คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

(Kanchat Rangseekansong)

เปิดโลกดนตรีและไอดอลกับคันฉัตร

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ครึ่งหนึ่งของการเดินทาง "Road to Kingdom" โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook