เหล่าผู้จัดคอนเสิร์ตคิดเห็นอย่างไร เมื่อผู้ชมต้องยืนห่างกัน 5 ตารางเมตร/คน?
หลังจากวันก่อน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ได้แถลงการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 4 ซึ่งงานดนตรีและคอนเสิร์ตอยู่ในเฟสดังกล่าวด้วย และสามารถกลับมาจัดงานได้แล้ว เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า ต้องอยู่ภายใต้มาตรการลดความหนาแน่น ในเกณฑ์ 5 ตารางเมตร/คน Sanook Music จึงส่งคำถามไปยังเหล่าตัวแทนผู้จัดคอนเสิร์ตในเมืองไทย ว่าพวกเขาคิดเห็นอย่างไรกับมาตรการนี้บ้าง?
- คอนเสิร์ตมาแล้ว! ผ่อนปรนเฟส 4 แต่ต้องอยู่ห่างกัน 5 ตร.ม./คน
- มติ ศบค. ยกเลิกเคอร์ฟิว คลายล็อกเฟส 4 เริ่มมีผลบังคับใช้ 15 มิ.ย.นี้
เริ่มต้นด้วย กิ-กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้จัดคอนเสิร์ตของ HAVE YOU HEARD? และ Maho Rasop Festival ผู้ซึ่งนำศิลปินต่างประเทศหลากหลายแนวมาแสดงสดที่เมืองไทยก็ได้กล่าวว่า
“คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะคะ ที่เริ่มมีการคลายล็อกให้กลับมาจัดคอนเสิร์ตได้อีกครั้ง แสดงถึงสถานการณ์โดยรวมที่ดีขึ้น เป็นมาตรการที่คงทำให้คนมาดูคอนเสิร์ตส่วนหนึ่งรู้สึกสบายใจขึ้นเวลาไปดูคอนเสิร์ตแล้วไม่ต้องเบียดเสียดกับคนอื่น แต่ในแง่ของการเป็นคนจัดคอนเสิร์ตก็ต้องบอกว่า ในทางปฏิบัติแล้วก็ยังเป็นมาตรการที่ทางเรานำมาใช้จริงได้ยากค่ะ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง อาจจะต้องรอให้มีการคลายล็อกไปอีก ให้บรรยากาศการจัดคอนเสิร์ตกลับมาใกล้เคียงเดิมมากกว่านี้ ถึงจะกลับมาจัดคอนเสิร์ตได้อีกจริงๆ ค่ะ ก็หวังว่าจะอีกไม่นานนะคะ”
ด้าน รุ่ง-รุ่งโรจน์ อุปภัมภ์โพธิวัฒน์ ผู้บริหารค่ายเพลง Smallroom ซึ่งก็เคยจัดเทศกาลดนตรีแบบยกค่ายริมทะเลมาแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งปีล่าสุดก็ต้องยกเลิกไปก็ขอแสดงความเห็นด้วยเช่นกัน
“มาตรการนี้เป็นการผ่อนคลายก็จริง แต่ว่ามันก็สวนทางกับความเป็นจริงของการชมคอนเสิร์ต จริงๆ แล้วถ้ามองว่าเป็น New Normal ก็ได้ แต่ถ้ามองว่า ความสัมพันธ์ในเชิงเวลาเราจัดคอนเสิร์ต มันก็จะต้องมีเรื่องของเครื่องเสียง ค่าเช่าสถานที่ แสง เสียง เวทีต่างๆ คือลงทุนหนึ่งครั้ง กับจำนวนคนที่น้อยลงขนาดนั้น ซัพพลายเออร์ และตัวสถานที่ต้องช่วย ออร์แกไนเซอร์ หรือคนจัดงาน หรือแม้กระทั่งค่ายเพลงที่จะต้องไปเช่า สิ่งเหล่านั้นก็จะต้องลดทอนลงมาทั้งหมด ถามว่าการดูคอนเสิร์ต 5 ตารางเมตรต่อ 1 คน จะได้กี่คน สมมติตีซะว่า 30 คน แล้วเราจะคิดค่าบัตรต่อคนอย่างไร จริงๆ แล้วคนน้อยลง ค่าบัตรมันก็สวนทาง ก็ต้องแพงมากขึ้น ซึ่งกำลังของคนดูก็น่าจะไม่มีทางจ่ายค่าบัตรได้แพงขนาดนั้น เป็นมาตรการที่เอาไปใช้จริงก็อาจจะยังไม่ได้ เว้นแต่ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันจริงๆ เราก็ต้องมีเรื่องของเทคโนโลยีใดๆ ในการที่จะกั้นอาณาเขตคนเหรอ อันนี้เราก็ยังไม่รู้หรอกว่าในอนาคตมันจะมีซุ้มแยกคนดูคอนเสิร์ต แต่ว่าสามารถจุกันได้เยอะๆ แต่มันก็เกี่ยวข้องกันอีกแหละ คนจะเดินเข้าเดินออกก็ยากอยู่ดี ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าพูดถึงมาตรการตอนนี้ก็คิดว่าคงช่วยได้น้อยมากถึงไม่ได้เลยครับ”
มาถึง กรรมการผู้จัดการค่ายเพลง What The Duck อย่าง มอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์ ซึ่งเพิ่งจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ และเทศกาลดนตรีออนไลน์ที่สามารถ Interact กับผู้ชมได้อย่าง Top Hits Thailand ก็มองไปถึงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่พอสมควร
“จริงๆ เป็นสัญญาณที่ดีที่คอนเสิร์ตและงานอีเวนต์สามารถกลับมาจัดได้ รวมตัวกันได้ แม้จะมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็ตาม แต่ในความรู้สึกของผมคิดว่า อยากให้รัฐบาลมั่นใจก่อนว่าจะไม่มีการกลับมาระบาดรอบใหม่ ในฐานะค่ายเพลง คนดูแลศิลปิน เรารอได้นะ เรารอความชัวร์ได้ให้มันชัดเจนกว่านี้ อยากให้มีความปลอดภัยแบบ 100% เราเองก็อยากจัดงานด้วยความสบายใจ เรารู้ว่าทุกคนเดือดร้อน แต่เราไม่อยากให้ทีมงานที่มาทำงานให้เรากลับบ้านไปแล้วไม่ปลอดภัย แบบนั้นเราจะรู้สึกผิดมากกว่า ตอนนี้ที่เราพอทำได้คือปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มาอยู่ในออนไลน์มากขึ้น เพื่อหาวิธีช่วยเหลือกันไป ไม่อยากให้เกิดปัญหา แต่เราเองก็เข้าใจปัญหาต่าง ๆ ของศิลปินทีมงาน”
และเมื่อ Sanook Music สอบถามทั้ง 3 ว่า มีอะไรอยากจะฝากไปถึงภาครัฐบ้างหรือไม่... นี่คือคำตอบของบุคคลในแวดวงคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีบ้านเรา
“อยากบอกว่าวงการเพลง ไม่ใช่มีแค่ศิลปิน หรือค่ายเพลง แต่มันยังมีคนเบื้องหลังอีกมาก ทั้ง Sound Engineer, Technician, คนขับรถตู้, Backstage, Lighting และทีมงานต่างๆ บางทีคนเหล่านี้เสียงไม่ดังเท่าเรา เลยอยากให้ภาครัฐช่วยดูเรื่องการเยียวยา ว่าสามารถช่วยกลุ่มคนเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง เพราะจริงๆ ทุกคนคือผู้สร้างความสุขให้กับคนดู ถ้าไม่มีพวกเขาเราก็คงไม่ได้ดูคอนเสิร์ตหรืออีเวนต์ดีๆ ครับ” มอย สามขวัญ กล่าว
ในขณะที่หญิงแกร่งอย่าง กิ กิรตรา ก็มองคล้ายๆ กันว่า “อยากให้ภาครัฐมีการช่วยเยียวยาหลายๆ ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบในวงการคอนเสิร์ต วงการอีเวนต์ รวมถึงวงการดนตรีในระหว่างที่สถานการณ์ยังไม่กลับมาเป็นปกติค่ะ ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี เจ้าของสถานที่จัดงานต่างๆ คนจัดอีเวนต์ หรือคอนเสิร์ตค่ะ เพราะวงการที่พวกเราอยู่คงเป็นกลุ่มท้ายๆ เลยที่จะได้รับการฟื้นฟูค่ะ”
ปิดท้ายด้วย “พี่รุ่ง” แห่ง Smallroom ก็มีมุมมองไปถึงผับและบาร์เลยด้วยซ้ำ
“จริงๆ เราก็เป็นผู้เล่นคนหนึ่งในแวดวงดนตรี แล้วก็ในเรื่องที่เกี่ยวข้องก็คือ เรื่องของผับบาร์ต่างๆ เบื้องต้นเราเชื่อว่า การเยียวยาในกลุ่มนี้ ควรต้องมีแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินช่วยเหลือหรือเงินกู้ มันก็เป็น SME แบบหนึ่ง ในการที่จะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถอยู่รอดได้ในสังคมต่อไป บางคนมีรายได้ 0 บาทมาเป็นเวลา 4 เดือน เราเชื่อว่าเบื้องต้นควรจะมีมาตรการเยียวยาคนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ด้วย แต่ก็เข้าใจว่า งบกลางหรืองบจากรัฐบาล ก็ต้องช่วยคนที่มีอาการหนักกว่าก่อน จริงๆ เราก็หนักแหละ แต่เราก็ยังไม่สามารถพูดอะไรได้มากหรอก เพราะว่าเราก็เป็นความบันเทิง เป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ว่าคนกลุ่มนี้ก็ขาดรายได้จริงๆ แหละ เบื้องต้นก็อยากจะให้ช่วยกลุ่มนี้ ส่วนการที่จะเยียวยาในการที่จะกลับมาประกอบกิจการได้ เราเชื่อว่าสุขภาพก็ต้องมาก่อนอยู่ดี”
นอกจากนั้นบอสใหญ่แห่ง Smallroom ก็ยังมองไปถึงอนาคตของค่ายเพลงที่เขาปลุกปั้นมาด้วยว่า
“ถ้ามองกันแบบนี้เราก็ต้องมองไปไกลที่สุด Smallroom ก็มองว่า การจะกลับมาได้เหมือนเดิม จริงๆ แล้วควรจะเลยปีหน้าไปเลย แต่ว่าสำหรับตัวเราเองเราจะรอดหรือเปล่า เราพยายามทำให้ได้ถึงปีหน้าแหละ แต่ในส่วนของผู้เล่นอื่นๆ หรือผู้ประกอบกิจการผับบาร์ ไม่รู้จะปิดกันไปเยอะแค่ไหน หรือว่าจะมีเหลืออีกแค่ไหน ก็อยากให้รัฐช่วยคนกลุ่มนี้ด้วย”
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ