เคล็ดลับตั้งวงดนตรีอย่างไรให้อยู่ยาวนาน โดย ต้า Paradox | Sanook Music

เคล็ดลับตั้งวงดนตรีอย่างไรให้อยู่ยาวนาน โดย ต้า Paradox

เคล็ดลับตั้งวงดนตรีอย่างไรให้อยู่ยาวนาน โดย ต้า Paradox
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ได้จะมาพูดว่าทำอย่างไรให้เล่นดนตรีหาเงินเป็นอาชีพได้ยืนยาวนะครับ แต่เน้นเล่นกันกับเพื่อนให้ได้สนุกสนานไปนานๆ มากกว่า เพราะการเล่นดนตรีเป็นการทำกิจกรรมกับคนหมู่มาก หลากหลายความคิด จึงมีโอกาสเกิดปัญหาได้ง่าย ผมลองกลั่นกรองจนพบเคล็ดลับที่มีอยู่ไม่กี่ข้อ เหมาะสำหรับใครที่กำลังก่อตั้งวง ไม่ว่าจะเล่นสนุกๆ หรือมีความฝันไกลไปถึงออกอัลบั้มเป็นศิลปินระยะยาว นี่เป็นคำแนะนำจากประสบการณ์ที่ผ่านมา 20 กว่าปีครับ

1 . คิดอยู่ตลอดว่า "ดนตรีคือความสนุกและงานอดิเรก" 

ตอนก่อตั้งวง มักจะเป็นช่วงที่สนุกที่สุด มันคล้ายกันหมด ไม่ว่าจะรวมทีมเล่นกีฬากิจกรรมอะไรก็ตามแต่ หรือโปรเจกต์ต่างๆ ตอนเริ่มต้นจะสนุกที่สุด มันตื่นเต้นท้าทาย มีความฝัน แต่พอเลยจุดนั้นไปแล้ว ผู้คนมักหลงประเด็นและมองข้ามความสนุกไป (มองข้ามชอต) จนเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาต่างๆ ที่ตามมา นั่นคือความเครียดและจริงจังจนเกินเหตุ  

การทำเพลงและดนตรีเป็นเรื่องที่แปลก เมื่อไหร่ที่มองว่ามันเป็นงานหรือเจตนาจะขาย มันจะแปรเปลี่ยนสภาพตัวเองให้ฝ่อ หมดมนต์ขลังทันที ความสนุก ถ้าเรารู้สึกได้จริงและมองว่ามันเป็นงานอดิเรกอยู่ตลอดเวลา มันจะไม่เครียด แล้วจะกลายเป็นดึงดูดรายได้เข้ามาเอง ส่วนเราก็จะได้ทั้งความสนุกและมีรายได้โดยอัตโนมัติ  

จากประสบการณ์ ผมไม่เคยเห็นวงดนตรีไหนที่ตั้งวงเพื่อเน้นหาเงินและทำงานเพลงเพื่อกะดัง จะประสบความสำเร็จเลยซักวงเดียว มีน้องๆ รุ่นใหม่หลายวง ที่มีทัศนคติมองเรื่องผลประโยชน์มาก่อนเลย (คือพอฟอร์มวงแต่งเพลงเองได้ก็เริ่มฟิต จัดระบบรับงานจ้างแล้ว) ใช้การเล่นดนตรีเป็นทางผ่าน (คือเล่นเพราะอยากดัง อยากรวย) ผมไม่สนับสนุนเลย (คือคนฟังจะรู้นะครับ ว่าตัวจริงหรือตัวปลอม) อยากแนะนำน้องๆ ทุกคน หรือใครก็ตาม ให้มองว่าดนตรีคือเรื่องความสุข เป็นงานอดิเรกที่เราทำกับเพื่อนฝูงแล้วหัวใจพองโต สร้างดนตรีสร้างเพลงแล้วกลับมานอนฟังที่บ้าน คุยกันเฮฮาถูกคอ อยากที่จะทำงานต่อ อยากเอาออกมาโชว์ มาแบ่งปันเพื่อนร่วมโลก เริ่มจากตรงนั้น แบบนั้นแสดงว่ามาถูกทางแล้ว เพราะต่อให้อย่างไรเสีย เราก็ยังมีวง มีเพื่อน มีเพลงสนุกกันเหมือนเดิมได้ โดยไม่ต้องให้ใครมาเป็นตัวชี้วัด  

2. เล่นดนตรีอย่างต่อเนื่อง

การหาพื้นที่เล่นคอนเสิร์ตหรือการมีกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ทดลองมาแล้ว ว่าได้ผลดีมากที่สุด เพราะว่าการเล่นคอนเสิร์ตอย่างต่อเนื่อง ก็เหมือนการโฆษณาตัวเองทางอ้อม เวลาไปเล่นที่ไหน คนเห็นก็อาจจะติดต่อให้ไปเล่นงานอื่นต่อ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงหรือคนแปลกหน้าก็จะมีโอกาสได้เห็นมากกว่าการอยู่ในห้องซ้อมอย่างเดียว

รวมไปถึงการผลิตผลงานเพลงตัวเองอย่างต่อเนื่องด้วยนะครับ ปัจจุบันนี้โลกเร็วมาก ทำเพลงนึกอะไรออกก็อัพลง YouTube หรือไลฟ์สดเล่นผ่าน Facebook ได้เลยทันที ดังนั้นการผลิตอะไรต่อเนื่องเป็นเรื่องง่ายแล้ว ถึงแม้วันนี้จะไม่ดัง ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่อนาคตก็ต้องมีสักเพลงแหละที่คนจะชอบเหมือนกับเรา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าลืมว่าตัวเองก็ต้องสนุกไปด้วยนะครับ 

พูดเรื่องนี้แล้วมีหลายวงดนตรีดังๆ รุ่นใหม่เคยได้คุยกัน เขามักมีทัศนคติที่คิดว่า เวลาวงดังมากๆ แล้ว รู้สึกอิ่มตัว อยากจะขอพักวงเพื่อไปบ่มงานให้มีคุณภาพ พูดอย่างง่ายๆ ก็คือหยุดพักทัวร์คอนเสิร์ต เบรคทุกอย่าง หายตัวเข้ากลีบเมฆ ปลีกวิเวกไปเลย 

วิธีนี้ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะว่าเราไม่สามารถรู้ได้ว่าวันนี้ที่โด่งดังมีคนชื่นชอบ วันพรุ่งนี้คนอาจจะลืมไปแล้วก็ได้  ถือเป็นการเสี่ยงมากที่จะมองการณ์ไกลขนาดนั้นว่าวงดนตรีของเราจะมีคนชื่นชอบรอเพลงใหม่อยู่ตลอดเวลา(และไม่ลืมไปเสียก่อน) ถ้าเล่นขำๆ แบบไม่จริงจังอะไรเลย ดนตรีไม่สำคัญกับชีวิตมาก ก็ทำไปเถอะครับ แต่ถ้าวงดนตรีของคุณมีคนชื่นชอบติดตามเชียร์แล้วก็คงจะน่าเสียดายโอกาส ถ้าไม่สานต่อ

ดังนั้นผมไม่ค่อยสนับสนุนให้ดังแล้วหยุดพักงาน แต่ตรงกันข้าม ผมสนับสนุนให้หมั่นคิดงานออกมาเรื่อยๆ แล้วก็มีโชว์คอนเสิร์ตต่อเนื่องเรื่อยๆ เหมือนฝึกซ้อมลับคมสมอง ฝึกฝีมือไปตลอด เปรียบเทียบคล้ายนักมวยที่ฝึกซ้อมอยู่ตลอด เมื่อถูกเรียกขึ้นชกก็ฟิตทันสามารถขึ้นเวทีได้ทันที   (มีคอนเสิร์ตปีละครั้งก็ยังดี อย่างน้อยได้เจอกับเพื่อนๆ มาซ้อมมาเจอกัน)

3. ระวังเรื่อง "เงินและผู้หญิง"

การทะเลาะเบาะแว้ง ปัญหาของวงดนตรี หลักใหญ่ๆมักจะมาจาก 2 ข้อนี้เสมอ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดังนั้นเมื่อตั้งวงดนตรีกันแล้ว ก็ให้ระวังให้ดี เพราะเมื่อไหร่ที่มีเสียงเพลง มีความบันเทิง ก็มักจะมีเรื่องผลประโยชน์และเพศตรงข้ามตามมา ถ้าเป็นวงดนตรีผู้ชาย ก็ต้องมีเรื่องสาวๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ทีนี้ถ้าหน้าตาดีเซ็กซี่ด้วยล่ะก็ชุลมุนวุ่นรักเลย ยิ่งถ้าเข้ามาแบบไม่ได้ชัดเจนว่าชอบใครเป็นพิเศษ โอกาสผิดใจกันสูง อารมณ์แย่งกันจีบนั่นแหละ เตะตัดขากันเองฝุ่นตลบ (เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด) ทีนี้ก็จะเริ่มหมั่นไส้กันลึกๆ รอวันจุดชนวนประเด็นอะไรซักอย่างขึ้นมา โดยเฉพาะถ้ามีสาวๆ ชมคนอื่นให้ฟัง ความหมั่นไส้ยิ่งทวีคูณ 

และเรื่องใหญ่ที่ตามมาอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ถ้าไม่ทำอะไรให้ชัดเจนก็เกิดความบาดหมางเพาะบ่มไว้ในใจ (อันนี้เชื่อว่าเป็นกับทุกคนทุกกลุ่มทุกโปรเจกต์นะครับ) ถ้าคลางแคลงใจเรื่องเงินกันเมื่อไหร่ก็จบเมื่อนั้น ผมเคยได้ยินเรื่องวงแตกเพราะเรื่องค่าแท็กซี่ 20 บาทมาแล้ว คือคนหนึ่งเข้าใจว่าเพื่อนยังไม่จ่ายแล้วทำเนียนอะไรประมาณนั้น แต่ไม่คุยกัน (สุดท้ายต่อยกัน!) 

หลักๆ ก็คือการผิดใจ ที่มักจะเกิดเพราะสองข้อนี่แหละ  ซึ่งยากจะหลีกเลี่ยงนะครับ ในความเป็นจริงแล้วแก้ยากมาก ส่วนปัญหาอื่นๆ เช่นยาเสพติด หรือแนวความคิดไม่ตรงกันหรือนู่นนี่นั่นก็เป็นปัจจัย แต่ไม่ได้ร้ายแรงขนาดสองข้อที่ว่ามาครับ

4. เลือกคำพูดที่เหมาะสมเวลามีปัญหา

ข้อนี้ผมให้ความสำคัญค่อนข้างมาก เพราะเรามักเกิดการผิดใจกันได้ทั้งนั้น แต่เมื่อเกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันแล้วสิ่งที่จะช่วยลดหนักเป็นเบาได้อย่างได้ผลดีมากๆ คือการเลือกคำพูดให้เหมาะสม นุ่มนวล นักดนตรีหรือคนเล่นดนตรีมักจะแบกอีโก้ความเป็นตัวเองสูงกันทั้งนั้น พอเกิดการทะเลาะก็จะสาดกันด้วยถ้อยคำรุนแรงประดุจอารมณ์เพลงร็อคที่พลุ่งพล่าน ใส่กันเมามัน ถ้าหัวรุนแรงกันทั้งคู่ก็ยิ่งจบแตกหัก

การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือ *การเลือกคำพูดที่ตรงประเด็นและนุ่มนวล ให้ลองคิดว่าถ้าเราเป็นคนฟังแล้วมีคนพูดแบบนี้ใส่บ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร(คือก่อนพูดอะไรให้ทดลองกับตัวเองก่อน)อันนี้เป็นข้อคิดที่เอาไว้เตือนตัวเองเวลามีปัญหากับเพื่อนแล้วอยากจะใช้คำพูดกระทืบใจเขา ก็ต้องระวัง บางคนจำฝังใจ แค้นฝังหุ่น การเลือกคำพูดใช้แก้ปัญหาได้กับทุกกลุ่มในโลกนี้ ไม่มีใครอยากโดนด่า หรือโดนดูถูก การไปว่าใครแรงๆ เพื่อให้เขาร่วมมือปรับปรุงตัวนั้นคงเป็นไปได้ยาก (ได้แค่สะใจ สะปากตัวเอง) เห็นอกเห็นใจกันดีที่สุด อย่างน้อยเมื่อเกิดความบาดหมางหรืออารมณ์โกรธ สิ่งที่ลดทอนความรุนแรงลงไปก็คือการเลือกคำพูดที่ตรงประเด็นแต่ยังรักษาน้ำใจกันไว้และให้เกียรติกัน ถ้าทนไม่ได้ก็อย่าเพิ่งเถียงกัน แยกกันสักพักหนึ่งก็ยังดีกว่าฟาดใส่กันในทันที 

สุดท้ายการเล่นดนตรีก็คือกิจกรรมกลุ่มและหลายๆ คนก็ไม่ได้มีความคิดเห็นที่เหมือนกัน ดังนั้นศิลปะการรวมกลุ่มจึงสำคัญมาก ถ้าใครอยากจะสนุกกับเพื่อนๆ ไปจนแก่ ก็ต้องปรับตัวกันไว้ และข้อเหล่านี้ก็ช่วยแนะแนวทางให้ท่านได้ เพื่อจะรักษาความสนุกนี้เอาไว้อีกนานเท่านาน...

ติดตามได้ทางช่องทางอื่นๆ ดังต่อไปนี้จ้ะ

บทความใน  www.sanook.com

IG: tarparadoxs

Line: @paradoxnews 

ลิงค์เพจตาต้า(เพจส่วนตัว)

https://m.facebook.com/Tatastudiothailand.  

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ เคล็ดลับตั้งวงดนตรีอย่างไรให้อยู่ยาวนาน โดย ต้า Paradox

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook