ความสนุกของเทป โดย ต้า Paradox | Sanook Music

ความสนุกของเทป โดย ต้า Paradox

ความสนุกของเทป โดย ต้า Paradox
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันนักสะสม ให้ความสนใจกับการสะสมเทปคาสเซ็ทกันมากขึ้น ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะว่าในความเป็นจริงแล้ว ตลับเทปเก่าๆ และทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวกับเทป เหมาะและควรค่าที่จะเป็นของสะสมขึ้นหิ้ง คนยุคผมเติบโตมากับเทปคาสเซ็ท มีความทรงจำมีประสบการณ์มากมาย ใช้ชีวิตร่วมกับการพกซาวด์อเบาท์เหน็บข้างกายสะพายไปฟังทุกที่ เป็นของยอดฮิตวัยรุ่นสมัยนั้น ความทรงจำเกี่ยวกับเทปกลายเป็นเรื่องสนุกเมื่อย้อนรำลึกถึงการใช้งานมันอย่างสมบุกสมบัน ทุลักทุเล แต่ก็หอมหวานเมื่อนึกถึง  

ม้วนเทป จับต้องได้ ลูบๆ คลำๆ เขย่าก๊อกแก๊ก (บางทีก็เอามาควงเล่น!) ปัจจุบันหายากแล้วสำหรับตลับเทปที่ยังซีลพลาสติก ไม่ได้แกะออกมาฟัง เพราะในสมัยนั้น ตลับเทปถือเป็นเรื่องใกล้ตัว ราคาไม่ได้แพงมาก ม้วนละประมาณ 90 บาท ยังไงก็ต้องแกะใช้งาน ไปที่ไหนก็จะต้องมีแผงเทปอยู่รอบตัว พอๆ กับเซเว่นยุคนี้ เรียกว่าเดินไปปากซอยหน้าบ้านก็เจอแล้ว เป็นของคู่คนไทย การใช้เทปคาสเซ็ทฟังเพลงก็แสนจะคลาสสิค ถ้าคุณปล่อยให้ตลับเทปถูกความร้อน ปัญหายอดฮิตเลยก็คือ "เทปยาน" เนื้อใน(เส้นสีดำๆ)ของเทปนั้นยืดหรือยาน (ตลกดีเหมือนกันที่ต้องมาอธิบายเรื่องเทป)

เทปยาน เอาไปแช่ตู้เย็น(ช่องวางไข่)

ความสนุกอย่างแรกคือ เมื่อเพลงที่เราได้ยิน เสียงเริ่มเปลี่ยนเป็นเสียงยานๆ อาการเสียงเฉื่อยๆเหมือนยานคาง เพลงจะช้าลงเหมือนถ่านจะหมด เสียงนักร้องจะแก่ลง (ถ้าปัจจุบันก็ให้นึกถึงเสียงที่วงฮิปฮอปชอบเล่นกับแผ่นเพลงเวลาดึงเสียงให้หน่วงช้าลง หรือไม่ก็เสียงของฆาตกรในหนังที่ใส่เครื่องแปลงเสียง เสียงจะต่ำๆ บวมๆ อืดๆ) 

ถ้าเกิดอาการแบบนี้ สิ่งที่มักจะทำกันก็คือนำตลับเทป "ไปแช่ตู้เย็น" ถ้ายานปกติก็จะเอาไปวางไว้ตรงช่องใส่ไข่ ถ้ายานหนักมากก็เอาเข้าช่องฟรีซไปเลย ใส่ถุงพลาสติกผูกหนังสติ๊ก เพื่อป้องกันเทปเปียก แช่เป็นวันเป็นสัปดาห์ บางครั้งใส่ไว้นานจนลืม น้ำแข็งกลบ กลายเป็นฟอสซิลติดตู้เย็นไปเลยก็มี ทิ้งไว้ประมาณ 1 วัน เอากลับมาฟังใหม่ เสียงจะกลับมาสดใสวัยรุ่นเหมือนเดิม ถือว่าการรักษาสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าเผลอเอาทิ้งไว้ในรถตากแดดอีก ก็อาจจะกลับมายานอีก ก็ต้องทำกันไปกันมา รักษากันแบบบ้านๆ นี่แหละ ได้ผลดี ตู้เย็นตามบ้านแต่ละคน จึงเต็มไปด้วยม้วนเทป ทยอยนำมาแช่ 

 

เครื่องกินเทป

ปัญหาอีกอย่างก็คือ เครื่องเล่นเทปกินเทป อาการนี้เจ็บใจมาก เพราะบางครั้งเทปที่พัง เป็นเทปราคาแพงกว่าปกติหรือหายากกว่า  ถ้าเครื่องเล่นเทปของเราเคยมีอาการกินเทป ยิ่งน่ากลัว ฟังไปลุ้นไป ถ้าดังแควก แล้วเครื่องค้างหยุดไปดื้อๆ ก็เตรียมใจไว้เลย ว่าเครื่องกินเทปเราไปแล้ว ถ้าน้องๆ นึกไม่ออก มันคือการที่เครื่องเล่น ได้ดูดเส้นเสียงเทปที่เป็นสีดำๆ เข้าไปขัดลำกล้องของเครื่องเล่น ม้วนพันฟันเฟืองจนเล่นไม่ได้ อาการแบบนี้ทำหัวใจสลาย เพราะต่อให้งัดซากเทปออกมาได้ เส้นเสียงก็เป็นรอยแล้ว เทปพันอยู่ในเครื่องอีรุงตุงนัง ถึงแม้เก็บใส่ม้วนได้ เวลาฟังใหม่มันจะมีอาการเสียงยับเสียงสะดุด ปวดใจมากสำหรับนักฟังเพลง แต่ส่วนใหญ่ถ้าถูกเครื่องเล่นดูดเทปไปแล้ว มักจะไม่รอด พังทั้งคู่ ยิ่งถ้าเป็นเครื่องในรถดูดตัวเทป จะยากมากในการซ่อม ถ้าเป็นวิทยุที่บ้านยังแงะออกมาได้ง่ายกว่า 

วัยรุ่นส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับเครื่องเล่นเทปมากกว่าม้วนเทป สมัยนั้นที่ดังๆ ก็จะมี Sony Walkman (ซึ่งผมไม่เคยใช้เลยเพราะมันแพงเกินตัว เด่นตรงจะได้ยินเสียงย่านเบสที่นุ่มลึก) เครื่องเล่นดีๆ จะมีโหมดการปรับเสียงให้ใสหรือลูกเล่นต่างๆ มากขึ้น ห้างประจำคือมาบุญครองชั้น 3 (มั้ง) ทุกสัปดาห์จะต้องไปวนเวียนแถวนั้น เพื่ออัปเดทวงการ 

กรอด้วยดินสอ

ความสนุกในการกรอเทปด้วยดินสอ เป็นเรื่องอธิบายได้ยากมากสำหรับน้องๆ ที่เกิดในยุคนี้ สมัยก่อนการฟังเทปมีข้อดีหลายอย่าง เพราะการจะข้ามเพลงนั้นทำได้ยาก ต้องมีเทคนิคส่วนตัว ปกติเครื่องเล่นเทป สามารถกรอไปด้านข้างหน้าและก็กรอย้อนหลังได้ แต่จะไม่รู้ว่า ถึงส่วนใดของเพลงแล้ว ต้องกะจังหวะกันเอาเอง นักฟังเพลงส่วนใหญ่ ก็จะฟังต่อเนื่องไปเลยง่ายที่สุด กรอมากๆ เทปอาจพัง

เลยกลายเป็นข้อดี เพราะระบบการเล่นเทปแบบนี้เหมือนบังคับให้ทุกคนต้องฟังทุกเพลงในอัลบั้มไปโดยปริยาย กลายเป็นการเพาะบ่ม ให้นักฟังเพลงได้รู้จักเพลงของศิลปินครบทุกเพลง บางเพลงก็ไม่ได้อยากจะฟังหรอก แต่ขี้เกียจกรอ ก็ทนฟังไป เผลอๆ กลายเป็นฟังบ่อยที่สุดไปซะเฉย นี่คืออีกหนึ่งความคลาสสิค และปัญหาวิทยุเครื่องกรอมักจะพังง่ายและพังเร็ว ไม่รู้เป็นอะไร บางครั้งไม่ทันใจ อยากจะข้ามไปฟังเฉพาะช่วง โดยเฉพาะมือกีตาร์ที่ต้องการแกะ Solo แล้วเทปกรอไม่ได้นี่ถือเป็นหายนะเลย ต้องใช้วิธีแก้ด้วยการเอาเทปออกมา แล้วสอดแท่งดินสอหรือปากกา แยงเข้าไปในรูตรงกลางที่มี 2 รูเทปนั้น (เลือกเอาสักรู) กะเอาเองว่าอันไหนไปด้านหน้า อันไหนไปด้านหลัง (อธิบายคร่าวๆ นะครับ) แล้วก็หมุนดินสอ ปั่นให้กลายเป็นเครื่องกรอเทประบบทำมือ บางคนก็หลายเทคนิคแล้วแต่คน บางคนชำนาญก็ควงเทปเลย ดินสอจิ้มรูแล้วยกขึ้นมาควงเหวี่ยงๆ แต่ต้องไม่ให้หลุดกระเด็น อารมณ์คล้ายคาวบอยควงปืนนั่นแหละ หรือบางคนก็ใช้วิธี ปั่นเหมือนกับ คนป่า กำลังปั่นใบกิ่งไม้เพื่อก่อกองไฟก็มี สำคัญที่ต้องกะว่ากรอให้ถึงตรงช่วงเพลงที่ต้องการ กรอมากๆ ก็เมื่อยมือ เลยมีการทำเครื่องกรอโดยเฉพาะแยกต่างหากออกมาขายเลย หรือนวัตกรรมที่ไฮเทคสุดๆ ของยุคนั้นก็คือเครื่องเล่นที่มีระบบ

เอาเทปมาอัดทับ

หนึ่งในกิจกรรมสุดคลาสสิค อภิมหาอมตะนิรันดร์กาลสมัยนั้น  มันคือการรีไซเคิล นำเทปที่เราฟังแล้วไม่ชอบ หรือมีซ้ำ ได้มาฟรี อะไรก็ตามแต่ จะกลายเป็นเทปที่เอาไว้อัดทับ

สมัยก่อนถ้ามีคลื่นวิทยุที่เราชอบ เปิดเพลงใหม่ๆ แล้วเราอยากได้เก็บเอาไว้ฟังเองหรืออยากอัดไปฝากแฟน ก็จะต้องมานั่งรอจังหวะที่เขาเปิดเพลงนั้น (ซึ่งไม่รู้ว่าทั้งวัน เขาจะเปิดตอนไหน) ถ้าดีเจใจดีหน่อย ก็จะเกริ่นล่วงหน้าให้ว่า "เอาละครับ เดี๋ยวเราจะเปิดเพลงนี้นะ" เรียกว่าเอาใจคออัดเสียง (คือบางทีเพลงใหม่เกินไปอัลบั้มยังไม่ออกวางแผง) แต่ถ้าดีเจใจร้าย ก็จะเปิดเพลงเลยไม่ให้ทันได้ตั้งตัว หรือสับขาหลอกระหว่างเพลง มีพูดแทรกทำลายจังหวะคนกำลังอัดให้เสียอารมณ์กันไป 

สมัยก่อนอยากฟังเพลงไหน ก็เตรียมแลกเหรียญบาทหยอดตู้โทรศัพท์ (มือถือยังไม่เกิด) อยากฟังเพลงไหนก็ต้องโทรไปขอที่คลื่นวิทยุ (ถูกหวยยังง่ายกว่าโทรติด) จำได้ว่าวงผมเองตอนเอาเพลงใหม่ส่งคลื่น พอกลับมาบ้าน คุณสองและผองเพื่อนจะแอบปลอมเป็นแฟนเพลง โทรไปขอเพลงวงตัวเองที่คลื่นวิทยุนั้น แลกเหรียญมาเป็น 100 เพื่อโทรขอเพลงตัวเองให้ติดชาร์ตอันดับสูงๆ เรียกว่าอัดสื่อกันตั้งแต่สมัยนั้นเลย (เชื่อว่าทุกวงก็ทำกัน) ดีเจคงงงว่าไอ้คนนี้มันรู้ได้ไง ว่ามีเพลงนี้ ก็เพิ่งจะได้มาเมื่อตะกี๊นี้เอง

เจาะรูเทป

เครื่องเล่นเทปทุกเครื่องจะมีปุ่มเปิด (Play) และปุ่มอัด (Rec) อยู่ใกล้กัน เพื่อกดอัดได้ง่าย เวลาเราไม่ได้ใช้เทปม้วนไหนแล้วก็เอามาอัด ไม่ว่าจะอัดจากวิทยุหรืออัดก๊อปปี้ เอาไปให้เพื่อนบ้าง ฝากแฟนบ้าง บางคนก็ง่ายเลยอัดยาวเลยทั้งหน้า a และ b ก๊อปปี้มันหมด เพื่อแจกจ่าย ใจดี เพื่อนคนไหนไม่มีม้วนนี้ก็ฝากเอาม้วนเปล่าให้มันอัดให้ สมัยผมนี่ทำกันเป็นเรื่องราว มีเพื่อนรับจ้างอัดกันเลยทีเดียว (วิดีโอยิ่งแล้วใหญ่ ไม่ต้องเดาเลยว่าแนวไหน) แต่สมัยก่อนการมีเครื่องเล่นเทปที่มีระบบอัดทับ 2 ช่องใส่ตลับเทปได้ 2 ม้วนก็เป็นเรื่องค่อนข้างไกลตัว ต้องพวกไฮโซไฮเทค เพราะเครื่องเล่นจะมีราคาแพง สามารถเปิดอันนึงอัดอันนึง บางคนทำเป็นรวมฮิตส่วนตัว เอาไปจีบสาวฝากแฟนฝากเพื่อน ถ้าฟิตหน่อยก็รวบรวมเพลงที่ถูกใจ ทำเป็นเซ็ตไปเลย เอาไว้ฟังเอง เช่นรวมเพลงประกอบหนัง รวมเพลงโฆษณา รวมเพลงรักของวงต่างๆ อัลบั้มนี้มอบให้เธอ คือเลือกเพลงที่เราชอบแทนใจ ค่านิยมวัยรุ่นยุคนั้น อัดเสร็จต้องเดินเอาไปฝากเพื่อน ให้คนที่ตัวเองแอบชอบ เหมือนเป็นจดหมายสื่อรัก ครีเอทหน่อยก็ต้องออกแบบปกเอง ตัดแปะปุปะเอาแบบทำมือ สมัยนั้นไม่มีเครื่องปริ้นท์ รักมากชอบมาก ก็ทุ่มทุนออกแบบเยอะหน่อย บางคนเขียนเนื้อเพลงใส่ลงไปด้วยนะ เพื่อให้คนที่ตัวเองชอบเข้าใจความหมายของหัวใจ 

คลาสสิคสุดคือการรวมเพลงรัก เพื่อส่งให้กับคนที่ตัวเองชอบ บางคนแอบชอบเค้ามาตั้งนาน ไม่รู้จะบอกยังไง ก็เอาวะ เอาเทปไปยื่นให้ ถ้าโรแมนติกหน่อยเลียนแบบหนังก็ต้องเอาหูฟังใส่หูเขาแล้วค่อยๆ เปิดเพลงเฉลยความในใจ (แต่ถ้าไปจับหูเขาได้ขนาดนั้นก็น่าจะไม่ต้องจีบแล้วล่ะ) ส่วนใหญ่ได้แค่แอบมอง แอบสืบจากเพื่อนที่เอาไปให้ว่า "เป็นไงบ้าง? เขาฟังแล้วอาการเป็นไง?" (คือไม่ได้เห็นเอง แอบอยู่ ต้องถามเพื่อนเอา บางทีก็โดนเพื่อนมันหลอกก็มี) เอาเพลงไปฟัง ถ้าเขาฟังแล้วหัวเราะคิกคักก็ฮิ้ววว.. หัวใจพองโต แค่คิดก็เขินแล้ว เป็นความกุ๊กกิ๊กของวัยรุ่นยุคนั้น (ผมเองก็เคยทำนะ ออกแบบปกด้วย อิอิ แต่รวมฮิตไปหลายอัลบั้มแล้ว ไม่เห็นจีบติดสักคน) 

สิ่งที่ต้องระวังก็คือ อย่าเผลอไปกดอัดระหว่างที่กดเปิดฟัง! เพราะมันจะกินเสียงในเทปแว๊บนึงไป เทปจะไปติดเสียงอะไรไม่รู้วูบนึง แล้วจะเป็นแบบนี้ไปตลอด ทำให้เสียอรรถรสในการฟังเพลง พูดง่ายๆ คือเทปถูกอัดทับโดยบังเอิญ เป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้นพวกเทปที่หวง จึงมักจะทำการ "จิ้ม" หรือหักสันขอบของม้วนเทป ให้มันหักลงเป็นรู ทั้ง 2 รูเพื่อป้องกันการอัดทับ(ระบบมันเป็นอย่างนั้น) เรียกว่าม้วนนั้นก็จะไม่ต้องระวังแล้ว เพราะอัดทับไม่ได้ แต่ก็มีวิธีแก้ทางกันสำหรับการรีไซเคิล ถ้าอยากจะนำไปอัดใหม่ ก็แค่ใช้เทปใส แปะปิดรูทั้งสองให้เรียบเหมือนเดิม ก็จะกลายเป็นนำมาอัดใหม่ได้ เทปบางม้วนผมใช้อัดเป็น 10 รอบเลยก็มี สมัยก่อนผมจะนำเทปที่ไม่ได้ใช้หรือไม่ชอบ เอามาอัดบันทึกการซ้อมดนตรี เผื่อมีเพลงใหม่ๆ Demo ใหม่ๆ ก็จะเอามาอัด แล้วเปิดฟังเพื่อแต่งเพลงได้  

ความสะใจ คือเอาเทปวงที่ดังมากๆ ในตอนนั้นมาอัดทับ! สมัยวัยรุ่น จะชอบข่มกันคล้ายอารมณ์หยามกัน หมั่นไส้ไอ้วงนี้ ดังนักใช่ไหม เอามาอัดทับซะเลยครับ เหมือนสะใจที่ว่าเอาเทปดังๆ มา เป็นเทปอัด ยิ่งถ้ารู้ว่าเพื่อนเราเป็นสาวกวงนั้น ต้องเอาไปให้มันเห็น ให้มันเจ็บปวด แซวกัน ให้มันโกรธ สุดท้ายวิบากกรรมตามสนองเมื่อวันที่หยิบเทปวงโปรดขึ้นมาฟังแล้วเป็นรายการธรรมะ! (โดนป้าเอาไปอัดตอนไหนก็ไม่รู้!) ก็เป็นเรื่องอำๆ ขำๆ กันไปในยุคนั้นนะครับ  

ผ่าตัดเทป 

เป็นงานที่สนุกสำหรับผม ชอบมาก การนำเทปมาผ่าตัดมักทำในกรณีถ้าเทปอัดโดนกินเนื้อ มีบางส่วนยับเกินเยียวยา จำเป็นต้องตัดเนื้อร้ายออกไป ไม่งั้นเวลาเล่นอาจจะพันติด ทำให้เครื่องเล่นพัง เวลาผ่าตัดก็จะเอาตัวม้วนเทปที่จะมีน็อตอยู่ตามมุม 4 ตัว เราก็เอาไขควงมาไขน็อตออกมา แล้วค่อยๆ ทำการตัดเอาช่วงที่ยับออก แล้วเอาเทปใสแปะรอยต่อให้เนียน ถือเป็นงานละเอียดมาก บางครั้งถ้าพลาดก็กลายเป็นเทปพังไปเลย ส่วนใหญ่จะยากตรงม้วนเทปดำให้เป็นระเบียบ เก็บเข้าที่เดิม ได้อารมณ์เหมือนช่างและคุณหมอได้ฝึกสมาธิไปในตัวด้วย ถ้าทำออกมาได้ดีก็จะภูมิใจในตัวเองอย่างมาก

นอนฟังเพลง อ่านปก

ความสุขของการรอคอยให้ถึงวันวางแผงของวงที่เราชอบ ความตื่นเต้น หัวใจพองเมื่อเห็นอัลบั้มนั้นวางเรียงรายเต็มแผงเทป พร้อมเพลงโปรโมทลั่นร้าน ต้องมีการตีซี้กับคนขายเสียหน่อย เพื่อได้รู้กำหนดวางแผง บางทีก็ขอโปสเตอร์ฟรี วันวางแผง เมื่อซื้อเสร็จสิ่งแรกคือต้องรีบกลับบ้านด่วน เพื่อไปแกะดูปกเทปข้างใน อยากรู้ว่าใครแต่งเพลง ไอ้เพลงที่เรางงๆ ว่าร้องว่าอะไรกันแน่ ก็จะมาอ่านเนื้อในปกนี่แหละ  ผมชอบอ่านคำขอบคุณซึ้งๆ ของศิลปิน ชอบเวลาเขาขอบคุณคนนั้นคนนี้ ขอบคุณพ่อแม่ที่ทำให้เกิดมา! ขอบคุณราวกับว่าชีวิตนี้ไม่มีที่บอกความในใจแล้วนอกจากปกอัลบั้ม อ่านไปอมยิ้มไป 

ส่วนต่อไปจะชอบอ่านเครดิตทีมงานต่างๆ คำร้องทำนองใครแต่งใครอัด อ้าวเฮ้ย! ไหงคนตีกลองเป็นคนอื่นหว่า? อะไรแบบนี้ นักฟังเพลงสมัยนั้นจะรู้แม้กระทั่งคนไหนเป็นมือปืนรับจ้างอัดเสียง อ้าวคนนี้อีกละ! คนนี้อัดให้วงในแกรมมี่ตลอด โห คนนี้เป็นโปรดิวซ์ด้วย แสดงว่าวงนี้กะขาย คือรู้ลึกขนาดนั้นเลย กระโจนขึ้นที่นอน ใส่หูฟัง คลี่ปก ดื่มด่ำไปกับเสียงเพลง และบ่อยครั้งเมื่อฟังเสร็จปุ๊บ นึกในใจปั๊บ "เสียดายตังค์ เพราะเพลงเดียว!" ถอดหูฟัง แยกชิ้นส่วน โยนเทปใส่กระแป๋ง กลายเป็นเทปอัดในทันที!  

ผมเติบโตมากับการฟังเทปเพลงใส่หูฟังสนุกกับการกรอไปกรอมา นั่งชมวิวระหว่างเดินทางไปต่างจังหวัด ได้ฟังเพลงทั้งหน้า A ละหน้า B เพลงเล็กเพลงน้อย เพลงฮิตมากมาย ได้ลูบคลำตลับเทป คลี่ปกออกมาอ่าน มันเป็นความสุขทางใจของคนในยุคนั้น สารภาพว่าเมื่ออยู่ในยุคนี้ ผมก็ไม่ได้ฟังครบทุกเพลงในอัลบั้มแล้วเหมือนกัน ใช้เสิร์ช YouTube เอา ซึ่งอย่าหวังว่าจะได้ฟังครบอัลบั้ม (เจอแต่เพลงโปรโมท) มันก็เปลี่ยนไปตามโลก 

เมื่อนึกย้อนเวลากลับไป คงเป็นความทรงจำผ่านวัตถุโบราณชิ้นหนึ่ง กรอกลับไปพร้อมเสียงเพลงและเรื่องราวเก่าๆ มันเลยมีคุณค่าเพียงพอที่จะกลายเป็นของสะสม ให้หวนรำลึกถึงวันเก่าๆ แบบจับต้องได้ ตลับเทปก็กะทัดรัดพอที่จะจัดเอาไว้ข้างผนังห้องนอนหรือห้องรับแขก เอามาตั้งโชว์ นับวันก็ยิ่งคลาสสิค ราคาก็แสนถูก เอาตามตรงผมชอบตลับเทปมากกว่าซีดี เพราะมันมีรายละเอียดยิบย่อยกว่า 

เขียนบทความนี้เสร็จ สงสัยต้องไปตามเก็บเทปเก่าๆ บ้างแล้วล่ะครับ  

ติดตามได้ทางช่องทางอื่นๆ ดังต่อไปนี้จ้ะ

บทความใน  www.sanook.com

IG: tarparadoxs

Line: @paradoxnews 

ลิงค์เพจตาต้า(เพจส่วนตัว)

https://m.facebook.com/Tatastudiothailand.  

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ความสนุกของเทป โดย ต้า Paradox

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook