คุยกับ “วู้ดดี้-บาส ZAAP” ว่าด้วยเรื่อง “TUK TUK Festival” และห้องทดลองช่วงโควิด-19 | Sanook Music

คุยกับ “วู้ดดี้-บาส ZAAP” ว่าด้วยเรื่อง “TUK TUK Festival” และห้องทดลองช่วงโควิด-19

คุยกับ “วู้ดดี้-บาส ZAAP” ว่าด้วยเรื่อง “TUK TUK Festival” และห้องทดลองช่วงโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คิดถึงมิวสิคเฟสติวัลกันไหม?

จากคำถามข้างต้น คอดนตรีทุกคนคงตอบอย่างพร้อมเพรียงว่า “คิดถึง” ถึงแม้จะมีคอนเสิร์ตออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ แวะเวียนมาทักทาย แต่ท้ายที่สุดมันคงจะเป็นคนละความรู้สึกกัน จนกระทั่งการเดินทางมาของ “TUK TUK Festival” โดยโต้โผใหญ่อย่าง วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วู้ดดี้ เวิลด์ จำกัด และ บาส-เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ ซีอีโอของนักจัดปาร์ตี้และคอนเสิร์ตแถวหน้าของเมืองไทยอย่าง ZAAP นั่นเอง

อธิบายง่ายๆ ก็คือ “TUK TUK Festival” คือมิวสิคเฟสติวัลที่อัดแน่นด้วยศิลปินระดับท็อปของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น Potato, Joey Boy, Palmy, TaitosmitH, Three Man Down และ แสตมป์ อภิวัชร์ จัดเต็มแสงสีเสียง เพียงแต่ใช้มาตรการคัดกรองอย่างเข้มข้น และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นมิวสิคเฟสติวัลแบบ New Normal อย่างแท้จริง

อ้อ! ที่สำคัญที่สุด ผู้ชมทุกคนจะนั่งชมยืนชมอยู่บน “รถตุ๊กตุ๊ก” ในรูปแบบไดรฟ์-อิน ที่มาที่ไปของเทศกาลดนตรีที่สุดแสนท้าทายที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม 2563 ณ เอเชียทีค นี้จะเป็นเช่นไร? ทำไมถึงไม่ขายบัตร? แล้วทั้งสองได้เรียนรู้ประสบการณ์อะไรจากช่วงโควิด-19 บ้าง ไปฟังจากปาก วู้ดดี้ และ บาส กัน

ที่มาที่ไปของ Amazing Thailand TUK TUK Festival by Chang Music Connection?

วู้ดดี้ : หลังจากเกิดโควิด-19 ผู้จัดอีเวนท์หรือเฟสติวัลก็เกิดคำถามในใจว่า เราจะสามารถไปต่อกันได้อย่างไร พอถึงช่วงกลางปีที่ผ่านมาก็มีโอกาสได้คุยกับพาร์ตเนอร์อย่าง ททท. หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็ตั้งคำถามแรกไว้เลยว่า เราสามารถทำอีเวนท์แบบ New Normal ระดับโลกได้ไหม สองคือเราจะทำอย่างไรให้มีความเป็น Thai style แบบที่ใหม่มากๆ ก็เลยมีโอกาสได้มาคุยกับอีกหนึ่งพาร์ตเนอร์คือ ZAAP จนออกมาเป็น Amazing Thailand TUK TUK Festival by Chang Music Connection

ใช้เวลาคิดนานไหมสำหรับโปรเจกต์นี้?

วู้ดดี้ : นี่คือเร็วที่สุดในชีวิตแล้ว นั่นคือ 48 ชั่วโมง คุยกับ ททท. ซึ่งเขาจัดงานอะไรบางอย่างอยู่ เราก็เห็นภาพขึ้นมา เราจะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว มันต้องมีอีเวนท์แล้ว ทาง ททท. ก็คุยมาว่า มันควรจะเป็นอีเวนต์ New Normal เราเลยปักหมุดเลยว่า มันจะมีอะไรเกิดขึ้นกลางปีแน่นอน ต่อสายหาคุณบาส ZAAP บอกว่า Thai style นะ สปอนเซอร์เป็น ททท. นะ สำนักข่าว CNN ต้องทำข่าวนะ

บาส : โจทย์คืออยากให้ออกไปทั่วโลก

วู้ดดี้ : คิดไกลเลยว่า ไดรฟ์-อิน คอนเสิร์ตอย่างไรที่มันจะปัง ทางบาสก็ตอบโจทย์มาว่าเป็นรถตุ๊กตุ๊ก ทุกฝ่ายโอเคภายใน 7 วัน แต่เคาะคอนเซ็ปต์ 48 ชั่วโมง

ฟังดูเป็นโปรเจกต์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายแบบมหาศาล?

บาส : โจทย์จากพี่วู้ดดี้ที่บรีฟ ZAAP ก็ทำเอาทีมงานช็อกไปเหมือนกันครับ (หัวเราะ) โจทย์ยากมากและยิ่งใหญ่มาก แต่ด้วยความที่เราก็อยากท้าทายตัวเอง ก็เลยมีไอเดียว่าเราอยากสร้างเป็น ตุ๊กตุ๊กไดรฟ์-อิน มิวสิคเฟสติวัล ครั้งแรกของโลก เพราะตอนนี้ทั่วโลก็มีกระแส มิวสิค ไดรฟ์-อิน เยอะมาก

บาส เทพวรรณบาส เทพวรรณ

แต่ด้วยข้อจำกัดของประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ?

บาส : ใช่ครับ เมืองไทยมีข้อจำกัดทั้งเรื่องมลภาวะ ถ้านำรถไปจอดก็ควรดับเครื่องยนต์ แต่อากาศบ้านเราก็ร้อน เราก็เลยดีไซน์เป็นรถตุ๊กตุ๊กซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความเป็นไทยของเรา มันคืองานระดับโลกที่สร้างสรรค์จากความเป็นไทยครับ เป็นอีเวนต์ New Normal ที่รักษาความเป็นไทยเอาไว้ และควบรวมความบันเทิงเอาไว้อยู่ในงานเดียว รถตุ๊กตุ๊กจะกลายมาเป็นซิมโบลิคที่จะนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะมีรถตุ๊กตุ๊กทั้งหมด 200 คัน จำกัดคันละ 2-3 คนครับ

ในทุกวันนี้ความปลอดภัยในการแพร่เชื้อโควิด-19 เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงระวังมากๆ?

บาส : นั่นเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากครับ เราตั้งใจจะศึกษาการดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ทั้งการตรวจอุณหภูมิร่างกาย ถ้าเกิน 37.5 องศาเซลเซียสก็จะไม่ได้เข้างาน ซึ่งจุดนี้ถือเป็นไฮไลท์ เพราะเรามีเครื่องวัดเหมือนที่สนามบินใช้ สแกนเช็กอินและเช็กเอาต์แอปฯ ไทยชนะ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ซึ่งคนติดสติ๊กเกอร์เข้างานจะเป็นคุณพยาบาลเลยครับ จุดพักรอก็จะมีทีมแพทย์ มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ มีจุดเว้นระยะห่างคนละ 1 เมตร เราให้ความสำคัญกับการปล่อยคิวคนเข้างานมากๆ ครับ หรือถ้าเริ่มหนาแน่น ก็จะมีบูธ information อยู่ด้านข้างเพื่อคอยแก้ปัญหาการลงทะเบียน เข้า-ออกงานได้ทางเดียว

แต่ที่เราสนใจมากกว่านั้นคือการเว้นระยะห่างระหว่างรถตุ๊กตุ๊กแต่ละคัน

บาส : เราเว้นห่างคันละ 2.9 เมตรครับ ซึ่งในความเป็นจริงเราจอดชิดกว่านี้ได้นะ แต่เราไม่ทำ ส่วนพื้นที่ใน 1 คันคือ 16 ตารางเมตร อีกข้อหนึ่งที่น่ารักมากๆ คือ ทุกคนแทบไม่ต้องลงจากรถเลย เพราะเรามีบัตเลอร์คอยบริการ ไปซื้ออาหารและเครื่องดื่มให้ จัดการคิวห้องน้ำให้ด้วย รวมถึงชี้แนะสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ นอกจากนั้นก็ยังมีการพ่นฆ่าเชื้อในบริเวณงานทุกๆ 2 ชั่วโมงด้วย ซึ่งย้อนกลับไปที่จุดคัดกรองนิดนึง พอผ่านจุดคัดกรองแล้ว รถตุ๊กตุ๊กจะมารอรับและขับไปที่จุดจอดรถ เท่ากับว่าผู้ชมจะมีความรู้สึกเหมือนได้นั่งตุ๊กตุ๊กเข้าไปดูคอนเสิร์ต และสุดท้ายตุ๊กตุ๊กก็จะพาคุณออกมาจากจุดที่ชมคอนเสิร์ต เอาจริงๆ คือแทบไม่ต้องลงจากรถเลย แสงสีเสียง บริการครบถ้วน ศิลปินระดับท็อป ก็ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่คุณจะได้สัมผัส

วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดาวู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา

แต่ลงจากตุ๊กตุ๊กมาเต้นได้ใช่ไหม?

วู้ดดี้ : ลงมาเต้นได้ แค่ห้ามไปโซนของคนอื่น ผมว่าที่จริงคนส่วนใหญ่ลงมาอยู่แล้วแหละ

บาส : ซึ่งเรามีบัตเลอร์คอยคอนโทรลอีกที ซึ่งใครมาก่อนจะได้ไปอยู่แถวหน้า ส่วนรถตุ๊กตุ๊กจำนวน 200 คันก็มีสหกรณ์รถตุ๊กตุ๊กมาช่วย พวกเขาน่ารักมาก

ซึ่งพวกคุณไม่ขายบัตรด้วย?

บาส : นี่คือสิ่งที่เซอร์ไพรส์ที่สุด คือต้องร่วมลุ้นรับบัตรตามเฟซบุ๊กเพจทั้ง TUK TUK FEST รวมถึง Chang World สาเหตุที่เราไม่ขายบัตรก็เพราะว่า... ถ้าพูดตรงๆ ด้วยยูนิตที่น้อยมาก เราคำนวณมาว่าไม่มีทางที่เราจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้อยู่แล้ว ซึ่งเราก็ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ใจดีที่ช่วยสนับสนุนให้งานมันเกิดขึ้น ถ้าเราขายคงเป็นบัตรที่แพงมากๆ

วู้ดดี้ : โปรเจกต์นี้ถือเป็นรูปแบบใหม่ในการนำเสนอตัวมิวสิคเฟสติวัล ถ้าเราสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาในการจัดงาน มันจะเป็นประมาณไหน คุยกันแต่แรกว่าไม่อยากใช้คำว่าทดลองหรือเป็นงานตัวอย่าง ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนจะได้เห็นมันมาจากมาตรฐานที่ ททท. วางไว้ และมันมาจากสิ่งที่ทางเราเองคิดว่าภาพของเฟสติวัลแบบ New Normal มันน่าจะเป็นประมาณนี้ และถ้ามันไปได้ ก็คงจะมีการคุยกันต่อว่า ในอนาคตเราจะทำอย่างไรให้สามารถขายบัตรได้ด้วย หาสปอนเซอร์เพิ่มเติมได้อีก ดังนั้นคำตอบของการไม่จำหน่ายบัตรเพราะนอกจากพื้นที่จำกัดแล้ว นี่เป็นโปรเจกต์นำร่องตัวแรกของทาง ททท. และเราจัดร่วมกันครับ

เป้าหมายสำคัญของงานนี้ล่ะ?

บาส : อยากให้ TUK TUK Festival เป็นโชว์เคสของประเทศไทยที่ออกไปสู่สากล ให้ภาพของเมืองไทยกลับมามีงานลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้ว อยากส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นไทยออกสู่สายตาชาวโลกว่า ประเทศไทยยังมีความสนุกอยู่นะ นอกจากนั้นยังต้องการซัพพอร์ต Thai local business คนขับรถตุ๊กตุ๊กก็ได้รายได้เพิ่ม ได้ส่งเสริมอาชีพพวกเขาด้วย

คุณวู้ดดี้คาดหวังว่า TUK TUK Festival จะกลายเป็นปรากฏการณ์เหมือนกับที่ S2O Songkran Music Festival เคยทำได้ แถมยังโกอินเตอร์ไปยังต่างแดนด้วยไหม?

วู้ดดี้ : เราว่างานนี้มันเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ความรู้สึกของจัดก็เป็นอีกแบบ S2O มันมีเป้าหมายเรื่องวันสงกรานต์ แต่ TUK TUK Festival มันเป็นเรื่อง New Normal และความเป็นไทย ทุกโปรเจกต์ที่เราทำต้องมีความคาดหวังอยู่แล้ว งานนี้เราคาดหวังนะว่าคนไทยจะรัก คาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับ คาดหวังว่ามาตรฐานจะได้ คาดหวังว่าคนจะได้เห็นมันเป็นคอนเสิร์ตแบบนั้นได้จริงๆ และคาดหวังว่าทำออกมาแล้วทุกคนจะปลอดภัย S2O คือโปรดักชั่น ความอลังการ แต่ TUK TUK คือมาตรฐาน เซฟตี้ ความปลอดภัยครับ เพราะฉะนั้นความคาดหวังจะไม่เหมือนกัน ภาพคนเรือนหมื่นมาร่วมงาน ภาพตรงนั้นมันไม่ได้อยู่ตรงนี้แล้ว มันทำให้เราเบาขึ้นเหมือนกันนะว่า คนจะมาจำนวนหนึ่งและมาเต็มพื้นที่ที่เรากำหนดเอาไว้ เป็นเฟสติวัลที่เราไม่ต้องห่วงเลยว่า บัตรจะเดินไหม (หัวเราะ) และเราก็เชื่อว่าจะได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างเพื่อนำไปปรับใช้กับงานครั้งต่อไป

มิวสิคเฟสติวัลในรูปแบบเดิมมีโอกาสจะคัมแบ็กไหม?

วู้ดดี้ : จริงๆ เรามีคอนเซ็ปต์และคอนเทนต์อยู่ในมือเยอะ เพียงแต่ตอนนี้เรายังไม่กล้าที่จะเดินหน้าเต็มที่ ใช้คำนี้แหละ คือต้องยอมรับว่าปีนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เราพยายามจะจัดหลายอีเวนท์ช่วงกลางปี แต่ก็ต้องเลื่อนออกไปหมด มันทำให้เราไม่มีความมั่นใจว่า ทุกงานที่เรานำเสนอไปจะมีเสียงตอบรับหรือคนจะสามารถไปได้ ดังนั้นเราต้องเพลย์เซฟไปก่อน ปี 2020 ในแง่อีเวนท์ เป็นช่วงปีที่เราเข้าห้องแล็บทดลองอีกครั้ง รายได้จากการทำอีเวนท์ก็เริ่มต้นจากศูนย์ใหม่ ล้างไพ่ครับ ทุกคนมาเริ่มต้นใหม่ปีหน้าเป็นต้นไป กับมาตรฐานใหม่ๆ วิธีคิดใหม่ๆ คือถ้าปีนี้ไม่เกิดอะไรขึ้นอีก คิดว่าไตรมาส 2 ของปีหน้าจะกลับมาเป็นปกติ แต่ก็คงไม่ใช่ปกติเหมือนที่เราเห็นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

แสดงว่า S2O ก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน?

วู้ดดี้ : ถ้าคิดเร็วๆ ก็อาจจะไม่ใช่ชาวต่างชาติเป็นหลัก อาจจะกลายเป็นคนไทยหรือเปล่า อย่างที่บอกว่าช่วงโควิด-19 เป็นช่วงที่เราต้องพิจารณารูปแบบงาน แนวของงาน เรามีความคิดใหม่ๆ เยอะมากที่จะจัด S2O แบบใหม่ และเราว่ามันจะเกิดขึ้นในปีหน้า โควิด-19 เป็นตัวบอกเลยว่าทุกอย่างในโลกมันมีวันหมดอายุ แต่สิ่งสำคัญสำหรับการเข้าห้องแล็บทดลองในปีนี้ก็คือ ถ้าไปต่อไม่ได้ก็ต้องวิจัยต่อ ก็ต้องดูเงื่อนไขต่อไป ต้องเดินหน้าทุกวัน หาทางไปเรื่อยๆ อย่าท้อถอย เพราะถ้าเราจอด เราถอดปลั๊ก ปิดสวิตช์ นั่งเฉยๆ รากงอกปุ๊บ ตายเลยนะครับ

ถือเป็นปีที่คุณวู้ดดี้เจ็บหนักมากน้อยแค่ไหน?

วู้ดดี้ : น่าจะหนักที่สุดตั้งแต่เปิดบริษัทมา S2O ก็ต้องพัก รายการใหม่ที่จะออนทางทีวีซึ่งเป็นความคาดหวังของปีนี้ในเรื่องรายได้ก็ต้องพัก พักหมดทุกอย่าง ซึ่งมันก็เครียดแหละ มันมาถึงจุดหนึ่งที่เราต้องเครียดก่อน เพราะเราไม่เคยเจอ แล้วเราก็อยู่กับมัน เราก็ถามตัวเองว่า เราได้เรียนรู้อะไร พอเราเห็นว่ามันเป็นการเรียนรู้ แล้วทุกคนเจอเหมือนกัน เราก็หายเครียด เราก็เคยมาจากจุดที่เราไม่มีอะไรมาก่อน เหมือนกับเริ่มต้นใหม่จริงๆ ได้กลับไปเป็นวู้ดดี้ที่เริ่มจากศูนย์ ทุกอย่างเป็นไปได้หมดสำหรับเรา แล้วเราต้องมองในแง่บวกตลอด เราถึงไปต่อได้ ไม่อย่างนั้นก็คงจะต้องนั่งเครียดอยู่ตอนนี้

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ คุยกับ “วู้ดดี้-บาส ZAAP” ว่าด้วยเรื่อง “TUK TUK Festival” และห้องทดลองช่วงโควิด-19

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook