ครึ่งทางของการเอาชีวิตรอดใน I-Land โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง | Sanook Music

ครึ่งทางของการเอาชีวิตรอดใน I-Land โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

ครึ่งทางของการเอาชีวิตรอดใน I-Land  โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เทรนด์รายการแนวเซอร์ไววัลของวงการเคป็อปยังไม่จบไม่สิ้นกันง่ายๆ แม้รายการตระกูล Produce น่าจะต้องหายหน้าไปพักใหญ่จากดราม่าโกงคะแนน แต่ตั้งแต่ปลายมิถุนายนที่ผ่านมา เราก็มีรายการ I-Land ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง CJ Entertainment & Media (เจ้าของช่อง Mnet ที่เราคุ้นเคยนั่นแหละ) และค่าย Big Hit Entertainment ต้นสังกัดของวง BTS เพื่อปั้นบอยกรุ๊ปวงใหม่ขึ้นมา

จุดเด่นของ I-Land คือการเซ็ตระบบและโลกของรายการขึ้นมาให้มีลักษณะเฉพาะตัว แทนที่จะถ่ายทำในสตูดิโอที่ให้ผู้ชมเข้าร่วมได้ (ซึ่งตอนนี้ทำไม่ได้เพราะโควิด-19) ทีมงานกลับไปสร้างอาคารที่รูปทรงเหมือนหลุดมาจากหนังไซไฟที่กลางป่า ภายในมีพร้อมทั้งห้องซ้อม ห้องนอน ห้องครัว แต่ขณะเดียวกันก็มีกล้องติดอยู่ทั่วทุกบริเวณ ใครที่ทันรายการเรียลลิตี้สมัยก่อนอย่าง Big Brother หรือ Academy Fantasia คงคุ้นเคยรูปแบบนี้เป็นอย่างดี

ผู้ที่ต้องเข้าไปอยู่ในอาคารแห่งนี้คือเด็กหนุ่ม 23 คน (ที่โปสเตอร์เปิดตัวแต่งรูปซะออกมาหน้าตาเหมือนกันไปหมด และช่างต่างจากตัวจริงเหลือเกิน) พวกเขาจะต้องผ่านบททดสอบต่างๆ เพื่อหาตัวเองไปอยู่ในไฟนอลไลน์อัพ ขณะเดียวกันรายการก็แทรกฉากความสนิทสนมหยอกล้อกันของเหล่าผู้เข้าแข่งขัน พูดแบบติดตลกได้ว่ารายการ I-Land น่าจะเป็นส่วนผสมของ The Hunger Games กับซีรีส์วาย (ดูโปสเตอร์ คีย์อาร์ต ชุดฟอร์มผู้เข้าแข่ง แวบเดียวก็ดูออกแล้วว่าได้แรงบันดาลมาจากหนังดังเรื่องนั้น)

ตามสไตล์รายการเซอร์ไววัลยุคหลังที่ร้องหรือเต้นเก่งอย่างเดียวไม่พอ ถ้าเป็นแต่ก่อนสกิลที่ต้องมีคือการ ‘หาซีน’ ให้ตัวเองแบบพอดี ไม่เด่นเกิน แต่ก็ไม่จางเกินไป ส่วน I-Land เน้นไปที่ความตึงเครียดและสงครามจิตวิทยา เช่นว่าตัวอาคารจะแบ่งเป็นสองส่วน ฝั่งที่หรูหราอุปกรณ์ครบครันเรียกว่า I-Land ส่วนอีกฝั่งที่มีเพียงห้องซ้อมเปล่าๆ เรียกว่า Ground หลังจบภารกิจผู้เข้าแข่งจะต้องโหวตคะแนนกัน ใครที่โดนโหวตออกจะต้องเด้งไปอยู่ที่ Ground และในแต่ละรอบตำแหน่งคนใน I-Land และ Ground ก็สามารถสลับไปมาได้ตามการโหวต

สงครามประสาทมันเริ่มจากตรงนี้นี่เอง รายการเอาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องชนชั้น มาเป็นตัวสร้างดราม่า ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองคงอยู่ใน I-Land และไม่ตกชั้นไปที่ Ground ขณะเดียวกันก็ต้องโหวตอย่างระมัดระวัง การโหวตเพื่อนออกนั้นต้องบาลานซ์ทั้งเรื่องความสามารถและนิสัยใจคอ เช่นว่า ระหว่างคนเก่งที่อีโก้จัด และ คนความสามารถกลางๆ แต่นิสัยดี คุณจะเลือกใครล่ะ?

อีกสิ่งที่โดดเด่นใน I-Land คือรายการพยายามเสียเหลือเกินที่จะสร้างว่านี่คือโลกแบบ ‘ระบบปิด’ เช่นว่าผู้แข่งขันถูกจับไปอยู่ในตึกที่ตัดขาดขากโลกภายนอก ไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดีย (ในฉากหน้าที่เราได้เห็นในรายการน่ะนะ) ได้รับรู้เรื่องโลกภายนอกเพียงตอนที่ประกาศคะแนนโหวตจากแฟนคลับทั่วโลก แถมยังจัดฉากให้ไม่มีทีมงานปรากฏตัวเลย ไม่ว่าจะตากล้องหรือช่างแต่งหน้า ประหนึ่งว่าพื้นที่นี้มีเพียงผู้เข้าแข่งขัน นอกจากนั้นยังมีเสียงชายลึกลับที่คอยสั่งการเด็กๆ ประหนึ่ง ‘บิ๊กบราเธอร์’ ในนิยายเรื่อง 1984 เสียงที่คอยกดดันพวกเขาไม่ว่าจะตอนประกาศภารกิจ หรือกระทั่งก่อนการแสดง เสียงนี้จะย้ำเตือนถึงเงื่อนไขของการตกรอบ

และเมื่อเป็นรายการที่ออนแอร์ทางช่อง Mnet กลยุทธ์แบบ ‘ตัดต่อผี’ ก็ต้องมาตามระเบียบ เหยื่อที่โดนก็เช่น นิกิ เด็กหนุ่มญี่ปุ่นที่เต้นเก่งเป็นคนจริงจัง แต่ได้ซีนที่ทำให้เขากลายเป็นคนที่มุ่งเรื่องการแข่งขันจนไม่เห็นใจเพื่อน, เจย์ หนุ่มเกาหลี-อเมริกัน ที่ช่วงแรกได้ภาพลักษณ์เป็นคนหัวร้อน แต่ตอนหลังเหมือนรายการจะรักน้อง เลยให้แต่ซีนดีๆ กลายเป็นคนมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม รวมไปถึง เซอน ที่ความสามารถไม่ได้โดดเด่น แต่มักสวมบทพี่ชายใจดีค่อยไกล่เกลี่ยทุกประเด็น แต่กลายเป็นชาวเน็ตรุมเกลียด เพราะมองว่าเขาคือจอมชักใยที่ใช้ประโยชน์จากคนอื่น

บทสรุปของ I-Land น่าจะมาถึงในช่วงกลางเดือนกันยายน ผู้แข่งขัน 23 คน คัดเหลือ 12 คน และเหลือ 7 คนในรอบสุดท้าย เชื่อว่ารายการน่าจะหามิชชั่นและดราม่าต่างๆ นานามาประเคนใส่ผู้ร่วมรายการ แต่เราต้องคำนึงด้วยว่าหลายคนยังอายุไม่ถึง 20 ปี บางคนก็อายุเพียง 14-15 ปีเท่านั้น จนอดคิดไม่ได้ว่ามันเป็นเรื่องโอเคหรือเปล่านะที่เด็กอายุเท่านี้ต้องมาผ่านเล่ห์กลทางจิตวิทยา (ที่คิดขึ้นโดยพวกผู้ใหญ่) แน่ล่ะว่าสมัยนี้การเป็นไอดอลหน้าตาดีหรือมีความสามารถอย่างเดียวไม่พอ แต่มันจำเป็นต้องทำกันถึงขนาดนี้หรือเปล่า หรือมันอาจจะกลายเป็น Norm ที่ยอมรับกันได้ของวงการเคป็อปในที่สุด

**ติดตามรายการ I-Land พร้อมซับไตเติ้ลภาษาไทยได้ทาง JOOX ทุกวันอังคารเวลา 10.00

____________________

kanchat

ผู้เขียน - คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

(Kanchat Rangseekansong)

เปิดโลกดนตรีและไอดอลกับคันฉัตร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook