5 ความลับจากเพลง "ชิมก่อน" ที่ Blues Tape อยากให้ทุกคนลองชิม
หลังจากปล่อย 3 เพลง ในฐานะศิลปินอิสระเมื่อปีที่ผ่านมา Blues Tape วงดนตรีป็อป-ร็อคแอนด์โรลที่มากับ 4 สมาชิก อย่าง คิว-มกรา ดลสุขเลิศ (ร้องนำ), ขวัญ-ไรวินท์ มนธาตุผลิต (กีต้าร์), ออฟ-ญาณพล วิบูลย์วิทยานันท์ (เบส) และ ผักบุ้ง-ณัฏฐณิชา เงินคำ (กลอง) ก็กลับมาพร้อมเพลงใหม่ "ชิมก่อน" ซึ่งถือเป็นซิงเกิลแรกที่พวกเขาทำกับค่าย สนามหลวงมิวสิก
การทำงานครั้งนี้ทางวงได้รับคำแนะนำจาก บอล อพาร์ตเมนต์คุณป้า (กันต์ รุจิณรงค์) นักดนตรีแถวหน้า และในขณะเดียวกันก็ได้ทดลองการทำงานรูปแบบใหม่ๆ และวันนี้ทาง Sanook Music ก็ได้ล้วงความลับของผลงานนี้มาให้ทุกคนได้ชมกันแล้ว
1. "ชิมก่อน" คือเพลงที่ทางวงใช้เวลาแต่งเนื้อร้องนานที่สุด
ถึงแม้ว่าจะเคยทำผลงานมาแล้ว 3 ซิงเกิล แต่ "ชิมก่อน" คือผลงานที่คิวนักร้องนำใช้เวลาเขียนนานกว่า 2 เดือน และต้องโละ 2 ครั้งกว่าจะเสร็จ และเนื้อเพลงทั้งหมดก็เสร็จสมบูรณ์ในวันที่อัด ซึ่งคิวได้เล่าถึงการเขียนเนื้อเพลงว่า "เป็นเพลงที่ใช้เวลาแต่งนานสุด แก้เยอะสุด เราอยากทำเนื้อเพลงที่สื่อถึงความเป็นเรา ให้เขากินได้ง่ายสุดเหมือนชื่อ "ชิมก่อน" ครับ ยังไงก็ได้ที่เป็นเรา แต่ทำให้เขาเข้าใจง่ายสุด เราก็ลดลงมาอยู่ตรงกลาง เพลงนี้มันยากสุดตรงที่การเลือกคำมาใช้เล่าเรื่องราว คำที่ง่ายสุดก็คือคำที่ยากที่สุด ซึ่งเมื่อก่อนเรามีอะไรในหัวก็ใส่ไป กว่าจะเสร็จเราก็โละเนื้อประมาณ 2 รอบก็ใช้เวลาเดือนครึ่ง แต่พอไปพักผ่อนสักพัก พอกลับมาจากต่างจังหวัดระหว่างขับรถก็ได้เนื้อทั้งหมด และมาปรับอีกทีให้ห้องอัด เนื้อเพลงที่อยากสื่อก็คืออยากให้ทุกคนใช้วิจารณญาณในการฟัง อยากให้คิดหลายๆ แง่ ทุกเรื่องทั้งเรื่องความรัก, ครอบครัว, การเมือง, สื่อ อย่าหูเบา ผมก็ไม่อยากตัดสินใคร ก็อยากให้ทุกคนใช้สติในการกรอง"
2. การอัดกีตาร์ที่ไม่มีการเตรียมพร้อม แต่ก็สำเร็จในเวลา 2 ชั่วโมง
ในวันที่อัดเพลง เดิมทีขวัญมือกีตาร์ไม่ได้เตรียมพร้อมมาเพื่อทำงานในพาร์ทตัวเอง เนื่องจากตามแพลนแล้วทางวงตั้งใจอัดแค่กลองกับเบส แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ต้องบันทึกเสียงกีตาร์ทันที ซึ่งสร้างความกังวลให้กับขวัญและวงอย่างมาก แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ด้วยดี โดยขวัญได้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า "วันที่อัดเพลงมันไม่ใช่วันที่ผมคิดว่าจะได้อัดกีตาร์ เพราะคิดว่าไม่ถึงคิว คือวันนั้นไม่ได้ซ้อมอะไรเลย แล้วก็โดนพี่บอลสั่งให้อัดตรงนั้นเลย วันนั้นคิดว่าอัดแค่กลองกับเบส มันก็เกร็งอะพี่ คือเราเล่นกีตาร์เหมือนพี่บอล แต่กระจอกกว่าเขาเยอะมาก ก็ไม่ได้เตรียมพร้อม ก็เล่นไปตามฟีล สุดท้ายก็ได้พี่บอลมาช่วยตัดขอบสิ่งที่มันขาดเกิน ก็ใช้เวลาไม่เยอะครับ ประมาณ 2 ชั่วโมงครับ คือด้วยมันเป็นเพลงที่ทำและเราชินอยู่แล้ว แต่คือทุกอย่างมันอยู่ในหัวเรา การเล่นกีตาร์มันเป็นวิธีที่เคยนิยม ถึงแม้กระแสเพลงมันเปลี่ยนไปตลอด แต่เราทำแบบเดิมมันได้ดี เราก็ทำแบบนี้ เราจะไม่พยายามใช้วิธีอื่น และพอเล่าถึงเรื่องการอัดกีตาร์เสร็จ ขวัญก็เสริมความลับอีกหนึ่งข้อของเพลงว่า "ปกติงบจะมีงบมาสเตอร์ทำเพลงมาให้ประมาณหนึ่ง แต่สุดท้ายเราใช้เกินไปเท่าตัว ตอนแรกเราไม่คิดว่าจะเกินขนาดนั้น ก็แอดกันเพิ่ม ประมาณ 6 หลักครับ"
3. ครั้งแรกของการเล่นเบสโดยใช้ปิ๊กของออฟ
เนื่องจากเพลง "ชิมก่อน" ทางวงได้มาพร้อมสีสันใหม่ๆ ทำให้ออฟมือเบสได้ตัดสินใจเปลี่ยนจากการใช้นิ้วมาเป็นปิ๊กเพื่อสร้างรสชาติดนตรีใหม่ๆ ให้กับเพลง โดยออฟได้เล่าถึงขั้นตอนนี้ว่า "การเล่นเบสของผมใช้ปิ๊กเล่น คือฟีลเพลงมันได้ ตอนขวัญเขาทำเดโม่มา เขาทำริฟฟ์ไกด์มา พอเล่นเบสตาม ก็ถามดูว่าใช้อันไหนดี สุดท้ายก็ใช้ปิ๊กเล่นเพราะมันได้ฟีลมากกว่า สำหรับผมการใช้นิ้วเนื้อเบสมันจะมากกว่ามันจะละมุน แต่ถ้าใช้ปิ๊กมันจะพุ่งมากกว่า มันจะสากๆ ถ้าถามว่าการเล่นแบบนี้ยากไหม มันก็ยากอยู่ครับ เพราะผมต้องฝึกกล้ามเนื้อ คือใช้นิ้วมันจะใช้ข้อมือช่วยด้วย และตอนนี้ก็มีการ Mute ไม่ให้มีเสียงของบางสาย ดังนั้นมันก็ยากขึ้นนิดนึง ก็ใช้เวลาฝึกประมาณหนึ่งก่อนอัดเพลง"
4. กลอง 100 เทคก่อนจะบันทึกเสียงจริง
ทางด้านของ ผักบุ้ง มือกลองผู้เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของวง ก็ได้เตรียมตัวอย่างเต็มที่ก่อนบันทึกเสียงเพลง โดยเธอได้ซ้อมกลองมากกว่า 100 เทคก่อนจะส่งให้เพื่อนได้ชม และนอกจากจะเล่าถึงการซ้อมแล้ว เธอยังเล่าถึงเบื้องหลังในการทำงานในห้องอัดว่า "เพลงนี้เป็นเพลงที่ผักซ้อมเยอะสุดก่อนไปอัด เพราะว่าหนึ่งก็คือพี่บอล ก็คนที่ทำงานกับพี่ อะตอม-ชนกันต์ รัตนอุดม ก็ไม่รู้ว่าเขาได้ยินกลองแบบไหนมา ก็อัดกลองที่บ้านเป็นร้อยๆ เทค คือมันมีท่อนที่สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นเพลง Bodyslam มาก ดังนั้นผักต้องหาลูกอัดที่เป็นตัวเองที่สุด ไม่ใช่ Bodyslam ไม่ดีนะ แต่เราอยากทำตามเขา ก็ให้เพื่อนเขียนโน้ตและเล่นมาให้ฟัง และเราลองปรับให้มาเป็นแบบเรา ก่อนอัดเป็นร้อยๆ เทคใช้เวลา 2 วัน แล้วคัดเหลือ 14-15 อันให้วงฟังว่าอันไหนดีสุด และอีกอย่างคือตอนอัดสแนร์คือไม่ได้ตั้งเลย คือเอาออกมาใช้กระเป๋าแบบไม่ได้ปรับอะไรเลย คือมันก็ปรับอะไรไม่ได้มากอยู่แล้ว เพราะถ้าปรับเสียงมันจะเปลี่ยนจากที่เคยตั้งใจไว้ และส่วนเครื่องทองเหลือง ที่สตูดิโอก็มีหลายแบบให้ใช้ แต่พอลองไปก็รู้สึกว่ามันดังไป ดังจนกลบเสียงอื่นๆ ก็ต้องลดฉาบให้บางลงและตีให้เบาลง ซึ่งพอเล่าจบผักบุ้งก็เสริมเกี่ยวกับการทำงานครั้งนี้ว่า "จริงๆ ที่ทำงานครั้งนี้มันไม่กดดัน แต่มันเป็นฟีลใหม่ที่เราไม่เคยทำ และเราก็อยากรู้ว่าถ้าใช้กลองสดจะดีไหม ซึ่งช่วงนั้นติดโควิด-19 ก็มีเวลาทำจุดนี้"
5 แฟนๆ ต้องลองฟัง ถึงจะรู้ความลับข้อสุดท้าย
ช่วงท้ายของบทสนทนา สมาชิก Blue Tapes ได้พูดเชิญชวนให้แฟนๆ ฟังเพลงถ้าอยากรู้ความลับช้อที่ 5 โดยพวกเขาได้เผยว่าอยากให้คนชิมผลงานก่อน และจะรู้ความลับของมันเอง ก่อนจะบอกว่าพวกเขาอยากให้ทุกคนฟังเทสดนตรีและซาวด์ที่พวกเขาเลือกมา พร้อมบอกว่าผลงานนี้เป็นเหมือนเมนูแก้เลี่ยนในวันที่กระแสเพลงร็อคเบาลง
Interviewed by Chanon B.
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ