5 เพลงสากลที่พูดถึง “การเมือง” และ “ม็อบ” | Sanook Music

5 เพลงสากลที่พูดถึง “การเมือง” และ “ม็อบ”

5 เพลงสากลที่พูดถึง “การเมือง” และ “ม็อบ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วงการเพลงอยู่คู่กับเหตุการณ์บ้านเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะศิลปินระดับโลกหลายคนที่อุทิศเวลาในการแต่งเพลงเพื่อพูดถึงเหตุการณ์ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศ รวมถึงบนโลกใบนี้ Sanook Music รวบรวมเพลงที่ศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลงหลายคนได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุบ้านการเมืองต่างๆ ทั้งเรื่องการเมือง และการเกิดขึ้นของม็อบจากประชาชนที่เรียกร้องต่อความถูกต้อง และสิทธิที่ประชาชนควรได้รับ มาให้ทุกคนได้ลองฟังกัน

Childish Gambino - “This Is America”

“This Is America” ของ Childish Gambino กลายเป็นเพลงประจำตัวนักเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการทันทีที่ปล่อยออกมา โดยเนื้อหาของเพลงพูดถึงการเหยียดสีผิวที่ยังเกิดขึ้นในทุกวัยของประเทศที่เรียกว่าเป็นประเทศแห่งเสรีภาพอย่างอเมริกา เพลงนี้ปล่อยออกมาตั้งแต่ 2018 แต่ทุกครั้งที่มีประเด็นของเรื่องการเหยียดสีผิว อย่างล่าสุดกับเหตุการณ์การเสียชีวิตของ George Floyd ทำให้ “This Is America” กลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้ง นอกจากนี้ภาพในมิวสิควิดีโอที่เป็นการจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมอเมริกาที่ชาวผิวสีถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมผสมผสานไปกับการเต้นรำพร้อมการถ่ายทำคล้ายกับมุมมองแบบ long take (ตัดต่อเนียนเหมือน long take) ทำให้มิวสิควิดีโอเพลงนี้ได้รับรางวัล Grammy Awards สาขา Best Music Video ในปี 2019 และรางวัล Best Cinematography จาก International Film Festival of the Art of Cinematography Camerimage Awards ในปีเดียวกันอีกด้วย

ท่อนเด็ด: “You (are) just a black man in this world. You (are) just a barcode, ayy.

You (are) just a black man in this world. Drivin' expensive foreigns, ayy”

 

Green Day - “American Idiot”

แฟนเพลงสากลไม่มีใครไม่รู้จักเพลงนี้ เนื้อเพลงเรียกได้ว่าแสบๆ คันๆ ทุกคำทุกประโยค ถึงขั้นที่ว่าตอนขึ้นแสดงสดออกอากาศในทีวี หรือเปิดในวิทยุต้อง clean version ที่เซนเซอร์คำหยาบออก นับว่าเป็นหนึ่งในเพลงที่ดังที่สุดของ Green Day และเป็นเพลงเปิดตัวอัลบั้มชื่อเดียวกันได้อย่างยิ่งใหญ่และเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก เนื้อหาของเพลงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อที่นำเสนอข่าวด้วยอคติในช่วงที่ George W. Bush กลับมาหาเสียงลงเลือกตั้งอีกครั้งช่วงปี 2004 ด้วยเนื้อเพลงที่ตรงไปตรงมาแทบจะไม่ต้องตีความอะไรให้มากมาย และเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นจริงในสังคมอเมริกา ทำให้เพลงนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Grammy Awards มากถึง 4 รางวัล ทั้ง Best Rock Performance จากศิลปินดูโอหรือศิลปินกลุ่ม, Best Rock Song, Best Short Form Music Video, และ Record of the Year ในปี 2005 และยังขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตเพลงของ 11 ประเทศทั่วโลก พร้อมยอดขายระดับ 6 แพลตตินั่มในอเมริกา และ 7 แพลตตินั่มในอังกฤษอีกด้วย

ท่อนเด็ด: “Don't wanna be an American idiot

Don't want a nation under the new mania

And can you hear the sound of hysteria?

The subliminal mind-f**k America”

 

Manic Street Preachers - “If You Tolerate This Your Children Will Be Next”

เพลงเก่าสมัยปี 1998 ของ Manic Street Preachers ที่กลายเป็นเพลงอันดับ 1 เพลงแรกของวง ด้วยเนื้อเพลงที่พูดถึงสงครามกลางเมืองของสเปนที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1936-1939 ที่เป็นการเร่งความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านสาธารณรัฐสเปนที่ 2 จนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ชื่อเพลงมาจากโปสเตอร์ที่ฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐปลุกระดมชาวอังกฤษให้ลุกขึ้นมาร่วมต่อสู้กับจอมทัพ ฟรานซิสโก ฟรังโก เพื่อเข้ายึดครองอาณานิคม นอกจากชื่อเพลงแล้ว ยังมีประโยคจริงที่มาจากปากของผู้ร่วมสงครามชาวเวลช์ที่พูดว่า “So if I can shoot rabbits, then I can shoot fascists” อยู่ในเนื้อเพลงด้วย โดย Nicky Wire ฟร้อนท์แมนของวงและเป็นชาวเวลช์กล่าวว่า ไอเดียของเพลงนี้มาจากการที่เขาเห็นเรื่องการเมืองถูกลดความสำคัญลงในสังคมยุคสมัยใหม่นั่นเอง

ท่อนเด็ด: “So if I can shoot rabbits, then I can shoot fascists”

 

 

Muse - “Uprising”

เพลง “Uprising” เป็นผลงานเพลงร็อคที่ได้อิทธิพลจากดนตรีซินธ์ยุค ‘80s จากอัลบั้ม The Resistance ในปี 2009 จาก Muse ที่ได้อิทธิพลมาจากวรรณกรรมเรื่อง 1984 ของ George Orwell นักประพันธ์ชาวอังกฤษ โดยพูดถึงการก่อกบฏ ขัดขืนคำสั่งรัฐบาล โดยเนื้อหาของเพลงจะพูดถึงความคิดของตัวละครเอกในเรื่องที่คิดว่าตัวเอง และทุกๆ คนมีพลังมากพอที่จะลุกขึ้นต่อสู้ บวกกับได้แรงบันดาลมาจากเหตุการณ์กลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวประท้วงการประชุม G20 ในปี 2009 โดยผู้เข้าร่วมประท้วงไม่ไว้ใจการทำงานของธนาคาร บริษัทใหญ่ระดับโลก และนักการเมือง นอกจากนี้ในเนื้อเพลงยังแฝงถึงความคิดที่ปลุกระดมคนรุ่นใหม่ที่มักถูกปลูกฝังค่านิยมที่ให้เราเงียบเข้าไว้ และยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเสียไม่ได้ ให้ลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งด้วยตัวเอง เพราะทุกคนมีพลัง มีเสียงที่ต้องออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์นั่นเอง

ท่อนเด็ด: “They will not force us

They will stop degrading us

They will not control us

We will be victorious

(So come on)”

 

The 1975 - “Love It If We Made It”

เพลงสุดท้ายที่จะแนะนำในบทความนี้ เป็นเพลงที่แฟนเพลงสากลรุ่นใหม่ต้องเคยได้ยิน สำหรับผลงานของ The 1975 วงอินดี้ซินธ์ป็อป-ร็อคจากอังกฤษ จากอัลบั้ม A Brief Inquiry into Online Relationshipเมื่อปี 2018 โดยเนื้อหาของเพลงพูดถึงความขัดแย้งที่พบเห็นได้ในสังคมออนไลน์โดยรวมหลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ทั้งเรื่องเหยียวสีผิวในอเมริกา รวมถึงข่าวสะเทือนใจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เช่น การจมน้ำเสียชีวิตของ Alan Kurdi เด็กน้อยชาวซีเรียจากครอบครัวผู้ลี้ภัยวัย 3 ขวบที่เป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทั่วโลก การจากไปของศิลปิน Lil Peep รวมถึงการออกมาสนับสนุน Kante West ที่หวังจะลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกัน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเพลงที่เป็นที่พูดถึงเรื่องราวในสังคมอย่างกว้างๆ หลายประเด็น แต่บทสรุปอยู่ที่ประโยค “And I'd love it if we made it” ที่ Matt Healy ฟร้อนท์แมนของวงมองว่าความขัดแย้งต่างๆ จะจบลงได้ดีหากเราทุกคนมีความยืดหยุ่นให้ซึ่งกันและกัน “มันคงจะดีถ้าเราทำได้สำเร็จ”

ท่อนเด็ด: “The war has been incited

And guess what, you're all invited

And you're famous

Modernity has failed us”

นอกจากนี้ยังมีเพลงที่พูดถึงประเด็นการเมือง ความขัดแย้งในสังคม การประท้วง ก่อกบฏ และอีกมากมายที่อ้างอิงจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นจริงในสังคมโลก จะเห็นได้ว่าวงการดนตรีเป็นกระบอกเสียงที่ดีในการพูดถึงปัญหาทางสังคมได้เป็นอย่างดีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และอาจจะเป็นอีกหนึ่งบทบาทของผู้มีชื่อเสียงที่จะใช้พลังที่มีอยู่ในมือให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook