รวบตึงถึงคอนเสิร์ตออนไลน์ญี่ปุ่นปี 2020 โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
โดยปกติช่วงเดือนแรกของการเข้าสู่ปีใหม่ คอลัมน์ของผู้เขียนก็มักจะเป็นการสรุปเพลงแห่งปีหรืออัลบั้มแห่งปี แต่เพื่อให้เข้ากับกระแส New Normal และ โควิด-19 ที่ไม่จางหายเสียที (ฮือ) ปีนี้เลยขอเปลี่ยนเป็นการสรุป ‘คอนเสิร์ตออนไลน์’ ความบันเทิงรูปแบบใหม่ที่เราได้เสพกันเมื่อปีที่แล้วจนอิ่ม (หรือเบื่อ?) และเชื่อว่ามันจะเทรนด์ที่อยู่คู่วงการเพลงในปี 2021 เช่นกัน
เนื่องจากผู้เขียนเคยเล่าถึงคอนเสิร์ตออนไลน์เกาหลีอย่าง (G)I-DLE หรือ IZ*ONE ไปแล้ว คราวนี้เลยขอข้ามไปฝั่งของศิลปินญี่ปุ่นบ้าง ซึ่งขอสปอยล์ล่วงหน้าว่ามีทั้ง ‘ปัง’ และ ‘พัง’ จ้า
JO1 : 1st Live Streaming Concert “STARLIGHT” (ราคาตั๋ว 1100 บาท)
วงบอยกรุ๊ปจากรายการ PRODUCE 101 JAPAN ที่โชคไม่ดีดันเปิดตัวในปีแห่งโควิด-19 แม้ยอดขายในญี่ปุ่นจะทำได้ดี (ซิงเกิลเปิดตัวของพวกเขาขายได้ถึงสามแสนแผ่น) แต่แพลนที่จะเป็น Global Group วงระดับโลกที่ตระเวนออกอีเวนต์ตามต่างประเทศมีอันต้องอันล้มไป แถมทัวร์คอนเสิร์ตที่แค่ทัวร์ตามหัวเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นก็สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ สุดท้ายดันกลายเป็นแค่คอนเสิร์ตออนไลน์เหงาๆ
แม้ว่า JO1 จะลงทุนไปแสดงกันที่ PIA ARENA MM (ฮอลล์คอนเสิร์ตจุระดับหมื่นคน) แบบไม่มีคนดู แต่ผู้เขียนไม่รู้สึกถึงความอารีน่าของงานนี้นัก อาจเพราะโปรดักชันที่ไม่ได้อลังการมาก เลยรู้สึกเหมือนถ่ายกันในสตูดิโอ แถมการจัดไฟยังแยงตาเหมือนสมัย PRODUCE 101 JAPAN และดูโชว์ไปก็สับสนว่านี่มันงานแฟนมีทติ้งหรือคอนเสิร์ตใหญ่กันแน่ เพราะ JO1 เล่นแค่ 11 เพลง นอกนั้นเป็นการเล่นเกมและพูดคุย (โดยไม่มีซับอังกฤษ) ไปชั่วโมงกว่า โดยรวมจึงผิดหวังช้ำใจพอควร
ตัวอย่างคอนเสิร์ต JO1 : 1st Live Streaming Concert “STARLIGHT”
Aimer Live at Anywhere 2020 in Christ Shinagawa Church (ราคาตั๋ว 900 บาท)
นักร้องสาวเสียงดีที่ชื่อไม่ได้อ่านว่า ‘ไอเมอร์’ แต่ชื่อน้องอ่านว่า ‘เอเม่’ หรือ ‘เอเมะ’ ชาวไทยอาจคุ้นเคยศิลปินรายนี้อยู่บ้างเพราะเธอร้องเพลงประกอบอนิเมะหรือละครเยอะมาก (เช่น เพลง "Ref:rain" ในอนิเมะ After the Rain) ผู้เขียนเคยมีโอกาสดูคอนเสิร์ตของ Aimer ที่ไทเป และขอฟันธงเลยว่าเธอเป็นนักร้องเสียงดีที่สุดคนหนึ่งของยุคนี้ โมเมนต์ประเภทคนดูอึ้งนักร้องจนลืมหายใจสามารถเกิดขึ้นได้ในโชว์ของ Aimer
สำหรับคอนเสิร์ตนี้ Aimer ทำเก๋ด้วยการเล่นเพลงแบบอคูสติกและจัดงานในโบสถ์ ตอนแรกก็หวั่นใจว่าจะหลับไหม แถมระหว่างดูภาพดันกระตุกเป็นระยะ ทว่าเสียงของคอนเสิร์ตกลับออกมาชัดแจ๋วทั้งเสียงร้องและเครื่องดนตรี ทำให้สามารถติดตามดูจนจบ ซึ่งระหว่างโชว์ก็มีอะไรขำๆ (แบบที่ไม่รู้ว่าเขาตั้งใจให้ขำหรือเปล่า) เช่น การจัดไฟมืดๆ จนมองไม่เห็นหน้าศิลปิน นึกว่ากำลังดูรายการข่าวช่วงสัมภาษณ์เหยื่อ แต่หลายช่วงก็จัดไลท์ติ้งได้สวยงามน่าประทับใจอยู่
THE NOVEMBERS : AT THE BEGINNING (ราคาตั๋ว 900 บาท)
วงร็อคสี่คนแนวอัลเทอร์เนทีฟผสมกับชูเกซที่เน้นความอื้ออึงของเสียง THE NOVEMBERS เป็นศิลปินที่ขึ้นชื่อเรื่องการแสดงอันเดือดดาลอยู่แล้ว ที่น่าสนใจคือคอนเสิร์ตนี้ไม่ใช่การไลฟ์สด หากแต่เป็นการอัดบันทึกไว้ล่วงหน้า และมีความยาวเพียง 40 นาทีเท่านั้น โดยศิลปินแทบไม่พูดคุยกับคนดู เรียกได้ว่ามาเล่นดนตรีแบบเนื้อๆ เน้นๆ
แน่นอนว่าเพอร์ฟอร์แมนซ์ของ THE NOVEMBERS ไม่มีอะไรต้องห่วงอยู่แล้ว เป็นการจัดเต็มแบบไม่มียั้ง แต่องค์ประกอบอื่นๆ ของโชว์ล้วนดีงาม ไม่ว่าจะการอัดเสียง/มิกซ์เสียงที่ทำอย่างเนี้ยบ, โลเคชั่นถ่ายทำสุดพิศวง ที่ดูจบแล้วยังไม่รู้เลยว่ามันคือโกดังร้าง ปล่องไฟ หรืออะไรกันแน่ แถมการถ่ายทำยังมีการใช้โดรนเป็นพักๆ แต่ก็ไม่ได้หวือหวาจนแย่งซีน เรียกได้ว่ารู้สึกอายเลยที่คอนเสิร์ตนี้เขาคิดเงินเราแค่เก้าร้อยบาท
Ryuichi Sakamoto : Playing the Piano 12122020 (ราคาตั๋ว 1800 บาท)
คุณลุง ริวอิจิ ซากาโมโตะ ทำเพลงมาแล้วทุกแนว ตั้งแต่คลาสสิกหรูหรา แดนซ์บ้านแตก ไปจนถึงทดลองด้วยการเอาเสียงธรรมชาติมาทำเพลง ไม่นึกเหมือนกันว่าลุงแกจะมาร่วมแจมกับเทรนด์คอนเสิร์ตออนไลน์ด้วย ก่อนจะถึงวันงานแกได้พูด (โม้?) ไว้ว่าโชว์นี้จะใช้ระบบเสียงดีที่มาก กระทั่งว่าคนดูได้ยินเสียงหายใจแกเลย แถมยังได้ Rhizomatiks วิชวลอาร์ตติสต์คนดังมาทำภาพให้ด้วย แม้ว่าราคาบัตรจะสูงเกินหน้าชาวบ้าน แต่ผู้เขียนก็ไม่ลังเลที่จะกดซื้อ
อย่างไรก็ดี ตัวงานออกมาไม่สมราคาคุยสักเท่าไร ภาพรวมของโชว์คือซากาโมโตะเดี่ยวเปียโนไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เน้นการถ่ายโคลสอัพจนบางทีรู้สึกอัดอัด พร้อมกับใช้เทคนิคโมชันแคปเจอร์เปลี่ยนให้ลุงไปอยู่สถานที่ต่างๆ ทะเลบ้าง ซากตึกร้างบ้าง แต่มันออกมาไม่ว้าวเท่าไร (บางช่วงเหมือนสกรีนเซฟเวอร์) แถมเทคนิคโมชั่นแคปเจอร์บางช่วงยังทำให้ลุงซากาโมโตะตัวลางๆ กลายเป็นผีไปเลย แอบหลอน สรุปความได้ว่าชีวิตนี้ปลื้มผลงานของลุงมาหลายครั้งหลายครา แต่คราวนี้ถือว่าจูนกันไม่ติด
Sakanaction : Sakanaquarium Hikari Online (ราคาตั๋ว 1400 บาท)
ผู้เขียนมักพูดทีเล่นทีจริงกับเพื่อนฝูงว่า Sakanaction ถือเป็นวงหมอลำญี่ปุ่น ด้วยความที่แนวเพลงของวงนี้เป็นการผสมผสานกันของเพลงร็อคและแดนซ์ หลายเพลงของวงจึงชวนเต้นเสียเหลือเกิน เมื่อครั้งที่ผู้เขียนไปดูโชว์ของวงนี้ที่โตเกียวก็พบว่าคนดู ‘เซิ้งยับ’ กันทั้งงาน เป็นภาพที่ติดตาจนถึงทุกวันนี้ (ในแง่ดีนะ)
นอกจากการแสดงสดแสนสนุกแล้ว Sakanaction ยังขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีในคอนเสิร์ตตัวเอง เช่นการทดลองระบบเสียงแปลกๆ ใหม่ๆ ส่วนคอนเสิร์ตออนไลน์ของพวกเขาก็เล่นกับ ‘ความเป็นภาพยนตร์’ ฉากเปิดตัวเป็นการถ่ายแบบลองเทค (ถ่ายยาวไม่ตัดต่อ) นักร้องนำเดินยาวจากถนนไปจนถึงข้างในสตูดิโอ หรือบางเพลงใช้การเปลี่ยนมุมกล้อง/เคลื่อนกล้องจนโชว์ออกมาเหมือนละครเวที ส่วนพวกแสง สี เสียง วิชวล เลเซอร์ ก็สุดขีดทุกด้าน จะติดนิดหน่อยก็ตรงเซ็ตลิสต์ช่วงท้ายที่เป็นแพทเทิร์นซ้ำเดิมมา 3-4 ปีแล้ว
โชว์ของ Sakanaction ถือเป็นคอนเสิร์ตออนไลน์ที่ดีที่สุดที่ผู้เขียนได้ชมในปี 2020 และทำให้เชื่อว่าคอนเสิร์ตออนไลน์สามารถออกมาดีได้ ไม่ใช่แค่อีเวนต์ขอไปทีไถเงินจากคนดู แต่ก็น่าหวั่นใจว่ามีเพียงไม่กี่งานที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับ Sakanaction
ตัวอย่างคอนเสิร์ต Sakanaquarium Hikari Online
____________________
ผู้เขียน - คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
(Kanchat Rangseekansong)
เปิดโลกดนตรีและไอดอลกับคันฉัตร
อัลบั้มภาพ 14 ภาพ