5 ข้อคิดที่ได้จากเวลาสองปีครึ่งของ IZ*ONE โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง | Sanook Music

5 ข้อคิดที่ได้จากเวลาสองปีครึ่งของ IZ*ONE โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

5 ข้อคิดที่ได้จากเวลาสองปีครึ่งของ IZ*ONE โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับคุณผู้อ่านที่ผ่านตาบทความของผมอยู่บ้าง คงจะสังเกตกันได้โดยไม่ยากนักว่าผู้เขียนเป็นแฟนคลับของ 12 สาววง IZ*ONE เนื่องจากผมเองก็เขียนถึงวงอยู่หลายครั้ง จนทีมงานกระซิบมาว่าเขียนถึงวงอื่นบ้างค่า (ฮา) แต่บทความนี้คงเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมเขียนถึง IZ*ONE แล้วล่ะครับ เพราะวงได้ยุบไปแล้วเรียบร้อยเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2021

IZ*ONE วงเป็นที่กำเนิดมาจากรายการเซอร์ไววัล Produce 48 และมีระยะเวลาทำงานสองปีครึ่ง ในช่วงใกล้หมดสัญญา เหล่าแฟนคลับก็แอบหวังว่าวงจะได้ต่อสัญญา ซึ่งข่าวออกมาว่า CJ ENM (ต้นสังกัดของ IZ*ONE) พยายามเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน แต่เมื่อพิจารณาในแง่ธุรกิจแล้ว การต่ออายุของ IZ*ONE แทบเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากสมาชิกทั้ง 12 คนมีต้นสังกัดเป็นของตัวเอง ค่ายดั้งเดิมย่อมอยากให้เมมเบอร์กลับค่ายเพื่อสร้างรายได้และผลกำไรต่อไป

เรื่องยังไม่จบลงง่ายๆ เมื่อแฟนคลับที่เกาหลีระดมทุนเพื่อสร้างโปรเจคต์สนับสนุนให้ IZ*ONE เป็นวงถาวร ทว่าเสียงตอบรับฝั่งไม่เห็นด้วยก็ใช่น้อย บ้างมองว่าพวกเราควรมูฟออนได้แล้ว ให้น้องๆ เขามีเส้นทางอาชีพของตัวเอง แบบนี้จะทำให้เหล่า IZ*ONE ยิ่งลำบากใจหรือเปล่า ส่วนผู้เขียนนั้นมองว่าแค่ IZ*ONE รอดจากดราม่าโกงคะแนนเมื่อปี 2019 มาได้ก็นับว่าปาฏิหาริย์แล้ว เลยไม่ได้คาดหวังเรื่องการขยายสัญญาสักเท่าไร

อีกประเด็นคือกิจกรรมของเมมเบอร์แต่ละคนหลังจาก IZ*ONE ปิดฉากลง ซึ่งตอนนี้มีแต่การคาดเดาหรือข่าวลือ เช่น ซากุระอาจเซ็นสัญญากับ HYBE? เยนาจะเข้าวง EVERGLOW? แชวอนไปอยู่วง Rocket Punch หรือวงใหม่? ฯลฯ ด้วยเพราะเรายังไม่สามารถรู้ความแน่ชัดใดๆ ผู้เขียนเลยอยากจะทิ้งท้ายถึง IZ*ONE ด้วย 5 ข้อคิดที่ได้จากการติดตามวงนี้มาสองปีครึ่ง

1. ความสำเร็จไม่ได้มาโดยง่าย

ในยุคโซเชียลมีเดียที่คนโด่งดังหรือไวรัลกันได้ชั่วข้ามคืน แต่บางคนก็ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำตามความฝันได้ อย่างเช่น อึนบี ลีดเดอร์ของ IZ*ONE ที่เคยเป็นทั้งแบ็คอัพแดนเซอร์ของวง Girl’s Day และ Lovelyz หรือกระทั่งเดบิวต์กับวง Ye-A ที่ล้มเหลวชนิดไม่มีใครจำได้ ส่วนแชยอนเคยเข้าแข่งขันทั้งรายการ K-POP STAR 3 และ SIXTEEN (ที่สร้างวง TWICE ขึ้นมา) พวกเธอผิดหวังมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้ ในที่สุดพวกเธอก็ได้เป็นไอดอลผู้เปล่งประกาย

2. คนเราพัฒนากันได้

ใครที่เคยดู Produce 48 คงจำได้ว่ามินจูเป็นเด็กฝึกที่ไม่ค่อยมั่นใจตัวเอง สีหน้าวิตกกังวลตลอดเวลา เต้นตามคนอื่นไม่ทัน ตอนที่เธอติดไลน์อัพวง IZ*ONE หลายคนรู้สึกค้านสายตา (ผู้เขียนด้วย) แต่เธอก็ซ้อมอย่างหนัก เมมเบอร์ในวงพูดเสมอว่ามินจูคือคนขยันซ้อมที่สุด จนมินจูกลายเป็นคนที่เต้นไปพร้อมกับเพื่อนๆ ได้ แถมยังเป็นวิชวลที่เจิดจรัส เช่นเดียวกับซากุระที่สมัยอยู่วง AKB48 หรือ HKT48 จะเน้นความน่ารักสดใส แต่เมื่อข้ามมาวงการเคป็อปที่เน้นท่าเต้นยากและซับซ้อน ซากุระก็สามารถอัพเกรดตัวเองได้ รวมถึงการเคลื่อนไหวและการแสดงสีหน้า จนเธอเหมือนเปลี่ยนเป็นคนละคน

3. อย่าล้อเล่นกับความฝันของคนอื่น

แน่นอนว่าเรื่องน่าเจ็บช้ำที่สุดของวง IZ*ONE คือการโกงคะแนนในรายการ Produce 48 ที่พวกโปรดิวเซอร์เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ผู้เข้าแข่งขันบางคนไม่ได้เดบิวต์ทั้งที่คะแนนอยู่ในไลน์อัพสุดท้าย ส่วนวง IZ*ONE ก็ถูกครหาว่าเป็นวงที่เกิดขึ้นมาเพราะการโกง รวมถึงการซุบซิบนินทาว่าใครกันแน่ที่เป็นคนคะแนนไม่ถึง แม้กระทั่งวันที่ IZ*ONE ยุติกิจกรรมไปแล้ว ชาวเน็ตบางส่วนก็ยังขุดคุ้ยเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอีก นี่คือความละโมบของบางคนกลุ่มที่ย่ำยีความฝันของเหล่าเด็กสาวแบบไม่เหลือชิ้นดี

4. มนุษย์เราต้องปรับตัว

ผู้เขียนเคยวางแผนไว้ดิบดีว่าในปี 2021 จะไปดูคอนเสิร์ตอำลาของ IZ*ONE ทั้งที่เกาหลีและญี่ปุ่น แต่แล้วโควิดก็ทำให้มหรสพแทบทุกชนิดเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์ ช่วงที่เกิดโรคระบาดใหม่ๆ ผู้เขียนทำใจไม่ได้เลยที่โชว์สุดท้ายของ IZ*ONE จะเป็นการเจอกันผ่านหน้าจอ แต่ถึงที่สุดแล้วเราก็ต้องยอมรับความจริง อยู่กับ new normal แบบช้ำใจและไม่เต็มใจนัก แม้คอนเสิร์ตอำลา IZ*ONE จะค่อนข้างแห้งแล้ง มันก็คงเป็นสิ่งดีที่สุดที่เกิดขึ้นในได้สถานการณ์เช่นนี้

5. ไม่มีสิ่งใดเป็นจีรัง

“ความสัมพันธ์ที่รู้ตอนจบล่วงหน้า เมื่อถึงวันที่สิ้นสุดลง เราจะทำใจได้ง่ายขึ้นหรือเปล่า?” นี่คือคำถามที่ผู้เขียนถามตัวเองตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจเป็นแฟนคลับวง IZ*ONE และในวันนี้ก็ได้คำตอบว่า “ไม่เลย” แม้จะทำใจมาตลอดระยะสองปีครึ่ง แต่เมื่อวันสุดท้ายมาถึงก็ไม่อาจหักห้ามความเศร้าที่ก่อรูโหว่ในใจได้ อย่างไรก็ดี แม้จะเจ็บปวดเพียงใด การจากลาครั้งนี้ให้บทเรียนกับผู้เขียนว่า “พบเพื่อพราก จากเพื่อจำ” คือประโยคสุดแสนคลาสสิก และมนุษย์เราต้องเจอสิ่งนี้ซ้ำๆ แบบไม่รู้จบ

____________________

kanchat

ผู้เขียน - คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

(Kanchat Rangseekansong)

เปิดโลกดนตรีและไอดอลกับคันฉัตร

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ 5 ข้อคิดที่ได้จากเวลาสองปีครึ่งของ IZ*ONE โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook