เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างใน "อุตสาหกรรมดนตรีโลก" โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างใน "อุตสาหกรรมดนตรีโลก" โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างใน "อุตสาหกรรมดนตรีโลก" โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมดนตรี เป็นยุคที่ดิจิทัลครองตลาดถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำไมแผ่นเสียงจึงกลับมาได้รับความนิยมอีก

ในช่วงหลายปีมานี้ หรืออาจเรียกได้ว่าช่วง 10 ปีมานี้ ความนิยมของแผ่นเสียงยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลที่สมาคมแผ่นเสียงญี่ปุ่นประกาศเมื่อช่วงเดือน ก.พ. ต้นปี 2021 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่ายอดขายของแผ่นเสียง (Analog Disc) แยกเป็นยอดขายแผ่นเสียงเพลงญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 225 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแผ่นเสียงเพลงสากลเพิ่มขึ้น 162 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว นับว่ายอดเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว ขณะเดียวกัน ยอดขายของซีดีกลับตกลง 83 เปอร์เซ็นต์สำหรับศิลปินญี่ปุ่น และศิลปินสากลตกลง 92 เปอร์เซ็นต์

แน่นอนว่ายอดขายซีดีที่ลดลงนั้น ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยสตรีมมิงที่สามารถฟังจากสมาร์ทโฟนได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีสัดส่วนการตลาดถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ยักษ์ใหญ่ที่มีสาขายิบย่อยอย่าง HMV  ได้เพิ่มแผนกขายแผ่นเสียง (รวมเทปด้วย) ในแต่ละสาขาเข้าไป ตลอดจนมีร้านที่ขายแผ่นเสียงโดยเฉพาะเกิดขึ้นไม่ขาดสาย ที่ "กินซ่า เรคอร์ด" ซึ่งเปิดกิจการที่ห้างฮันคิว เมนส์ ย่านยูราคุโจ โตเกียว เมื่อปี 2019 ก็เพิ่มมุมแผ่นเสียงอัลบัมร็อคยุค '70s และ '80s เข้ามาอีกด้วย

คุณฮิโรโกะ ฟุนาโนะ เจ้าหน้าที่แผนกประชาสัมพันธ์ของสมาคมแผ่นเสียงญี่ปุ่นกล่าวว่า "ปี 2009 เราจมดิ่งสุดๆ จากนั้นทุกอย่างก็ค่อยๆ กระเตื้องขึ้น"

"มีมูลเหตุหลายหลากประการค่ะ ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ญี่ปุ่นนะคะ ราวปี 2007 เริ่มด้วยวันเรคคอร์ดส์ สโตร์ เดย์ที่ร้านแผ่นเสียงทั่วอเมริการ่วมกันจัดขึ้น 11 ปีจากนั้นมันก็เริ่มขึ้นที่ญี่ปุ่นบ้าง บางช่วงบางจังหวะก็เหมือนเป็นเทศกาลที่มีขึ้นเพื่อคลับดีเจทั้งหลาย แต่นั่นก็ทำให้ศิลปินป็อปอย่าง Perfume ได้ออกแผ่นเสียงกับเขาด้วย ผลที่ตามมาก็คือมีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ให้การยอมรับแผ่นเสียงมากขึ้น เหมือนกับเป็นของแปลกใหม่ในกลุ่มคนยุคดิจิทัล ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาสามารถหาซื้อเครื่องแผ่นเสียงได้ในราคาที่ไม่สูงอีกด้วยค่ะ"

จากกระแสระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้กิจการบันทึกเสียงซีดีและแผ่นเสียงตั้งชะงักไปโดยปริยาย งานของศิลปินที่จะออกขายในปี 2020 ต้องเลื่อนออกไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยังผลให้ยอดขายแผ่นเสียงตกไปอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เทรนด์ของมันไม่ได้เสื่อมความนิยมลงเลย

ส่วนคุณโคกิ มิอุระ โปรดิวเซอร์ดนตรีที่สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงกับวงการดนตรีร็อคของญี่ปุ่น อีกทั้งเป็นผู้ที่ทำให้โลกได้รู้จักกับศิลปินสไตล์ City Pop อย่างเออิจิ โอทากิ หรือย้อนไปถึงวงยุค '70s เช่น Happy End (はっぴいえんど) วงดนตรีแนวโฟล์กร็อคที่เออิจิเคยร่วมงานด้วยในฐานะนักแต่งเพลง เล่นกีตาร์ และร้องนำ ก่อนจะมาเป็นศิลปินเดี่ยว ก็มองว่าการที่ผู้คนหันมาเล่นแผ่นเสียงกันมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ

 

ซีดีอาจจะเสื่อมความนิยมในไม่ช้า

"คาดว่าไม่น่าจะเกินปี 2025 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอเมริกาช่วงกลางยุค '80s จะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่การณ์จะกลับตาลปัตรกับเมื่อครั้งนั้น กล่าวคือเมื่อครั้งนั้น ซีดีที่ออกมาในช่วงกลางยุค '80s กลายเป็นซอฟต์แวร์ที่สร้างผลกระทบต่อตลาดแผ่นเสียงอย่างมาก เข้าขั้นรุนแรงจนแผ่นเสียงแทบจะเลิกผลิตไปเลย แต่อย่างบ้านเราก็ใช้เวลาหลายปี กว่าจะยึดตลาดได้จากเทป เนื่องจากแผ่นเสียงไม่ใช่ตลาดหลักอยู่แล้ว ไม่แน่ว่าอนาคตในอีกไม่กี่ปีนี้ แผ่นเสียงอาจจะได้รับความนิยมจนเป็นกระแสหลัก แล้วผลักความนิยมของซีดีให้ตกลงไปอยู่อันดับบ๊วย

อนึ่ง ซีดีสามารถขัดเกลาเสียงสูง เสียงต่ำให้ออกมาสมดุลได้ ส่วนอนาล็อกใส่สุ้มเสียงทุกอย่างลงไปได้หมดและใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด ดิจิทัลมีจุดเด่นตรงรักษาคุณภาพเสียงได้คงที่ตามที่ต้องการ ไม่มากไม่น้อยกว่านั้น แต่กับแผ่นเสียง มันขึ้นอยู่กับเอนจิเนียร์ที่เรียกกันว่า "คัตเตอร์" จะทำร่องเสียงได้เนี้ยบขนาดไหน บางที เครื่องจักรก็ทำให้สุ้มเสียงออกมาดีขึ้นได้เหมือนกัน แต่ถ้าอยากฟังสุ้มเสียงที่ใกล้เคียงกับเสียงที่เล่นจริงมากที่สุด ควรฟังแผ่นเสียงประเภทคลาสสิก แจ๊ส หรือร็อคที่ผลิตในยุค '70s ค่ะ" คุณฮิโรโกะสรุปปิดท้าย

ร้านขายแผ่นเสียงของบริษัทเรคอร์ดที่ย่านจินโบโจ (หรือที่คนไทยชอบเรียก ยิมโบโจ) ในโตเกียว

ร้านขายแผ่นเสียงของบริษัทเรคอร์ดที่ย่านจินโบโจ (หรือที่คนไทยชอบเรียก ยิมโบโจ) ในโตเกียว

 

ร้าน BOOKOFF ในญี่ปุ่นใช้เวลาปีเดียวขยายสาขาที่รองรับแผ่นเสียงมากขึ้นกว่าเดิมถึง 90 เปอร์เซ็นต์

ความชื่นชอบในสุ้มเสียงแบบอนาล็อกของคนญี่ปุ่นทำให้ร้านรีไซเคิลอย่าง BOOKOFF เพิ่งประกาศไปเมื่อปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า ตอนนี้มีสาขากว่า 150 แห่งมีมุมแผ่นเสียงอนาล็อกให้เลือกซื้อด้วย ซึ่งความจริง BOOKOFF ตอบสนองคนฟังแผ่นเสียงมาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว และกระแสความต้องการก็เพิ่มขึ้นจากช่วงแรกถึง 90 เปอร์เซ็นต์

BOOKOFF เริ่มเป็นแผนกแผ่นเสียงอนาล็อกในปี 2016 แต่มีเฉพาะที่สาขา BOOKOFF SUPER BAZAAR ถนนจูโอ เขตมาจิดะเท่านั้น จากกระแสความต้องการของลูกค้าทำให้ตัดสินใจเพิ่มสาขาอย่างจริงจังในปี 2020  กระทั่งเดือนเม.ย.ปีเดียวกัน มี 17 สาขาที่มีแผนกแผ่นเสียง และเพิ่มเป็น 150 สาขาภายในเวลาเพียงปีเดียวเท่านั้น ปัจจุบันมีแผ่นเสียงในสต๊อกอยู่ราว 250,000 แผ่น

คุณโทชิคะสึ อิวาซากิ ผู้รับผิดชอบด้านแผ่นเสียงในเครือ BOOKOFF กล่าวว่า "ข้อดีของแผ่นเสียงก็คือ เราจับต้องมันได้และสนุกกับสุ้มเสียงของมัน ได้อ่านบุ๊กเลต เนื้อเพลงและสิ่งที่พ่วงมากับแผ่นเสียงด้วย นอกจากนี้หลายปกก็ออกแบบสวยงามจนจัดเก็บเป็นคอลเลกชันได้เลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดาวน์โหลด คอนเทนต์ไม่สามารถตอบสนองเราได้เลยคร้บ"

ข้อมูลจากสมาคมแผ่นเสียงญี่ปุ่นระบุว่ายอดการผลิตแผ่นเสียงในปี 2020 มีประมาณ 1,090,000 แผ่น ซึ่งเป็นปีที่ 4 แล้วที่มียอดผลิตเกิน 1 ล้านแผ่นติดต่อกัน ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ฟังก็ขยับขยายวงกว้างขึ้น ศิลปินที่ออกผลงานมาในรูปแบบแผ่นเสียงก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ และสมเหตุสมผลอย่างที่คุณโทชิคะสึกล่าวไว้ในย่อหน้าบนจริงๆ ครับ

ร้าน BOOKOFF

ร้าน BOOKOFF

แผ่นเสียงออกใหม่มีกรอบใส่สำหรับทำดิสเพลย์
แผ่นเสียงออกใหม่มีกรอบใส่สำหรับทำดิสเพลย์

 

ความเคลื่อนไหวอันดับสุดท้ายอยู่ในบ้านเราครับ ขอแนะนำเพจเกี่ยวกับดนตรีสากล สำหรับคนฟังเพลงที่รักการอ่านครับ

ในอดีตราว 30 กว่าปีมาแล้ว มีนิตยสารดนตรีสากลถือกำเนิดขึ้นในเครือสำนักพิมพ์กีฬาอย่างสยามสปอร์ต ชื่อ Music Express เริ่มจากเล่มบางๆ ราคา 12 บาท จนเล่มหนา ราคา 24 บาทเพียงแค่เวลาผ่านไป 10 ปีเท่านั้น จากนั้นทีมงานก็โยกย้ายไปทำหนังสือหัวใหม่ชื่อ Crossroads ที่มีคอนเทนต์หลายหลากขึ้น เจาะลึกมากขึ้นจนเป็นที่นิยมในหมู่คนฟังเพลง แต่ออกมาได้ 62 เล่ม ทีมงานก็แยกตัวกันไปทำงานประจำแทน ปิดฉากหนังสือดนตรีสากลที่ผู้อ่านยอมรับมากที่สุดเล่มหนึ่งบนแผงหนังสือไป

มาบัดนี้ ทีมงานส่วนหนึ่งที่เคยร่วมงานหนังสือกันมา ปลีกเวลาส่วนตัวมาจับมือ นำสาระทางดนตรีมาเสนอผู้อ่านอีกครั้ง แต่ไม่ได้ผ่านทางหน้ากระดาษของสื่อสิ่งพิมพ์อีกต่อไป เป็นรูปแบบของเพจเฟซบุ๊ก ที่ไม่ต้องลงทุนเป็นหลักแสนๆ บาทเพื่อตีพิมพ์เป็นเล่มอย่างในอดีต เพียงแค่มีแรงจิ้มแป้นพิมพ์ หาภาพประกอบมาโพสต์สร้างคอนเทนต์ นั่นก็ทำให้คนฟังเพลงที่รักการอ่านได้สมหวังกันแล้ว

ผมเคยเป็นหนึ่งในทีมงานของหนังสือดนตรีทั้งสองหัวในอดีต ปรึกษากับเพื่อนๆ แล้วว่าคอนเทนต์ในอดีตที่พวกเรามุ่งมั่นเขียนและกลั่นกรองจากประสบการณ์เหล่านั้นไม่สมควรให้มันเลือนหายไปกับกระดาษเปื้อนหมึกเหมือนที่ผ่านๆ มา การชุบชีวิตคอนเทนต์ที่น่าสนใจและมีประโยชน์กับผู้อ่านจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง และคิดว่าไม่ทำให้คุณๆ ผิดหวังอย่างแน่นอน ถ้ามีโอกาสลองแวะไปชมและอ่านกันนะครับ ทุกคนในทีมงานอยากให้คุณได้สัมผัสกับบรรยากาศในยุค 30 ปีก่อนอีกครั้ง ยุคที่การหาข่าวสารและเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรี จะต้องอ่านจากหนังสือเป็นหลักครับ

 

ฝากเพจน้องใหม่ไว้ด้วยครับ แวะอ่านกันได้ที่

facebook.com/CrossroadsandME

ปก Crossroads เล่ม 1

ปก Crossroads เล่ม 1 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook