อะไรนะ วิดีโอเทปกลับมาได้รับความนิยมอีกแล้วหรือ? โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
อาจเป็นคำถามที่บางคนที่ติดตามข่าวสารดนตรีและอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกถามลอยๆ เอ้า แล้วที่ถามแบบนี้ ไปเจออะไรมาล่ะ?
เรื่องนี้เกิดที่ประเทศญี่ปุ่นครับ เดือนกันยายนปีที่แล้ว ที่ร้าน Tsutaya จู่ๆ ก็มีมุมขาย VHS ขึ้นมาแบบไม่มีบอกล่วงหน้ากันเลย เป็น Archive Service กันเลยทีเดียว
VHS ได้รับความสนใจอีกครั้งในปี 2021 นี่แหละครับ และที่ฮือฮากันก็เนื่องมาจากร้านระดับหัวแถวของธุริกิจให้เช่าวิดีโออย่าง Tsutaya ที่มีสาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น ริเริ่มขึ้นที่สาขาชิบุยะ อุดะกาว่า หรือที่เรียกกันติดปากว่า Shibuya Tsutaya นั่นแหละครับ
ทบทวนความทรงจำกันนิด VHS ย่อมาจาก Video Home System ครับ พัฒนาในปี 1975 (พ.ศ.2518) โดยบริษัท Victor Japan (ปัจจุบันคือ JVC Kenwood) เป็นการบันทึกภาพลงม้วนเทปด้วยเครื่อง Video Tape Recorder เพื่อรองรับความบันเทิงในครอบครัวเป็นหลัก
ยุค '70s เป็นยุคของสงครามวิดีโอ
คงไม่มีใครคาดคิดว่าเมื่อราว 40 ปีกว่ามาแล้ว ธุรกิจวิดีโอในญี่ปุ่นคือการแข่งขันช่วงชิงตลาดจนแทบจะเรียกว่าเป็นสงครามได้เลย ยุคนั้นบริษัทผลิตเครื่องไฟฟ้าต่างๆ เพ่งเป้าเพิ่มสัดส่วนการตลาดด้วยการผลิตเครื่องเล่นวิดีโอ โดยที่ Sony, Toshiba, Sanyo ผลิตระบบเบต้า ส่วน Victor Japan, Matsushita (ปัจจุบัน Panasonic) และ Shape ผลิต VHS ซึ่งเป็นการแข่งขันที่เผ็ดร้อนเหลือเกิน ท้ายที่สุด VHS ก็ได้ครองตลาด เวลาผ่านไป 20 ปี ย่างเข้ายุค 2000 เครื่องเล่นวิดีโอเทปก็กลายเป็นอดีตไป เมื่อ DVD เข้ามาตีตลาด
เบต้าที่ได้รับความนิยมในระดับครัวเรือน แต่เพราะมาตรฐานไม่คงที่ ก็ต้องยกธงขาวไปในที่สุด ปี 2002 เครื่องเล่นวิดีโอเลิกผลิต ส่วนตัวตลับเทปก็ยุติการผลิตลงในปี 2016
Panasonic เองก็ยุติการผลิตเครื่องบันทึกวิดีโอเทประบบ VHS ที่ใช้ในประเทศไปด้วย ตามด้วยปี 2016 บริษัทฟุนาอิก็ยุติการผลิตเป็นรายต่อมา อาจเรียกได้ว่าบริษัทที่ผลิตเครื่องเล่น VHS เลิกกันไปจนหมด นับเป็นการยุติบทบาทเกือบ 40 ปีของ VHS ไปโดยปริยาย
แต่ในยุคที่มันแพร่หลาย สินค้าทะลักสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ทุกวันนี้ แม้เลิกผลิตไป แต่ก็ยังสามารหาซื้อตามร้านมือสองได้ ของใหม่ไม่ผลิตออกมาแล้วก็จริง แต่ประเทศจีนยังมีสินค้ารองรับลูกค้า VHS อยู่อีกมากมายยังมีสินค้าให้หาซื้อได้ไม่ยากที่เว็บไซต์ AliExpress
สถานการณ์คล้ายกับยุคที่ซีดีออกมาครองตลาด ตอนนั้นทำให้แผ่นเสียงและเทปกลายเป็นของตกยุค ผู้คนแทบไม่อยากจับต้อง แต่ก็ต้องยอมรับว่า คนที่ยังรักแผ่นเสียงและสะสมก็ยังคงอยู่ ขณะที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงก็ยังผลิตออกมาเรื่อยๆ
ส่วน VHS นั้น เป็นไปได้ยากที่จะบริษัทเล็กๆ จะชุบชีวิตมันขึ้นมาอีก ด้วยปัญหาด้านเทคนิคเป็นหลัก เพราะถ้าไม่ได้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีศักยภาพด้านการผลิตและเทคนิคสูงมากพอแล้ว โอกาสที่จะทำให้มันกลับมาได้รับความนิยมก็ยากตามไปด้วย
เมื่อครั้งที่ซีดีได้รับความนิยม ก็มีคนกล่าวว่า "แผ่นเสียงมีเสียงรบกวนแยะไป" ไม่ก็ "เทปมีคุณภาพเสียงต่ำมากไป" เช่นเดียวกับกรณีของ VHS ที่คุณภาพของภาพและเสียงไม่จัดว่าดีนัก เมื่อเทียบกับ DVD แต่คนที่เคยผ่านจุดนั้นมาแล้วอาจจะบอกว่ามันมี "รสสัมผัส" ที่ประทับใจ ตรงนี้อาจมีน้ำหนักมากพอต่อการทำให้มันคืนชีพอีกด้วยในอนาคต
หากเป็นไปได้ เช่นมีบริษัทสักแห่งที่วางแผนผลิตเครื่องเล่น VHS ออกมาขายอีก อย่างแรกเลยก็ต้องทำให้คนรุ่นนี้หันมาสนใจ VHS ก่อน ซึ่งสิ่งที่ Shibuya Tsutaya ริเริ่มก็น่าจะถือเป็นก้าวแรกของการทำให้มันคืนชีพ
ข้อได้เปรียบเล็กๆ ของ VHS ที่ Shibuya Tsutaya ลงทุนทำมุมเล็กๆ เพื่อมันโดยเฉพาะก็ควหนีไม่พ้นนำงาน VHS ในอดีตที่ไม่ได้ถูกนำมาผลิตเป็น DVD มาวางขายนั่นเอง ส่วนข้อได้เปรียบที่ใหญ่ขึ้นมาอีกก็คือ VHS เป็นสิ่งขาดไม่ได้สำหรับร้านเช่าวิดีโอ สมัยที่มันได้รับความนิยม แต่ละร้านมีม้วนเทปให้เช่านับพันนับหมื่นม้วน ทำรายได้มหาศาล เรียกได้ว่าทุกครอบครัวในช่วงกลางยุค80s เป็นต้นมา ต้องมีไว้ดูเพื่อความบันเทิง จนหนังสือพิมพ์อาซาฮีของญี่ปุ่นในปี1989 ถึงกับลงข่าวว่าพฤติกรรมของคนหนุ่มสาวเปลี่ยนไป พวกเขาถอยห่างจากโทรทัศน์ ใช้เวลากับรายการวิดีโอโปรดที่ร้านเช่าวิดีโอแทนกันหมด
ลองเทียบกับบ้านเราในสมัยเดียวกันนะครับ ช่วงพ.ศ. 2525-2540 อาจบวกลบอีกเล็กน้อย เรามีร้านเปียนำแสง, เร็กซ์ จนกระทั่งร้านแมงป่องที่ทั้งขายอย่างเดียว และขายด้วยให้เช่าด้วย นี่ยังไม่นับร้านเล็กๆ แบบกิจการคูหาเดียวตามหัวถนน ตรอกซอกซอยอีกนับไม่ถ้วน จะว่าไปแล้วจำนวนร้านเช่าวิดีโอในยุคนั้นก็ไม่น่าจะน้อยไปกว่าร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในยุคนี้เท่าใดนัก
เพราะธุรกิจร้านเช่านี่เอง ทำให้คนเข้าโรงหนังน้อยลง เพราะเช่าวิดีโอม้วนหนึ่งไม่กี่บาท จ่ายค่าสมาชิกแรกเข้าหลัก 500-1000 บาท แล้วหมุนเวียนเช่าได้ในราคา 20-30 บาทต่อม้วน กำหนดเวลา 7 วัน คืนช้าถูกปรับ ผมก็ได้ดูคอนเสิร์ตวงดนตรีต่างประเทศจากร้านเช่าวิดีโอเหล่านี้ ถ้าชอบมากก็ซื้อเก็บไว้เองเลย ม้วนละ 350-500 บาท ภาพยนตร์ต่างประเทศก็เช่นกัน มีทั้งแบบพากย์ไทยและซาวน์ดแทร็ก เมื่อธุรกิจนี้รุ่งเรืองสุดขีด แม้แต่รายการทีวีโชว์หรือรายการตลกในโทรทัศน์ก็มีคนหัวใสบันทึกวิดีโอให้เช่า นอกจากทุกบ้านจะมีเครื่องเล่นแล้ว บางบ้านก็มีเครื่องกรอเทปไว้ด้วย ค่ายเพลงลิขสิทธิ์ต่างประเทศผลิตออกมาขายมากมาย ทั้งคอนเสิร์ตและมิวสิกวิดีโอ ตลอดจนสารคดี เป็นยุคที่ทุกคนต่างมีความสุขที่ได้กลับบ้านเร็วเพื่อไปดูวิดีโอกัน วันหยุดเข้าร้าน เช่าทีละเป็นสิบม้วน โดยเฉพาะหนังซีรีส์จีน
ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมากลายเป็นอดีตไปหมดแล้ว เช่นเดียวกับเทปเพลง บ้านเราจะเสียเปรียบก็ตรงที่ไม่มีบริษัทที่ผลิตโดยตรง ต้องนำเข้า ดังนั้น ถ้าญึ่ปุ่นกลับมาปลุกกระแส VHS ได้อีกครั้ง แต่ละบริษัทมีสายการผลิตเครื่องเล่นอยุ่ในไลน์อัปสินค้า เราอาจจะได้เห็นการแข่งขันของตลาดวิดีโออีกครั้ง และคนที่พิสมัย VHS เข้าสายเลือดก็คงไม่ต้องวาดฝันต่อไปอีกว่า VHS ในอดีตที่เลิกผลิตไปแล้ว หาดูที่ไหนไม่ได้ จะไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป และจากนี้ไป เราคงคลาดสายตาจากมุมวิดีโอ Archive Service ของ Shibuya Tsutaya ไม่ได้แล้ว เผลอๆ หลังโควิดซา อาจมีอีกหลายเจ้าที่นำไอเดียนี้ไปใช้บ้าง ส่วนในบ้านเราท่าจะยากครับ ถามว่าบ้านไหนยังเก็บเครื่องเล่นวิดีโอไว้บ้างก่อนดีกว่า บ้านใครยังเก็บไว้ ยกมือขึ้นครับ แล้วไปล่าม้วน VHS เก่ามาดูเรียกบรรยากาศเก่าๆ กันดีกว่า