วิเคราะห์ดนตรี LISA - LALISA จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
วิเคราะห์เพลงแบบท่อนต่อท่อน “LALISA” ของลิซ่า BLACKPINK
บทเพลงแห่งความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะประกาศให้โลกรับรู้ถึงการมีอยู่ของหญิงสาวนามว่า “ลลิษา"
Album LALISA
Written By 24, Bekuh BOOM & Teddy Park
Composed By 24, Bekuh BOOM & Teddy Park
Lyric By Teddy Park & Bekuh BOOM
Arranged by 24
E♭ - 149 BPM
บทเพลงใหม่จากไอดอลสัญชาติไทย ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ผลงานเดี่ยวครั้งแรกในฐานะสมาชิกวง BLACKPINK ที่มาพร้อมกับชื่อเพลง เนื้อร้อง การแสดง และสไตล์ดนตรีที่บ่งบอกถึงความเป็น “ลลิษา” ได้อย่างน่าประทับใจจนเชื่อว่าใครหลายคนเมื่อฟังก็คงได้รู้จักเธอมากขึ้น ในบทความนี้ผู้เขียนจะมาวิเคราะห์ถึงรายละเอียดต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในเพลงในมุมมองของนักดนตรีคลาสสิก
โครงสร้างเพลงของ LALISA
INTRO 0:03-0:29
VERSE 1 0:29-0:48
PRE-CHORUS 0:48-0:54
CHORUS 0:54-1:20
VERSE 2 1:20-1:39
PRE-CHORUS 1:39-1:46
CHORUS 1:46-2:11
BRIDGE 1 2:11-2:27
BRIDGE 2 2:27-2:54
CHORUS 2:54-3:20
Intro (0:03-0:29)
เริ่มต้นเพลงมาก็น่าติดตามแล้ว มีหลายเสียงหลายองค์ประกอบที่ทำให้เพลงน่าค้นหาตั้งแต่ไม่กี่วินาทีแรก
- บรรยากาศความสนุกสนานถูกสร้างขึ้นด้วยเสียงของ Cowbell สารพัดขนาด
- มีเสียง Synthesizer (เสียงสังเคราะห์) ที่ถูกปรับแต่งให้คล้ายกับเสียงของเครื่องเป่าทรัมเป็ต
- ทำนองร้องวนเวียนอยู่บนโน้ตแค่ 3 ตัวที่มีความห่างระหว่างเสียงแคบมาก (ครึ่งเสียง Chromatic) ไม่พอยังถูกใส่ autotune ปรับเสียงให้คล้ายกับถูกอุดไว้ สิ่งนี้เองก่อให้เกิดความตึงเครียด น่าอึดอัด ขยี้อารมณ์กันตั้งแต่เริ่มเลย คนฟังเริ่มความคาดหวังที่จะหลุดออกไปเพื่อพบกับเสียงใหม่ๆ และในระหว่างนั้นเองเสียงร้องก็ค่อยๆ ถูกปรับให้มีความชัดเจนขึ้น จากความมืดหม่นก็กลับสว่างสดใสขึ้นมาตรงตามเนื้อเพลงที่สื่อถึงความเป็น BLACK และ PINK เลย
Intro ค่อนข้างยาวกว่าที่คาดไว้จากที่คิดว่าจะจบนาทีที่ 0:16 แต่ไม่เลย กลายเป็นว่ายังมีต่ออีก โดยรวมแล้วถือว่ามีการใช้โน้ตที่น้อยมากจนทำให้ยังไม่สามารถบอกได้อย่างเต็มปากว่าเพลงนี้อยู่ในคีย์อะไรด้วยซ้ำ ตกลงเพลงจะไปในทิศทางไหนกันแน่ เรียกได้ว่ายิ่งฟังยิ่งลุ้น
ตัวอย่างเสียง Cowbell เครื่องดนตรีประเภทเครื่องกระทบ พัฒนามาจากกระดิ่งผูกคอวัว
Verse 1 (0:29-0:48)
เครื่องดนตรีถูกลดจำนวนลงแถมทำนองร้องก็กลับกลายเป็นไปอยู่ในช่วงเสียงที่ค่อนข้างต่ำ มันสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนจากช่วงก่อนหน้า อย่างกับว่าเรากระโดดดิ่งลงมาจากหน้าผาเลย แต่แล้วแนวทำนองในท่อนนี้ก็มีการร้องโน้ตตัว G ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการบ่งบอกว่านี่มันคือ Major ที่เป็นตัวแทนของความสว่างสดใสสักที
ความน่าสนใจอีกอย่างคือการที่ฟังแล้วจะรู้สึกว่าท่อนนี้ช้าลง ซึ่งในความเป็นจริงจังหวะยังคงเท่าเดิมแต่การเน้นเสียงหนักถูกขยายออกให้ห่างกันจนทำให้จังหวะของเพลงเหมือนกับช้าลงไปเท่าตัว เป็นเทคนิคที่ถูกใช้บ่อยเพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายในเพลง ไม่น่าเชื่อนะ แค่เปลี่ยนการลงบีตหนักๆ เท่านั้นเอง
คำว่า Burn คำที่ 3 มีการใช้โน้ตที่ทำให้เกิดสีสันที่ผู้เขียนขอใช้คำว่า "จั๊กจี้หู" โน้ตนี้ช่วงหลังมาถูกใช้เยอะในวงการเพลง K-POP ฟังแล้วก็เกิดความรู้สึก เอ๊ะยังไงนะ เหมือนจะปกติแต่ก็ไม่ จะว่าแปลกก็ไม่ขนาดนั้น นอกจากนี้ทำนองยังใช้โน้ตกระโดดข้ามไปมาไม่ค่อยซ้ำเดิมจนคนฟังไม่น่าจะจำท่อน Verse ในการฟังครั้งแรกได้ด้วยซ้ำ ต่นั่นก็คือเสน่ห์ที่ทำให้คนอยากจะกลับมาฟังอีกครั้งนึง
Pre-chorus (0:48-0:54):
เป็นท่อนที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายจากหลายองค์ประกอบที่เปลี่ยนไปและถูกเพิ่มเข้ามา
- เสียงเบสที่เป็นฐานของเพลงหายไป เหลือแค่เครื่องกระทบอย่างกลอง Kick drum (กลองใหญ่) กับ Snare (กลองแต๊ก) ที่ถึงแม้เสียงบีตจะเหลือน้อยแต่ก็เล่นในจังหวะที่ถี่ละเอียดขึ้น
- Synthesizer เล่นโน้ตเสียงสูงแถมยังมีการลากสไลด์ไปมาอย่างรวดเร็ว จะว่าไปก็คล้ายกับเสียงไซเรนแจ้งเตือนว่ากำลังเกิดเหตุอะไรบางอย่าง การบอกให้ผู้ฟังตื่นตัว เตรียมพร้อมกับสถานการณ์ข้างหน้าที่กำลังจะมาถึง
- แนวร้องมีจังหวะการร้องที่ถี่มากเช่นกัน แม้จะร้องโน้ตวนอยู่แค่สองตัวแต่ก็มีการเพิ่ม Background vocals เสียงประสานทำให้เกิดเป็น คอร์ดเพราะๆ
- ห้องสุดท้ายของท่อนนี้เงียบสนิท ไร้ซึ่งเสียงใดๆ จากที่ก่อนหน้านี้เราโหยหาเบสมาตลอดพอถึงตรงนี้ความรู้สึกของเราถูกพัฒนาพาไปจนถึงขีดสุด อึดอัดจนแทบจะไม่ไหวแล้ว เป็นอีกเทคนิคที่คนแต่งมักใช้ซึ่งเมื่อเสียงเบสกลับมาในท่อนถัดไปผู้ฟังจะรู้สึก satisfied เป็นอย่างมาก.. ก่อนที่อยู่ดีๆ ก็มีเสียงสูดหายใจเข้า ฮึบ! เตรียมพร้อมสำหรับการตะโกนประกาศศักดาในท่อนฮุค
Chorus (0:54-1:20)
ได้เวลาประกาศออกไปให้ดังที่สุดว่า “ลลิษา” ทั่วโลกจะต้องรับรู้ถึงการมีอยู่ของเธอ ท่อนนี้คือการรวมทุกองค์ประกอบที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เข้าด้วยกัน (หรือถ้าหากสังเกตที่จริงดนตรีท่อนนี้ถูกนำเสนอมาก่อนแล้วครั้งนึงใน Intro นาทีที่ 1:16)
แนวร้องมีการร้องโน้ตแค่สองตัวเท่านั้น เรียกได้ว่าใช้โน้ตน้อยมากๆ แถมยังมีการกระโดดของโน้ตจากเสียงต่ำไปสูงห่างกันถึง 1 ช่วงเสียง แล้วสิ่งนี้ดันเกิดขึ้นในชั่วขณะที่ดนตรีเงียบพอดีอีก นอกจากนี้ดนตรียังมีการลงคอร์ดที่สั้นและกระแทกรุนแรง ..แต่ละองค์ประกอบที่ถูกกล่าวถึงมันแสดงออกถึงความมั่นคงแข็งแรง ความมั่นใจในตัวเอง เหมือนชูกำปั้นออกมาทุบๆๆๆ ถึงแม้จะใช้โน้ตน้อยแต่กลับสร้างอิมแพคให้กับผู้ฟังได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่พอท่อนฮุคนี้ยังมีการวนแบบเดิมซ้ำสองรอบจนเชื่อว่าชื่อ “ลลิษา”จะต้องติดหูคนฟังไปอีกนาน
ในช่วงท้ายดนตรีถูกตัดออกไปจนหมดเกลี้ยงและถูกแทรกขึ้นมาด้วยเสียงตะโกนต่ำๆ ฮู่! เสียงตะโกนแบบนี้กลับมาอีกแล้ว มันทำให้เราถูกฉุดกระชากหลุดออกไปจากเพลงนี้ชั่วขณะก่อนที่จะกลับเข้าสู่ดนตรีแบบก่อนหน้านี้อีกครั้ง เป็นลูกเล่นการเปลี่ยนผ่านท่อนที่ง่ายแต่ได้ผลมาก
Verse 2 (1:20-1:39)
เป็นท่อนที่คิดว่าจะได้เจอกับทำนองแบบ Verse 1 แต่เปล่าเลย แม้ว่ารอบนี้ดนตรีจะเหมือนเดิมแต่ไม่ใช่การร้องอีกต่อไป กลับกลายเป็นการแร็ปโดยมีจังหวะที่หลากหลาย เริ่มจากจังหวะที่ค่อนข้างคงที่ไม่เร็วมากก่อนจะเพิ่มลูกเล่นเว้นช่วงสลับไปมา และมีการไต่ระดับเสียงสูงขึ้นทีละนิดเพื่อบิ๊วด์อารมณ์คนฟังแบบเนียนๆ
ครึ่งหลังของ Verse 2 นี่แหละคือท่อนที่หลายคนน่าจะรอคอยกับการแร็ปด้วยจังหวะที่ถี่รัวเร็ว โดยที่มีเพียงเสียงกลอง Kick drum กับเสียงคล้ายฉาบประกอบอยู่แค่เพียงนิดเดียว นั่นทำให้แนวแร็ปนี้โดดเด่นออกมาโดยที่ไม่ถูกดนตรีรบกวน เป็นการยืนหนึ่งอย่างมั่นอกมั่นใจ
Bridge 1 (2:11-2:27)
อยู่ดีๆ เพลงที่แข็งแรงดุดันก็กลับตาลปัตรกลายไปเป็นเพลงที่สดใสราวกับเด็กสาววัยรุ่นแรกแย้ม คอร์ด Major แบบขั้นสุดยอด แฮปปี้ลั้นลาโผล่มาจากไหนไม่รู้ แล้วก็เต็มไปด้วยเสียงของ Cowbell ที่ทำให้มันมีความน่ารัก สนุกสนาน ซึ่งจะว่าไปท่อนนี้ก็มีความคล้ายเพลง "Ice Cream" ของ BLACKPINK มากทั้งแนวทำนองและความสดใสของดนตรี
BLACKPINK - Ice Cream (with Selena Gomez)
คำสุดท้ายของท่อนมาจบลากค้างที่โน้ตตัว F (ไม่ใช่โน้ตหลักของเพลง) ยาวมากๆ โดยที่ไม่ได้มีเสียงอื่นรองเป็นฐานเลย หูของเรารอคอยและคาดหวังที่จะให้มีเสียงบีตหนักๆ หรือโน้ตตัวหลักของเพลงขึ้นมาเพื่อเติมเต็มอารมณ์ความรู้สึก เรียกได้ว่าตอนนี้เรากำลังถูกแขวนล่องลอยอยู่กลางอากาศ โหยหาการได้กลับลงมายืนบนพื้นดินด้วยขาสองข้างอีกครั้ง ...แต่ทุกอย่างกลับไม่ใช่อย่างที่คิด ไม่ใช่เลย!
Bridge 2 (2:27-2:54):
ฮู่! บ้าไปแล้ว! อยู่ดีๆ ก็เกิดการเปลี่ยนคีย์แบบกะทันหันโดยไม่ได้มีการเตรียมตัวก่อน นี่มันแทบจะกลายเป็นคนละเพลงไปเลย แม้ว่าจังหวะของเพลงจะยังเท่าเดิมก็ตามแต่องค์ประกอบอื่นๆ มันเปลี่ยนไปหมด อย่างแนวเบสที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวหลักก็เปลี่ยนโน้ตไปอย่างชัดเจน ยังไม่พอจังหวะการแร็ปในท่อนนี้ก็ถูกปรับไปเป็นจังหวะแบบ Triplets (โน้ต 3 ตัวต่อ 1 จังหวะ) ติดต่อกันรัวๆ มีทั้งความถี่ เร็ว สลับไปจังหวะที่คร่อมทับกับดนตรี แต่ที่เห็นชัดสุดก็แน่นอนว่าต้องเป็นทำนองบนเสียงปี่ที่เล่นไล่โน้ตไปมา ซึ่งสร้างความแตกต่างขั้นสุดยอด เปลี่ยนอารมณ์เพลงไปราวกับกระโดดข้ามทวีปเลยนะ
แต่จุดที่ทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยข้องใจเป็นอย่างมากคือท่อนนี้มีการใช้สเกล Phrygian harmonic scale (ประกอบด้วยโน้ต C D♭ E F G A♭ B♭ C) ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Arabic / Egyptian scale สเกลของประเทศอาหรับ มีบ้างที่ถูกใช้ในประเทศแถบตะวันออกกลางแต่ก็น้อยมาก และแน่นอนว่านี่ไม่ใช่ดนตรีพื้นบ้านของทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย
ตัวอย่างเสียง Abu Kharage Mizmar Group - Mizmar Dance Medley ดนตรีอาหรับ
ข้อสันนิษฐานของผู้เขียนคือโปรดิวเซอร์ Teddy จงใจใช้สเกลนี้เนื่องจากเป็นลายเซ็น เป็นกิมมิค ซิกเนเจอร์ของเขาที่โผล่มาในหลายเพลงของ BLACKPINK อยู่แล้ว และยังมีความแตกต่างจากท่อนก่อนหน้าที่ยึดอยู่บนสเกลมาตรฐาน Western ที่ใช้กันทั่วไป ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นดนตรีที่มีความเป็นท้องถิ่น มีความเป็นตะวันออก
BLACKPINK - ‘뚜두뚜두 (DDU-DU DDU-DU) นาทีที่ 2:58
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในท่อนนี้ก็ยังแอบมีเสียงคล้ายเสียงฆ้องวงเล็กแทรกอยู่ตลอด (ได้ยินชัดๆ นาทีที่ 2:33) ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมองว่าน่าเสียดายมาก ถ้าผู้แต่งใช้โน้ตที่อยู่บน Pentatonic scale (ประกอบด้วยโน้ต C D E G A) ซึ่งเป็นสเกลพื้นฐานของดนตรีในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็น่าจะทำให้เพลงนี้มีการสื่อสารและนำเสนอที่ใกล้เคียงกับความความเป็นดนตรีไทยมากขึ้น ตรงกับภาพของลิซ่าที่ใส่ชุดไทยพอดี
ในตอนท้ายของท่อนนี้มีการใช้เสียงเอฟเฟกต์ย้อนกลับ Rewind พาเรากลับไปสู่โลกเดิม ดนตรีเดิมที่เชื่อว่าหลายคนถึงกับลืมไปแล้ว
Chorus (2:54-3:20):
แม้ว่าท่อนฮุคจะกลับมาเป็นรอบที่ 5 และ 6 แล้วแต่ในครั้งนี้มีสิ่งที่เพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยพาเพลงไปให้ถึงจุดที่พีคที่สุดเพื่อเป็นการ อย่างในนาทีที่ 2:56 มีการเพิ่มมาของ Synthesizer เล่นโน้ตเสียงต่ำ มีเสียงตะโกน เฮ้! และในนาทีที่ 3:01 ก็มีการเพิ่มเสียงเครื่องกระทบคล้าย Snare และเสียง Synthesizer สไลด์ไปมาในช่วงเสียงที่สูงมากจนกลายเป็นเอฟเฟคที่ทำให้เพลงยุ่งเหยิง เพิ่มความสนุกสนาน เติมเต็มช่องว่างก่อนหน้านี้ จนแทบไม่มีเหลือ ดุเดือด เผ็ดมันยันวินาทีสุดท้ายของเพลง
แม้ว่า LALISA จะเป็นเพลงที่มีการใช้องค์ประกอบต่างๆ ทั้งเครื่องดนตรี เสียงสังเคราะห์ สไตล์ คอร์ด และโน้ตคล้ายกับหลายเพลงของ BLACKPINK เนื่องจากผู้แต่งเป็นคนเดียวกันที่มีลายเซ็นในดนตรีของตนเองชัดเจนมาก แต่ก็ต้องยอมรับในความสามารถของลิซ่าที่ทำการแสดงออกมาได้อย่างเพอร์เฟค เอาอยู่ได้ตลอดทั้งเพลงตั้งแต่ต้นจนจบไม่ว่าดนตรีจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง