วิเคราะห์ดนตรี NCT 127 - Sticker จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก | Sanook Music

วิเคราะห์ดนตรี NCT 127 - Sticker จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก

วิเคราะห์ดนตรี NCT 127 - Sticker จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิเคราะห์เพลงแบบท่อนต่อท่อน “Sticker” ของ NCT 127 เพลงที่จะงงก็ไม่งง จะคร่อมจังหวะก็ไม่คร่อม แล้วเสียงที่ได้ยินคือขลุ่ยหรือไม่ หยิบหูฟังหรือลำโพงดีๆ สักตัว แล้วมานั่งอ่านนั่งฟังพร้อมกันเลย

 

Album Sticker

Lyric By 유영진 (Yoo Young Jin), Taeyong (NCT) & Mark (NCT)

Composed By 유영진 (Yoo Young Jin), Dem Jointz, Calixte, Prince Chapelle & Ryan S. Jhun

Arranged by 유영진 (Yoo Young Jin), Dem Jointz & Ryan S. Jhun

D Minor - 78 BPM

 

NCT 127 엔시티 127 'Sticker' MV

การกลับมาของบอยแบนด์จากค่าย SM Entertainment ที่แฟนๆ ต่างรอคอยมานานกว่า 1 ปีครึ่ง ในครั้งนี้ NCT 127 ยังคงไม่ทำให้เราผิดหวังกับเพลงใหม่ที่นำเสนอความเป็น Neo ความก้าวหน้าทางดนตรีที่สื่อสารออกมาผ่านองค์ประกอบทางเสียงสารพัดรูปแบบและการจัดเรียงที่น่าตื่นตาตื่นใจ ในบทความนี้เราจะมาเจาะดูรายละเอียดต่างๆ ที่ถูกซ่อนไว้ในเพลงกัน

 

โครงสร้างเพลงของ Sticker

INTRO 0:00-0:13

VERSE 1 0:13-0:25

VERSE 2 0:25-0:49

PRE-CHORUS 0:50-1:01

CHORUS 1:01-1:26

VERSE 3 1:26-1:26

VERSE 4 1:26-2:03

PRE-CHORUS 2:03-2:16

CHORUS 2:16-2:40

BRIDGE 2:40-3:05

DROP 3:05-3:19

CHORUS 3:19-3:43

OUTRO 3:43-3:47

 

INTRO (0:00-0:13)

เริ่มต้นเพลงมาแบบที่เชื่อว่าใครหลายคนต้องเกิดอาการงุนงงสับสน แน่นอนว่าผู้เขียนเองก็เช่นกัน เสียงของปี่ Piri (พิรี) ตามที่ออฟฟิเชียลได้บอกไว้ แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกว่ามันเป็นเสียงของขลุ่ยคล้ายกับ Recorder มากกว่า (ขออนุญาตเรียกว่าขลุ่ยตามความคุ้นชินของแฟนคนไทยส่วนใหญ่) นอกจากจะสร้างเสียงที่ไม่คุ้นเคย พอบวกกับการเล่นโน้ตด้วยเทคนิค Trill (พรมนิ้ว) มันยิ่งสร้างบรรยากาศความเป็นดนตรีพื้นเมืองชนเผ่า ความ Exotic ที่ไม่ค่อยคุ้นเคยนักในเพลงตะวันตกสมัยใหม่ แถมจังหวะของมันยังสุดแสนจะประหลาด ที่ฟังแล้วยังไม่สามารถจับต้นชนปลายได้เลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น

ตัวอย่างเสียง ปี่ Piri


ตัวอย่างเสียงขลุ่ย Recorder

ก่อนที่จะตามมาด้วยเสียง Synthesizer (เสียงสังเคราะห์) ของเบสสไลด์ไปมาระหว่างโน้ต 2 ตัวที่มีความห่างของเสียงแคบมาก (Chromatic ครึ่งเสียง) จุดนี้นี่เองที่เราเริ่มจะรู้สึกว่าจับจังหวะพอได้แล้ว แต่ที่ไหนได้เสียงขลุ่ยถูกสลับตัดกลับมาอีกครั้งนึงด้วยจังหวะการเล่นที่แตกต่างกันออกไปเลย สรุปงงกว่าเดิมอีก พอเสียงเบสกลับมาอีกครั้งให้ชื่นใจก็มีการสอดแทรกมาด้วย sound effect มากมายทั้งเสียงคลื่นแทรก เสียงตะโกน (producer tag) เสียงกระดกลิ้นลากค้าง เสียงแก้วแตก และแน่นอนว่ามีแนวร้องที่ช่วยทำให้เราหาจังหวะของเพลงนี้เจอเสียที

 

VERSE 1 (0:13-0:25)

แต่กลับกลายเป็นว่าพอเข้ามาท่อนนี้น่าจะงงกว่าเดิมไปอีก แม้ว่าองค์ประกอบจากช่วง Intro จะยังคงอยู่พร้อมกับถูกเติมเต็มด้วยบีตจากเสียงกลอง Bass drum (กลองใหญ่) และ Snare drum (กลองแต๊ก) ก็ตาม แต่แนวแร็ปกลับกลายเป็นตัวปัญหาใหม่ที่มากลั่นแกล้งให้เกิดความสับสนงุนงงจากจังหวะที่ไม่ค่อยคงที่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด เดี๋ยวจังหวะกระตุกบ้าง เว้นห่างบ้าง กลายเป็นว่าองค์ประกอบทั้งหมดมันกำลังดำเนินไปในจังหวะที่ทับซ้อนและคร่อมกันเอง เอาล่ะ ตัวใครตัวมันแล้วนะ

นอกจากนี้ยังมีการซ้อนเสียงที่ถูกปรับแต่งด้วย autotune ให้มีความเป็น electronic ในช่วงเสียงต่ำตรงประโยค I got what you need และ I can show you need เน้นความรู้สึกและความหมายของประโยคเหล่านี้โดยเฉพาะ

ตั้งแต่นาทีที่ 0:20 เป็นต้นไปแนวแร็ปยึดอยู่ในจังหวะ triplets (3 พยางค์) เป็นหลักทำให้เพลงมีความลื่นไหลและมี direction ไปข้างหน้ามากขึ้น แต่ก็ยังคงไม่ทิ้งลูกเล่นเสียงแอดลิบที่สอดแทรกมาตลอดตามสไตล์ NCT ซึ่งออกผ่านหูฟังสลับซ้าย-ขวา ผู้เขียนขอแนะนำให้ทุกคนลองใส่หูฟังฟังแล้วจะได้สัมผัสประสมการณ์การฟังที่มีมิติมากขึ้นไปอีก


nct127-sticker1

VERSE 2 (0:25-0:49)

ในที่สุดทำนองร้องแบบชัดๆ ก็ถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกใน Verse ที่ 2 ซึ่งมันน่าสนใจมากเลย เพราะทำนองร้องนี้เริ่มมาด้วยคำว่า Baby ที่เป็นการร้องโน้ตตัว D และ F ตัวเดียวกันกับเสียงขลุ่ยพอดีแต่มันกลับฟังแล้วไม่ค่อยเข้ากัน นั่นเป็นเพราะว่าการ tuning (ตั้งเสียง) ของขลุ่ยน่าจะถูกปรับให้เพี้ยนสูงกว่าดนตรีส่วนอื่นเล็กน้อยเพื่อนำเสนอความ traditional เครื่องดนตรีพื้นบ้านที่มีระบบการจูนเสียงแตกต่างจากมาตรฐานดนตรีตะวันตก ในมุมมองของผู้เขียนส่วนตัวคิดว่าคนแต่งใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อยนี้ที่สามารถเปลี่ยนเพลงให้ไปอีกเลเวลนึงได้เลย นี่แหละความเจ๋งของขลุ่ยที่จะทำหน้าที่ก่อกวนเราไปจนจบเพลง

จุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือการหายไปของเสียง Bass drum ซึ่งเป็นจังหวะหนักที่สำคัญของเพลง นั่นทำให้ตัวดนตรีกลับไปค่อนข้างโล่งโปร่งอีกครั้ง แต่ทำนองร้องเองก็มีวิธีการนำเสนอจังหวะที่พาเอาให้งงงวยไม่ได้ต่างไปจากท่อนแร็ปเลย ทำนองที่มักเริ่มร้องในจังหวะยก (จังหวะรอง สำคัญน้อยกว่าจังหวะตก) มีช่วงที่หยุดร้องเป็นเวลานาน รวมไปถึงช่วงนาทีที่ 0:33 ที่มีการร้องค่อนข้างฟรี ไม่ได้ยึดกับจังหวะเป๊ะๆ 100% ในภาษาดนตรีเรียกว่า Ad libitum คือการร้องแบบตามใจชอบ

สังเกตว่าจะมีเสียงร้อง Yeah yeah yeah ที่คอยแทรกมาตลอด ซึ่งมีความเลทเล็กน้อยทำให้เพลงเกิดอาการหน่วงแล้วก็ค่อยพุ่งไปข้างหน้า คนฟังอาจรู้สึกว่าจังหวะของเพลงแอบไม่มั่นคงเท่าไหร่ก็เพราะเสียงนี้เนี่ยแหละ

นาทีที่ 0:36 เบสกลับมาควบคู่ไปกับทำนองที่มีโน้ตชัดเจน จังหวะคงที่ เสียงเครื่องดนตรีกลับมาครบอีกครั้งและมีการเพิ่มมาของเปียโนที่ลงคอร์ดในจังหวะยก (จังหวะรอง) ด้วยคอร์ดที่มีการใช้โน้ตคนละชุดกันกับทำนอง แถมมีความเป็น dissonant (เสียงกัด) มันสร้าง tension ความตึงเครียดให้กับเพลงมากขึ้น ไม่ใช่แค่นั้นนะ แนวเบสตั้งแต่ 0:41 เองก็เปลี่ยนไปลากยาวกว่าเดิม แนวร้องร้องโน้ตตัวที่ไม่ใช่โน้ตตัวสำคัญของเพลงย้ำซ้ำๆ มึนงงไปหมด แม้จังหวะจะคงที่ดนตรีถูกเติมเต็มช่องว่างมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันโน้ตจากทั้งขลุ่ย แนวร้อง เบส และเปียโนมันตีกันจนก่อให้เกิดสีสันที่แปลกใหม่มาก

 

PRE-CHORUS (0:50-1:01)

เอาอีกแล้ว หลังจากที่เราเพิ่งจะเริ่มจับทิศทางของเพลงนี้ได้ไปแป๊บนึง อยู่ดีๆ รถที่กำลังขับไปข้างหน้าก็เกิดเลี้ยวหักศอกเปลี่ยนทิศทางอย่างกะทันหัน อ้าวเห้ย! แล้วเปลี่ยนแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย (ใช่ ท่อนนี้ไม่มีขลุ่ย!) ชนิดที่ไม่มีอะไรจากก่อนหน้านี้หลงเหลืออยู่เลย

เครื่องดนตรีต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างกับเป็นคนละเพลง มีเสียงบีตในช่วงเสียงสูง เครื่องสายทั้งดับเบิลเบสบรรเลงในช่วงเสียงต่ำและเสียง Pizzacato (ดีดสาย) ของไวโอลินในช่วงเสียงสูง ว้าวมาก มันให้ความรู้สึกที่เป็น acoustic เป็นเครื่องดนตรีสด ส่วนแนวร้องกลับลงไปอยู่ในช่วงเสียงที่ค่อนข้างต่ำแต่ก็ยังโดดเด่นชัดเจนออกมาเพราะเสียงเครื่องดนตรีน้อยชิ้นไม่ไปรบกวน พอนาทีที่ 0:54 ก็เริ่มมีเสียง Background vocals เสียงร้องประสานค่อยๆ เร่งเสียงดังขึ้นช่วยเติมเต็มให้กับครึ่งหลังของท่อนพรีคอรัสนี้ยิ่งมีสีสันที่ไพเราะและสุดแสนจะน่าพิศวง เราเริ่มคุ้นชินและจับทางท่อนนี้ได้เสียที ก่อนที่ในตอนท้ายดนตรีต่างๆ จะเงียบหายไปเหลือไว้เพียงเสียงแร็ปและแล้วทุกอย่างก็กลับตาลปัตรอีกครั้ง

ตัวอย่างเสียง Pizzicato เครื่องสาย

CHORUS (1:01-1:26)

กลับมาสู่ดนตรีแบบเดิมที่ห่างหายไป คราวนี้มาครบเลยทั้งขลุ่ย เบส เปียโน กลอง และแนวร้องพร้อมเสียงประสานที่โดดเด่นออกมาอย่างชัดเจน โอ้โห เหมือนองค์ประกอบจะน้อยแต่แต่ละชิ้นมันมีการนำเสนอโน้ตที่แตกต่างกัน การจูนเสียงต่างกัน แล้วยังจังหวะหลากหลายอีก เมื่อนำมาประกอบรวมกันกลายเป็นว่ามันเต็มไปด้วย tension บีบคั้นหัวใจ สร้างสีสันที่ผสมปนเปกันเต็มไปหมดเลย แต่เพื่อไม้ให้ความรู้สึกและอารมณ์พลุ่งพล่านล้นหลามมากเกินไปดนตรีตรงนี้จังมักจะถูกเบรกเอาไว้ด้วยเสียงร้องว่า Sticker เพื่อขัดมู้ดให้เกิดความบาลานซ์ และเพิ่มแนวแอดลิบทั้งร้องและตะโกนคอยสอดแทรกอยู่ตลอด ฟังสนุกจริงๆ ต้องยอมรับเลยว่าคนแต่งฉลาดมาก

แล้วยิ่งถ้าใส่หูฟังตั้งใจฟังคำว่า Sticker ก็จะได้ยินความแตกต่างของการนำเสนอคำๆ นี้ใน 3 ครั้งที่ร้องติดกันด้วยนะ

นาทีที่ 1:14 แนวทำนองร้องโน้ตเดียวกันกับเสียงขลุ่ยเป๊ะเลย แต่เสียงที่ออกมากลับแตกต่างกันเพราะการตั้งเสียงที่ไม่เท่ากัน เห้ย บ้าบอมากเลยนะ เหมือนกับว่าเรากำลังโดนเจ้าขลุ่ยนี่ล้อเลียน แลบลิ้นปลิ้นตาใส่อยู่ตลอดเวลา

 

VERSE 3 (1:26-1:26)

แนวแร็ปที่คงที่ มีเสียงแอดลิบตามสไตล์แบบ NCT ที่แทบไม่เคยปล่อยให้เพลงว่าง ดนตรีรูปแบบเดิมโดยที่เสียงขลุ่ยซึ่งเคยโดดเด่นและกัดกับชาวบ้านถูกลดความสำคัญลงไป แม้จะมีการแทรกมาเล็กๆ สั้นๆ บ้างราวกับการเล่นจ๊ะเอ๋แต่มันก็เพียงพอที่จะทำให้คนฟังรู้สึกผ่อนคลายมากกว่าเดิม จนกระทั่งนาทีที่ 1:31 เบสถูกตัดให้สั้นลงแล้วอยู่ดีๆ ขลุ่ยน้อยเจ้าปัญหาก็กระโดดออกมา แฮร่! jump scare ใส่เราแบบไม่ให้ตั้งตัว แถมยังเป็นการเล่นโน้ตที่เรายังไม่เคยได้ยินบนขลุ่ยมาก่อนเลย โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากโน้ตตัว F ไปเป็น F♯ ที่ทำให้สีสันของเพลงเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ยิ่งตอนท้ายของท่อนแร็ปนี้มีการเล่นสเกลไล่ต่ำลงออกมาเป็นสีสันแบบ Major ที่แฮปปี้ สดใส มันพาเราให้สับสนกับเรื่องราวของเพลงนี้ไปกันใหญ่

 

VERSE 4 (1:26-2:03)

แม้ว่ารายละเอียดองค์ประกอบทางดนตรีจะไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปเลยเมื่อเทียบกับ Verse 2 แต่เรากลับไม่ได้รู้สึกว่ามันซ้ำจำเจเนื่องจากตลอดทางที่ผ่านมามีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นมากมายไปหมด ท่อนนี้จึงเหมือนเป็นอีกท่อนที่ให้เราได้พักผ่อนและเพลิดเพลินกับความเงียบสงบ ปล่อยใจไปกับเนื้อเพลงที่แตกต่าง เมื่อผ่านไปสักพักความเงียบก่อให้เกิดความรู้สึกอึดอัดใจ คนฟังโหยหาเสียงดนตรีที่หนักหน่วงและเบสมาโอบอุ้ม พอมาถึงนาทีที่ 1:51 เราจึงรู้สึก satisfied พึงพอใจกับดนตรีที่ถูกนำกลับมาเป็นพิเศษ

nct127-sticker2

PRE-CHORUS (2:03-2:16)

จากที่ท่อนพรีคอรัสรอบแรกเสียงร้องอยู่ในช่วงเสียงต่ำและมั่นคงแข็งแรง ในรอบนี้กลับกระโดดขึ้นไปสูงกว่าเดิมถึง 1 octave (1 ช่วงเสียง) โดยที่ใช้โน้ตชุดเดิมแต่ปรับเปลี่ยนจังหวะและการไล่โน้ตใหม่ มีการร้องที่ lyrical เชื่อมต่อโน้ตและนุ่มนวลกว่าเดิม มันเต็มไปด้วยความรัก ความสเน่หา ถึงจะมีเสียงร้องแข็งแรงสวนขึ้นมาพักนึงก็กลับไปโหยหาอ้อนวอนขอร้องอีกครั้ง ช่างเป็นท่อนที่ contrast จากเพลงช่วงอื่นแล้วยังเต็มไปด้วยความ contrast ในช่วงเวลาแค่เพียงสั้นๆ ไม่กี่วินาทีในท่อนเองด้วย

 

BRIDGE (2:40-3:05)

เสียงเครื่องสายลากมาอย่างยิ่งใหญ่อลังการพร้อมกับเสียงกลอง Snare drum ที่ยังไม่ทิ้งเราไปไหน เสียงต่ำหายไปเกือบทั้งหมดแม้จะยังมีบ้างแต่ก็เบามาก แนวทำนองร้องโน้ตแบบเดิมซ้ำสองรอบในขณะที่คอร์ดเปลี่ยนไปราวกับต้องการตอกย้ำความต้องการในจิตใจที่ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงไปแต่ตัวฉันยังคงมั่นคงเช่นเดิม

นาทีที่ 2:47 มีการร้องโน้ตสูงสลับกับอีกคนร้องโน้ตตัวต่ำกว่า คล้ายบทสนทนาระหว่างคนสองคน ฉันและเธอ ก่อนที่จะถูกโอบอุ้มด้วยเสียงร้องประสานในนาทีที่ 2:49 เพิ่มสีสันที่ทำให้เพลงมีสีสันแบบแจ๊สเข้ามาผสม หลังจากนั้นกลองกลับมาเต็มที่อีกครั้ง แม้แต่เสียงขลุ่ยที่ไม่คาดคิดว่าจะได้ยินในท่อนนี้ก็ยังจะตามมาหลอกหลอนกัน เสียงร้องซ้อนทับสอดประสานกันไป เครื่องสายเล่นโน้ตซ้ำๆ ในจังหวะยกช่วยบิ๊วพาเพลงไปให้ถึงจุดพีคที่สุดแต่น่าแปลกที่แนวร้องกลับค่อนข้างจะชิลสวนทางกับดนตรี

nct127-sticker3

DROP (3:05-3:19)

มีการเพิ่มจังหวะเข้ามา 2 จังหวะสำหรับการสร้าง transition เพื่อเปลี่ยนผ่านส่งเราเข้าสู่ท่อน Drop โดยใช้เสียงเบสสไลด์ลงต่ำ กลอง Snare drum รัวเข้ามาตามมาด้วยเสียงกลองอีกแบบที่ถูกแพนเสียงจากซ้ายไปขวา ฟังแล้วก็คล้ายกับเสียงเดินขบวนของทหาร หรือนี่คือการสั่งเข้าแถว บอกให้เราเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อไปพบเจอกับท่อนต่อไปที่จะดุเดือดเผ็ดมันยิ่งกว่าเดิม

Roll up to the party มาพร้อมกับเสียง Synthesizer หลากหลายรูปแบบ เสียงที่ distorted แตกๆ บิ๊วอัพให้เพลงน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนถึงกับงงคือเสียงเหมือน Flute (ฟลูต) ที่บรรเลงทำนองน่ารักๆ ผสมไปกับดนตรีสุดมันส์ ขลุ่ยยังคงอยู่กับเราแม้ว่าเนื้อเสียงจะถูกปรับเปลี่ยนไป

จังหวะบีตค่อยๆ ถี่ขึ้น มีการเว้นช่วงสั้นๆ ตอน 3:14 และ 3:15 ให้เราสะดุดเล่น เพลงถูกเบรคแล้วกลับไปเริ่มบิ๊วอีกครั้ง ในช่วงโมเมนต์สุดท้ายหลังจากเพลงพาเราไปถึงจุด Climax สูงสุด บีตต่างๆ ถูกดรอปไป เสียงเบสสไลด์เป็นสัญญาณกลับเข้าสู่โลกเดิมอีกครั้ง

 

CHORUS (3:19-3:43)

น่าเสียดายที่ในเพลงเวอร์ชั่นจริงไม่มีเสียงจุดพลุเหมือนกับใน MV ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนชอบมากเพราะมันสร้างอิมแพคที่รุนแรงให้กับคนฟัง ในฮุคสุดท้ายนี้เองก็เต็มไปด้วยแอดลิบไล่เสียงขึ้นลงสลับไปมาสวนทางกับทำนองหลัก ฉวัดเฉวียนราวกับการตวัดพู่กันป้ายสีเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อทำให้ผลงานศิลปะชิ้นนี้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด

 

OUTRO (3:43-3:47)

จบด้วยเสียงร้องไล่สเกลกลับลงมายังโน้ตตัว D โน้ตหลักของเพลงนี้อย่างงดงามพร้อมกับคำว่า Sticker เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าเพลงนี้จะติดแน่นอยู่กับผู้ฟังไม่ต่างจากสติ๊กเกอร์

 

ไม่น่าเชื่อเลย แม้เพลงนี้จะมีองค์ประกอบทางดนตรีแค่เพียงไม่กี่อย่างแต่สามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลายให้แก่ผู้ฟัง การเล่นกับจังหวะที่ทับซ้อนกัน การเลือกใช้โน้ตหลักๆ แค่ไม่กี่ตัว เพื่อทำให้คนฟังสามารถจดจำทำนองในหลายท่อนได้ไม่ยาก สร้างบรรยากาศความเป็นคันทรี พื้นเมือง แต่ก็มีเสียงประสานสร้างสีสันตระการตาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังทำให้คนฟังตั้งคำถามถึงความแปลกใหม่ ไม่คุ้นเคย และที่โดดเด่นที่สุดก็คือเสียงขลุ่ยที่สุดแสนจะ iconic ตัวป่วนประจำเพลง ราวกับว่าคนแต่งตั้งใจใส่เสียงขลุ่ยนี้ไว้ตลอดเพื่อจะปั่นหัวคนฟังให้เกิดความสับสนงุนงง แต่สิ่งนี้เองคือหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การฟังเพลงนี้เต็มไปด้วยความสนุกสนาน เป็นประสบการณ์การเสพดนตรีที่ไม่น่าเบื่อเลย

nct127-sticker4

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook