Running Man : วาไรตี้วิ่งล่าข้ามทศวรรษ โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง | Sanook Music

Running Man : วาไรตี้วิ่งล่าข้ามทศวรรษ โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

Running Man : วาไรตี้วิ่งล่าข้ามทศวรรษ โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากวาไรตี้ที่วางแผนว่าจะผลิตในช่วงเวลาไม่กี่ปี แถมยังเคยมีข่าวว่าจะหยุดรายการมาแล้ว แต่ไปๆ มาๆ Running Man ก็ออกอากาศมาได้ 11 ปี จำนวนตอนก็ทะลุ 570 ตอนแล้วเรียบร้อยต้องสารภาพว่ามีหลายช่วงที่ผู้เขียนห่างเหินจากวงการบันเทิงเกาหลีไป แต่ก็ยังมี Running Man ที่ดูอยู่ เป็นเหมือนความผูกพันที่ตัดไม่ขาดทว่ารายการนี้ก็มักเป็นสะพานนำผู้เขียนกลับมาสู่วงการเคป๊อปเสมอ เช่นรู้จักวง WANNA ONE เพราะรายการใช้เพลง "Nayana" (Pick Me) บ่อยมากหรือตัดสินใจดูละคร The Penthouse ก็จากตอนที่เหล่านักแสดงนำไปเป็นแขกรับเชิญแล้วฮาสุดขีด

Running Man เพิ่งมีแฟนมีทติ้งออนไลน์ไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาแต่ก่อนจะรีวิวงานแฟนมีทผู้เขียนขอไล่เรียงถึงความเป็นมาของรายการสักหน่อย โดย Running Man เริ่มออกอากาศเมื่อกรกฎาคม 2011 เป็นที่สนใจด้วยคอนเซ็ปต์ให้สมาชิกรายการไปทำภารกิจตามห้างสรรพสินค้า สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่ท่องเที่ยว เกมที่คนดูชื่นชอบกันที่สุดคือการวิ่งไล่เพื่อดึงป้ายชื่อใครถูกดึงป้ายต้องออกจากเกมไป ซึ่งเมมเบอร์ต้องใช้ทั้งกำลังในการไล่ล่าและหลบหนี รวมถึงใช้สมองหาทางหนีทีไล่หรือเจรจาต่อรองกับฝ่ายตรงข้าม

ช่วงปี 2012-2014 น่าจะถือเป็นยุคทองของรายการที่เรทติ้งเป็นเลขสองหลักและบางตอนก็พุ่งเกิน 20% เป็นช่วงที่มีสมาชิก 7 คนเป็นตัวหลัก ได้แก่ ยูแจซอก, จีซอกจิน, คิมจงกุก, ฮาฮา, แกรี่, ซงจีฮโย และ อีกวางซู รายการสนุกสนานด้วยเคมีที่ลงตัวของเมมเบอร์ มีคาแรกเตอร์และความสัมพันธ์ที่เป็นภาพจำ เช่นว่าคิมจงกุกต้องหัวร้อนอยู่เสมอ, อีกวางซูเป็นจอมทรยศหักหลังหรือเลิฟไลน์ระหว่างแกรี่กับจีฮโยที่แฟนๆ พากันเรียกทั้งสองว่า ‘คู่รักวันจันทร์’ (เพราะรายการถ่ายทำในวันจันทร์)

ในยุคทองนี้ Running Man เริ่มไปถ่ายทำที่ต่างประเทศ แต่ยังเป็นประเทศแถบเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ตอนที่มาไทยแฟนคลับแห่แหนไปต้อนรับกันที่สนามบินจนสุวรรณภูมิแทบแตก นอกจากนั้นไม่เพียงแต่เมมเบอร์จะมีคนติดตามกระทั่งทีมงานอย่างโปรดิวเซอร์ ผู้ช่วยผู้กำกับ หรือตากล้องก็ยังมีแฟนคลับเป็นของตัวเองด้วย

ตั้งแต่ช่วงปี 2015 มา เรทติ้งของ Running Man ตกลงเป็นเลขหลักเดียว พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แกรี่ออกจากรายการในปี 2016 สองสมาชิกใหม่ จอนโซมิน และ ยังเซชาน ร่วมเป็นเมมเบอร์ในปี 2017 นอกจากนั้นผู้ชมยังตั้งข้อสังเกตว่าเกมวิ่งไล่จับเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ ไปเน้นช่วงพูดคุยเสียมาก จนบางคนแซวว่านี่มันรายการ Talking Man หรือ Sitting Man แล้ว แต่เข้าใจได้ว่าการวิ่งดึงป้ายชื่อมันถึงจุดอิ่มตัวแล้วประกอบกับสมาชิกที่อายุมากขึ้นหรือบางคนก็มีอาการบาดเจ็บด้วย

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เรทติ้งตกลง ทางทีมงานก็เปลี่ยนแนวทางเป็นการ ‘เล่นใหญ่’ ด้วยการไปถ่ายทำที่ต่างประเทศบ่อยมาก ไม่ว่าจะ ดูไบ รัสเซีย มองโกเลีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ หรือบางทีมีภารกิจสุดเหวออย่างการไปกลับเกาหลี-ญี่ปุ่นภายในวันเดียว เป็นยุคที่เปิดรายการกันที่สนามบินอินชอนบ่อยครั้ง ซึ่งวิวทิวทัศน์ สถานที่ท่องเที่ยว หรือวัฒนธรรมอันเอ็กโซติกของต่างประเทศทำให้ Running Man ช่วงนี้ดูได้เพลิดเพลินอยู่

ส่วนปี 2020 จนถึงปัจจุบันคงเรียกได้ว่าเป็นยุคโควิด ผลจากโรคระบาดทำให้แผนการถ่ายทำในต่างประเทศพังทลาย มีหลายตอนมากที่ถ่ายกันที่ตึกสถานีโทรทัศน์ SBS หรือแขกรับเชิญก็มากันได้น้อยลง แต่ทีมงานยังไม่ยอมแพ้ พยายามคิดเกมหรือภารกิจแปลกใหม่มากมายให้กับรายการ ซึ่งผู้เขียนมองว่ารายการยังสามารถสร้างความสนุกสนานได้ แม้จะภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด Running Man มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่ออีกวางซูตัดสินใจออกจากรายการเมื่อมิถุนายน 2021 พวกเขากลับมาเหลือ 7 คน แต่เคมีของเมมเบอร์ยังถือเป็นจุดแข็งของรายการอยู่ เห็นได้จากตอน 562 ที่เป็นภารกิจให้สมาชิกเม้ามอยกันไปเรื่อยๆ ซึ่งแค่นี้ก็สนุกแล้ว แต่อาจจะต้องเป็นคนดูที่ผูกพันกับรายการสักหน่อย

ส่วนงานแฟนมีทติ้งออนไลน์ของ Running Man ที่เพิ่งจัดไป ถ้าให้พูดตามตรงผู้เขียนก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะเจ็บมาเยอะกับแฟนมีทติ้ง แต่เพียงแค่เริ่มงานก็ต้องเจอความปวดตับเพราะแฟนมีทนี้ใช้วิธีให้ล่ามแปลคำพูดของเมมเบอร์แบบพากย์ไทยสดๆ ซึ่งล่ามก็แปลได้ชวนเครียดมาก ยังดีว่าสามารถเปลี่ยนเป็นพากย์อังกฤษได้ ชีวิตค่อยดีขึ้นหน่อย

ช่วงแรกของแฟนมีทติ้งเป็นการเล่นใบ้คำหรือทายท่าเต้นเพลงเคป็อปแบบที่เรา เห็นใน Running Man มาเป็นร้อยครั้ง แต่บรรยากาศก็ออกมาเจื่อนๆ หน่อย เพราะไม่มีการตัดต่อ ไม่มีการขึ้นตัวหนังสือ ไม่มีเสียงเอฟเฟกต์ประกอบแบบตอนเป็นรายการ พอพ้นจากช่วงเล่นเกมก็จะเป็นการแสดงทั้งร้องทั้งเต้น อารมณ์ของงานค่อยสนุกขึ้นมา

แม้ว่าจะมีหลายเพลงที่ซ้ำกับแฟนมีทติ้งที่เกาหลีเมื่อปี 2019 ซึ่งเป็นตอนหนึ่งของ Running Man ด้วย โชว์ที่ผู้เขียนค่อนข้างชอบจะเป็นจีฮโยที่ออกมาเต้นเพลง "Rollin’" ของ Brave Girls แบบที่ไม่ได้เน้นเซ็กซี่หรือเต้นเป๊ะ ออกจะเป็นแนวน่าเอ็นดูเสียมากกว่า ส่วนคัฟเวอร์แดนซ์เพลง "When We Disco" (J. Y. Park และ Sunmi) ของโซมินกับเซชานก็น่ารักแบบกวนๆ ดี ส่วนฝั่งร้อง(สด)ก็จะมีซอกจินและจงกุก โดยเฉพาะคนหลังที่โชว์พลังเสียงทั้งในเพลง "Just The Way You Are" (Bruno Mars) และ "Loveable" ของเจ้าตัวเอง

โดยรวมแล้วแฟนมีทติ้งออนไลน์ของ Running Man ก็ออกมากลางๆ ไม่ได้มีช่วงไหนน่าประทับใจจนร้องว้าวหรือน่าจดจำนัก แต่ถ้าเทียบกับค่าตั๋วห้าร้อยกว่าบาทก็ถือว่าไม่ช้ำใจมาก (ถ้าเป็นงานแบบ physical ที่ค่าตั๋วหลักพันคงแอบกำหมัด)

กระนั้นสิ่งที่ผู้เขียนอยากเห็นที่สุดน่าจะเป็น Running Man ในยุค post-Covid หรือหลังจากโควิดคลี่คลายแล้ว อยากจะเห็นว่าทีมงานจะพัฒนารูปแบบรายการไปทิศทางไหนได้อีก แต่ทั้งนี้ถ้ารายการต้องหยุดลงในสักวันก็คิดว่าไม่มีอะไรต้องเสียใจเพราะทั้งเมมเบอร์และทีมเบื้องหลังได้ทำแทบทุกอย่างอย่างเต็มที่แล้ว

____________________

kanchat

ผู้เขียน - คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

(Kanchat Rangseekansong)

เปิดโลกดนตรีและไอดอลกับคันฉัตร

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ Running Man : วาไรตี้วิ่งล่าข้ามทศวรรษ โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook