ตลาดคนฟัง "แผ่นเสียง" ในญี่ปุ่นไปถึงไหนแล้ว และตลาดบ้านเราล่ะ? โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
เมื่อวางเข็มลงบนแผ่น เสียงดนตรีจากลำโพงจะพาเราดำดิ่งไปสู่โลกของดนตรี นี่เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่หลังยุค 2000 ประจักษ์กับตัวเองแล้วว่าความแปลกใหม่ที่ตนเองสนใจและชื่นชอบ มักยืนอยู่บนพื้นฐานที่ "เรื่องมาก"
เป็นความจริงครับ "เรื่องมาก" ในที่นี้ก็คือขั้นตอนในการเล่นแผ่นเสียง กว่าจะได้ฟังเสียงเพลงที่ชอบจากลำโพง ต้องเริ่มจากเอาแผ่นเสียงออกจากซองพลาสติก ดึงซองในที่ใส่แผ่นออกมา ซึ่งอาจเป็นซองพลาสติกหรือกระดาษก็ได้ อีกทั้งต้องระมัดระวังไม่ให้แผ่นหล่นจากซองอีกต่างหาก ค่อยๆ บรรจงหยิบแผ่นจากซอง วางลงบนจานเล่นแผ่นเสียง ทำความสะอาดด้วยแปรงปัดฝุ่นหนึ่งรอบ ค่อยๆ ยกอาร์มเครื่องเล่นลงบนแผ่นช้าๆ นุ่มนวล ให้หัวเข็มตกลงบนร่องเสียงที่เราต้องการฟังพอดี โอย เรื่องมากไหมล่ะครับ ไหนฟังเสร็จแล้ว ทำความสะอาดอีกรอบ ก่อนหยิบใส่เข้าซองในอีกครั้ง ใส่แรงก็ไม่ได้ ขอบซองจะทะลุได้ ในกรณีที่เป็นซองกระดาษ สุดท้าย ใส่เข้าซองนอกอีกที ต้องค่อยๆ ดันเข้าไปในได้มุมได้องศา ไม่เช่นนั้น มุมซองในไปชนกับด้านในของซองนอก ไม่ยับก็มุมหัก ปิดฉากด้วยการใส่หย่อนลงซองพลาสติกนอกอีกที ถ้าเป็นซองซิป ก็ต้องค่อยๆ ใส่ ไม่ให้มุมปกแผ่นถูกับซิปของซองนอกอีก ดูสิครับ แค่ขั้นตอนฟังแผ่นเสียงแผ่นเดียว เสียพื้นที่บรรยายไปหนึ่งย่อหน้ายาวๆ เลย
แต่ผมเชื่อว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่อิดออดกับ "เรื่องมาก" แบบนี้กันแล้ว เพราะพวกเขามีความสุขกับการฟังเพลงจากแผ่นเสียงกันมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านั้น อิ่มตัวจากซีดี MP3 หรือสตรีมมิ่งมากันแล้ว แม้แผ่นเสียงจะมีมานาน มีคนเล่นมาตลอด แต่ถ้านับกระแสจริงๆ ก็ต้องนับเมื่อตอนย่างเข้ายุค 2000 นี่แหละครับ อาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมของวัยรุ่นไปแล้ว (คนระดับสว.อย่าเพิ่งค้อนครับ พวกคุณอยู่ในกลุ่มเจนจัด คร่ำประสบการณ์ไปแล้ว)
เมื่อเอ่ยถึงคนรุ่นใหม่ที่เล่นแผ่นเสียงกันมากขึ้น ก็ต้องขออิงถึงสถานการณ์ในญี่ปุ่นตามเคยครับ เพราะที่นั่นเป็นตลาดระดับโลก ตลาดแผ่นเสียงที่นั่นเป็นเอกเทศที่มีนักสะสมจากทุกมุมโลกใฝ่ฝันจะได้ไปช็อปที่นั่นสักครั้งในชีวิต
- จริงหรือไม่ที่ว่าแผ่นเสียงเพลงอนิเมะขายดีขึ้นกว่าเดิมมาก
จากการสำรวจของสมาพันธ์แผ่นเสียงของญี่ปุ่น ระบุว่าในปี1976 ญี่ปุ่นผลิตแผ่นเสียงขายในประเทศอยู่ราว 200 ล้านแผ่น กระทั่งปี2009 ลงจำนวนลงเหลือ 1 แสนแผ่น แถมมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เกือบจะเลิกผลิตไปเลยด้วยซ้ำ แต่การณ์กลับเป็นว่ามันค่อยๆ ผลิตเพิ่มขึ้นมาทีละนิด จนปี 2017 มียอดผลิตถึง 1 ล้านแผ่นเป็นครั้งแรกนับจากปี2001 เป็นต้นมาเลยทีเดียว สังเกตได้จากศิลปินหน้าใหม่ที่ออกผลงานเป็นฟอร์แมตแผ่นเสียงมากขึ้น อาจไม่ถึงขั้นบูม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันผลิตเป็นจำนวนมากขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ตรงข้ามกับสถานการณ์ของ CD ที่นับวัน ยอดผลิตจะค่อยๆ ลดลง อีกปัจจัยที่เอื้อต่อการกลับมาทวงบัลลังก์ของแผ่นเสียงไม่ได้มีเพียงนักเรียนนักศึกษาที่สนใจเพลงเก่าหรือสนใจดนตรีเพียงกลุ่มเดียว
คุณโนมิยามา มิสึรึ ผู้จัดการร้าน HMV เรคอร์ดช็อป ชิบุยะ อันเป็นร้านที่เน้นขายแผ่นเสียงเป็นหลักกล่าวว่า "ถ้าเป็นเมื่อก่อน ลูกค้าที่มาซื้อแผ่นเสียงมักจะหาแต่แผ่นหายาก แผ่นดังระดับประวัติศาสตร์ในวงการเพลง แต่พักหลังมานี้ แผ่นเสียงแนวอื่นๆ ก็ขายได้มากขึ้น ยกตัวอย่างที่น่าสนใจนะครับ แผ่นซาวน์ดแทร็กอย่าง "ดรากอนบอล" หรือหนังดรามาเก่าๆ ก็ขายได้เพิ่มขึ้น"
"แต่ก่อนกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มช่วงอายุ 40-60 ซึ่งเกิดในยุคโชวะ แต่ตอนนี้ลูกค้าอายุ 10-20 ก็แวะเวียนมาอุดหนุนด้วยเช่นกัน ทำให้ยอดขายล่าสุดเพิ่มขึ้นอีก 30 เปอร์เซ็นต์เลยละครับ ขณะเดียวกัน เครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับราคาไม่กี่พันเยนจนถึงหมื่นเยนต้นๆ ก็ขายดีขึ้นเช่นกัน"
"ผมเป็นลูกค้ากลุ่มที่มีห้องส่วนตัวไม่กว้างนัก เน้นใช้เครื่องเล่นราคาถูกไว้ก่อน เมื่อเปิดแผ่นฟัง สุ้มเสียงที่ได้ก็ทำให้หลงใหลเลยครับ" ลูกค้าที่มีอาชีพส่งของวัย 24 อธิบาย
"ผมพอใจเครื่องเล่นที่มีลำโพงในตัวครับ รู้สึกดีเวลาได้ยินซาวน์ดดิบๆ เป็นความรู้สึกที่แปลกใหม่ที่ค้นหามานานครับ" นักร้อง นักแต่งเพลงวัย 22 กล่าว
"ผมดูเครดิตบนปกแผ่น เพราะสนใจว่าใครเล่นกีตาร์ เสียงมันมีเสน่ห์มาก ซึ่งถ้าฟังดิจิทัลหรือสตรีมมิ่ง มันไม่มีเครดิตบอกเลยว่าใครเล่นเครื่องดนตรีอะไร มันสนุกก็ตรงนี้ด้วยครับ" พนักงานบริษัทวัย 25 แจง
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ จำนวนร้านขายแผ่นเสียงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะร้านขายแผ่นมือสองที่สามารถหาได้ไม่ยาก หรืออาจกล่าวได้ว่ามีมากพอๆ กับร้านสะดวกซื้อบ้านเราเลยก็ได้มั้งครับ จากประสบการณ์ที่เคยไปซื้อที่ญี่ปุ่น บางร้านก็เป็นห้องพักบนอพาร์ตเมนต์แคบๆ เนื้อที่ราวๆ 12 ตารางเมตร มีแผ่นไม่ถึงร้อยแผ่น แต่คนขายเป็นคนชอบฟังเพลงเป็นทุนอยู่แล้ว ทำให้อาจฟลุกเจอแผ่นที่ต้องการได้ ราคาก็ไม่แพง เริ่มต้นที่ 500-1,000 เยน (ประมาณ 150 บาท 300 บาท) ตามย่านที่อยู่อาศัยก็มีร้านแบบคูหาเดียวซ่อนอยู่แยะมาก ต้องขยันหาและดูโฆษณาในนิตยสารดนตรีบ่อยๆ เพราะมีข้อมูลอัปเดตตลอด ส่วนร้านใหญ่ๆ ก็มีไม่น้อย อันนี้ไม่นับร้านชื่อดังอย่าง Disk Union RecoFan อะไรเทือกนั้นนะครับ ร้านเล็กๆ เจ้าของร้านมักเป็นคนฟังเพลง เก็บแผ่น และขายเอง สามารถให้คำปรึกษาเรื่องเพลงและแผ่นเสียงได้เป็นอย่างดี ในบ้านเรามีร้านแบบนี้แยะมากครับ คนขายก็ฟังเพลง แต่ส่วนใหญ่ฟังเพลงไทยกับเพลงแจ๊ซ เพราะลูกค้าหาแต่แผ่นสองประเภทนี้เป็นหลัก เทียบกับญี่ปุ่นแล้ว มาตรฐานร้านและคนขายสูงกว่าเรามาก และราคาก็มักเป็นมาตรฐานไปในทิศทางเดียวอีกด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนฟังแผ่นเสียงที่พอมีรายได้หน่อย จะบินไปซื้อแผ่นเสียงที่ญี่ปุ่นกัน ยิ่งถ้ารู้แหล่งด้วยแล้ว ของดีราคาถูกเต็มไปหมดครับ
ทิ้งท้ายนิดครับ ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ มีคนขายแผ่นเสียงมือสองในบ้านเราเพิ่มมากขึ้นจนผิดสังเกต อาจเพราะขายบนเฟซบุ๊ก ไม่ต้องลงทุนหาหน้าร้าน อีกทั้งขายในราคาถูกกว่าตามร้านด้วย ซึ่งส่วนใหญ่มักเหมาซื้อแผ่นเสียงจากญี่ปุ่นมา อาจผ่านเว็บประมูล หรือจ้างบริษัทรับจ้างขนเข้ามา แต่ภาพที่ผมมองเห็นก็คือ คนขายเหล่านั้นนำแผ่นเหลือๆ แผ่นขยะที่คนญี่ปุ่นเลิกฟังแล้วมาขายกันแทบทั้งสิ้น เราจะเห็นแต่ละเจ้าขายแผ่นของศิลปินรายเดียวกันซ้ำซากไปหมด ยกตัวอย่าง แผ่นของ Hall and Oates, Billy Joel, Andy Williams, Neil Diamond, Janis Ian และอีกมากมาย ศิลปินเหล่านี้ในช่วงที่ประสบความสำเร็จช่วงยุค '70s-'80s ญี่ปุ่นผลิตแผ่นออกมาหลายรอบ รวมแล้วเป็นล้านๆ แผ่น พอเสื่อมความนิยมก็กลายเป็นแผ่นขยะราคาถูกๆ แผ่นละ 10-100 เยน หรือกองเป็นลัง ลังละไม่กี่ร้อยเยน การเหมาแผ่นเหล่านี้มาขายในบ้านเรา จึงมองได้ว่าเป็นการนำขยะบ้านเขามาไว้บ้านเราแทน แต่ส่วนที่ดี มีประโยชน์ก็คือ คนที่เพิ่งเริ่มเล่นแผ่นเสียง จะมีโอกาสซื้อแผ่นเสียงเหล่านี้ได้ในราคาหลักร้อย ไม่เกิน 200 บาทครับ แต่แผ่นที่ผลิตใหม่ ไม่ว่ารีอิชชู หรือรีมาสเตอร์ ราคายังคงแพงหลักพันอยู่เหมือนเดิมครับ