วิเคราะห์ดนตรี aespa - Savage จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
หลังจากบทเพลง "Next Level" ได้สร้างปรากฏการณ์ครองตำแหน่งบนชาร์ตเกาหลีเป็นระยะเวลาหลายเดือน ในที่สุดเอสป้าก็ปล่อยมินิอัลบั้มชุดแรก Savage ออกมาพร้อมกับเพลงไตเติ้ลในชื่อเดียวกันที่จะมาเล่าเรื่องราวภาคต่อของจักรวาล SM Culture Universe งานนี้มีสิ่งที่น่าสนใจในตัวดนตรีมากมายเต็มไปหมด มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
Song Savage
Artist aespa
Album Savage
Lyric By 유영진 (Yoo Young Jin)
Composed By Hautboi Rich, Jia Lih, Kirsten Collins & 유영진 (Yoo Young Jin)
Arranged by 유영진 (Yoo Young Jin) & Jia Lih
73 BPM
aespa 에스파 'Savage' MV
โครงสร้างเพลงของ Savage
INTRO 0:05-0:09
VERSE 1 0:09-0:35
PRE-CHORUS 0:35-1:01
CHORUS 1:01-1:30
VERSE 2 1:30-1:57
PRE-CHORUS 1:57-2:23
CHORUS 2:23-2:51
BRIDGE 2:51-3:17
BREAKDOWN 3:17-3:31
CHORUS 3:31-3:58
OUTRO 3:58-4:00
Intro ที่อาจไม่สามารถเรียกว่า Intro ได้อย่างเต็มปาก เป็นแค่เพียงการเชื้อเชิญให้ผู้ฟังเข้ามาติดกับเพื่อจะลิ้มรสความโหดร้ายของสาวๆ เอสป้าที่พวกคุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน
...ขอต้อนรับเข้าสู่ ควังยา…
VERSE 1 (0:09-0:35)
ไม่เสียเวลา ไม่ให้ทันได้ตั้งตัวเราก็ก้าวเท้าเข้าสู่ดินแดนอันลึกลับของเอสป้าอย่างทันทีทันใด โอ้โห ขอบอกเลยว่าผู้เขียนเองก็ถึงกับช็อกและเต็มไปด้วยความสับสน ที่นี่ที่ไหน เกิดอะไรขึ้นอยู่กันแน่ ดนตรีสร้างบรรยากาศอันแสนพิศวงจากเสียงเบสโน้ตตัว E ที่สุดแสนจะต่ำจนแทบฟังไม่ออก จังหวะการลงบีตที่ไม่คงที่ แนวร้องในลักษณะ Speaking-singing ที่ไม่มี Pitch หรือเสียงตัวโน้ตและไม่มีจังหวะที่แน่นอน
แล้วไหนจะยังเสียง Synthesizer เสียงสังเคราะห์ที่คล้ายกับเสียงตีสายเหล็กที่จะว่าไปก็คล้ายคลึงกับเสียงของ Harpsichord เครื่องดนตรีจากยุคบาโรกที่เล่นโน้ตวนเวียนไปมา โน้ตชุดนี้เองก็มีความสำคัญมากๆ เนื่องจากมันมีการสร้างขั้นคู่ความห่างของเสียงสองแบบหลักๆ
- Chromatic หรือขั้นคู่ที่โน้ตห่างกันแค่เพียงครึ่งเสียง ความใกล้ ความเบียดกันของโน้ตสร้างบรรยากาศที่แสนจะน่าอึดอัด
- Tritone ขั้นคู่โน้ตแห่งความตาย ตัวแทนของปีศาจ ซาตาน เคยถึงขั้นถูกห้ามใช้สำหรับเพลงโบสถ์ในยุคโบราณ เสียงแห่งความครึ่งๆ กลางๆ และน่าพิศวง
ตัวอย่างเสียง Harpsichord เครื่องดนตรีคีย์บอร์ดซึ่งเป็นที่นิยมในยุคบาโรก เมื่อกดคีย์จะทำให้ค้อนตีสายเหล็กจนเกิดเสียง
ตัวอย่างเพลง SuperM - Tiger Inside ใช้ Tritone แทบทั้งเพลง สื่อถึงเสือซึ่งเป็นสัตว์ที่เต็มไปด้วยความลึกลับและอันตราย
นาทีที่ 0:22 เบสจากที่เคยต่ำอยู่แล้วกลับดิ่งลงไปเป็นโน้ตตัว A ที่ต่ำกว่าเดิมอีก แต่เสียงคล้ายฮาร์พสิคอร์ดกลับเคลื่อนสูงขึ้นไป 3 เสียงโดยคงแพทเทิร์นแบบเดิมไว้ พร้อมกับเสียงแทรกหลอนๆ ในนาทีที่ 0:23 กับ 0:27 เสียงร้องของจอมวายร้าย เจ้าปีศาจที่ซุกซ่อนอยู่ในเงามืด
แนวร้องแร็ปค่อยๆ ละเอียดถี่ขึ้น มีการร้องจังหวะ triplets หรือสามพยางค์ช่วยให้เกิดความลื่นไหลไปข้างหน้า ก่อนที่นาทีที่ 0:33 จะมีเสียงร้องโน้ตตัว C♯ แทรกขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยซึ่งกัดกันกับทุกโน้ตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น บีตและเบสดรอปหายไป เราเกิดอาการวิงเวียนสับสนชั่วขณะจากองค์ประกอบทางดนตรีที่เพิ่มมาใหม่และของเดิมที่ทอดทิ้งเราไปในเวลาเดียวกัน
PRE-CHORUS (0:35-1:01)
อยู่ดีๆ อ้าวเห้ย เปลี่ยนคีย์หรอ! เอ้ยไม่สิ ก่อนหน้านี้เราอยู่คีย์อะไรก็แทบจะบอกไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ที่แน่ๆ ในที่สุดเราก็มีจังหวะที่สม่ำเสมอให้เกาะยึด มีทำนองเป็นเสียงตัวโน้ตในช่วงเสียงต่ำให้ความรู้สึกมั่นคง และมี harmony เสียงประสานของคอร์ดที่ถูกสร้างจากเสียงคีย์บอร์ดลากเบาๆ ควบคู่ไปกับเสียงร้องประสาน Background vocals เพิ่มความไพเราะให้กับเพลงที่กำลังเริ่มก่อร่างสร้างตัว องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้เมื่อมารวมกันมันก่อให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง แสดงออกถึงความมั่นใจ ความมุมานะอันแรงกล้าที่จะพุ่งไปข้างหน้าอย่างที่ไม่มีอะไรสามารถมาขวางกั้นได้ แต่ในขณะเดียวกันดนตรีก็ค่อยๆ จุดอารมณ์ที่ทำให้คนฟังตื่นตัวขึ้นราวกับว่าอันตรายกำลังใกล้เข้ามาแล้ว จงเตรียมตัวให้พร้อมกับสถานการณ์ข้างหน้า
ฟังไปก็รู้สึกว่าคุ้นหูเหลือเกิน อ๋อ Chord progression หรือแนวทางการเดินคอร์ดและ Sound ของท่อนนี้มันคล้ายกับเพลง "Final Countdown" หากแต่จะเรียบง่ายกว่า แต่ก็น่าสนใจดีที่ดันเป็นคีย์เดียวกันแถมสร้างอารมณ์ความรู้สึกได้ไม่ต่างกันเลย ความพร้อมที่จะก้าวสู่สังเวียนเพื่อเผชิญหน้ากับศัตรู
ตัวอย่างเพลง Europe - The Final Countdown
ในจังหวะที่บีตหายไปและเดาว่าจะเข้าสู่ท่อนฮุคแล้ว เปล่าเลย ท่อน Pre-chorus ยังคงบิ๊วอารมณ์เราต่อโดยที่แนวร้องขึ้นไปร้องในช่วงเสียงสูงราวกับจะประกาศศักดาถึงความโหดเหี้ยมของเอสป้าที่พร้อมจะทำลายทุกอุปสรรคที่ขวางหน้า บีตถี่ละเอียด หนักแน่น เสียงประสานจากหลากเครื่องดนตรีช่วงกันพาเราไปยังจุดสูงที่สุด ก่อนที่ห้องสุดท้ายจะเป็นเสียงแห่งการทำลายล้าง เปรี้ยง ปร้าง ตู้ม ต้าม!
CHORUS (1:01-1:30)
โอ้โห ใครจะไปคาดคิดว่าดนตรีที่ถูกบิ๊วอารมณ์มาขนาดนี้จะดรอปฮวบทุกอย่างหายวับไปกับตา กลับกลายเป็นท่อนฮุคที่ผู้เขียนต้องขอยกคำว่า Swag มาใช้เพราะมันเต็มไปด้วยความเท่ห์ บีตหนักแน่นแต่ก็ไม่รบกวนแนวร้อง-พูดหลากหลายเสียงที่ทับซ้อนกันเกิดเป็นเสียงประสาน เสียงจึๆๆๆ ที่ในแต่ละรอบจะสลับไล่เสียงต่ำลงกับสูงขึ้น และการเพิ่มมาของเสียง Effect สไลด์ลงที่แสนจะกวนตีน (ขออภัยที่ไม่สุภาพ) ว้าว ก็เข้ามาสิ ฉันมันเจ๋งอยู่แล้วไม่ต้องอะไรมากหรอกนะ
ครึ่งหลังของฮุคดนตรีถูกเติมเต็มเข้ามามากขึ้น เสียงเอฟเฟคฉวัดเฉวียนไปมา แนวร้องที่ได้ยินเสียงตัวโน้ตในช่วงเสียงสูงชัดเจนกลับมาอีกครั้ง และที่น่าสนใจก็คือเบสมีการขยับโน้ตเคลื่อนที่ล้อเลียนกับคำว่าจึๆๆๆ ผู้เขียนรู้สึกว่าอารมณ์ของตัวเอกน่าจะกำลังคุกรุ่นจากความรำคาญใจที่ค่อยๆ สะสมมากขึ้น ก่อนจะเพิ่มท่อนเชื่อมขึ้นมา 1 ห้องเพลงที่มีเพียงเสียงคล้ายกับปรบมือลงจังหวะปกติพร้อมเสียงเรียกให้ทุกคนกลับมาตั้งใจโฟกัสที่ตัวฉันอีกครั้งหนึ่ง
VERSE 2 (1:30-1:57)
ดนตรีกลับไปเหมือนกับช่วงครึ่งหลังของ Verse แรก เสียงร้องที่แม้การร้องและจังหวะต่างๆ จะเปลี่ยนไปแต่ก็อยู่ในช่วงเสียงเดียวกัน แนวทำนองหลักนี้ที่แม้จะไม่ได้มีตัวโน้ตที่ชัดเจนแต่ก็มีการไต่ระดับของเสียงสูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั้งท่อน จุดเริ่มการ Build up ที่สูงขึ้นมาประมาณนึงพาเอาตอนช่วงท้ายไปถึงจุดที่สูงปรี๊ดเลยทีเดียว
PRE-CHORUS (1:57-2:23)
นั่นทำให้การเข้าสู่ท่อนพรีคอรัสรอบนี้สร้างความรู้สึกที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง การกระโดดจากเสียงสูงในช่วงประมาณ Octave 5 ลงมาสู่ Octave 3 ขั้นคู่ที่กว้างถึง 2 ช่วงเสียงนั้นสร้างอิมแพคให้กับผู้ฟังได้อย่างมหาศาล พอบวกกลับการเปลี่ยนคีย์(?) อย่างกะทันหันอีก แล้วไหนจะยังการที่บีตต่างๆ หายไปจนหมดเกลี้ยงกลายเป็นดนตรีที่สงบไม่เหมือนกับพรีคอรัสรอบแรกที่ยังคงมีจังหวะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าตลอด เบรคเอี๊ยดหัวทิ่มกันเลยทีเดียวค่ะ
CHORUS (2:23-2:51)
ฮุครอบแรกที่ว่าช็อกแล้ว รอบนี้ปั่นหัวเรายิ่งกว่าเดิมอีกด้วยการใช้เสียงของ Blocks ลักษณะเป็นกล่องซึ่งถูกตีด้วยไม้ที่มีหัวนิ่ม ะล้อเลียน ปั่นประสาทผู้ฟังกันแบบสุดๆ จากนั้นดนตรีถึงจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกครั้ง แหม เล่นเอาเงิบไปพักนึงเลยนะ แต่เจ้าเสียงนี้ก็จะยังคอยก่อกวนเราต่อไปตลอดท่อนฮุค นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มมาของเสียง Synthesizer ที่เล่นโน้ตในช่วงเสียงกลางที่ผู้เขียนเองก็เริ่มไม่มั่นใจว่ามันมาช่วยเติมเต็มให้เกิดเสียงประสานที่ฟูลมากขึ้นหรือยิ่งทำให้สีสันของเพลงนี้ผิดเพี้ยนไปกันใหญ่กันแน่นะ
ตัวอย่างเสียง Blocks
ในช่วงท้ายมีการเพิ่ม 2 จังหวะลากคอร์ด Dmaj7 โล่งๆ พาเราล่องลอยเข้าสู่ท่อนถัดไป
BRIDGE (2:51-3:17)
เอาล่ะ เหมือนเราจะเปลี่ยนคีย์กันอีกแล้ว (ว่าแต่สรุปแล้วเพลงนี้คีย์อะไร?) แต่ที่แน่ๆ เชื่อว่าหลายคนรู้สึกได้ถึงสีสันของเพลงที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนแม้จะยังมีการใช้คอร์ดบางคอร์ดเหมือนกับท่อน Pre-chorus แต่ก็มีการเพิ่มมาของคอร์ด Major ซึ่งสร้างอารมณ์สุขสันต์ สดใส รวมไปถึงการเปลี่ยนไปของบรรดาเครื่องดนตรี จากเพลงที่ชูบีตหนักให้โดดเด่นออกมาก็สลับกลายเป็นเสียงของ Harmony เพราะๆ ทั้งจากเสียงลากของ Synthesizer และเครื่องสายในช่วงเสียงที่สูงแทน ให้ความรู้สึกล่องลอย เต็มไปด้วยความรักและความหวัง
ยิ่งตั้งแต่นาทีที่ 3:04 ไปมีการเพิ่มเสียงโน้ตในช่วงเสียงสูงมา แนวร้องก็สูงตามไปด้วยอีก มันคือการร่ำร้องที่ทรงพลังเป็นอย่างมากแล้วค่อยผ่อนคลายลงที่อาจสื่อถึงการยอมจำนนและยอมรับความเป็นจริง
จะว่าไปเสียง Synthesizer นี้พอได้ฟังแล้วก็ทำให้นึกถึงเพลง "Into the New World" ของ Girls’ Generation ที่ก็มีลักษณะคล้ายกัน ทั้งสองเพลงนี้มีความคล้ายดนตรีประกอบอนิเมะญี่ปุ่น ที่สำคัญยังพูดถึงความหวังอีกด้วย
ตัวอย่างเพลง Girls’ Generation - Into the New World เสียง Synthesizer นาทีที่ 0:30
เอาอีกแล้ว ช่วงท้ายของท่อนมาจบบนโน้ตตัว F♯ โน้ตเจ้าปัญหาที่ทำให้เราเกิดความไม่มั่นใจว่าเพลงนี้กำลังจะไปในทิศทางไหนกันแน่ ไหนจะยังมีเสียง Synthesizer รบกวนอีก โอ๊ย จะเกิดอะไรชึ้นอีกกันแน่เนี่ย!
BREAKDOWN (3:17-3:31)
จัดหนักจัดเต็มสารพัด Sound ไปให้สุด Dubstep กันอย่างเต็มที่ เป็นท่อนที่อยากจะแนะนำให้ผู้ฟังใส่หู้ฟังเพื่อรับประสบการณ์ที่สุดแสนจะพิเศษ มีการจัดวางเสียงที่น่าสนใจ การแพนเสียงจากฝั่งนึงไปยังอีกฝั่งนึง เจ๋งมาก เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่พาเราหลุดไปยังอีกโลกนึงที่ไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ เต็มไปด้วยเสียงที่รุนแรง เสียดแทง ป่าเถื่อน ความ Savage แต่กลับรู้สึกสนุกสะใจไปในเวลาเดียวกัน เป็นท่อนที่ไร้ซึ่งโน้ตหรือแพทเทิร์นที่มีรูปแบบจับต้องได้ และใช่.. มันทำให้เราแทบจะลืมดนตรีช่วงก่อนหน้าไปเลย
ช่วงท้ายเป็นอีกครั้งที่มีการเพิ่มขึ้นมา 2 จังหวะพร้อมกับไฮโน้ตลากเข้าสู่คอรัสอย่างแนบเนียน ไร้รอยต่อที่ทำให้เราต้องเบรคเลย
CHORUS (3:31-3:58)
ฮุคสุดท้ายเปิดห้องแรกมาโดยไม่มีบีตหนัก แล้วทุกอย่างจึงกลับเข้ามาในห้องที่สองพร้อมกับแอดลิบมากมายทั้งในช่วงเสียงกลางและสูงสลับกันไป การเน้นโน้ตตัว D♯ ในท่อนนี้ยิ่งสร้างสีสันที่แปลกประหลาดและไม่คุ้นเคยหูให้กับคนฟังอย่างมาก ไหนจะแอดลิบสุดท้ายที่ไล่โน้ตเสียงสูงลงมาต่ำและกลับขึ้นไปยาวเหยียดเป็นสเกลที่เต็มไปด้วยโน้ตที่เราไม่เคยได้ยินในท่อนฮุคมาก่อนเลย มันช่างเป็นท่อนที่บีบคั้นอารมณ์ผู้ฟัง การเปล่งเสียงร้องกู่ก้องเป็นครั้งสุดท้ายของเหล่าผู้กล้า นี่คือเสียงแห่งการต่อสู่ที่กำลังจะสิ้นสุดลง
...ฮะ อะไรนะ?...
...แน่ใจหรอว่ามันจบลงแล้ว?...
Black Mamba จุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เป็นเพลงที่อยู่ในคีย์ E Minor
Next Level อยู่ในคีย์ F♯Minor แต่ในท่อนกลางสลับไปคีย์ E Minor เมื่อเข้าสู่โลกของ æ
Savage เริ่มต้นมาคล้ายว่าอยู่ในคีย์ E Minor แต่พอท่อนพรีคอรัสก็กลายไปเป็นคีย์ F♯Minor
ดนตรีเชื่อมโยงเรื่องราว เป็นเสมือนตัวแทนของโลกต่างๆ บังเอิญ หรือ จงใจ?
สิ่งนี้จะยังคงเป็นปริศนาที่ต้องไขกันต่อไปกับ aespa และจักรวาล SM Culture Universe