เริ่มที่ aespa! “อี ซองซู” CEO ของ SM เตรียมลุย “คอนเทนต์แห่งอนาคตผ่าน SMCU”
อี ซองซู (Lee Sung Su) ซีอีโอของ SM Entertainment เข้าร่วมการประชุมธุรกิจสตาร์ทอัพด้านคอนเทนต์ในฐานะวิทยากรกิตติมศักดิ์ สำหรับงาน 2021 STARTUP:CON ที่ออกอากาศทางออนไลน์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 พร้อมบรรยายภายใต้หัวข้อ “แผนงานด้านคอนเทนต์ของ SM – ยุคของคอนเทนต์แห่งอนาคตผ่านมุมมองของ SMCU”
โดยในการบรรยายวันนั้น ซีอีโอ อี ซองซู กล่าวว่า “โปรดิวเซอร์กิตติมศักดิ์ อี ซูมาน (Lee Soo Man) ที่เป็นผู้ก่อตั้ง SM Entertainment และผู้ดูแลการผลิตทั้งหมดได้คาดการณ์ว่า ‘โลกอนาคตจะกลายเป็นโลกของหุ่นยนต์, ผู้มีชื่อเสียง และเหล่าอวาตาร์’ อีกทั้งยังเตรียมการมาเป็นเวลากว่าสิบปี สำหรับยุคของคอนเทนต์แห่งอนาคต” พร้อมเสริมว่า “ด้วยการเดบิวต์ของ ‘เกิร์ลกรุ๊ปเมทาเวิร์ส’ aespa (เอสป้า) กับเหล่าอวาตาร์เมื่อปีที่ผ่านมา ทาง SM ได้นำเสนอความเป็นจริงของโลกเสมือนจริงขนาดใหญ่ที่เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องราวของ aespa (เอสป้า) นี่คือเมทาเวิร์สที่ SM มองเห็น และเป็นจักรวาลแห่งวัฒนธรรมของ SM ที่เรียกว่า SMCU”
จากนั้นซีอีโอ อี ซองซู จึงอธิบายเพิ่มเติมว่า “SMCU คือ จักรวาลแห่งความบันเทิงในอนาคตที่เชื่อมโยงโลก ผ่านวัฒนธรรมอย่างไร้ซึ่งขอบเขตใดๆ ระหว่างโลกความจริงและโลกเสมือนจริง มันคือคอนเทนต์แห่งอนาคตในรูปแบบเมทาเวิร์สที่ SM มุ่งมั่นจะทำ” และ “โปรดิวเซอร์ อี ซูมาน กับ SM ได้สร้าง SMCU โลกที่อยู่เหนือพื้นที่เสมือนจริงและความเป็นจริงขึ้นมา ผ่านคอนเทนต์อันยอดเยี่ยมมากมาย (killer contents) ที่สั่งสมมาในระยะเวลากว่าสิบปีและการขยายขอบเขตของ IP ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการทำให้ K-Pop เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ไม่เพียงแค่แนวเพลง แต่คือประเภทของคอนเทนต์ด้วย เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างของ K-POP จากมุมมองของเทรนด์ระดับโลกที่เรียกว่า เมทาเวิร์ส
“ในยุคหลัง COVID-19 จะเห็นได้ว่า K-POP ถูกมองเป็นคอนเทนต์ IP ด้านวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในแนวเพลงปัจจุบันที่มีอยู่ นี่คือ SMCU ที่อิงจากโลกทัศน์ที่พวกเรากำลังสร้าง และเราจะไปสู่ระดับต่อไปด้วยการสร้างจักรวาลที่ขยายตัวของคอนเทนต์ IP ในรูปแบบเมทาเวิร์ส ซึ่งเชื่อมโยง IP ที่หลากหลายและเป็นอิสระ ทั้งของศิลปิน ดนตรี มิวสิกวิดีโอ การแสดงและอื่นๆ ภายใน SMCU ด้วยกันเอง”
เพื่อเป็นการยกตัวอย่างการขยายขอบเขตของ IP ซีอีโอ อี ซองซู ได้นำเสนอโครงการ Remastering Project ซึ่งให้นิยามว่าเป็น “โปรเจกต์ใหม่ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพของมิวสิกวิดีโอต้นฉบับของ SM และการ Re-mastering เพลงต้นฉบับที่ถือเป็นสินทรัพย์อันล้ำค่าของ SM และประวัติศาสตร์ของวงการ K-POP เพื่อนำเสนอภาพและเสียงที่ชัดเจนมากขึ้นในปี 2021 รวมถึงจะนำเสนอคอนเทนต์ต้นฉบับพิเศษที่มีศิลปินรุ่นพี่และรุ่นน้องมาทำร่วมกันโดยอิงจากมิวสิกวิดีโอที่รีมาสเตอร์กว่าร้อยคลิป
“โปรเจกต์นี้ คือ โปรเจกต์ที่นำวิดีโอในอดีตมาตีความใหม่ให้กลายเป็นเวอร์ชันปี 2021 มากกว่าเป็นแค่การนำเสนอ IP ของวิดีโอในอดีตพร้อมคุณภาพที่ยกระดับขึ้น พวกเราต้องการให้โปรเจกต์นี้ ถูกมองว่าเป็นการขยายขอบเขตของ IP ที่แท้จริง ด้วยการพัฒนา IP ในอดีตเพื่อสร้างคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันและอนาคตเข้าด้วยกัน ซึ่งคนทุกรุ่นก็สามารถเข้าถึงได้”
นอกจากนี้ ซีอีโอ อี ซองซู แนะนำ SM Classics ว่าเป็น “ค่ายเพลงคลาสสิกที่ก่อตั้งขึ้นพร้อมเป้าหมายที่จะแนะนำ และขยายขอบเขตแนวเพลงของ K-POP ด้วยการรวมเอาดนตรีคลาสสิ, แจ๊ส และเพลงสากลเข้าไว้ด้วยกัน โดยในอนาคตก็มีแผนการที่จะขยายขอบเขตบทเพลงของเรา เพื่อนำเสนอการแสดงวงออเคสตราของ K-POP ไปทั่วโลก”
อีกทั้งยังกล่าวเสริมว่า “คีย์เวิร์ดหลักของ SMCU คือ ‘KWANGYA’ (ควังยา) ซึ่งมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ครอบคลุมทั้งโลกจริงและโลกเสมือน แฟนๆ K-POP เรียกที่ตั้งใหม่ของสำนักงานใหญ่ของ SM ที่ซองซูดง (Seongsu-Dong) และบริเวณป่ากรุงโซล (Seoul Forest) ว่า ‘KWANGYA’ โดยมันคือเป้าหมายของพวกเรา สำหรับจักรวาลเสมือนจริงอันไม่มีที่สิ้นสุด ‘KWANGYA’ ในการขยายแนวคิดเรื่องของพื้นที่ที่อ้างอิงถึงตำแหน่งที่ตั้งใหม่ของเรา และกลายมาเป็นแลนด์มาร์คของ SMCU
“ยิ่งไปกว่านั้นคือ การทำให้กรุงโซลที่เป็นต้นกำเนิด K-POP และ K-Culture ได้เป็นเมกกะด้านวัฒนธรรมระดับโลก ทาง SM จะขยายและเผยแพร่รูปแบบที่หลากหลายของศิลปินและ IP ดนตรี ผ่านกลยุทธ์ทรานส์มีเดีย (transmedia) ภายในโลกทัศน์ที่เรียกว่า SMCU โดยในแง่ของธุรกิจ พวกเราจะขยายไปยังภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องผ่านกลยุทธ์ one-source multi-use (OSMU) และสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะทำให้เกิดวัฏจักรที่ต่อเนื่องของคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยประสบจากที่ไหนมาก่อน รวมถึงข้ามผ่านขอบเขตระหว่างโลกความจริงและโลกเสมือน เวลา ยุคสมัย และรูปแบบ”
ตามด้วย “‘ช่องทาง’ (channel) เองก็ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่สำคัญในการสื่อสารกับแฟนๆ ที่เป็นผู้บริโภคและชื่นชอบคอนเทนต์ของ SM ซึ่ง ‘ช่องทาง’ นั้น ไม่เพียงแต่ส่งต่อคอนเทนต์ แต่ยังขยายความหมายของการสร้างแบรนด์ด้วย SM จะมุ่งมั่นต่อไปในการสร้างช่องทางเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของแฟนๆ และผ่านช่องทางเหล่านั้น ก็จะสานต่อ Pink Blood Project ที่สนับสนุนโปรซูเมอร์ (Prosumer) ผู้ที่ชื่นชอบคอนเทนต์ต้นฉบับของ SM และนำคอนเทนต์มาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่”
ช่วงกล่าวสรุปปิดท้ายงาน ซีอีโอ อี ซองซู ได้กล่าวถึงตอนที่เข้าร่วมงานกับบริษัทเมื่อปี 2005 ในแผนก A&R โดยเล่าว่าประสบการณ์การทำงานของเขาในฐานะ “สมาชิกของทีม TFT ที่ดูแลรับผิดชอบในส่วนของการวิจัยและพัฒนา (R&D) สำหรับโปรเจกต์พิเศษของโปรดิวเซอร์ อี ซูมาน ในการสร้างมิวสิกวิดีโอและคอนเทนต์โดยใช้วิดีโอ 3 มิติ มันเป็นอะไรที่นำสมัยมากในตอนนั้น แต่ตอนที่ผลงาน ‘Avatar’ ของโปรดิวเซอร์ James Cameron (เจมส์ คาเมรอน) มาสร้างปรากฏการณ์ระดับโลกด้วยคอนเทนต์แบบ 3 มิติ ทาง SM เองก็ได้เสร็จสิ้นในส่วนของงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งทำให้พวกเราสามารถทำกิจการค้าร่วมกับบริษัท Samsung Electronics และโปรดิวเซอร์ James Cameron (เจมส์ คาเมรอน) เพื่อแสดงผลงานมิวสิกวิดีโอรูปแบบ 3 มิติของ Girls’ Generation (เกิร์ลส์ เจเนอเรชั่น) ได้ในทันที นี่คือสิ่งที่โปรดิวเซอร์ อี ซูมาน ได้เตรียมการไว้สำหรับอนาคตข้างหน้า
“และสิ่งที่เขาเน้นย้ำว่าเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุดของ SM คือ ‘The Future of Culture Technology’ (อนาคตของเทคโนโลยีทางวัฒนธรรม) แม้ว่าจะเป็นบริษัทด้านคอนเทนต์วัฒนธรรมที่ทำดนตรีมามากกว่า 20 ปี แต่ SM เข้าใจเสมอถึงความสำคัญของการผสมผสานเทคโนโลยีล่าสุดตอนนี้ อาทิ IT และ AI เข้ากับคอนเทนต์ของเรา และก็ได้ดำเนินการ(เทคโนโลยี)นั้นมานานกว่า 20 ปีแล้ว ณ ตอนนี้ในยุคที่ IT, AI, คอนเทนต์ ข้ามผ่านพรมแดนพร้อมเกิดขึ้นในบริษัทและหลากหลายคอนเทนต์ พวกเราในฐานะบริษัทด้านคอนเทนต์จึงอยากที่จะทำงาน และสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ”
ทั้งนี้ งาน 2021 STARTUP:CON ที่มีกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเป็นเจ้าภาพ และจัดขึ้นโดยหน่วยงาน Korea Creative Content Agency (KOCCA) นั้น เป็นการประชุมสตาร์ทอัพที่จัดขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2015 โดยมุ่งเน้นการให้ข้อมูลเชิงลึก การสนับสนุนการลงทุน และการสร้างเครือข่าย ผ่านการปฏิสัมพันธ์และการขยายตัวระดับโลก โดยปีนี้มีผู้เข้าร่วมบรรยาย ทั้งผู้ก่อตั้ง Netflix อย่าง Marc Randolph, ศาสตราจารย์ Bharat N. Anand จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และซีอีโอ Christine Tsai จากบริษัท 500 Global