KEY "BAD LOVE" : รักเลวร้ายภายใต้ความเรโทร โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง | Sanook Music

KEY "BAD LOVE" : รักเลวร้ายภายใต้ความเรโทร โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

KEY "BAD LOVE" : รักเลวร้ายภายใต้ความเรโทร โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต้องยอมรับเลยว่าเพลงของศิลปินเจเนเรชั่นที่ 4 (Gen 4) ของค่าย SM Entertainment นี่เขาล้ำจริงๆ ทั้งตัวเพลงและคอนเซ็ปต์ ไม่ว่าจะเพลงดนตรีแปลกๆ ไม่พบเจอมาก่อนในเพลง "Sticker" ของ NCT 127 หรือแนวคิด AI โลกเสมือนในงานของ aespa พ่วงด้วยดนตรีแบบเพลงซ้อนเพลงทั้ง "Next Level" และ "Savage" แต่อาจเพราะผู้เขียนเติบโตมากับเคป๊อปรุ่น Gen 2 เลยอาจจะไม่ได้อินเพลงที่มาว่าสักเท่าไร กลายเป็นว่าเพลงที่ชอบที่สุดในช่วงนี้คือเพลง "BAD LOVE" ของ คีย์ วง SHINee

 

 

"BAD LOVE" เป็นเพลงประเภทที่ฟังครั้งเดียวก็จำได้เลย ด้วยความเป็นซินธ์ป็อปที่ติดหูสุดๆ ซึ่งคนแต่งเพลงนี้คือ Kenzie นักแต่งเพลงหญิงประจำค่าย SM (เธอทำเพลงให้ทั้ง Girls' Generation, SHINee, EXO, Red Velvet และเครือ NCT) เพลงนี้ถูกโปรโมตว่า “เพลงแดนซ์ป็อปที่จะสร้างบรรยายแบบเรโทร (ย้อนยุค) ด้วยเสียงเพลงสังเคราะห์ทรงพลังและจังหวะที่มีชีวิตชีวา” ซึ่งดนตรีแนวเรโทรก็เป็น ‘มุก’ ประจำที่วงการเพลงเกาหลีใช้กันบ่อยครั้ง อย่างที่เคยเขียนบทความไปเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี ความเรโทรของ "BAD LOVE" ไม่ใช่แค่ตัวเพลงเท่านั้น ทั้งหน้าปกอัลบั้ม ภาพโปรโมท จนถึงมิวสิควิดีโอล้วนอ้างอิงหลายสิ่งจากยุค 70 และ 80 อาทิ การแต่งหน้าทำผมของคีย์ที่ได้แรงบันดาลใจจาก David Bowie นักร้องแกลมร็อคชื่อดัง, ความอวกาศแบบหนังเรื่อง Star Trek และมิร์เรอร์บอล สัญลักษณ์ของแนวเพลงดิสโก้ อันเป็นสิ่งเฟื่องฟูในยุค 70 รวมไปถึงฉากรายการโทรทัศน์แบบ MTV ยุค 80 ด้วย

น่าแปลกใจเหมือนกันที่คีย์ผู้เกิดในปี 1991 กลับหลงใหลในวัฒนธรรมจากทศวรรษก่อนหน้า ทั้งนี้เจ้าตัวให้สัมภาษณ์ว่าเขาคิดคอนเซ็ปต์นี้ไว้ตั้งแต่ 14 ปีที่แล้ว (!) และอัลบั้มนี้เขามีส่วมร่วมในการควบคุมคอนเซ็ปต์ด้วย “ในที่สุดผมก็เป็น ‘ตัวเอง’ ได้สักที สาระสำคัญของงานชุดนี้คือตัวตนของผมในฐานะนักร้องและศิลปิน นี่คือ ‘อัลบั้มของคีย์’ อย่างแท้จริงครับ”

ส่วนคอนเซ็ปต์เรโทร บางคนอาจตั้งแง่ว่าเป็นมุกหากินเวลาคิดอะไรไม่ออกก็เอาของเก่าๆ มายำ แต่คีย์พูดถึงเรื่องนี้ว่า “มันไม่ใช่การสร้างอะไรใหม่หรอกครับ ผมก็แค่หลงรักยุคสมัยนั้น คอนเซ็ปต์เหล่านี้มันออกมาโดยธรรมชาติ เพราะมันอยู่ในหัวผมเสมอมา ผมอยากจะนำมันกลับมาอีกครั้งและตีความใหม่เพื่อคนฟังรุ่นปัจจุบัน”

แม้เนื้อหาของ "BAD LOVE" จะพูดเรื่องคลิเช่ทำนองความรักห่วยๆ ความสัมพันธ์ป่วยๆ ที่เราเอาตัวเองออกมาไม่ได้สักที (ที่เขาเรียก ‘มูฟออนเป็นวงกลม’) เห็นได้จากเอ็มวีเป็นเรื่องของนักแสดงหนุ่มที่ไม่ว่าจะนอกจอหรือในจอก็ติดลูปอยู่ดี หรือตอนจบที่แดนเซอร์นอนเรียงตัวเป็นวงกลม แต่ผู้เขียนชอบความชาญฉลาดของท่อนฮุคที่ร้องว่า “ไม่ต้องการแล้วล่ะไอ้ความรักที่เขาเรียกกันว่า ‘รัก’” ประมาณว่าคนเราพยายามหาทั้งชีวิตว่าความรักคืออะไร เฝ้านิยามมันร้อยแปด แต่ถ้าสุดท้ายรักนั้นเป็นพิษ มันจะคืออะไร เราก็ไม่อยากได้มันแล้ว

ในอีพีชุด "BAD LOVE" คีย์เขียนเนื้อเพลงเอง 2 เพลง เจ้าตัวอธิบายว่าเพลง "Saturday Night" เป็นฟิคชั่นเกี่ยวกับการเลิกราในช่วงโควิด-19 ส่วน "Eighteen (End of My World)" เป็นเรื่องราวชีวิตของเขาเอง มันคือการย้อนไปกลับคุยกับตัวเองในวัย 18 (เป็นช่วงที่เขาเดบิวต์) ในช่วงท้ายเพลงจะร้องว่า “ฉันจะมองจุดจบของโลกไปพร้อมกับเธอ” ซึ่งคีย์อธิบายว่า “มันคือการบอกว่าหากจุดจบมันมาถึงจริงๆ ฉันก็จะนั่งดูอยู่กับเธอ มันไม่ใช่เรื่องเศร้าสำหรับฉัน ฉันจะอยู่กับเธอ ดังนั้นเธอไม่ต้องกลัว ไม่ว่าอะไรจะรอเธออยู่ที่ปลายทาง”

เช่นนั้นแล้วเพลง "Eighteen (End of My World)" คือการพูดถึงการอยู่กับปัจจุบัน อย่างที่คีย์ปิดท้ายว่า “อายุ 18 ก็คือ 18 อายุ 30 ก็คือ 30 (ปีนี้คีย์อายุ 30) ผมไม่ได้มีแผนอะไรนักหรอก แค่ทำตามหัวใจก็พอ”

____________________

kanchat

ผู้เขียน - คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

(Kanchat Rangseekansong)

เปิดโลกดนตรีและไอดอลกับคันฉัตร

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ KEY "BAD LOVE" : รักเลวร้ายภายใต้ความเรโทร โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook