วิเคราะห์ดนตรี F.HERO x MILLI ft. Changbin - Mirror Mirror จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก | Sanook Music

วิเคราะห์ดนตรี F.HERO x MILLI ft. Changbin - Mirror Mirror จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก

วิเคราะห์ดนตรี F.HERO x MILLI ft. Changbin - Mirror Mirror จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กอล์ฟ F.HERO และ MILLI สองแรปเปอร์ชื่อดังกับผลงานใหม่ที่ในครั้งนี้ได้โปรดิวเซอร์นักสร้างบีตสุดฮอตอย่าง NINO มาช่วยสร้างสรรค์ผลงาน พร้อมกับการคอลแลบข้ามชาติร่วมกับศิลปินไอดอลนักแต่งเพลงชาวเกาหลี Changbin จากวงบอยแบนด์ Stray Kids แห่งค่าย JYP Entertainment เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานกันที่ลงตัวและไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของแต่ละคนเลย

Artist F.HERO, MILLI & Changbin (Stray Kids)

Produced by NINO

80 BPM

INTRO 0:00-0:09

VERSE 1 0:09-0:36

CHORUS 0:36-0:48

POST-CHORUS 0:48-1:00

VERSE 2 1:00-1:36

CHORUS 1:36-1:48

POST-CHORUS 1:48-2:00

VERSE 3 2:00-2:36

BRIDGE 2:36-2:58

VERSE 4 2:58-3:10

CHORUS 3:10-3:22

POST-CHORUS 3:22-3:34

OUTRO 3:34-3:52


INTRO (0:00-0:09)

เริ่มต้นเพลงมาด้วยเสียงเบสสุดแสนจะต่ำจนแทบฟังไม่เป็นเสียงตัวโน้ต ควบคู่ไปกับเสียงของ Synthesizer เสียงสังเคราะห์โน้ตที่เล่นวนไปมาอยู่บนสเกล Natural minor ซึ่งบางคนอาจจะรู้สึกถึงกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่น ความเป็นดนตรีตะวันออกผสมผสานอยู่ด้วยเนื่องจากมีพื้นฐานมาจากการไล่เสียงโน้ตที่คล้ายคลึงกัน แม้จะมีเสียงจากดนตรีแค่สองอย่างแต่กลับไม่รู้สึกว่ามีอะไรขาดหายไปเนื่องจากองค์ประกอบสองอย่างนี้ครอบคลุมทั้งเรื่องของจังหวะและทำนองครบเครื่องหมดแล้ว ยิ่งเมื่อเติมเสียงของคุณมิลลิและคุณกอล์ฟที่มีการเพิ่มเอคโค่สะท้อนเข้าไปมันยิ่งทำให้ท่อนอินโทรนี้น่าติดตามเป็นอย่างมาก

 

VERSE 1 (0:09-0:36)

เปิดนำมาด้วยเสียงไซเรนเป็นการประกาศว่านี่แหละคือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของเพลง บีตถูกเติมเต็มเข้ามาและค่อยๆ เพิ่มแทรกทีละเสียงสองเสียงเพื่อมูฟเพลงไปข้างหน้า องค์ประกอบทางดนตรีที่ไม่มากเกินไป ความ minimalism นี้เองที่ช่วยชูให้แนวแร็ปโดดเด่นขึ้นมา

น่าสนใจมากที่มีการใช้ช่วงเสียงสูง-ต่ำ เดี๋ยวหนาบ้างแหลมบ้างสลับไปมาตลอด มันทำให้ช่วงเวลาสั้นๆ นี้เต็มไปด้วยความหลากหลาย ยิ่งเมื่อใส่หูฟังจะได้ยินการจัดวางเสียงที่น่าสนใจจนทำให้เหมือนกับมีการโต้ตอบกันไปมาจากหลายตำแหน่งเป็นบทสนทนาที่ร้องโดยคนๆ เดียว

นาทีที่ 0:21 มีการใส่ทำนองที่มีเสียงของตัวโน้ตอย่างชัดเจน เชื่อว่าหลายคนต้องรู้สึกว่า เอ๊ะ นี่มันทำนองแบบเพลงไทยเดิมรึเปล่า นั่นเป็นเพราะการเลือกใช้โน้ตที่ใกล้เคียงกับ Pentatonic scale ซึ่งเป็นสเกลที่มักพบได้มากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โอ้โห เอิ่มมมมมมมมมมม ผู้เขียนถึงกับต้องกลั้นหายใจรอว่าคุณมิลลิจะลากเสียงยาวขนาดไหน เป็นลูกเล่นที่สามารถเบรคอารมณ์ผู้ฟังให้หลุดออกจากดนตรีแบบเดิม ความเงียบนี้ทำให้เราหลงลืมทุกสิ่งไปชั่วขณะและจดจ่อรอคอยให้ดนตรีและบีตต่างๆ กลับมาอีกครั้งพร้อมกับคำตอบที่แสนจะตราตรึงใจ เห็นอย่างงี้แต่ดนตรียังคงดำเนินไปตลอดซึ่งหากใส่หูฟังจะได้ยินเสียงบีตที่บรรเลงอยู่แบบเบาๆ คลอไป

 

CHORUS (0:36-0:48)

Mirror Mirror on the wall ทำนองร้องมีจังหวะที่คงที่และต่อเนื่อง มีการเน้นชื่อเพลงเพื่อทำให้คนสามารถจดจำและร้องตามได้ง่ายดาย ในขณะเดียวกันนั่นก็เป็นการเปิดโอกาสให้ดนตรีในส่วนอื่นได้มีการขยับปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะในแนวเบสที่สร้างความน่าตื่นเต้นให้กับเพลงได้มากขึ้น รวมไปถึงเสียงบีตคล้าย hi-hat (ฉาบคู่) ที่แหลมคมกว่าเดิม ยังไม่นับสารพัดเสียงร้องที่คอยสอดแทรกอยู่ตลอด สนุก!

 

POST-CHORUS (0:48-1:00)

ตอกย้ำกับความมั่นใจกันแบบชิคๆ คูลๆ ใช่แล้ว พวกเราเป็นเช่นนั้นเลย ในท่อน Post-chorus ที่มาช่วยปรับมู้ดให้ผ่อนคลายลงจากการเพิ่มเสียงร้องในช่วงเสียงต่ำเป็นครั้งแรกของเพลงเข้ามาเป็นฐานให้กับช่วงเสียงสูง เตรียมพร้อมรับกับการมาของความคาดไม่ถึงในท่อนถัดไป

 

VERSE 2 (1:00-1:36)

เสียง ต่ำ มากกกกกกก โอ้โห เมื่อเทียบกับตลอดช่วง 1 นาทีที่ผ่านมาของเพลงท่อนนี้เรียกได้ว่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว ถึงดนตรีจะเหมือนเดิมแต่แนวแร็ปเปลี่ยนไปเป็นช่วงเสียงที่ต่ำมาก มีความนิ่ง ราบเรียบ ค่อนข้างคงที่ นั่นทำให้เพลงแอบมีความลึกลับพิศวงตัดมู้ดกับของคุณมิลลิเลย

เสียงของคุณกอล์ฟ F.HERO เมื่อฟังแล้วก็ทำให้นึกถึง Felix หนึ่งในสมาชิกวง Stray Kids ที่มักจะร้องในช่วงเสียงต่ำและมีลักษณะเนื้อเสียงใกล้เคียงกัน

ตัวอย่างเพลง Stray Kids - Victory Song นาทีที่ 0:49 เสียง Felix

 

นอกจากความพิศวงแล้วก็ยังให้ความรู้สึกเหมือนอะไรบางอย่างที่อันตรายกำลังคืบคลานเข้ามา โดยเฉพาะในนาทีที่ 1:13 ซึ่งมีการเพิ่มเข้ามาของเสียงไซเรนที่ค่อยๆ สไลด์เสียงขึ้น-ลงจากที่ไกลๆ เป็นการเตือนว่าอะไรบางอย่างกำลังจะเกิดขึ้น

นาทีที่ 1:24 จังหวะของการแร็ปเปลี่ยนไปเป็น triplets (3 พยางค์) พร้อมด้วยการยกเสียงสูงขึ้นมานั่นทำให้กลายเป็นท่อนที่เต็มไปด้วยความดุดัน ว่องไว และอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน

แต่จุดที่น่าสนใจอีกอันก็คงจะหนีไม่พ้นเสียงคล้ายฟลูตน่ารักๆ ซึ่งฟังแล้วผู้เขียนรู้สึกได้เลยถึงความ "กวน" ของมันราวกับจะล้อเลียนอย่างไม่สนใจใยดีต่อใครหรือโลกใบนี้ ซึ่งเจ้าเสียงนี้เองก็จะยังคงอยู่ก่อกวนต่อไปตลอดช่วงท่อน Chorus และ Post-Chorus ด้วย

 

VERSE 3 (2:00-2:36)

ไม่ทิ้งลายเพลงของ Stray Kids ซึ่งถูกสร้างสรรค์โดยสามหนุ่มทีมทำเพลง 3Racha เลยกับจังหวะสุดแสนจะงุนงง ต้องใช้คำว่า "ปั่น" คนฟังให้เกิดอาการอึ้งไปกับดนตรีที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน บีตแบบเดิมหายไปโดยสิ้นเชิงเป็นครั้งแรกของเพลง กลับกลายเป็นเสียงเบสเล่นโน้ตลากยาวขึ้น ไล่โน้ตเปลี่ยนไปมา เสียงฟลูตที่เล่นล้อกับเบส มีการเพิ่มเสียงคล้าย triangle แหลมเสียดแทงหู และอีกสารพัก Sound effect แล้วไหนจะการแร็ปของคุณชางบินในจังหวะที่รวดเร็ว กระฉับกระเฉง หลากหลาย สลับเปลี่ยนไปมาด้วยความว่องไว ..อื้อหือ นี่คือการพาผู้ฟังออกจาก Comfort zone เพื่อมาสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ (ที่เรามักจะเจอเสมอในเพลงของ 3Racha)

ยิ่งพอเข้าสู่นาทีที่ 2:12 ยิ่งทำให้ผู้เขียนคิดถึงเพลงหลายเพลงของ Stray Kids โดยเฉพาะ "God’s Menu" ที่มีการใช้องค์ประกอบหลายอย่างใกล้เคียงกันมากกับเพลง "Mirror Mirror" เช่นการใช้บีตที่มีความถี่ละเอียดเป็นโน้ตเขบ็ตสองชั้นเพื่อเปลี่ยนมู้ดของเพลง เสียงสูงแหลมคล้าย hi-hat และการใช้เสียงเครื่อง Brass หรือเครื่องลมทองเหลืองแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ หรือก่อนหน้านี้เองก็มีการใช้ไซเรนเช่นกัน

ตัวอย่างเพลง Stray Kids - God’s Menu นาทีที่ 0:00 เสียงเครื่องบราส, นาทีที่ 0:18 การใช้บีตและไซเรน

 

ซึ่งคุณกอล์ฟ F.HERO เองก็บอกผ่าน Twitter Space ว่าตัวเขาเคยมีโอกาสได้ฟังเพลงนี้และประทับใจมาก

นอกจากนี้ในท่อน Verse 3 ยังมีการใช้ Silence หรือความเงียบเข้ามาขัดอยู่เป็นครั้งคราวแตกต่างจากช่วงก่อนหน้าที่สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในระหว่างกลางท่อน อาจเพราะท่อนนี้เป็นท่อนที่ดนตรีแน่นเต็มไปด้วยองค์ประกอบล้านแปดและจังหวะที่ถี่รัว การใช้ความเงียบเข้ามาแทรกจึงทำให้บาลานซ์ในท่อนนี้ออกมาแบบไม่หนักมากเกินไป มีช่วงเวลาให้คนพักหายใจบ้าง

 

BRIDGE (2:36-2:58)

กลับเข้าสู่ความสงบ ผ่อนคลายลงกว่าเดิมแต่ก็ยังคงไว้ซึ่งบีตที่ลงทุกๆ จังหวะไม่ให้ดนตรีอืดจนเกินไป

hmmmm เป็นการร้องที่เปลี่ยนสลับจังหวะในการเริ่มร้องไปมา แถมการที่ค่าความยาวโน้ตก็แตกต่างกันไปนี้เองก็ช่วยให้ตัวเพลงน่าค้นหาติดตามมาก เป็นการจัดวางคำร้องที่น่าสนใจ

และบ้าไปแล้ว อันยองฮาเซโย คุณมิลลิกับภาษาเกาหลีทำเอาเพลงถึงกับปั่นป่วน เชื่อว่าคนฟังหลายคนคงจะอึ้ง ทึ่งไปแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ตลอดช่วงนี้ไปจนกระทั่งดนตรีกลับมาอีกครั้ง มันช่างแสนจะประหลาดมาก คาดเดาไม่ได้เลย เนื่องจากท่อนของคุณกอล์ฟนั้นสั้นกว่าปกติไป 2 จังหวะ (ปกติ 1 ห้องเพลงมี 4 จังหวะ) ท่อนคุณมิลลิเริ่มต้นมาเร็วผ่ากลางห้องเพลงเลย หลังจากนั้นดนตรีเงียบสนิทไม่มีบีตให้เราจับยึด กลายไปเป็นเสียงพูดธรรมดาก่อนจะตามมาด้วยทำนองร้องที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงแถมเริ่มไม่ตรงกับจังหวะแรกของห้องเพลง ก่อนที่ตอนท้ายจะมีการเพิ่มจังหวะเข้ามา 1 จังหวะทำเอาเพลงนี้พาเรางงกว่าเดิมไปอีก เกิดอะไรขึ้นมากมายไปมหดในช่วงเวลาแค่ไม่กี่วินาที ใครจะไปไหว!

นาทีที่ 2:55 ท่อนนี้มีการร้องเลียนแบบทำนองและคำมาจากเพลง Ottoke song ที่โด่งดังของเกาหลีด้วย เป็นการเปลี่ยนมู้ดให้คนฟังที่น่ารักมาก

ตัวอย่างเพลง Ottoke song นาทีที่ 0:26



VERSE 4 (2:58-3:10)

หลังจากเจอความน่ารักมา อยู่ดีๆ เพลงก็กลับมาหนักหน่วง แข็งแรง เสียงบีตที่ละเอียด เครื่องลมทองเหลืองอันยิ่งใหญ่ทรงพลัง และเสียงเบสลากทำให้ท่อนนี้ดนตรีเติมเต็มทุกช่องว่างไปจนหมด ยิ่งมีการซ้อนเสียงแร็ปกันมันยิ่งทำให้ท่อนนี้พาเราไปสู่จุดพีคที่สูงที่สุด จนมาในตอนท้ายจังหวะแร็ปถูกปรับให้ช้าลงมาเป็น triplets ซึ่งสร้างความหน่วง ค่อยๆ เบรคเราจากความดุเดือดเผ็ดมันนี้เพื่อกลับเข้าสู่ฮุคสุดท้ายของเพลง

 

OUTRO (3:34-3:52)

ในท่อนส่งท้ายนี้มีการเลียนแบบเสียงพูด เสียงตะโกนที่ถูกเพิ่มเอคโค่เสียงสะท้อนคล้ายกันกับ Intro ก่อนที่ในท้ายที่สุดโน้ตสุดท้ายจะจบลงบนโน้ตตัว E♭ อ้าวเห้ย โน้ตตัว D ตัวสุดท้ายหายไปไหน ทำไมจบค้างคาแบบนี้ราวกับว่าต้องการให้เรารู้สึกว่าเพลงยังไม่จบดีจนต้องกลับไปวนฟังใหม่อีกรอบอย่างนั้นเลย

Bangkok to Seoul connection..

unnamed 

เป็นเพลงที่ฟังแล้วไม่เบื่อเลย แม้ดนตรีจะไม่ได้มีการใช้องค์ประกอบหรือคอร์ดที่เปลี่ยนสีสันอะไรมาก แต่จุดเด่นที่สุดที่ทำให้เพลงนี้ฟังสนุกและน่าติดตามคือการแร็ปอันแตกต่างกันของ 3 แร็ปเปอร์ที่นำเสนอความเป็นตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ ในส่วนของดนตรีก็ถูกใช้อย่างเหมาะสมเพื่อเป็นการช่วงส่งเสริมแต่ละโทนเสียงและวิธีการแร็ป นั่นจึงทำให้การฟังเพลงนี้ไม่ได้ต่างไปจากการทานโอมากาเสะชั้นเลิศที่ถูกจัดสรรจัดเรียงอย่างลงตัว ครบทุกรสชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook