วิเคราะห์ดนตรี TWICE - SCIENTIST จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก | Sanook Music

วิเคราะห์ดนตรี TWICE - SCIENTIST จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก

วิเคราะห์ดนตรี TWICE - SCIENTIST จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บทเพลง SCIENTIST ที่เต็มไปด้วยสารพัดเสียงที่รวมกันประกอบร่างออกมาเป็นผลงานการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ชิ้นใหม่ที่สมบูรณ์แบบ แต่ยังคงกลิ่นอายและเอกลักษณ์ความสนุกสนาน สดใส และทำนองที่ไพเราะตามสไตล์สาวๆ TWICE ทั้ง 9 ได้เป็นอย่างดี

Album Formula of Love: O+T=<3

Written By TBHits, 심은지 (Sim Eunjee), Anne-Marie, Melanie Joy Fontana, Michel “Lindgren” Schulz, Mr. Franks & 72

Composed By TBHits, Anne-Marie, Melanie Joy Fontana, Michel “Lindgren” Schulz, Mr. Franks & 72

Arranged by TBHits, Mr. Franks & Michel “Lindgren” Schulz

G♭ Major - 113 BPM

โครงสร้างเพลงของ SCIENTIST

INTRO   0:00-0:05

VERSE 1   0:05-0:22

PRE-CHORUS   0:22-0:39

CHORUS   0:39-0:56

VERSE 2   0:56-1:12

PRE-CHORUS   1:13-1:30

CHORUS   1:30-1:47

POST-CHORUS 1:47-2:03

BRIDGE   2:04-2:21

REFRAIN   2:21-2:38

CHORUS   2:38-2:55

OUTRO   2:55-3:13


INTRO (0:00-0:05)

เรียกได้ว่าเป็นบทนำเข้าที่แสนจะสั้นและไม่สามารถจับจังหวะได้เลย แต่ก็นำเสนอคีย์หลักของเพลงเพื่อเตรียมพร้อมหูเราให้เข้าสู่ท่อน Verse อย่างทันทีทันใดโดยไม่ต้องมากความ

VERSE 1 (0:05-0:22)

เป็นท่อนเริ่มต้นเพลงที่มีองค์ประกอบน้อยชิ้นมาก มีเพียงแค่เสียงเบสที่รับหน้าที่เป็นบีตให้จังหวะไดรฟ์ไปข้างหน้า กระฉับกระเฉง มีเสียงคล้ายกลองใหญ่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในบางจังหวะเพื่อเพิ่มความหนักแน่นให้กับจังหวะหลักแต่ก็กลับกลมกลืนไปกับแนวเบส มีการแทรกด้วยเสียงคล้ายกับเสียงดีดนิ้ว และทำนองหลักที่ร้องอยู่บนสเกลหลักของเพลงซึ่งฟังแล้วสามารถจับใจความจดจำได้ง่าย คุ้นหู เสียงร้องแนวเดียวแบบไม่ได้มีโน้ตประสานแต่กลับไม่ได้รู้สึกว่าท่อนนี้มีอะไรที่ขาดหายเลยเนื่องจากมีการใส่เอฟเฟคในเสียงร้องที่ทำให้เกิดความก้องช่วยเติมเต็มช่องว่างของเพลงได้เป็นอย่างดี

หลังจากนั้นจึงค่อยๆ มีการเพิ่มเสียงต่างๆ เข้ามา เช่น นาทีที่ 0:!2 มีการเพิ่มแนวร้องเสียงสูง, นาทีที่ 0:14 มีเสียงเครื่องกระทบเพิ่มเข้ามาเบาๆ, นาทีที่ 0:16 เพิ่มแนวโน้ตขั้นคู่เป็นเสียงประสาน มีการสลับด้วยแนวแร็ปเพื่อสร้างความแตกต่าง ก่อนที่ในช่วงท้ายของท่อนนี้ในนาทีที่ 0:18 เสียงสังเคราะห์จะแทรกตัวเข้ามาเบาๆ และเร่งเสียงดังขึ้นเพื่อส่งเข้าสู่ท่อนถัดไป

PRE-CHORUS (0:22-0:39)

Harmony เสียงประสานจัดเต็มอัดแน่นราวกับเสียงออร์แกนในโบสถ์พร้อมกับการเปลี่ยนคอร์ดที่ช่วยสร้างสีสันแปลกใหม่ให้กับเพลง ไพเราะอลังการงานสร้างมากๆ แนวเบสหายไปเหลือแค่เสียงดีดนิ้วคลอ นั่นทำให้เพลงนี้เหมือนจะผ่อนคลายลง แต่ในขณะเดียวกันการสร้าง tension ยังคงมีอยู่ในแนวทำนองที่ร้องโน้ตด้วยแพทเทิร์นคล้ายเดิมซ้ำๆ แต่เปลี่ยนโน้ตตอนท้ายแต่ละประโยคไล่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ และในบางช่วงตัวทำนองก็เกิดการกัดกันกับคอร์ดซึ่งนั่นยิ่งสร้างความกดดันให้กับเพลงมากขึ้น

แม้ว่าในตอนท้ายของท่อน Pre-chorus นี้จะไม่ได้พาเราไปในจุดที่พีคหรืออึดอัดมากที่สุดเพื่อส่งต่อเข้าท่อนฮุคตามที่ผู้เขียนหรือผู้ฟังหลายคนอาจจะคาดเดาไว้แต่ก็ถือว่าทำให้เพลงนี้ค่อนข้างฟังสบาย ไม่หนักหน่วงหรือมีผลต่ออารมณ์ของผู้ฟังที่รุนแรงเกินไป ฟังเพลินเลยแหละ

twice1

CHORUS (0:39-0:56)

คอรัสมาถึงแบบสบายๆ ฟังง่าย มีกลองชุดและเสียงอีกเล็กน้อยเพิ่มเข้ามาให้เพลงสนุกสนานมากขึ้น แนวเบสกลับมาอีกครั้ง มีแนวเสียงประสาน Background vocals ร้องคลอเป็น Harmony ไปเบาๆ แต่ที่โดดเด่นชัดเจนเลยก็คือน้องร้องทำนองหลักที่ต้องยอมรับเลยว่านำเสนอความเป็น TWICE ได้เป็นอย่างดี ทำนองที่เพราะ เหมือนจะ simple แต่ก็มีสีสันที่ยูนีคเฉพาะตัว การเน้นโน้ตบางตัวที่หูของผู้ฟังไม่คาดว่าจะเจอแต่ฟังแล้วกลับไม่ได้รู้สึกว่าแปลก เช่นตรงคำว่า License และ Serious รวมไปถึงการใช้คอร์ดบางคอร์ดที่พบได้ในหลายเพลงของ TWICE แม้มันจะไม่ใช่คอร์ดที่แปลกประหลาดอะไรแต่ก็สามารถสร้างกลิ่นอายที่น่าสนใจได้เสมอ เจ๋งจริงๆ

ตัวอย่าง เพลง TWICE - Cheer up มีการเน้นใช้คอร์ด iv (Minor 4) และโน้ตตัว 4 ของสเกลบ่อยครั้งเหมือนกับเพลง "SCIENTIST"

TWICE "CHEER UP" M/V

 

ในห้องสุดท้ายของฮุคนี้แนวเบสสไลด์เสียงต่ำและเบาลง ดนตรีต่างๆ หายไปเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับแนวร้องและกลองในตอนท้ายสุดเพื่อพาเรากลับไปยัง Verse อีกครั้ง

VERSE 2 (0:56-1:12)

กลับมาคล้ายกับท่อน Verse 1 แต่อ้าว ไม่มีการเพิ่มเสียงกลองใหญ่ มีแค่เสียงเบส พอบวกกับการที่เราเพิ่งฟังท่อนคอรัสซึ่งเต็มไปด้วยเสียงมากมายนั่นทำให้คนฟังอาจรู้สึกว่าท่อนนี้มันช่างโปร่ง โล่ง และฟังสบายมาก มีความ contrast แตกต่างอย่างชัดเจน หลังจากนั้นแน่นอนว่าเสียงอื่นก็ค่อยๆ เพิ่มกลับเข้ามา

จุดที่น่าสนใจคือมันเกิดขึ้นภายในเวลาอันสั้นซึ่งแตกต่างจาก Verse แรกที่ค่อยๆ บิ๊วทีละนิด... ดนตรีเยอะขึ้น เสียงสูงมากขึ้น เสียงประสานหนาขึ้นจนแน่นล้นไปหมด แต่ท่ามกลางความวุ่นวายนั้นแนวทำนองกลับยังคงร้องอยู่ในช่วงเสียงที่ค่อนไปทางต่ำอย่างมั่นคง ร้องสบายๆ ไม่ยี่หระต่อโลกภายนอกว่าจะโกลาหลขนาดไหนก็ยังคงจะร้องโน้ตทำนองเดิมซ้ำไปถึง 4 รอบเต็มๆ โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนไปแร็ปหรือร้องโน้ตแบบอื่นเลย เออวุ้ย แบบนี้ก็ได้หรอ ผู้เขียนมองว่ามันคือความดื้อเงียบดีๆ นี่เอง เป็นการนำเสนอที่เท่ห์มาก

PRE-CHORUS (1:13-1:30)

ว้าว Pre-chorus ในรอบนี้ให้ฟีลแตกต่างจากก่อนหน้าไปเลยจากการที่บีตต่างๆ ยังคงอยู่ ดนตรีเคลื่อนที่ไปข้างหน้าแต่ก็ไม่ถึงกับลื่นไหลมากเนื่องจากเสียง Synthesizer ที่ลดบทบาทของตัวเองลงไปเล่นในจังหวะสั้นๆ ซึ่งขัดกับบีตของกลองจนเกิดอาการฝืนและทำให้เพลงมีความหน่วงเล็กน้อย ส่วนคอร์ดต่างๆ ถูกแทนที่ด้วยเสียงร้องประสานที่ดังออกมาเด่นชัด แถมในตอนท้ายลูกส่งของกลองก็เปลี่ยนไป โดยรวมแล้วมันทำให้ท่อนนี้มีการบิ๊วอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นกว่ารอบแรกแบบคนละเรื่องเพื่อเตรียมพร้อมเราให้กระโจนเข้าสู่ความสนุกในท่อนฮุคอีกครั้งได้เป็นอย่างดี

ส่วนตัวผู้เขียนพอฟังท่อนนี้แล้วก็ทำให้นึกถึงเพลง "Umpah Umpah" ของ Red Velvet ที่ก็มีการใช้ชุดโน้ตที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะประโยคแรกที่เป็นสเกลเดียวกันกับเพลงนี้

ตัวอย่าง เพลง Red Velvet - Umpah Umpah นาทีที่ 0:32 ท่อน Pre-Chorus

Red Velvet 레드벨벳 '음파음파 (Umpah Umpah)' MV

 

CHORUS (1:30-1:47)

Background vocals โดดเด่นขึ้นมามาก กลายเป็นแนวที่ทั้งประสานรองรับทำนองหลักและร้องประชันกัน อีกทั้งยังมีแนวร้องแอดลิบเพิ่มขึ้นมาอีกทำให้เพลงยิ่งถูกเติมเต็ม ตอนจบของท่อนฮุคมีการดรอปดนตรีเงียบไปแบบเดียวกับรอบแรกแต่ก็แค่เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้นกลองชุดก็กลับเข้ามาอีกครั้งเพื่อยืดระยะเวลาความสนุกในท่อน Post-chorus (1:47-2:03) ที่ดนตรีสไตล์เดิมยังคงดำเนินไปต่อเหมือนเป็นส่วนต่อขยายของคอรัสแต่ปรับเปลี่ยนแนวร้องใหม่ให้แตกต่าง ทั้งทำนองและการแร็ปหลากหลายไปหมดเพื่อเพิ่มความ up beat ยิ่งพอกลับมาเป็นการเน้นอยู่บนคอร์ดหลักของเพลงแค่คอร์ดเดียวด้วยก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำความรู้สึก ความต้องการ อารมณ์สนุกสนานที่ไม่อยากจะให้จบลงเลย

twice2

BRIDGE (2:04-2:21)

เข้าสู่ท่อน Bridge แบบไม่ให้พักเบรคกันสักเท่าไหร่เมื่อเสียงกลองและเบสยังคงบรรเลงไปต่อแม้จะถูกลดความดังลงแต่ก็ยังคอยไดร์ฟให้เพลงกระฉับกระเฉงอยู่ตลอด ไหนจะมีเสียง Synthesizer เสียงเอฟเฟคต่างๆ สอดแทรกมากมายไปหมดแต่ก็เพียงแค่เบาๆ ให้รู้สึกตื่นเต้นราวกับเป็นเสียงที่มาจากไกลๆ ควบคู่ไปกับแนวทำนองที่กลับมาร้องสบายๆ ในช่วงเสียงต่ำ

ยิ่งพอเข้าสู่นาทีที่ 2:13 ที่เสียงร้องประสานมีบทบาทมากกว่าเดิมและเคลื่อนที่สูงก็คล้ายกับความมืดมิดที่ค่อยๆ หายไป แสงสว่างคืบคลานมาใกล้มากขึ้น พระอาทิตย์กำลังจะออกมาทักทายในยามเช้าอันสดใส พร้อมแล้ว พร้อมที่จะกลับมาสนุกให้สุดเหวี่ยง แต่เปล่าเลย ยังไม่ถึงเวลานะคะ

REFRAIN (2:21-2:38)

ไอ้เราก็นึกว่าจะเข้าท่อนฮุคสุดท้ายแล้ว เตรียมตัวเต้นให้สุดเหวี่ยง แต่ยังหรอก บีตกลองถูกดรอปหายไปอีกครั้ง เหลือไว้แค่เบส แนวร้องหลักและแนวร้องที่ซ้อนทับอยู่เบื้องหลังเป็นทำนองรองโดยที่เพลงก็ยังคงอยู่บนคอร์ด G♭ เหมือนเดิมไม่ยอมไปไหน คล้ายกับว่ามันยังไม่สมบูรณ์พอ องค์ประกอบทางดนตรีตลอดช่วงที่ผ่านมาเปรียบได้กับส่วนผสมต่างๆ ที่อาจจะยังไม่ลงตัวเลยต้องทำการทดลองต่อไปอีกสักหน่อย

แนวทำนองที่มักจบที่โน้ตตัว B♭ ก็มักจะมีการเริ่มเสียงที่เพี้ยนต่ำเล็กน้อยแล้วจึงสไลด์เสียงขึ้นไปให้ตรง มันแสนจะกวน น่ารักน่าหยิกเสียเหลือเกิน

เข้าสู่นาทีที่ 2:25 เครื่องดนตรีกลับมาเต็มรูปแบบอีกครั้งแถมในครั้งนี้ยังมีการเพิ่มเสียงคล้าย Agogo bells เสียงเครื่องกระทบกุ๊งกิ๊งเข้ามา และในที่สุดบีตก็หายไป แนวทำนองไล่โน้ตต่ำลง กลองส่งเข้าสู่ท่อนฮุคสุดท้าย Chorus (2:38-2:55) ที่นำเอาเครื่องดนตรีมากมายมาผสมรวมกันจนครบพร้อมด้วยแนวร้องแอดลิบซึ่งทำให้มันกลายเป็นการส่งท้ายความสนุกที่สมบูรณ์แบบ

ตัวอย่างเสียง Agogo bells

Agogo bell in Samba Style - Six variations

OUTRO (2:55-3:13)

แต่ แต่ แต่! ไม่จบง่ายๆ หรอกนะ ดนตรียังคงดำเนินต่อไปเพื่อคงความสนุกของเราให้ยังอยู่พร้อมกับแนวร้องเสียงผู้ชายแสนแปลกหูซึ่งถูกสอดแทรกด้วยเสียงของเหล่าเมมเบอร์ TWICE ราวกับเป็นบทสนทนาโต้ตอบระหว่างสองฝ่าย ก่อนที่ในท้ายที่สุดเพลงจะถูกตัดจบฉับ! เห้ย! จบแบบนี้ก็ได้หรอ จบได้ค้างคาทั้งเนื้อร้องที่ไม่จบดีและดนตรีที่ไม่ได้เล่นคอร์ดหลักของเพลงเพื่อลงจบอย่างสมบูรณ์​ กลายเป็นฟังแล้วก็รู้สึกตะหงิดๆ ใจจนต้องวนกลับไปฟังใหม่อีกเรื่อยๆ เลย

twice3 

TWICE ผู้มักสร้างรอยยิ้มให้กับคนฟังผ่านเสียงเพลงอันแสนไพเราะและสนุกสนาน

เพลง SCIENTIST เองก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook