วิเคราะห์ดนตรี KAI - Peaches จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก | Sanook Music

วิเคราะห์ดนตรี KAI - Peaches จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก

วิเคราะห์ดนตรี KAI - Peaches จากมุมมองนักดนตรีคลาสสิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไค (KAI) แห่งวง EXO กลับมาพร้อมกับบทเพลงอันแสนหอมหวานที่เพียงได้ยินก็สามารถจินตนาการถึงรูป รส กลิ่น และสัมผัสของผลไม้ยอดฮิตอย่าง “พีช” ผ่านเสียงขององค์ประกอบทางดนตรีที่แม้จะไม่ได้มีความหวือหวา แต่กลับสามารถสร้างบรรยากาศที่น่าสนใจให้กับผู้ฟังได้เป็นอย่างดี

Album Peaches

Lyric By 김안나 (Kim Anna)

Composed By WOLFGVNG, Zach Sorgen, Ryan S. Jhun, Alawn & 유영진 (Yoo Young Jin)

Written by 김안나 (Kim Anna), WOLFGVNG, Zach Sorgen, Ryan S. Jhun, Alawn & 유영진 (Yoo Young Jin)

Arranged by Alawn, Ryan S. Jhun & WOLFGVNG

G Major - 67 BPM

 

โครงสร้างเพลงของ Peaches

INTRO 0:02-0:09

CHORUS 0:09-0:24

VERSE 1 0:24-0:38

PRE-CHORUS 0:38-0:52

CHORUS 0:52-1:21

VERSE 2 1:21-1:35

PRE-CHORUS 1:35-1:50

CHORUS 1:50-2:18

BRIDGE 2:19-2:47

CHORUS 2:47-3:17


INTRO (0:02-0:09)

เป็นการเปิดอินโทรเริ่มต้นมาได้อย่างสวยสดงดงาม บรรยายให้เห็นถึงภาพของความเป็นธรรมชาติ เสียงลมพัด คลื่นน้ำไหล ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย อีกทั้งยังมีการนำเสนอสีสันความเป็นตะวันออกผ่านเครื่องดนตรีพื้นบ้านและ Pentatonic Scale หรือการใช้ตัวโน้ต 5 ตัวซึ่งเป็นสเกลที่พบมากในแถบเอเชีย นอกจากนี้ความน่าสนใจของโน้ต 5 ตัวนี้อีกอย่างนึงคือการที่มันเป็นโน้ตคีย์ดำทั้งหมด หากอธิบายให้เห็นภาพบนคีย์เปียโนเราจะเห็นคีย์ที่เป็นสีขาวและดำ ซึ่งคีย์สีดำนี้เองมีโน้ตอยู่แค่ 5 ตัวเท่านั้น ซึ่งมันสามารถสร้างสีสัน อารมณ์ที่นุ่มนวลแต่ก็ลึกลับพิศวงไปได้ในเวลาเดียวกัน

ตัวอย่างเพลง Chopin - Etude in G♭ Major Op.10 No.5 มีชื่อเล่นว่า Black key เพราะทั้งเพลงเล่นอยู่บนคีย์สีดำหมด (ยกเว้นโน้ต 1 ตัว) ซึ่งเพลงนี้อยู่ในคีย์เดียวกันกับ Peaches และให้สีสันที่ใกล้เคียงกัน

 

ในส่วนของเครื่องดนตรีนั้นแม้ว่าเสียงที่ออกมาจะไม่ใช่เสียงของเครื่องดนตรีจริง (ใช้คอมพิวเตอร์) แต่ก็เป็นการเลียนเสียงให้คล้ายกับเครื่องดนตรี traditional อย่างเช่นเสียงกลองจังกูนำเข้ามาก่อนจะตามมาด้วยเสียงดีดคล้ายกับกายากึม ก่อนที่จะเป็นเสียงคล้ายกงฮูที่มีลักษณะเหมือนพิณฮาร์ป

ตัวอย่างเสียง กลองจังกูและกายากึม

ตัวอย่างเสียง ฮาร์ปกงฮู

CHORUS (0:09-0:24)

เริ่มต้นเข้าสู่เพลงก็เป็นการนำเสนอท่อนฮุคพร้อมด้วยประโยคหลักของเพลง “Pretty girl, you're like peaches” แนะนำให้ผู้ฟังได้เข้าใจคอนเซ็ปต์ที่เปรียบหญิงสาวกับผลพีช คำร้องนี้มาพร้อมกับดนตรีที่แสนจะนุ่มนวลอ่อนหวาน ฟังสบาย ไล่จากเสียงต่ำไปสูงวนเวียนไปมา ในขณะที่แนวทำนองนั้นร้องออกมาสบายๆ อ่อนโยน ไร้ซึ่งความดุดัน เป็นการร้องที่ไม่ต้องฝืนหรือพยายามเลยก็สามารถได้ยินอย่างชัดเจนราวกับว่ามากระซิบอยู่ที่ข้างใบหู นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกด้วยเสียงดีดของเครื่องดนตรีดั้งเดิมอีกเล็กน้อย และทุกอย่างถูกปรับแต่งเกิดเสียงก้องสะท้อนเหมือนกับอยู่ในห้องกว้างโล่งๆ หรืออาจเป็นหุบเขาอันเงียบสงบ นั่นยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกบางเบา ล่องลอยอยู่ในอากาศ แสนจะสบายใจ

ช่างเป็นการเริ่มต้นเพลงที่ทำให้เดาทางไม่ถูกเลยว่าบุคคลนี้เป็นคนแบบไหนกันแน่นะ ผู้ชายคนนี้จะดีหรือจะร้าย จะ soft และ sweet แบบพีชจริงๆ หรือจะเป็น bad guy ที่มาพร้อมกับคอร์ดช่วงท้ายท่อนที่ทำให้เพลงหม่นลงเล็กน้อยกันแน่

VERSE 1 (0:24-0:38)

เสียงร้องนำเข้ามาอย่างหนักแน่นมากขึ้นเมื่อเทียบกับท่อนก่อนหน้า และการเข้ามาของเสียงอื่นๆ เริ่มด้วยเบสที่เล่นมาแค่ทุกจังหวะแรกของห้องเพลงและจังหวะยก (จังหวะรอง) ที่ไม่ใช่จังหวะสำคัญจนทำให้เพลงเกิดอาการหน่วง บางช่วงก็เป็นจังหวะที่ขัดกับดนตรีส่วนอื่น นอกจากนี้เสียง Synthesizer (เสียงสังเคราะห์) ลากคอร์ดที่มีอยู่สองแนวซ้อนกันแบบไม่มีความพร้อมเพรียงก็สุดแสนจะวุ่นวาย แนวนึงเสียงนุ่ม ต่ำ ลากเสียงเบาๆ ในจังหวะนึง ส่วนอีกแนวที่มีความแหลมคมและสูงกว่าก็เล่นอีกจังหวะนึง ไม่พอยังจะมีการเริ่มต้นเสียงเบาแล้วเพิ่มความดังขึ้นก่อนจะตัดฉับหายวับไปในจังหวะที่ครึ่งๆ กลางๆ

มีเพียงแค่เสียงคล้าย Hi-hat หรือเสียงฉาบที่เล่นจังหวะถี่ๆ เพื่อยึดให้ดนตรียังคงมั่นคง แนวทำนองร้องที่ค่อนข้างธรรมดาดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีจังหวะหวือหวาเองก็เป็นแกนหลักให้เพลงยังคงเดินหน้าต่อไปเช่นกัน

 unnamed

PRE-CHORUS (0:38-0:52)

บีตจาก Hi-hat หายไปแล้วแต่ดนตรีส่วนอื่นยังคงอยู่ และแน่นอนว่าส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนคือทำนองซึ่งกลับมาถูกใส่เอฟเฟคให้เสียงมีความฟุ้งอีกครั้ง แถมยังขึ้นไปร้องในช่วงเสียงสูงอีกด้วย หากสังเกตจะเห็นว่าเพลงนั้นอยู่ในช่วงเสียงที่ค่อนไปทางต่ำมาโดยตลอด ท่อนพรีฮุคนี้กำลังพาเราให้ล่องลอยไปกับสายลมที่หอบพาเอากลิ่นหอมหวานของพีชมาด้วย

ช่วงนาทีที่ 0:39, 0:43 หากใส่หูฟังจะสามารถได้ยินเสียงร้องที่สะท้อนตอบกลับมาเบาๆ จากข้างขวา จะว่าไปก็เหมือนเป็นเสียงของจิตใต้สำนึกที่ซ่อนอยู่เลยนะ

อีกข้อสังเกตคือการที่ทำนองตั้งแต่ท่อน Chorus, Verse มาจน Pre-Chorus นั้นมีการใช้จังหวะ (Rhythm) เดียวกันทั้งหมด คือเริ่มมาด้วยจังหวะที่ถี่และจบท้ายด้วยจังหวะที่ห่าง/ช้าลงในช่วง 2 คำสุดท้าย และทำนองมักจะร้องแค่เพียง 2 จังหวะ และหยุดปล่อยเว้นว่างอีก 2 จังหวะให้เราได้ฟังเสียงของดนตรี ผู้เขียนมองว่าเป็นอะไรที่น่าทึ่งมากเลยนะที่สไตล์ทุกอย่างแทบจะเหมือนเดิมหมด คอร์ดก็ 4 คอร์ดเดิมวนไปวนมาแต่กลับมีลูกเล่นและการจัดสรรองค์ประกอบให้ไม่น่าเบื่อเลย มันทั้งไพเราะ ฟังง่าย และยังคงน่าติดตามอยู่

CHORUS (0:52-1:21)

เป็นการเปลี่ยนท่อนที่ไวมาก แต่ละท่อนมาแค่เพียงสั้นๆ แป๊บเดียวท่อนฮุคก็กลับมาอีกแล้ว แต่ในครั้งนี้เครื่องดนตรีเต็มหมด ทั้งบีตที่ถี่ละเอียด เสียงฉาบ และเบสที่ลากเสียงเติมเต็มเป็นฐานที่คอยโอบอุ้มเพลง ไม่นับอีกสารพัดเสียงที่แทรกเข้ามา ทำนองร้องคำว่า Feels เองก็เปลี่ยนมาเป็นช่วงเสียงสูงแทนเสียงต่ำจากช่วงเปิดตอนต้น

ไม่พอ ท่อนฮุคยังถูกขยายออกให้ยาวขึ้นกว่าเดิมอีกเท่าตัว แต่ใดๆ เลยคือแนวทำนองยังคงความนุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนกับผลพีชแสนอร่อย มองไปทางไหนก็เห็นเป็นสีพาสเทลที่ทั้งสดใสและน่าทะนุถนอม

แนวดนตรีบรรเลงน่ารักๆ ที่ดำเนินอยู่ตลอดนั้นพอฟังแล้วก็แอบทำให้นึกถึงเพลง Candy ของเพื่อนร่วมวง EXO อย่างแบคฮยอนที่ก็มีการใช้ Sound ที่นุ่มนวลและแพทเทิร์นของโน้ตไล่ไปมาคล้ายกัน แถมทั้งสองเพลงยังพูดถึงความหวานกันทั้งคู่เลยด้วย

ตัวอย่างเพลง Baekhyun - Candy ใช้เสียง Ostinato หรือทำนองที่ดำเนินอยู่ตลอดคล้ายกับ Peahces

VERSE 2 (1:21-1:35)

โอ้โหหหหหหห เป็นท่อนที่แนวร้องเปลี่ยนไปแอคทีฟมากขึ้น มีความถี่ละเอียดกว่าช่วงที่ผ่านมาทั้งหมด และร้องในช่วงเสียงสูงแตกต่างจากตอนต้นเพลง ซึ่งแนวร้องนี้สวนทางกับดนตรีที่มีช่วงเงียบแทรกเข้ามา นั่นเกิดจากการที่แนวทำนองน่ารักๆ ที่บรรเลงมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นนั้นหายไป รวมไปถึงเสียงบีตจาก Hi-hat ด้วย ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ก็ยังอยู่และทำหน้าที่แบบเดิมไม่ได้ต่างไปจาก Verse 1 ไม่น่าเชื่อเลยว่าการหายไปของเสียงแค่เพียงสองเสียงจะสร้างความแตกต่างให้กับเพลงได้อย่างชัดเจนขนาดนี้

PRE-CHORUS (1:35-1:50)

ยิ่งพอเข้าสู่ท่อนนี้ผู้เขียนถึงกับร้องว่า อ้าว สลับกันเฉยเลย จาก Verse แรกมีบีตแอคทีฟ Pre-chorus เนิบนาบ คราวนี้กลายเป็น Verse 2 ที่ดรอปลงมาและเพลงกลับมาคึกคักอีกครั้งใน Pre-chorus แทน เออ เจ๋งดี คนแต่งสามารถปรับเปลี่ยนเพลงแบบง่ายๆ แต่ชาญฉลาด ทำให้เพลงที่เหมือนจะไม่ค่อยมีอะไรแต่กลับฟังได้อย่างไม่น่าเบื่อเลย

unnamed(1)

CHORUS (1:50-2:18)

โอ๊ย บ้าไปแล้ว ยังเปลี่ยนได้อีกค่ะทุกคน ไอ้เราก็แอบคิดในใจแหละว่าคอรัสมาอีกแล้วเหรอรอบที่สามแล้วนะ แม้จะไม่ได้น่าเบื่ออะไรแต่ก็ถือว่ามาบ่อยมากในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ที่ไหนได้ฮุคนี้ไม่เหมือนกับครั้งอื่นค่ะ บีตหายวับไปกับตากลายไปเป็นเสียงปรบมือในจังหวะที่ห่างกันจนทำให้เพลงเหมือนกับจะช้าลงไปเท่าตัว เสียงดนตรีลากคอร์ดยาวควบคู่กับทำนองน่ารัก เบสถูกลดบทบาทให้เบาลง และมีเสียง Synthesizer สอดแทรกเล็กน้อยในจังหวะที่ขัดกับดนตรีไปหมด มันสร้างบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความสุขและความผ่อนคลาย แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามแนวทำนองยังคงความเป็นผู้ชายแสนอบอุ่นที่พร้อมจะโอบกอดสาวน้อยหวานใสราวกับลูกพีชด้วยความรัก

จนกระทั่งนาทีที่ 1:57 แนวเบสเริ่มขยับเขยื้อน ตามมาด้วยเสียง Hi-hat ดนตรีเริ่มเพิ่ม Volume ดังขึ้น ก่อนที่บีตจะส่งเข้าไปสู่ครึ่งหลังของท่อนฮุคที่กลับมาตื่นตัวและเพิ่มเสียงเอฟเฟคเข้ามาเป็นลูกเล่นอีกหลากหลาย

BRIDGE (2:19-2:47)

เปิดท่อนมาโดยไร้ซึ่งเสียงกระทบจังหวะใดๆ เลย มีแค่เสียงคอร์ดลากที่มีการสั่นของเสียงหรือ Vibrato คล้ายคลื่นเพื่อไม่ให้เสียงนิ่งจนเกินไป ทำนองยังคงร้องอยู่ในลักษณะ Rhythm ที่คล้ายเดิมแต่ไม่ได้มีการเว้นว่างนานแล้ว  ในนาทีที่ 2:31 กลายเป็นแนวเบสที่นำทำนองไปเล่นแทนในจังหวะที่กระฉับกระเฉงเพื่อส่งเราเข้าสู่ครึ่งหลังของ Bridge

ในที่สุดบีตต่างๆ ก็กลับมาอีกครั้งแถมในครั้งนี้ก็ถี่ละเอียด เยอะ หลากหลาย เรียกได้ว่ามันส์ที่สุดตั้งแต่เพลงนี้ได้ดำเนินมาตลอด 2 นาทีครึ่ง ในขณะเดียวกันแนวทำนองน่ารักก็กลับมาแต่เล่นชุดโน้ตที่ต่างจากปกติ โดยเน้นเล่นอยู่ในช่วงเสียงต่ำลงและมีเนื้อเสียงที่กระด้างกว่าเล็กน้อย ไม่ได้นุ่มนวลเท่าเดิม เสียง Synthesizer ที่ลากคอร์ดนั้นถูกปรับแต่งให้มีความกังวาล สว่าง ล่องลอย

ส่วนแนวทำนองก็ยังคงยึดมั่นอยู่ในช่วงเสียงที่ค่อนไปทางต่ำ ร้องอย่างกระชับ กระฉับกระเฉง แล้วในตอนท้ายจึงพาเราไต่ระดับขึ้นสูง ล่องลอยขึ้นฟ้า.. แต่เดี๋ยวก่อน อยู่ดีๆ เราก็ถูกฉุดกลับมาด้วยเสียง Electronics หยาบกระด้างที่มาจากไหนไม่รู้ พอเรากลับลงสู่ผืนแผ่นดินโลกอีกครั้ง

unnamed(2)

CHORUS (2:47-3:17)

เข้าสู่ท่อนฮุคครั้งที่ 4 ซึ่งมั่นใจได้ว่าเป็นครั้งสุดท้าย แน่นอนว่าต้องจัดเต็มตามสเต็ปกับสารพัดแอดลิบทั้งสูงและต่ำ ที่ชอบมากเลยคือการที่แนวร้องที่เพิ่มขึ้นมานั้นไม่ได้ถูกลดหลั่นความสำคัญลงไปเหมือนแอดลิบทั่วไปที่มักจะเสียงเบากว่าทำนองหลัก แต่ในเพลงนี้มันดังชัดเจน เหมือนต้องการจะสื่อสารความต้องการอันแรงกล้าออกมาให้กับอีกฝ่ายได้ยิน ความรู้สึกนึกคิดข้างในจิตใจที่ถูกซ่อนเอาไว้ตลอดเพลงในรูปแบบของเสียงกระซิบบ้าง เสียงเบลอๆ ที่สะท้อนก้องไปมาบ้าง ในที่สุดในครั้งนี้เราก็สามารถรับรู้มันได้อย่างชัดเจนเสียที ก่อนที่จะจบปิดท้ายเพลงด้วยคำว่า Peaches เหมือนเป็นการเรียกเธอที่เปรียบได้กับผลพีชที่นุ่มนวลและหอมหวาน

จะว่าไป... นี่มันบ้าไปแล้ว ทั้งเพลงนี้มีแค่ 4 คอร์ดจริงๆ นะ!

unnamed(3) 

เมื่อได้ฟังเพลงนี้แล้วก็ทำให้นึกไปถึงดนตรีจากยุค Impressionism ของนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Debussy หรือ Ravel ที่เน้นสื่อสารถึงบรรยากาศ แสง สี มากกว่าการเล่าเรื่องราวหรือถ่ายทอดความรู้สึกอันรุนแรง ไม่ได้ต่างไปจาก "Peaches" ที่นำเสนอความเป็นพีชออกมาให้เราได้สัมผัสผ่านเสียงดนตรี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook